การเจรจาตัวชี้วัด


การเจรจาตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ

จะเล่าเรื่องการเจรจาตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการปี 2552 กับทางกพร. เป็นประสบการณ์หนึ่งของการทำหน้าที่ในฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ 

     สืบเนื่องจากปีงบประมาณ 2552 นี้ ทางกพร.กำหนดตัวชี้วัดภาคบังคับของการทำงานตามยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดในภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นส่วนใหญ่  กลุ่มจังหวัดภาคอิสานตอนกลางประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น  ร้อยเอ็ด  มหาสารคามและกาฬสินธ์ ประชุมพิจารณาเลือก 2 ตัวชี้วัด ได้แก่

     1) ร้อยละที่เพิ่มขึ้นของมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรสำคัญของกลุ่มจังหวัด

     2) ร้อยละของจำนวนแปลง/ฟาร์มที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP ต่อจำนวนแปลง/ฟาร์ม ที่ได้รับการตรวจจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     พร้อมกับมอบให้จังหวัดขอนแก่นทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่ม จัดทำรายละเอียดและเจรจากับทางกพร.  สำนักงานจังหวัดขอนแก่นในฐานะเลขาฯใหญ่ ก็มอบต่อทันทีให้ดิฉันเป็นผู้ช่วยเลขาฯทำรายละเอียดเรื่องนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ OSM ( Office of Strategies Management :สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด)ซึ่งตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น

     เมื่อจัดทำรายละเอียดตามแบบฟอร์ม (Template) ที่ทางกพร.ยกร่างไว้  เราก็แทบเข่าอ่อนเลย..

 ตัวชี้วัดแรก คือร้อยละที่เพิ่มขึ้นของมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรสำคัญของกลุ่มจังหวัด  มีสูตรคำนวนดังนี้

     มูลค่าผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญในปี2552 - มูลค่าผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญในปี 2551 x 100 หารด้วย มูลค่าผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญในปี 2551

     กพร.กำหนดค่าคะแนนที่จะได้โบนัส คือ  ระดับ 3  ถ้าร้อยละที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 0

                                                         ระดับ 4  ถ้าร้อยละที่เพิ่มขึ้น เท่ากับ Y

                                                         ระดับ 5  ถ้าร้อยละที่เพิ่มขึ้น เท่ากับ 2Y

    โดยค่า Y หมายถึง ร้อยละการเปลี่ยนแปลงของมูลค่ารวมของผลผลิตทางการเกษตรสำคัญของกลุ่มจังหวัดเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2549 - ปีงบประมาณ พ.ศ.2551) กรณีค่าเฉลี่ย 3 ปี เป็นค่าลบหรือต่ำกว่า 2.5 ให้ใช้ค่า Y เท่ากับ 2.5

     เมื่อเราทำตารางตัวเลขมูลค่าของสินค้า ที่สำคัญของกลุ่มเรา7 ชนิดสินค้า คือ ข้าว  อ้อยโรงงาน  มันสำปะหลัง  โคเนื้อ  ไข่ไก่  ไก่เนื้อ  สุกร  โดยใช้ตัวเลขที่ประกาศโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ( ปริมาณที่ผลิตได้ x ราคาในปีนั้น)

     เมื่อเห็นตัวเลข โอ้โห  ไม่น่าเชื่อ.. กลุ่มสินค้านี้ใน4 จังหวัด ปี 48 มีมูลค่า  27,933 ล้านบาท

                                                                                 ปี 49  มีมูลค่า 32,350 ล้านบาท

                                                                                 ปี 50  มีมูลค่า 38,499 ล้านบาท

                                                       ประมาณการ          ปี 51  มีมูลค่า 43,242 ล้านบาท

                                                                                      

       คิดอัตราการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ปี เท่ากับ 15.11  ( คือ ค่า Y ) ถ้าจะทำให้ได้ 2Y หมายถึงปี 2552ต้องได้มูลค่าสินค้าเกษตรทั้ง 7 ชนิด เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.22        เราคิดในใจว่า "ตัวเลขในฝันเลย" ปี 52 เศรษฐกิจจะตกต่ำ  ราคาผลผลิตผลการเกษตรร่วงทุกตัว  รัฐบาลคาดหมายอัตราการเจริญเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 4.5 เท่านั้นแล้ว ทาง กพร. ตั้งสูตรแบบนี้ เราต้องทำให้มีการขยายตัวเพิ่มถึงร้อยละ 30.22 นี้ ฝันแล้วตื่นอีกกี่ชาติคงทำไม่ได้...

       เราเชิญประชุมผู้เกี่ยวข้องดูรายละเอียดตัวเลขนี้  ทุกคนส่ายหัว..แล้วมีมติให้ขอเจรจากับทางกพร.โดยมอบให้หัวหน้าสำนักงานจังหวัดขอนแก่นเป็นหัวหน้าทีมเจรจา

       โจทย์ นี้ยากมากเพราะ ตัวเลข 3 ปีที่ผ่านมาเป็นยุคทองของผลิตผลทางการเกษตร ทุกตัวสินค้าราคาพุ่งสูง จนชาวไร่ ชาวนา ลืมตาอ้าปากได้จริงๆ แต่ปีหน้าจะต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 51 ถึงร้อยละ 30 มันเป็นไปไม่ได้  หัวหน้าทีมพูดๆยิ้มว่า "แล้วแต่คุณอ้อ..เอาไงผมเอาด้วย"  เผือกร้อนที่ท่านโยนมาใส่มือ ทำเอามือพองแน่ๆเลย...

        เอาไงดี..จะเจรจาแบบไหน    กำหนดเป้าหมายซักเท่าไรที่จะเป็นไปได้  จะใช้หลักฐานอะไรเพื่อยืนยันแล้วเขาจะเชื่อเรา...ทีมงานเราคุยกันว่า  ตัวเลขที่พอจะเป็นไปได้ไม่น่าจะเกินร้อยละ 20 (โดยค่า Y  ต้องไม่เกิน 10)

        ดิฉันเลยบอกน้องๆ OSM  ลองทำตารางตัวเลขย้อนหลัง 10 ปีของสินค้าทั้ง 7 ตัวนี้ดูหน่อยเป็นไร เสียเวลาพอสมควรในการค้นหาตัวเลขเหล่านี้  แต่เมื่อเสร็จแล้ว  วิเคราะห์อัตราการเปลี่ยนแปลง.. ทำกราฟ หาทิศทาง   ลองคำนวนค่า Y ใหม่   ดิฉันยิ้มได้เลย  ดังตารางนี้นะคะ 

 

 

    ถ้าใช้ค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังมันสูงไป  แต่ถ้าใช้ เฉลี่ย 10 ปี จะเหลือเพียง ร้อยละ 8.01 เท่านั้น

    เราโทรติดต่อ เจ้าหน้าที่ กพร.ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อการเจรจา  ขอให้พิจารณาตารางข้อมูลนี้ของเราก่อนล่วงหน้า  โดยเราจะขอใช้ค่า Y เป็นค่าเฉลี่ย 10 ปี ย้อนหลัง แทน 3 ปี ที่กำหนดไว้เดิม

    ในวันเจรจา..หัวหน้าทีมทำหน้าที่เจรจาผ่านระบบวิดิทัศน์ทางไกล ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ..เมื่อเปิดการเจรจา ขอเปลี่ยนแปลง ที่จะใช้ค่า Y เป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี  แทนค่าที่ กพร กำหนดไว้เดิมเฉลี่ยย้อนหลัง  3  ปี   ซึ่งเท่ากับร้อยละ 8     ผู้แทนฝ่าย กพร. ยอมรับข้อเสนอของเราและกำหนดค่าคะแนน ระดับ 5 ถ้าเราสามารถทำได้ 2Y คือ ร้อยละ 16...ให้ถอยคะแนนแต่ละระดับลงร้อยละ 4 ดังนี้

                                                         ระดับ 3  ถ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8

                                                         ระดับ 4  ถ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12

                                                         ระดับ 5  ถ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16

    ..เป็นความสำเร็จในความเพียรพยายามของเรา.. แม้ว่าร้อยละ 16 จะยังสูงมากในสถานการณ์แบบนี้ แต่ก็ยังดีกว่า ตัวเลขเดิมที่ร้อยละ 30

      บันทึกนี้อยากจะบอกว่า  การเจรจาจะสำเร็จหรือไม่  ขึ้นกับการเตรียมตัวของเรา  และการต่อสู้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง  รวมถึงข้อมูลที่มีมาก จะทำให้เราได้เปรียบ...

หมายเลขบันทึก: 222112เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2008 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีมากครับพี่ ที่ลงให้อ่านแม้ไม่เข้าใจเท่าไหร่....ก็ได้รู้เป้าหมาย

รู้สึกว่าหนองคาย ก็จะใช้ตัวชี้วัดตัวนี้ แต่ยังไม่ได้ดูรายละเอียดว่าตกลงกันได้ที่ ร้อยละเท่าไหร่

ขอบคุณมากครับที่นำมาเล่า ที่จริงพี่อ้อ มีเรื่องเล่ามากมาย แต่อยู่ที่ว่าผมมีเวลามาอ่านหรือเปล่า ขอให้ตัวชี้วัดผ่นตามประสงค์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท