อธิการบดีมหาจุฬาฯแสดงธรรม เพื่อครูเรียนรู้สู่การสอน"คุณธรรมนำการคิด"


"คุณธรรมนำการคิด"

        

อธิการบดีมหาจุฬาฯแสดงธรรม เพื่อครูเรียนรู้สู่การสอน"คุณธรรมนำการคิด"
 
 

 




ในโอกาสสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา จัดประกวดกิจกรรมการเรียนรู้ "คุณธรรมนำการคิด" โดยร่วมกับภาคเอกชน คือสำนักพิมพ์แม็ค จำกัด กราบนิมนต์ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9, พธ.บ., Ph.D.) เจ้าคณะภาค 2 อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร แสดงธรรมหัวข้อคุณธรรมนำการคิดเพื่อเป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนคุณธรรม จริยธรรม สรุปความดังนี้

การศึกษามีเป้าหมายเพื่อพัฒนาปัญญาให้เกิดความรอบรู้ ความรอบรู้ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความแบบเชื่อมโยงก็ได้เรียกว่ารู้รอบ หรือรู้ไปถึงแก่นความจริงเรียกว่ารู้ลึก รู้รอบกับรู้ลึกเป็นปัญญา ปัญญานั้นถ้ามีในผู้ใด ผู้นั้นจะเป็นคนที่คิดกว้างแล้วก็มองลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นการศึกษาให้คนเห็นมองเชื่อมโยงของสิ่งทั้งหลาย และทำนองเดียวกันก็เข้าสู่เบื้องหลังของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าสามารถสร้างคนให้มีปัญญาดังกล่าวมานี้ได้ เขาก็จะดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้อง

เพราะถ้ารู้รอบระหว่างตัวเองกับคนอื่น ระหว่างตัวเองกับสิ่งแวดล้อม เขาก็ถนอมรักษาสิ่งแวดล้อม ถนอมรักษาคนอื่น ซึ่งเรียกว่ามีคุณธรรมจริยธรรมนั้นเอง และถ้ารู้ลึกไปถึงเบื้องหลังสิ่งทั้งหลาย เขาก็จัดการดำเนินการให้สอดคล้องถูกต้องกับความรู้ที่ได้นั้น ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น

เรื่องที่เราอบรมสั่งสอนให้เด็กเกิดปัญญา ก็จะต้องกำหนดตั้งเป้าหมายว่า ถ้าจะทำให้เขารู้รอบและรู้ลึกดังกล่าวมานี้จะทำอย่างไร ในทางพุทธศาสนาได้แบ่งปัญญาหรือความรอบรู้ออกเป็น 3 ประเภท

ประเภทที่ 1 สุตมยปัญญา คือความรอบรู้ รู้ลึกที่ให้ข้อมูลข่าวสารเชื่อมโยง ซึ่งความรู้ประเภทนี้เป็นความรู้ที่ได้ข้อมูลขั้นที่ 2 คืออาศัยคำบอกกล่าวของคนอื่น อาศัยอ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นเป็นความรู้ที่ไม่ได้ประสบพบด้วยตัวเอง อ่านมากฟังมากเราก็ได้ความรู้มากจำได้มากเรียกว่าพหูสูต


พระธรรมโกศาจารย์

(ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9, พธ.บ., Ph.D.)



ประเภทที่ 2 จินตมยปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์สิ่งที่ได้ฟังสิ่ง ได้อ่าน ได้พบเห็น เชื่อมโยงกันเป็นระบบ เกิดความรู้รอบ รู้ลึก ซึ่งในข้อที่ 1 คือการรับข้อมูล สุตมยปัญญา จะต้องสัมพันธ์กับข้อที่ 2 จินตมยปัญญา คือความรู้เกิดจากการคิด ขงจื๊อบอกว่า "เรียนโดยไม่ได้คิด เสียเวลาเรียน คิดโดยไม่เรียน เข้ารกเข้าพง" เพราะฉะนั้นเรียนก็คิด ฝึกให้เด็กคิด คิดโดยไม่รับข้อมูลก็มักจะทึกทักเอาเองออกนอกลู่นอกทาง

ครูจะต้องให้ข้อมูลหรืออ่านจากแหล่งข้อมูลข่าวสารอื่นๆ กลั่นกรองพินิจพิจารณาด้วยการนำมาย่อยข้อมูลนั่นก็คือการคิด นำสู่ ภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาประเภทที่ 3 ปัญญาที่เกิดจากการลงมือทำ เมื่อได้ฟังได้อ่านได้คิดตามใน 2 ข้อแรกแล้ว ก็ลองผิดลองถูก ทำดีก็ทำต่อไป ทำไม่ดีก็ปรับปรุงลองแก้ไข ปรับปรุงอย่างนี้เรียกภาวนามยปัญญา

การสอนในห้องเรียน คุณธรรมจริยธรรมต้องทำทั้ง 3 ขั้น 3 ลำดับ ขั้นที่ 1 คือ สุตมยปัญญา ความรู้ที่เกิดจากการรับข้อมูลนั้น ครูจะต้องเป็นผู้สอนให้รู้ และเมื่อรู้แล้วจะต้องคิดสอนให้เขาคิด ทีนี้จะสอนอย่างไรที่จะให้เด็กเกิดขั้นที่ 2 จินตมยปัญญา ครูจะต้องทำให้ดูคือคิดให้ดู นำไปก่อนเลยว่าคิดอย่างนี้ วิเคราะห์อย่างนี้ เหมือนกับสาธิตในทางจิตใจ ปกติเราเข้าห้องแล็บห้องทดลองนี่มองเห็น แต่ถ้าเรื่องการคิดเราลองคิดให้เด็กดู หรือเราคิดนำ พูดออกมาดังๆ อันนี้เรียกจินตมยปัญญา คือคิดให้ดู

และ ขั้นที่ 3 ภาวนามยปัญญา เป็น การลงมือปฏิบัติ ครูต้องอยู่ให้เห็น คือการดำรงชีวิตอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม เป็นตัวแบบ เป็นโมเดลลิ่ง จึงจะมีผลสัมฤทธิ์ในพฤติกรรมของเด็กก็คือเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น อยากให้เด็กไหว้พระสวดมนต์ ครูก็ไหว้พระสวดมนต์ให้เด็กดูด้วย ทำเป็นวิถีชีวิตอย่างนี้ก็ต้องมีผล "สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น"

ในการสอนให้รู้ก็ต้องบวกกับทำให้ดูหรือคิดให้ดูด้วย นั่นคือในวิชาต่างๆ ไม่เป็นแต่เพียงให้ข้อมูลดิบ แต่ต้องวิเคราะห์ ต้องขบต้องย่อยให้เด็กได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ถ้าเกิดให้ข้อมูลดิบไปก็เป็นเรื่องที่ยากสำหรับเด็กที่จะได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้นลองคิดทอนย่อยด้วยภาษาที่เข้าใจเอง ภาษาของเราพูดจากความเข้าใจของเรา ก็เหมือนกับเราทำกับข้าวให้เหมาะกับปากของเด็ก เด็กก็จะรับได้ง่าย

การย่อยหรือคิดด้วยจินตาของครู ที่ว่าคิดให้ดูหรือทำให้ดูนั้น แยกออกเป็น 2 แบบ คือ 1.คิดเพื่อให้เกิดปัญญา 2.คิดเพื่อให้เกิดคุณธรรม 2 แบบนี้ไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือเมื่อมีปัญญาแล้วไปสู่คุณธรรมได้ โดย

แบบที่ 1 คิดเพื่อให้เกิดปัญญา คือมีความรู้ เช่น การคิดหาสาเหตุว่าสิ่งต่างๆ เกิดจากเหตุไหน สัมพันธ์กันอย่างไร อย่างนี้คิดแล้วเกิดความรู้อย่างที่ทดลองทางวิทยาศาสตร์ คิดคณิตศาสตร์ คิดวิเคราะห์ถึงเบื้องหลังของคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์ เหมือนเรื่องนักสืบ คิดแล้วเกิดปัญญา เกิดความรู้ ได้บทสรุป

แบบที่ 2 คิดแล้วเกิดคุณธรรม หมายถึงคิดแล้วเกิดกำลังใจที่จะทำความดี มองแง่ดี บางทีคนเราก็เกิดความท้อแท้ไม่มีกำลังใจในการทำงาน แต่พอเห็นคนพิการง่อยเปลี้ยเสียขาทำงานอย่างไม่ท้อแท้ อย่างมีศักดิ์ศรี เราก็เกิดความคิดว่าจะงอมืองอเท้าไม่อายเขาหรือ เกิดความขยันขันแข็งขึ้น ฉะนั้นการคิดเพื่อให้เกิดความรู้หรือเกิดปัญญาแล้วแก้ปัญหาได้ ซึ่งท่านกำหนดไว้หลายแบบ เช่น คิดแบบอริยสัจ 4 คิดแบบปฏิจจสมุปบาท มองเห็นสิ่งต่างๆ เชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุมีผล คิดแบบวิภัชวาท แยกแยะส่วนประกอบทั้งหลาย

การคิดเหล่านี้ พระพุทธศาสนาสอนไว้มาก เรียกว่า "โยนิโสมนสิการ" โยนิโส แปลว่า ถูกต้องแยบคาย มนสิการ แปลว่า ทำไว้ในใจ โยนิโสมนสิการก็คือ คิดให้ถูกต้องแยบคายเพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อให้เกิดกำลังใจในการทำความดีก็ได้

ยกตัวอย่าง คิดแบบอริยสัจ 4 แบ่งเป็น 4 ขั้น ขั้นปัญหาเรียกว่าความทุกข์ ขั้นสมุทัยคือเหตุของปัญหาของความทุกข์นั้น ขั้นนิโรธคือดับปัญหา และขั้นมรรคคือวิธีการดับปัญหา เอากรอบอริยสัจ 4 เป็นตัวตั้ง สอนประวัติศาสตร์ เกิดปัญหาขึ้นมา ถามว่ามีจากสาเหตุไหน อะไรเป็นสมุทัย และในประวัติศาสตร์ปัญหานั้นดับอย่างไร โดยวิธีการใด เมื่อดับปัญหาแล้วเกิดสภาวะอะไรขึ้น หรือจะใช้วิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งในบ้านเมือง ปัญหามาจากสมุทัยคือสาเหตุอะไร สภาวะปัญหาที่เรียกว่านิโรธคืออะไร และจะดับได้อย่างไรก็เป็นมรรค

แต่ละเรื่องเอาไปใช้ในทุกสถานการณ์ เป็น กรอบในการมอง อาจสอนให้เด็กแก้ปัญหาชีวิตตัวเอง สอนให้ตระหนักรู้ขอบเขตของปัญหา คือความเสียหาย ความทุกข์ความเครียด มาจากสาเหตุอะไร และถ้าดับปัญหา ดับความเครียดความทุกข์ได้ ดีอย่างไร แล้วดับได้อย่างไร ช่วยตัวเองได้ไหม ถ้าไม่ได้ไปหาใคร

การคิดเป็นต้องให้เสรีภาพมองได้หลายมุม เรื่องเดียวกันชั่งหลายๆ ด้าน หลังจากสอนเสร็จถามว่าคิดอย่างไร ให้เขาฟังเพื่อนคิด ในที่สุดเขาก็จะรู้ว่าคิดไม่เหมือนกัน และครูก็ไม่ต้องสรุปหรอก เด็กสรุปเองว่าคิดอย่างไรถึงจะเหมาะ แล้วสังคมก็จะเกิดปัญญาเพราะสร้างสรรค์ในการคิด

แหล่งข้อมูล  หนังสือพิมพ์ข่าวสด

หมายเลขบันทึก: 223295เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ อ.ต๋อม คิดถึงจัง สาธุ สาธุ พอจบแล้วนี่ธรรมะ ธรรมโม จังนะ

ตื่นได้แล้ว

แสงแดดอ่อนแย้มรับอรุณยิ้ม
พื้นยอดหญ้าเอมอิ่มปริ่มน้ำค้าง
มวลเมฆขาวอาบอวลเนื้อนวลปราง
พรายสะพร่างเก็จพราวราวกลางวัน

ทุกวันคืนพ้นผ่านบันดาลพบ
ดั่งประสบวิมานผ่านความฝัน
ดวงดอกไม้ผลิรอล้อตะวัน
หลากสีสันผ่านฟ้าทะเลดาว

ผ่านเส้นสายพริ้มพรายในวันรุ่ง
แสงสีรุ้งทอทาบอาบเมฆขาว
เหมือนมอบร้อยใยรักพักสักคราว
หลายเรื่องราวเหนื่อยนักแวะพักล้า

ให้ธรรมชาติรักษาคราทนทุกข์
มาปลอบปลุกกล่อมขวัญสู้วันหน้า
แล้วสู้ต่ออย่าท้อต่อชะตา
ธรรมชาติรักษาใจหายสักวัน

สวัสดียามเช้าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท