เทียนขาว
นาง เพ็ญทิวา เพ็ญทิวา สารบุตร

นักวิชาการชาวนา


เพื่อนๆเรียกว่าความเห็นแก่ตัว

วันนี้ฉันได้รับเปิดอ่าน mail ของเพื่อนคนหนึ่งที่ส่งมาให้ด้วยความปรารถนาดี  ซึ่งในความรู้สึกของฉันเขามีความคิดและความรู้สึกที่ผูกพันมากกับการดำเนินไปของสภาพสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ฉันอาจจะเห็นในบางเรื่องเหมือนเขา  แต่อาจจะมีบางมุมมองที่ต่างออกไป  ถึงฉันจะไม่ได้มีบรรพบุรุษที่ใกล้ชิดเป็นชาวนา  แต่  ณ  ปัจจุบัน  สามีของฉันก็มีอาชีพเป็นชาวนาและเป็นเกษตรกรของชาติเช่นเดียวกัน  ฉันจะขออนุญาต  นำข้อความที่เขาส่งมาให้ท่านที่สนใจได้อ่านแล้วรอพิจารณาดูว่า  ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงเกิดกับชาวนาไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เผื่อเราอาจจะมีแนวทางดีดี  เพื่อคนไทยกลุ่มหนึ่งได้  เช่นเดียวกัน             "อวิชชา  และความเห็นแก่ตัวของชนชั้นกลางในสังคมไทย

                                                                                                            นักวิชาการชาวนา

                                                                                                                                               

            ชาวนา คือ กระดูกสันหลังของชาติ  เป็นผู้ผลิตข้าวเพื่อเลี้ยงชาวโลก  เสาหลักของชาติไทย  ถ้อยคำหรูหราที่ได้รับบ่มเพาะจากครูอาจารย์ตั้งแต่สมัยประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา  ผมได้รับโอกาสทางการศึกษาจากโรงเรียนประถมเล็กๆในหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ  สมัยประถมศึกษา(ผมเรียนในรุ่นที่ไม่มีระดับอนุบาล  กะว่าพอเอามือคร่อมศีรษะแล้วมาจับหูได้  ก็ถือว่าสามารถเข้าเรียน ป.๑ได้)  มีโอกาสเข้าไปเมืองประมาณปีละ ๑ ครั้ง  หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ  แม่จะนำข้าวก้นลานซัก ๑  กระสอบไปขายที่ตัวอำเภอได้เงินไปซื้อเสื้อผ้าให้คุณพ่อ  ผม  และน้องๆ  คงไม่ต้องบอกนะครับว่าผมมีความสุขแค่ไหน  ขนมจากอำเภอมันช่างอร่อยเหลือเกิน  เสื้อผ้าใหม่  กางเกงกีฬาใหม่  ที่มีกลิ่นอายของผ้า  เป็นสิ่งที่ดูดดื่มมากสำหรับเด็กน้อยคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าเมืองเพียงปีละ ๑ ครั้ง

ผมไม่มีโอกาสรู้มากนักว่าแม่ขายข้าวก้นลานได้เท่าไร  จำได้แต่ว่าเวลาไปขายข้าว  เมื่อพ่อค้าสั่งให้ลูกจ้างยกข้าวขึ้นตาชั่ง  แล้วก็บอกแม่ว่ากี่กิโล  คำนวณเงินเสร็จให้แม่ถือใบกระดาษเขียนตัวเลขซักอย่างไปรอรับเงินอีกห้องหนึ่งที่มีผู้หญิงวัยกลางคน  ผิวขาวรอจ่ายเงิน  แม่นำกระดาษใบนั้นไปยื่นด้วยท่าทางที่นอบน้อม  แล้วมานั่งรอเขาเรียกชื่อไปรับเงิน  แม่ยกมือไหว้รับเงินจากเขาคนนั้นอีกครั้ง  ก่อนจูงมือลูกไปขึ้นรถและพานั่งชิดในเพื่อความปลอดภัย  รถนำเราแล่นจากโรงสีมาถึงตัวตลาด  เด็กน้อยคนหนึ่งรำลึกสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพียงความจำ  รับรู้ภาพที่เกิดขึ้นด้วยภวังค์ที่มิอาจลืมเลือนถึงเรื่องราว  ชีวิตของชาวนาไทย  ผ่านคุณแม่และคุณพ่อ  คนที่สังคมไทยยกย่องว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ  ข้าวก้นลานที่ออกจากที่นา  มันเป็นรางวัลแห่งความเหน็ดเหนื่อยของคุณแม่  คุณพ่อ  และลูกๆทุกคน  ผมบรรจงกวาดข้าวทุกเมล็ดที่ปนอยู่กับดินใส่กระสอบปุ๋ย  เสียงคุณแม่เตือนว่าอย่าให้ดินติดมาเยอะเดี๋ยวจะถูกโรงสีหักราคา  ผมถามว่าเขาหักราคาเท่าไร  แม่บอกว่าไม่รู้หรอก  เวลาขายเขาจะบอกเอง  ภาพที่คุณแม่รับเงินด้วยกิริยาที่นอบน้อม  ผมไม่รู้ว่าแม่มีทีท่านอบน้อมเพราะแม่รู้สึกขอบคุณเขาหรือแม่รู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย  เพราะแม่ไม่ได้เรียนหนังสือ  แม่เคยเล่าให้ฟังว่าไปเรียนได้ ป. ๒  ก็ออกไปเลี้ยงควายกับเพื่อนๆ  ไปๆมาๆก็ออกมาเลี้ยงควายและช่วยงานที่บ้านเต็มตัว  แม่เขียนหนังสือไม่ได้  อ่านไม่ได้  แต่แม่ขอแค่ให้สามารถเขียนชื่อตนเองได้  เวลาจะเขียนชื่อ  สกุลตนเอง  ผมต้องเอากระดาษเขียนเป็นตัวอย่างให้แม่ดู  แม่ก็จะค่อยๆวาดตัวหนังสือตามที่เขียนให้ดู   

            วันนี้ที่เติบใหญ่เป็นหนุ่มใหญ่  ได้รับโอกาสทางการศึกษามาบ้าง  วันที่ผมได้กลายเป็นชนชั้นกลางในสังคมไทย  เป็น มนุษย์ซีดินาและในอนาคตอันใกล้ผมก็จะเป็น มนุษย์แท่งดินา  ผมไม่รู้หรอกว่าซีดินาหรือแท่งดินามันต่างกันอย่างไร  เพราะมันก็เป็นผมคนเดิม  ชื่อ - สกุลเหมือนเดิม  ทำงานที่เดิม  ยีนในตัวเหมือนเดิม  มิได้มิวเตชั่นใหม่  แต่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.)เขาบอกว่ามันจะดีขึ้น  ยอดเยี่ยมขึ้น  ถ้าเป็นแบบนี้ได้  ผมว่า กพ.ประเทศไทยคงเป็นยิ่งกว่าผู้วิเศษ  เพราะสามารถเสกคนแบบเดิมๆ  จากซีดินา  ไปเป็นแท่งดินา  แล้วอะไรๆก็ดีขึ้นในชั่วข้ามคืนหลังการยกเลิกระบบซีแล้วเข้าสู่ระบบแท่ง  ภาพของคนชั้นกลาง คือ กลุ่มคนที่มีความรู้  มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง  ฐานะปานกลาง  เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีความสุข  มีสำนึกต่อความทุกข์ยากและความเป็นไปทางสังคมสูงมาก  แต่แล้วในปีนี้เอง  ผมเริ่มตั้งคำถามถึงความเชื่อเหล่านี้  พลันที่เห็นภาพของชนชั้นกลางออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลในสมัยนายสมัคร  สุนทรเวช  ออกมาตรการแซงชั่นราคาข้าวสารในท้องตลาดที่กำลังสูงขึ้น  ด้วยเหตุผลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค  แต่ชาวนาละใครจะคุ้มครอง 

            ในครอบครัวชนชั้นกลางในกรุงเทพ  โดยทั่วไปมีสมาชิก ได้แก่ พ่อ  แม่  และลูก ๒ คน  ซื้อข้าวสารมาถุงหนึ่ง ๕ กิโลกรัม  รับประทานได้ประมาณ ๕ วัน  เฉลี่ยวันละ ๑  กิโลกรัม  ในช่วงแรกข้าวสารราคากิโลกรัมละ ๒๐ - ๒๕ บาท  ก็จ่ายค่าข้าวสารวันละ ๒๐ - ๒๕ บาท  ต่อมาเมื่อประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่น เวียดนาม  อินเดีย  มีผลผลิตส่งออกสู่ตลาดน้อยลง  ปริมาณข้าวภายในประเทศมีน้อย  ทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นประมาณกิโลกรัมละ ๒๐ บาท  ชาวนาพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง  ช่วงนี้เองข้าวสารสูงขึ้นประมาณกิโลกรัมละ ๓๕ - ๔๐ บาท  คนชั้นกลางในสังคมไทยถึงอดทนไม่ได้  ออกมาเรียกร้องว่าตนเองประสบปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น  ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วชนชั้นกลางเพียงแค่จ่ายเงินเพิ่มวันละ ๑๕ บาท เท่านั้น  ซึ่งมันก็มีมูลค่าเท่ากับเครื่องดื่มชาเขียว, กาแฟกระป๋อง, เครื่องดื่มบำรุงกำลัง, น้ำอัดลมกระป๋อง หรือซุปไก่  แค่  ๑ ขวดที่ชนชั้นกลางนิยมดื่มกินอย่างสนุกสนาน  และกินกันวันละหลายๆขวดด้วย  แปลกไหมครับ  คนชั้นกลางรู้สึกรับไม่ได้กับการยอมจ่ายค่าข้าวสารซึ่งเป็นอาหารหลักเพิ่มขึ้นนิดหน่อยเพื่อช่วยชาวชาวนา  แต่ยินดีจ่ายเงินของครอบครัวเพิ่มขึ้นวันละ ๑๕ ๓๐ บาท   เพื่อซื้อเครื่องดื่มที่ไม่จำเป็นเหล่านี้  และเม็ดเงินที่จ่ายไปก็ลงไปสู่มือของนายทุนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว  ผมเพียงแค่คิดว่าถ้าชนชั้นกลางจะยอมลดหรือเลิกกินเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์มากนัก  และไม่ใช่อาหารหลักเหล่านี้  เขาจะมีเงินเหลือวันละ ๑๕ ๓๐ บาท  ไปซื้อข้าวสารในราคาที่ขึ้น  ถ้าข้าวสารราคาสูงถึงกิโลกรัมละ ๔๐ บาท  ชาวนาจะสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ ๒๐ บาท  ซึ่งในฐานะลูกชาวนาตอบได้เลยว่าชาวนาจะอยู่ได้  เลี้ยงตนเองได้  ส่งลูกเรียนต่อได้  ใช้หนี้ใช้สินได้  สามารถแก้ปัญหาสังคมด้านอื่นๆได้มากมาย  สังคมโดยรวมจะดีขึ้น  ทุกข์ของชาวนาหรือทุกข์ของแผ่นดินจะลดลง  สังคมไทยจะน่าอยู่กว่านี้ครับ

            ไม่ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นและการกระทำของชนชั้นกลางในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลของอวิชชา(ความไม่รู้) หรือ ความเห็นแก่ตัวก็ตาม  สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อชาวนาไทยอย่างรุนแรง  และแน่นอนที่สุดครับมันได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อชาติไทย(ชาติที่กระดูกสันหลังไม่แข็งแรง  มันจะเข้มแข็งได้อย่างไร)  เลิกพูดเถอะครับว่าโรงสีข้าวเอาเปรียบชาวนา  ชาวนาขี้เกียจถึงทำให้จน  ชาวนาโง่  เพราะมันเป็นแผ่นเสียงตกร่องหรือนิยายน้ำเน่าไปแล้ว  แต่นิยายสดหรือแผ่นเสียงใหม่  คือ อยากให้ชนชั้นกลางเสียสละเพื่อชาวนาบ้าง  ก็แค่นี้แหละนี่คือ บทความที่กลั่นจากความรู้สึก ฉันว่า  เขาคงรู้สึกอะไรบางอย่างที่ฉันอาจจะไม่สามารถรู้สึกได้เหมือนเขา  แต่คงต้องคิดได้ในสักวัน

หมายเลขบันทึก: 223745เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท