อาจารย์ทวีศักดิ์
อาจารย์ อาจารย์ทวีศักดิ์ สว่างเมฆ

ข้าวขวัญ สุพรรณบุรี


ข้าวไทยมีมากกว่า 6,000 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ

       

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะเล่าถึงเรื่องราวและประสบการณ์ที่ได้ไปศึกษาดูงานมา ส่วนมากจะเป็นเกร็ดความรู้หรือทางด้านวิชาการมากกว่า วันที่ 14 พ.ย.51 ผมและเพื่อนนิสิต (อืมวันนี้ขอสวมบทบาทเป็นนิสิตปริญญาเอก) ได้ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยตั้งแต่ตี 4 เพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ในเรื่องการใช้การจัดการความรู้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวนา ให้หันมาใช้การเกษตรอินทรีย์ โดยการไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการปลูกข้าว การทดลองผสมสายพันธุ์ข้าวและอีกหลายอย่าง

              เมื่อไปถึงที่มูลนิธิข้าวขวัญ บรรยากาศดีมาก ลมพัดเย็นสบาย ทำให้คิดถึงบ้านขึ้นมาทันทีทันใด มูลนิธิข้าวขวัญเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือที่เรามักเรียกว่า NGO นั่นเอง เรามาทำความรู้จัก มูลนิธิข้าวขวัญกันก่อนแล้วกัน  

มูลนิธิข้าวขวัญเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าว และพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี
                ปี พ.. ๒๕๒๗ มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เริ่มต้นจากโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าว และการส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นอยู่กับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม  ( ATA )
                ปี พ.. ๒๕๓๒ ได้แยกตัวจากสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อตั้งองค์การใหม่ขึ้นมาในนาม ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม ( Technology for Rural and Ecological Enrichment : TREE )
                ปี พ.. ๒๕๔๑ ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีสำนักงาน และพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนามในเขต จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตอาหารที่มีมาแต่อดีต พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตเกษตรก้าวหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว (Green Revolution ) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และปัจจัยการผลิตจากภายนอก จนเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ปัจจุบันมูลนิธิข้าวขวัญ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง ในเขตเทศบาลท่าเสด็จ ต.สระแก้ว  อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัด สุพรรณบุรี 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บางปลาม้า อ.อู่ทอง และ อ.ดอนเจดีย์ รวมทั้งเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 36 เครือข่าย โดยมีกิจกรรม เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานสำคัญ ๆ ดังนี้

กิจกรรมส่วนใหญ่ขององค์กร         
               มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรและชุมชน มีการเรียนรู้จากความรู้ภายนอก และการฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมมาจัดการอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดระบบการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติ สามารถลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น สานสร้างเครือข่ายของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เห็นคุณค่า และความสำคัญกับเรื่องของวิถีชีวิต สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อันเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่าง การพัฒนาระบบเกษตรกรรม กับการพัฒนาวิถีชีวิตอย่างเป็นสุข รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นอย่างรอบด้าน

             และกิจกรรมสำคัญ ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของข้าวขวัญ ในการขยายองค์ความรู้เชิงลึกให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่มีความพร้อมในการพัฒนาแนวคิดเพื่อการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ นั่นก็คือ โรงเรียนชาวนา ซึ่งการปฏิบัติงานครั้งนี้ มูลนิธิข้าวขวัญ ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่สำคัญ คือ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ( สคส.)  ในการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจัดการความรู้ ภายใต้หลักสูตรการเรียนรู้ 3 หลักสูตรสำคัญ คือ

หลักสูตรที่ การบริหารจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี

                หลักสูตรที่ 2 การปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี

หลักสูตรที่ 3 การพัฒนาพันธุ์ข้าว

ซึ่งได้รับความร่วมมือร่วมใจ ในการใฝ่พัฒนาองค์ความรู้จากเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 200 ครอบครัว จากทั้ง 4 อำเภอ ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการที่ต้องมีนัดเพื่อการเรียนรู้ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง ตามสถานที่นัดหมายในแต่ละพื้นที่ หรือแม้แต่กระทั่ง การได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรกรรมของตน เช่น การไม่เผาฟาง การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำสมุนไพรขับไล่แมลง รวมทั้งการรู้จักแมลงดี-แมลงร้าย  การเก็บและขยายจุลินทรีย์ การทำฮอร์โมนเพื่อการบำรุงต้นข้าว เป็นต้น เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเทคนิคใหม่ที่ชาวนาได้นำไปประยุกต์ใช้ โดยคำนึงถึงวัตถุดิบภายในท้องถิ่นของตนเป็นสำคัญ ซึ่งแนวคิดสำคัญที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เข้าใจที่ตรงกันก็คือว่า การที่ชาวนาพยายามที่จะหาสิ่งทดแทนสารเคมีทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นเพียงการเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนวิถีผลิต ที่ในท้ายที่สุด กระบวนการและเทคนิคต่างๆเหล่านั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องนำมาใช้ในพื้นที่เกษตรอีกต่อไป    กล่าวคือ ใช้เพื่อที่จะไม่ต้องใช้อีกเพราะในที่สุด ระบบนิเวศน์และสมดุลของธรรมชาติก็จะกลับคืนมา   ชาวนาก็จะหลุดพ้นจากวังวนของการพึ่งพาปัจจัยภายนอกในทุกขั้นตอน 
                แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบทบาทหน้าที่นั้น มูลนิธิข้าวขวัญ ก็เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งที่อาสาเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้กระบวนการทำเกษตรแบบยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การจัดการความรู้ แต่จะมีศักยภาพและยั่งยืนได้มากขึ้น ถ้าแนวคิดของการพัฒนาระบบเกษตรแบบพึ่งตนเองนี้ เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนได้มากพอ และฟันเฟืองในการขับเคลื่อนมีใช่แค่เพียงมูลนิธิข้าวขวัญเท่านั้น เชื่อได้ว่าหนทางก้าวไปสู่พื้นที่เกษตรยั่งยืนอย่างแท้จริงจะเป็นจริงได้อย่างแน่นอน

                เราน่าจะรู้จักมูลนิธิข้าวขวัญแล้วนะคับ สิ่งที่ผมได้รับจากที่ได้ฟังวิทยากร ซึ่งในวันนี้ก็ได้รับเกียรติจากพี่สาวผู้น่ารัก คือพี่ชมพู่ ศิษย์เก่าจากรั้วมอดินแดง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นรุ่นพี่ร่วมมหาวิทยาลัยของผมเอง (ผมเรียนจบที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) สิ่งที่ได้จากการฟังการบรรยายจากพี่ชมพู่ ในการนำเอาวิธีทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ ฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อพัฒนาวิถีชีวิตของชาวบ้านให้มีความสุข

                การทำให้ชาวบ้าน ชาวนาซึ่งมีความเชื่อ มีวิถีชีวิตเกี่ยวกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบเก่าให้หันมาเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการทำการเกษตรแบบใหม่ที่ไม่ใช้กระทั่งปุ๋ยและสารเคมีในการเพาะปลูกข้าวเป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก การเปลี่ยนวิธีคิดซึ่งยากมากสำหรับชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีประสบการณ์ในการเพาะปลุกข้าวมาอย่างยาวนาน ซึ่งเคยชินกับการใช้ปุ๋ยและสารเคมี ซึ่งชาวนาจะปลุกข้าวที่เน้นเพื่อขาย ให้ได้ผลผลิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งต่างจากการปลูกข้าวในสมัยก่อนที่เพื่อกินเองในครอบครัวและแลกเป็นของอย่างอื่น ดังนั้นชาวนาจะไม่คำนึงถึงผลกระทบ นอกจากการได้ผลผลิตที่มาก ขายข้าวได้ราคาดีเท่านั้น การดึงชาวนาที่มีความคิดแบบเดิมๆมาเข้าร่วมโครงการของมูลนิธิจึงเป็นเรื่องท้าทายที่สุด สำหรับการดำเนินการของมูลนิธิ การชี้ให้เห็นถึงการทำการเกษตรที่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมี การทดลองเพื่อให้คนเหล่านั้นได้เห็นว่าสิ่งที่มูลนิธิแนะนำว่ามันทำได้จริง โดยการใช้การจัดการความรู้ KM โดยการจัดตั้งโรงเรียนชาวนาเพื่อให้ชาวนาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยการใช้กระบวนการการจัดการความรู้ ความรู้ประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวของชาวนาซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์ในการทำนามากยาวนาน การให้ชาวบ้านได้ลงมือปฏิบัติจริง ทดลองปลูกข้าวที่ไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งพี่ชมพู่พูดย้ำอยู่เสมอว่าเป็นการหักดิบสำหรับชาวนาสุพรรณเลยทีเดียว เมื่อลงมือทำแล้วเกิดผล ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ เข้าร่วมฝึกอบรมตามหลักสูตร ก็จะเกิดความรู้ ความเชื่อ นำสิ่งต่างๆไปปฏิบัติจริง ซึ่งก็ได้การสนับสนุนจากมูลนิธิได้เข้าไปช่วยเหลือในทุกๆด้าน ทำให้ขณะนี้มีเครือข่ายของชาวนาที่ปลูกข้าวด้วยไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก  

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้เรียนรู้จากพี่ๆที่มูลนิข้าวขวัญ

-          ประเทศไทยเรามีพันธุ์ข้าวมากถึง 6,000 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ (น่าเศร้า)

-          ชาวนาส่วนมากยังไม่รู้จักต้นข้าวดีพอ

-          การผสมพันธุ์ข้าว พี่ๆจบแค่ ป.4 ทำได้สบายมาก

-          อยากได้ข้าวแบบไหน เมล็ดสีดำ หนึ่งเมล็ดมีสองสี ต้นสูง ต้นเตี้ย มีกลิ่นหอม นุ่ม พี่ๆที่ข้าวขวัญทำให้ได้  คับผม

-          อยากให้ชาวนาปลูกข้าวปลอดสารพิษ ผู้บริโภคต้องช่วยกันอุดหนุนกันเยอะๆ

-          นาข้าว 1 แปลง ปลูกข้าวได้กี่พันธุ์ก็ได้ ไม่ต้องกลัวข้าวจะกลายพันธุ์นะคับ ที่มูลนิธิข้าวขวัญปลูก 1 แปลง มากกว่า 50 สายพันธุ์เลยทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 222996เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2008 00:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ

กิจกรรม ประกอบการศึกษาแบบนี้ดีนะครับ

ได้ไปเห็นของจริง ที่มา และ ฝีมือของผู้สรรค์สร้าง...

ได้ตามมาอ่านสาระความรู้ด้วย ขอบคุณครับ

แวะมาเรียนรู้ค่ะ   ขอบคุณค่ะ

เป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับชาวนามาก

แต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังไม่ได้เรียนรู้กันนัก

ใครหนอจะเป็นผู้นำพาให้ความรู้เหล่านี้ไปถึงชาวนาได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท