118 ปีกรมบัญชีกลาง พัฒนางานเพื่อผู้รับบริการ


กรมบัญชีกลาง

กรมบัญชีกลางรายงานผลการปฏิบัติงานของปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 118 ปี

นายปิยพันธุ์  นิมมานเหมินท์  อธิบดีกรมบัญชีกลาง  เปิดเผยผลการปฏิบัติงานในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมบัญชีกลาง ครบ 118 ปี  วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ว่า ภารกิจของกรมบัญชีกลางมีหลายด้าน  ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2551  ที่ผ่านมาได้ดำเนินงานสำคัญตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ  ของบุคลากรภาครัฐ และประชาชน เช่น

1. การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณ  ได้ติดตามเร่งรัดให้ส่วนราชการดำเนินการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ  ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เพื่อมุ่งเน้นการสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง  และมีเสถียรภาพ  และการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลอย่างแท้จริง โดยในปีงบประมาณ  พ.ศ. 2551 ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ณ วันที่ 30 กันยายน 2551 เบิกจ่ายเงิน 1,532,4219ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 92.31  จากวงเงินงบประมาณ 1,660,000 ล้านบาท  แม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ที่ร้อยละ 94   แต่ในส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างฐานเศรษฐกิจ มีการเบิกจ่ายเกินกว่าเป้าหมายโดยเบิกจ่ายได้ 267,482 ล้านบาท จากวงเงินงบลงทุนที่โอนเปลี่ยนแปลงแล้ว 339,826 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.71  ซึ่งเป้าหมายกำหนดไว้ที่ร้อยละ 74

2. การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเงินบำเหน็จบำนาญ   ได้แก้ไขกฎกระทรวงขยายเพดานวงเงินบำเหน็จดำรงชีพ จากเดิมในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนแต่ไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 15 เท่าไม่เกิน 400,000 บาท  โดย  ผู้มีสิทธิ ได้แก่ผู้ที่อายุต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับไม่เกิน 200,000 บาท  และผู้ที่อายุ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป  ให้มีสิทธิขอรับได้ไม่เกิน 400,000 บาท  แต่ถ้ารับ 200,000 บาท   ไปแล้ว  ก็ให้ขอรับเพิ่มไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิ  โดยรวมกันแล้วไม่เกิน 400,000 บาท   และจากการตรวจสอบจะมีผู้มีสิทธิ จำนวน 92,267 ราย โดยจะใช้เงินงบประมาณเพื่อจ่ายบำเหน็จดำรงชีพเพิ่มประมาณ  8,991 ล้านบาท   ในส่วนของการนำ “บำเหน็จตกทอดไปค้ำประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน  ในหลักการก็จะให้ผ่อนชำระคืนเงินกู้ด้วยการหักบำนาญรายเดือนบวกดอกเบี้ยต่ำในระดับที่ไม่กระทบต่อบำนาญที่ได้รับ  
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการบัญญัติกฎหมาย  

                         สำหรับการแก้ไขเกี่ยวกับการคำนวณบำนาญของผู้ที่เป็นสมาชิก กบข. ขณะนี้กรมบัญชีกลางกำลังศึกษาข้อมูลและพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษา เพื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบการคำนวณเงินบำนาญระหว่างผู้ที่เป็นสมาชิก กบข. กับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด เพื่อหาทางแก้ไขหรือแนวทางช่วยเหลือต่อไป 

3. การพัฒนากฎหมายระเบียบการคลังอื่น ๆ   เช่น

     3.1 การปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้รองรับกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการจากระบบ “ซี” เป็นกลุ่มประเภทตำแหน่ง จำนวนทั้งสิ้น 38 ฉบับ   ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำนวน 35 ฉบับ และดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวน  3 ฉบับ  ซึ่งได้วิเคราะห์ภาระงบประมาณในเบื้องต้นแล้วคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 598 ล้านบาท  รวมถึงการปรับปรุงระบบการจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำตามโครงสร้างตำแหน่งใหม่

     3.2 การปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบอื่น ๆ เช่น  การปรับเพิ่มเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ อาสาสมัคร  ทหารพราน กระทรวงกลาโหม  สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย  พนักงานราชการ  พ.ศ. 2551 แล้วยังต้องดำเนินการในส่วนอื่น ๆ อีก เช่น       นอกจากนี้ยังได้พัฒนากฎหมายอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น  พระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีการเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550      ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำ      ผู้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างถึงขั้นสูงหรือใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 

4. การพัฒนาสิทธิและสวัสดิการด้านต่างๆ  เช่น  พัฒนาระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลโดยเน้นส่งเสริมป้องกันโรค  เพิ่มกลไกการตรวจสอบค่าใช้จ่าย  ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เหมาะสม  ลดปัญหากรณีที่มีสิทธิซ้ำซ้อน  พัฒนาระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในตามเกณฑ์ DRG  เพื่อวินิจฉัยได้ครอบคลุมการจัดกลุ่มโรคและสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายต่อโรคได้อย่างละเอียดมากขึ้น   ขยายระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยนอกในสถานพยาบาล      ของทางราชการทั่วประเทศ   รวมทั้งเพิ่มสิทธิการเบิกจ่าย เช่น  ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคเกี่ยวกับ    ฟันเทียม    แก้ไขกฎหมายให้ข้าราชการที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกหรือท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการใหม่ มีมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านได้  ปรับเพิ่มการเบิกจ่ายเงินช่วยการศึกษาบุตรในระดับปริญญาตรี

5. การปฏิรูประบบการจ่ายตรงเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  สามารถอนุมัติและสั่งจ่ายเงินเข้าบัญชีผู้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญได้ภายในเดือนตุลาคม 2551 เพื่อให้ได้รับต่อเนื่องจากเงินเดือนและค่าจ้างประจำ หากส่วนราชการยื่นเรื่องขอรับเงินบำเหน็จบำนาญของผู้ที่จะเกษียณอายุราชการและเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (โครงการเออรี่) ให้กรมบัญชีกลาง ภายในวันที่ 15 กันยายน 2551  ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2551 มีผู้เกษียณอายุราชการยื่นเรื่องแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 19,074 ราย ได้ทำการอนุมัติสั่งจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญแล้ว จำนวน 18,774 ราย  สำหรับ        ผู้เกษียณอายุราชการก่อนกำหนดยื่นเรื่องแล้ว  จำนวน 2,799  ราย  อนุมัติสั่งจ่ายเงินแล้วจำนวน  2,296 ราย  และภายในวันที่  24  ตุลาคม  2551  จะอนุมัติสั่งจ่ายและโอนเงินบำนาญเข้าบัญชีผู้มีสิทธิได้ทุกคน   และได้พัฒนาระบบให้มีการขอรับเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Pension)  มีส่วนราชการเข้าร่วมโครงการนำร่อง  20 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 และได้ยื่นขอรับผ่านระบบมาแล้ว จำนวน  879 ราย  สามารถอนุมัติและสั่งจ่ายได้ภายในเดือนตุลาคม 2551 โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553  ครบ 227 แห่ง  ซึ่งเมื่อเสร็จสมบูรณ์ผู้ขอรับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญจะสามารถติดตามเรื่องได้เองทาง Internet     

6. ด้านบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์  (GFMIS)  ได้พัฒนาระบบงานด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น  เช่น การควบคุมและตรวจสอบการใช้งบประมาณในระดับหน่วยเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเบิกเงินงบประมาณซ้อนกัน   ปรับปรุงกระบวนการกันเงินและการขยายเวลาการเบิกจ่ายเงินไว้เบิกเหลื่อมปี  ปรับปรุงขั้นตอนการประมวลผลสั่งจ่ายเงินโดยให้มีระบบป้องกันข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน   พัฒนาระบบรับและนำเงินส่งคลัง  จัดทำระบบ EIS (Executive Information System) แสดงผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเร่งรัดและติดตามงบประมาณของจังหวัด   ซึ่งมีการออกบัตร GFMIS Smart Card  จำนวนทั้งสิ้น 1,757 บัตร  ออกรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่านให้หน่วยงานทั่วประเทศ ที่ใช้งานผ่านเครื่อง Terminal   Excel Loader   ผ่านช่องทาง Internet และ Intranet จำนวนทั้งสิ้น 7,579 หน่วยเบิกจ่าย เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของส่วนราชการ

7. ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้าง  เช่น การชะลอการยกเลิกสัญญา  การขยายระยะเวลาสัญญา  การจ่ายเงินล่วงหน้า  การให้แก้ไขสัญญาเพื่อแบ่งงวดงานใหม่   การกำหนดราคากลางงานก่อสร้างให้เป็นปัจจุบัน เป็นต้น   และปรับปรุงและจัดทำตาราง  ค่าขนส่งวัสดุให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น    สำหรับการจัดหาพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction)  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2551 มีการประมูลรวม 18,112 ครั้ง  วงเงินงบประมาณการจัดหา  285,999 ล้านบาท  ราคาที่ประมูลได้ 266,793 ล้านบาท  ประหยัดงบประมาณ 19,205 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 6.72  ส่วนมากจะเป็นงานจ้างก่อสร้าง ปรับปรุงตกแต่ง 46,952 ครั้ง  และการดำเนินงานที่ประหยัดมากที่สุด  คือ การจ้างเหมาดำเนินการต่างๆ ประหยัดได้ร้อยละ 10.74%     และยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐระหว่างประเทศ  ในการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีการจัดซื้อโดยรัฐ ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี รวมถึงการกำกับการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการจัดซื้อโดยรัฐทั้งหมด  โดยประเทศที่ได้ดำเนินการเจรจาแล้ว ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  รวมทั้ง มีการพัฒนาระบบประเมินมาตรฐานการจัดซื้อโดยรัฐ เพื่อเป็นเครื่องมือประเมินสถานะและขีดความสามารถระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 

นายปิยพันธุ์  นิมมานเหมินท์   กล่าวเพิ่มเติมว่า  สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 กรมบัญชีกลาง              มีแนวทางการพัฒนากฎหมายระเบียบต่าง ๆ เช่น   แก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. .... เพื่อให้ปรับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มเงินบำนาญให้แก่ผู้รับบำนาญได้ทันทีที่มีการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการ   การเพิ่มสิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชน   กรณีผู้ป่วยนอกกลุ่มโรคมะเร็งที่ใช้บริการรังสีรักษา  การพัฒนา e-Comp กรมบัญชีกลาง  เพื่อให้บริการสำหรับข้าราชการ  ผู้รับบำเหน็จบำนาญ  ผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล และส่วนราชการ  ในการเรียกดูข้อมูล หรือสอบถามข้อมูลการใช้จ่ายเป็นรายบุคคล  รวมทั้งพัฒนางานบริการต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับส่วนราชการต่าง ๆ ทางเว็บไซด์  จัดทำโปรแกรมการคำนวณการชดใช้เงินกรณีผิดสัญญาลาศึกษา  ฝึกอบรม  ดูงานของข้าราชการและนักเรียนทุน  เป็นต้น   

ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลาง ได้พัฒนางานเพื่อกำกับดูแลทางด้านการเงินการคลังภาครัฐ   พัฒนาการให้บริการทางด้านการเงินการคลังภาครัฐ   และพัฒนาองค์กรให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น    และจะพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง นายปิยพันธุ์  กล่าว

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท