ย้อนตำนานกลับไปเมื่อวันงาน เพลงอีแซว ตอนที่ 1 ยุคเริ่มต้นฝึกหัดเพลง


ผมใช้เวลาหลายเดือนฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้านหลายๆ อย่างให้กับ เด็กชายธีระพงษ์ พูลเกิดและเด็กหญิงภาธิณี นาคกลื่นกุล เพื่อที่จะให้เป็นนักร้องนำคู่สุดท้าย

ย้อนตำนานกลับไปเมื่อวันวาน

เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ

โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา ๑

(ตอนที่ ๑ ยุคเริ่มต้นฝึกหัดเพลง)

 

          นับถอยหลังไปเมื่อครั้งที่ผมได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดเพลงอีแซว ของจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2525 ที่หน้าศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ในวันนั้นผมไปทำหน้าที่ในฐานะพ่อเพลงอีแซว ร่วมกับชาวบ้านของอำเภอดอนเจดีย์ ชื่อวงเพลงอีแซวอำเภอดอนเจดีย์ โดยมีท่านนายอำเภอดอนเจดีย์เป็นผู้นำวงเพลงอีแซวไปประกวด มีอำเภอต่าง ๆ ส่งคณะเพลงอีแซวเข้ามาประกวดครบทุกอำเภอและดูเหมือนว่าจะมีจำนวนคณะมากว่าจำนวนอำเภอเสียอีก เพราะว่าแข่งขันกันตั้งแต่เวลา 19.00 น. (ฝนตกปรอย ๆ ลงมาตลอดเวลา) กว่าจะประกาศผลการตัดสินก็ 2 ยาม (เที่ยงคืน) ผมจำได้ว่าท่านนายอำเภอจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ พาคณะเพลงอีแซวและผู้ติดตาม จำนวน 20 คน ไปรับประทานอาหารที่ตลาดริมน้ำเวลาล่วงเลยเที่ยงคืนไปมากแล้วและผมกลับมาถึงบ้านพักโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 เวลาก็ค่อนสว่าง

         

         

           

          กว่าที่จะมาถึงวันแห่งชัยชนะ ผมเป็นคนเล่นเพลงมาก่อน โดยฝึกหัดแพลงกับครูเพลงในสมัยเก่าหลายท่าน โดยเริ่มต้นฝึกหัดเพลงกับน้าชาย น้าอรุญ เกิดวัน คือน้องของแม่ ท่านเป็นคนแรกที่สอนให้ผมรู้จักเพลงขอทานที่ร้องแบบชาวบ้าน ต่อมาก็ฝึกหัดร้องเพลงเชียร์รำวง ฝึกหัดทำขวัญนาคและวิธีการประกอบพิธีในงานมงคลต่างๆ กับพ่อคุณวัน มีชนะ จนต่อมาได้ไปพบกับป้าอ้น  จันทร์สว่าง ไปพบป้าทรัพย์ อุบล ไปพบลุงหนุน กรุชวงษ์ ไปพบลุงบท วงษ์สุวรรณ ไปพบน้าปาน เสือสกุล น้าถุง พลายละหาร พี่ลำจวน สวนแตง ป้าลุ้ย ตาดี พี่เกลียว เสร็จกิจ พี่สุจินต์ ชาวบางงามและตามมาด้วยครูเพลงอีแซวอีกหลายท่าน โดยเฉพาะแม่บัวผัน จันทร์ศรี ศิลปินแห่งชาติชื่อดังของจังหวัดสุพรรณบุรี ผมไปหาครูเพลงทุกท่านด้วยจุดประสงค์คือ การฝึกหัดเพลงกับท่านหลายครั้ง หลายต่อหลายเที่ยวที่ผมไป ผมได้ร้องเล่นเต้นรำทำท่าทางโต้ตอบกับครูเพลงทุกคนด้วยความเคารพรักศรัทธาและมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก

          

          

          

             

             หลังจากวันที่ผมได้รับตำแหน่งชนะเลิศเพลงอีแซวของจังหวัดสุพรรณฯ มา ผมไปร่วมงานในกิจกรรมของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ (กำลังมีชื่อเสียง) ไม่ว่างานใด ๆ ที่เกี่ยวกับการอบรมกลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน ลูกเสือชาวบ้าน จะต้องมีผมเป็นวิทยากรและสาธิตการแสดงเพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ร่วมด้วยเสมอ ในส่วนลึก ๆ ของหัวใจแล้ว ผมคิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไร เพลงอีแซวที่ผมรักจึงจะเข้าไปอยู่ในความสนใจของเยาวชน นักเรียนชายหญิงที่ผมสอนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ได้

            

             และแล้วในปี พ.ศ. 2535 นักเรียนกลุ่มแรกที่เดินเข้ามาหาผมก็มาถึง (ดังรายละเอียดที่ผมเคยนำเอามาเล่าไว้บ้างแล้วในบล็อกเพลงอีแซวแห่งนี้) นักเรียนจำนวน 12-15 คน มาขอให้ผมฝึกหัดเพลงฉ่อยเพื่อไปร่วมกิจกรรมระดับนานาชาติ ในฐานะตัวแทนของจังหวัดสุพรรณบุรี เพลงพื้นบ้านจึงเกิดขึ้นในโรงเรียนเป็นครั้งแรก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ผมใช้ความพยายามมานานถึง 10 ปี หลังจากที่ผมได้รับรางวัลมาแล้วก็ยังหาเด็ก ๆ มารับความรู้จากเราไม่ได้

          ในยุคแรก ๆ ผมหัดเพลงฉ่อยก่อน เมื่อเด็ก ๆ กลับมาจากงานแสดงที่ได้ไปทำหน้าที่แล้ว ผมจึงชักชวนให้พวกเขามาหัดร้องเพลงกล่อมเด็ก ร้องเพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย แต่ว่าเด็ก ๆ ที่มาฝึกหัดกับผมลดจำนวนลง มีเพียง 5-6 คน ที่เอาจริงเอาจัง ทุกเย็นหลังเลิกเรียนเด็ก ๆ จะมาพบผมที่อาคาร 5 ห้อง 511 (ปัจจุบันเป็นห้อง 512) สอนกันแบบตัวต่อตัว คำต่อคำ แม่เพลงคนแรกที่ผมฝึกหัดชื่อ ด.ญ.ธัญลักษณ์ ธัญญเจริญ เป็นลูกสาวของเพื่อนอาจารย์ในโรงเรียน (อาจารย์วิรัตน์ ธัญญเจริญ) เด็กเขาเป็นนักรำอยู่แล้ว เจี๊ยบ คือ ชื่อที่ผมเรียกธัญลักษณ์ เด็กเขาร้องเพลงอีแซวดีมาก สอนอย่างไรทำได้รวดเร็ว หัดง่าย เขาเลยช่วยผมฝึกเพื่อน ๆ ในวง 12 คนตอนนั้นยังไม่มีพ่อเพลง มีแต่ฝ่ายชายคอยมาช่วยเจรจาเล็ก ๆ น้อย ๆ

         

          

         ปี พ.ศ. 2535       มีงานแสดง            1 งาน           ภูมิภาคอาเซียน

         ปี พ.ศ. 2536       มีงานแสดง            2 งาน           งานโรงเรียน, งานครู

         ปี พ.ศ. 2537       มีงานแสดง            5 งาน           ระดับจังหวัด-ประเทศ

         ปี พ.ศ. 2538       มีงานแสดง            4 งาน           ระดับจังหวัด

         ปี พ.ศ. 2539       มีงานแสดง            6 งาน           ระดับจังหวัด

         นางสาวธัญลักษณ์ ธัญญเจริญ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปแล้ว ผมมีแม่เพลงคนใหม่ คือ นางสาวสายรุ้ง ดอกลำภู  มาเล่นเป็นแม่เพลงแทน เจี๊ยบ สายรุ้งมีชื่อเล่นว่า แขก เป็นนักกีฬาทีมโรงเรียน เล่นวอลเล่บอล บาสเก็ตบอล วิ่ง ฯลฯ เก่งมาก ทุกเย็นจะต้องฝึกซ้อมกีฬาก่อนเสร็จแล้วจึงจะมาฝึกเพลงอีแซว ยุคนี้เราฝึกหัดเพลงกันทุกวันเช่นเคยบางวันก็อยู่กันจนถึงดึก มีพ่อ แม่ ผู้ปกครองมารอรับลูก ๆ  แขกเป็นคนเสียงดี น้ำเสียงแจ่มใสชัดเจนมาก แต่แกรำไม่สวย (เป็นนักกีฬา) แต่ว่าดูภาพรวม ๆ พอไปได้ ตอนนี้ เริ่มที่จะมีพ่อเพลงเข้ามาช่วยเล่นบ้างได้แก่ นายเจษฎา  ปางเภา แต่ก็ยังไม่เด่น จึงเป็นการเล่นเพลงเดี่ยว ๆ มากว่าเพลงปะทะคารม

          

        

         ปี พ.ศ. 2540       มีงานแสดง            8 งาน           ระดับจังหวัด

         ปี พ.ศ. 2541       มีงานแสดง            7 งาน           งานโรงเรียน-จังหวัด

         สายรุ้ง ดอกลำภู จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปี พ.ศ. 2541 ผมเตรียมนักแสดงตัวแทนเอาไว้แล้ว ได้แก่ เด็กหญิงสุพรรณิการ์ แก้วเขียว ลูกสาวของครูสมนึก แก้วเขียว เขารับราชการรุ่นน้องผม และมีศักดิ์เป็นน้องของเพื่อน จึงได้ขอตัวลูกสาวมาช่วยเล่นเพลง ผมเรียกชื่อเล่นของสุพรรณิการ์ว่า นุ่น  นุ่นมีเพื่อนที่เล่นเพลงดีมาอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน ได้แก่ ด.ญ.วาสนา จันทร, ด.ญ.พจนีย์ ปางเภา, ด.ช.สันติชัย แสงสัตยา, ด.ช.จตุรงค์  แช่มช้อย มาถึงยุคนี้วงเพลงเริ่มมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น นุ่นทำหน้าที่หัวหน้าวงที่อายุน้อยกว่ารุ่นพี่ ๆ อีกหลายคน ด้วยความโดดเด่นด้านเสียงร้องที่เสียงสะอาดบาดหัวใจท่านผู้ชม ลีลาการแสดงพลิ้วไหวอย่างมืออาชีพ ทำให้มีงานแสดงเข้ามามาก และเป็นช่วงที่มีเด็กผู้หญิงอีกคนเข้ามาเรียนวิชาเลือกกับผมและผมแนะนำให้เข้ามาช่วยเล่นเพลงคือ เด็กหญิงรุ่งรัตน์ แจ่มแจ้ง แกถนัดทางเพลงลูกทุ่งมาก เมื่อ 2 สาวยืนประชันเสียงกันหน้าเวที เขาสามารถตรึงตาและใจคนดูให้หยุดนิ่งได้ทุกงาน

        

           

         ปี พ.ศ. 2542       มีงานแสดง            13 งาน         รับใช้สังคมทั่วไป

         ปี พ.ศ. 2543       มีงานแสดง            13 งาน         รับใช้สังคมทั่วไป

         ปี พ.ศ. 2544       มีงานแสดง            18 งาน         รับใช้สังคมทั่วไป

         ปี พ.ศ. 2545       มีงานแสดง            37 งาน         รับใช้สังคมทั่วไป  

          

         สุพรรณิการ์ แก้วเขียว จบการศึกษาไปในปี พ.ศ. 2545 แต่วงเพลงยังมีรุ่งรัตน์ แจ่มแจ้ง แม่เพลงเสียงดีที่หาตัวจับยากมาก ในเรื่องของการร้องเพลงอีแซวช่วยผมได้อีก 1 ปี รุ่งจบชั้น ปวช.ปีที่ 3 ออกจากโรงเรียนไปในปีพ.ศ. 2546 พร้อมกับรางวัลชนะเลิศประกวดเพลงพื้นบ้าน งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 55 ผมหมดคนเก่งขาดนักร้องนำ ไม่มีผู้แสดงที่จะเข้ามาเป็นแม่เหล็กของวงได้

        ในช่วงนี้มี เด็กหญิงหทัยกาญจน์ เมืองมูล กับ เด็กหญิงรัตนา ผัดแสน มาเข้าเรียนชัน ม.1 ในปี พ.ศ. 2545 ทั้ง 2 คน เสียงดี คนหนึ่งเคยฝึกหัดเพลงอีแซวมาบ้างแล้ว ส่วนอีกคนหนึ่งไม่เคยฝึกหัดเพลงอีแซวมาก่อนเลย ผมใช้เวลาฝึกหัดเด็ก ทั้ง 2 คนทั้งในชั่วโมงเรียนปกติ เวลานอกเหนือจากการเรียน และในช่วงวันหยุด เกือบ 2 ปี จนมาพบแววว่าเด็ก 2 คนนี้ คือเพชรเม็ดงามที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตการฝึกหัดเพลงของผมก็เมื่อ ผมฝึกหัดให้ รัตนาเขาร้องทำนองรานิเกลิง (ลิเก) ฝึกหทัยกาญจน์ เมืองมูล ให้แหล่ด้นกลอนสด จนเขาทั้งสองคนได้รับรางวัลชนะเลิศ จากสถานีโทรทัศน์ รายการคุณพระช่วย อิม-หทัยกาญจน์ ได้รับรางวัลกระดานทองคำในฐานะแชมป์แหล่ด้นสด 8 ครั้ง (แพ้ 1 ครั้ง) ยุ้ย-รัตนา ได้รับรางวัลแชมป์คุณพระช่วย, รองแชมป์ร้องเพลงพื้นบ้านของสถาบ้นพระปกเกล้า และแม่เพลงดีเด่นระดับมหาวิทยาลัย (ไม่ใช่ระดับประเทศ เพราะมีแต่วงเพลงในจังหวัดสุพรรณไปแข่งขัน) เมื่อตอนที่ 2 คนนี้อยู่ในวง เด็ก ๆ ที่เป็นสมาชิกตื่นตัวกันมากเพราะเสียงร้องของทั้ง 2 คน มันกินใจเข้าไปในส่วนลึกจนต้องเดินตามเสียงร้องมาดูเพลงอีแซว งานแสดงมีเข้ามามาก สถิติที่ผมบันทึกเอาไว้เป็นเพียงบางส่วน ยอมรับว่าผมเก็บร่องรอยไม่ทัน บางงานเราเล่น 3 เวที ได้ 3 งาน ในสถานที่ใกล้ ๆ กัน แต่บันทึกไว้ 1 งาน (ลืม)

             

           

           

         ทั้งอิม-ยุ้ย สอนง่ายเพราะใจเขารักเพลงพื้นบ้านอยู่แล้ว อิมจะเป็นคนที่กล้าแสดงออก ขี้เล่นสนุกสนาน ส่วนยุ้ยเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก เวลาฝึกซ้อมจะหลบ ๆ แอบตามใต้โต๊ะบ้าง ผมใช้เวลาฝึกนานกว่า 1 ปี จึงออกไปเล่นกับพี่ ๆ ได้ ในการจัดการเรียนรู้การฝึก ผมมีกระบวนการที่คิดขึ้นมาเอง 9 ขั้น ใช้ในการฝึกหัดเพลงอีแซวให้กับนักเรียนในยุคนี้ วงเพลงมีความสมบูรณ์มาก เล่นเพลงปะทะคารมได้อย่างสนุกสนาน มีพ่อเพลงคนเก่งเกิดขึ้นอีก 2 คน คือ เด็กชายเมธี ชูศรีนวล กับ เด็กชายธีระพงษ์  พูลเกิด แต่ก็ยังเด็กกว่าอิม-ยุ้ยมาก เราฝึกซ้อมกันทุกว้นเพราะมีงานเข้ามาโดยตลอด งานราชการก็มีมาก งานทั่ว ๆ ไปก็มีติดต่อเข้ามา ผมก็นำเด็ก ๆ ไปแสดงได้ในทันทีในทุกสถานที่

         ปี พ.ศ. 2546       มีงานแสดง            27 งาน         รับใช้สังคมทั่วไป

         ปี พ.ศ. 2547       มีงานแสดง            48 งาน         รับใช้สังคมทั่วไป

         ปี พ.ศ. 2548       มีงานแสดง            69 งาน         รับใช้สังคมทั่วไป

         ปี พ.ศ. 2549       มีงานแสดง            56 งาน         รับใช้สังคมทั่วไป

         ปี พ.ศ. 2550       มีงานแสดง            97 งาน         รับใช้สังคมทั่วไป

        

        

          

         อิม-หทัยกาญจน์ เมืองมูล กับ ยุ้ย-รัตนา ผัดแสน จบการศึกษาชั้น ม.6 ไปแล้ว แต่ว่าเขาทั้ง 2 คนยังแวะเวียนมาหาครูของเขา คือ ผมอยู่ตลอด มาหลายครั้งแล้วในปีนี้ ยุ้ย ยังกลับมาช่วยเล่นเพลงเพราะเขาเรียนวิทยาลัยพยาบาล อยู่ในตัวเมืองนี่เอง ส่วนอิมเรียนที่ราชภัฏสวนดุสิต กรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าคนเก่ง จะจากวงเพลงอีแซวของโรงเรียนไปแล้ว เขาไปเพื่ออนาคตข้างหน้า คนที่อยู่หลัง คือ นักแสดงรุ่นน้องก็จะต้องทำหน้าที่สืบสานกันต่อไป

        

         ผมใช้เวลาหลายเดือนฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้านหลาย ๆ อย่างให้กับ เด็กชายธีระพงษ์ พูลเกิด และ เด็กหญิงภาธิณี นาคกลื่นกุล เพื่อที่จะมอบหมายหน้าที่พ่อเพลง-แม่เพลงให้กับเด็ก 2 คน ซึ่งก็คงเป็นนักร้องนำคู่สุดท้ายของวงแล้วครับ เวลาที่ล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี สอนให้ผมรู้ว่า ในความเป็นจริงมันมีตัวตายตัวแทน แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา ไม่จนแต้ม ไม่ถึงทางตัน ถ้าเราเอาจริงเอาจังกับงานนั้น ๆ ความสำเร็จย่อมที่จะไปถึงได้ในเวลาที่เหมาะสม

           เมื่อถึงเวลา  ที่กำหนด ใกล้ที่จะ  หมดเวลา (เอิง เงอ เอ๊ย)  หมดเวลา

        ฝากคำกลอน  ตอนมา    ฝากเพลงลา ตอนไป (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) ลาตอนไป

        เพลงอีแซว บ้านนา       ดั่งสินค้า  บ้านนอก

        ไม่ใช่สินค้า  ส่งออก      ประเภท  หารายได้

        พอที่จะมี  คนรู้             ต้องรอฤดู  เทศกาล

        กว่าที่จะ  มีงาน            เขามองผ่าน  จนสุดท้าย

        หาว่าเพลง  เล่นหยาบ    ขอยอมรับว่า  เล่นช้า

        หาว่าเพลง  ด้อยคุณค่า  หมด  ความหมาย

        ขืนไปหา  มาดู             ไม่เห็น  จะรู้เรื่อง

        ตลกฝืด  จืดเปลือง        ข้าวน้ำ  เสียดาย

        เครื่องแต่งกาย ก็ไม่สวย  ป่วยการ  ลูกกะตา

        สีสัน คร่ำคร่า               ล้า  สมัย

        โปรดมาดู ของโบราณ   โดยคนสุพรรณฯ  หนุ่มสาว (เออ เอ๊ย) ว่าหนุ่มสาว

        ได้นำอา ของเก่า          มาสืบสาว  โยงใย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) ว่าโยงใย

           ไม่มีคน  แก่ ๆ           ไม่เหลือแม้  คนเก่า ๆ    

        ไม่เหมือนละคร  น้ำเน่า  เย้า  ยวนใจ 

        เครื่องแต่งกาย ไม่วาววับ จับ  สายตา

        ไม่วูบวาบ ซาบซ่า         ไม่เบ่งแสง  แข่งใคร

        ไม่เหมือนวง  ดนตรี       ที่เขามี  กีตาร์

        ไม่เหมือนตลก  เฮฮา     ไมมีทะลึ่ง หยาบคาย

        ไม่เหมือนลิเก โขนละคร ไม่เหมือนการ  ฟ้อนรำ

        ไม่มีลีลา  สวยงาม        เหมือนบัลเลย์  พลิ้วไหว

        ไม่สวยหล่อ เหมือนหนุ่มสาว ที่พร่างพราว  สายตา

        ไม่เหมือนนักร้อง  ดารา  ที่ท่วงท่า  เฉิดฉาย

        แต่ก็เป็น  ของเก่า         ที่ครูเพลงเขา  เริ่มคิด  (เอิง เงอ เอ๊ย)  เขาเริ่มคิด

        เป็นจุดเริ่มต้น ของชีวิต  มหรสพ  เพลงไทย  (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) ว่าเพลงไทย

 

(ติดตามตอนที่ 2   ชำเลือง มณีวงษ์  ครูผู้ฝึกสอนเพลงพื้นบ้าน จังหวัดสุพรรณบุรี)

หมายเลขบันทึก: 224157เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2008 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

แวะมาดูศิลปะอันงดงาม

ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ขอบคุณมากมายนะคะ

มีแต่สิ่งดีๆนะคะ

 

กินครูเป็นอาหารวันละบท

เล่นล้ออรรถรสวันละหน

อ่านเขียนวันละครั้งอย่างแยบยล

ผลิดอกออกผลจากต้นรัก

ศิวกานท์ ปทุมสูติ

.................

มาเยี่ยมรักถักร้อย สำรวจรอยรักแล้ว

อีสร้อยอีแซว ส่งเสียงใส

เหน่อเพลงสุพรรณ อัศจรรย์ใจจริง

หูแว่วใจวิ่ง มาเร็วไว

ชำเลืองตาแล ชะแง้ชะเง้อ

หวังเจอะหวังเจอ แม่หวานใจ

...

อายุบวรนะครับ

"ครูกานท์"

ทุ่งสักอาศรม

คุณสายธาร

  • ขอบคุณมากครับ ที่แวะมาทักทายในยามดึก ได้กำลังใจขึ้นอีกมากเลย และดอกไม้สวย ๆ มีมาให้ชื่นชมด้วย
  • งานอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านหรือศิลปะพื้นเมือง เป็นเรื่องของคนในท้องถิ่นที่จะต้องมุ่งกระทำจริง ๆ และจะต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่าจะได้ผล ครับ

สวัสดี ครับครูกานท์

  • ได้อ่านบทกลอนที่ไพเราะของบรมครูแล้ว สุขใจมากครับ ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ฟังจากปาก แต่ก็เขียนออกมาจากใจ
  • ขอขอบพระคุณ ครับ และขอให้ท่านอาจารย์จงมีความสุข ประเสริฐ เช่นกัน

        ตาเห็นบทกลอน    นอนคิด

        มืดมิดยังสว่าง      สร้างสรรค์

        คำแสนไพเราะ      เสนาะนาน

        ศิวกานท์ ปทุมสูติ  จุดประกาย

 

  • อ่านแล้วทึ่งในความเพียรพยายาม ของครูชำเลืองค่ะ
  • และพอเห็นท่านอ.ศิวกานท์ ปทุมสูติมาทักทายด้วยบทกลอน
  • ขนลุก ดีใจแทนครูชำเลืองค่ะ
  • สบายดีนะคะ
  • ขอบคุณมากครับ หัวหน้าลำดวน ที่ติดตามที่ไปที่มาของคนเพลงพื้นบ้านมาโดยตลอด
  • ในโอกาสข้างหน้า ผมยังเบื้องหลังที่ไม่เคยเล่าให้ใครที่ไหนได้ฟังเลย แต่จะนำเอามาเกริ่นไว้ในบล็อกนี้เพียงบางส่วน  เพื่อให้ในวันข้างหน้า จะได้พบความจริงว่า การทำงานที่ถาวรจะต้องทำอย่างไร
  • ถ้าท่าน หน.หน่วย ศน.มีโอกาสอย่าลืมแวะเข้าไปเยี่ยมในบล็อกทุ่งสักอาศรม และ ครูกานท์ ด้วยนะ (บรรยากาศในภาพดีมาก)

คิดถึงคุณครูชําเลืองจังเลย

น.ส.ธัญลักษณ์ ธัญญเจริญ

สวัสดีค่ะ อ.ชำเลือง อ.สบายดีไม๊คะ หนูดีใจมากที่เห็นรูปตัวเองในgoogle ทำให้นึกถึงบรรยากาศตอนเด็กๆที่ฝึกร้องเพลงพื้นบ้านครั้งแรก ต้องขอบคุณอ.มากค่ะ ที่สอนให้หนูร้องเพลงพื้นบ้านเป็น แต่ก็เขินๆนะคะที่เห็นตัวเองตอนเด็กๆ ซึ่งตอนนี้แก่แล้ว อยากเป็นกำลังใจให้ อ.ค่ะ ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อไป เป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของไทยเราให้ยาวนานสืบไป คิดถึง อ.ค่ะ ขอให้ อ.สุขภาพแข็งแรงค่ะ

น.ส.ธัญลักษณ์ ธัญญเจริญ

ยกมือประนมขึ้นเสมอหน้า ไหว้ผู้ชมที่มาดูเยาวชนไทย สิบนิ้วก้มกราบแทบบาทบงส์ ระลึกถึงพระพุทธองค์พระผู้ยิ่งใหญ่ ไหว้บิดรมารดาที่ชุบชีวาลูกแก้ว ได้เติบโตมาแล้วพ้นโพยภัย ไหว้ครูบาอาจารย์ที่ท่านสอน ฝึกทำนองร้องกลอนเป็นเพลงไทย ไหว้ครูเพลงเก่าๆที่เค้าเล่นเพลงมาก่อน เพื่อขอศีลขอพรขอกำลังใจ จาก ร.ร.บรรหาร1ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรีบ้านนาบ้านไร่ มองสังคมปัจจุบันว่าบ้านเราวกวน ไม่อาจที่จะหลุดพ้นจากอิทธิพลใหม่ๆ

นี่เป็นบทที่หนูฝึกร้อง และพอจะจำได้ในตอนนี้ค่ะ หลังจากนั้นลืมไปบ้างแล้วค่ะ อยากกลับไปร้องอีกค่ะ อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท