เกี่ยวกับหะดิษ : วัจนะของศาสนทูต (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)


นี่คืออีเมลจากชาวพุทธท่านหนึ่งที่สอบถามเข้ามา เกี่ยวกับอิสลาม

......................................................................................................................................

ชื่อ: รุ่งนภา  แพ่งสภา
อีเมล: [email protected]
หัวเรื่อง: หะดิษคืออะไร  เมื่อศึกษาแล้วเราจะรู้อะไรบ้างคะ

ข้อความ:
เรียน  ท่านอาจารย์อาลัม ที่นับถือ
      ดิฉันเป็นชาวพุทธค่ะ   อยากเรียนรู้ว่า ศาสนาอิสลามมีสิ่งดีๆซ่อนไว้ที่ไหนบ้าง  แต่พระไตรปิฎกของชาวพุทธก็มีสิ่งดีๆวางไว้ให้เรียนรู้ศึกษามากมาย น่าเสียดายที่คนเรามักไม่ไขว่คว้าของดีๆในศาสนา จนกว่าตนเองจะทุกข์หนัก หาที่พึ่งไม่ได้
      จะศึกษาด้วยความเคารพค่ะ
                              ด้วยจิตคารวะ
                                                 รุ่ง

......................................................................................................................................

เพื่อประโยชน์ต่อผู้สนใจท่านอื่นๆด้วย ผมขออนุญาตตอบในโกทูโน นะครับ

  • คำถามแรกที่คุณรุ่งนภาถามว่า "หะดิษคืออะไร"

        หะดิษ นี่เป็นคำในภาษาอาหรับ ในศาสนาอิสลามคำนี้หมายถึง คำพูดหรือวจนะของศาสนทูต(ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) การกระทำของท่าน การยอมรับของท่าน และรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวพันกับท่านศาสนทูต (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)

        ขอยกตัวอย่างหะดิษสัก ๑ หะดิษ

Hadith2

       ท่านศาสนทูต (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) กล่าวไว้ความว่า "แท้จริง จะมีกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉันมาพบกับพวกเจ้า ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะถามเกี่ยวกับหะดิษของฉัน ดังนั้น เมื่อพวกเขาได้พบพวกเจ้าแล้วก็จงน้อมรับ และจงสอนพวกเขาให้ถูกต้อง" [1]

  • คำถามต่อมา "เมื่อศึกษาแล้วเราจะรู้อะไรบ้างคะ"

       เพื่อตอบคำถามนี้ ผมขออธิบายทำความเข้าใจก่อนครับว่า อัลลอฮฺคือพระผู้เป็นเจ้าของมนุยชาติทั้งมวล นับตั้งแต่พระองค์ทรงส่งมนุษย์มาบนโลกนี้นั้น พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งศาสนทูตของพระองค์ขึ้นมา และมนุษย์คนแรกก็เป็นศาสนทูตด้วยครับ และมนุษย์เราก็เป็นลูกหลานของศาสนทูต  พร้อมกันนี้พระองค์ได้ทรงประทาน "สาร" หรือ"คำแนะนำ" ของพระองค์ ที่เราเรียกว่าคัมภีร์ลงมาในแต่ละช่วง โดยมีศาสนทูตเป็นผู้สื่อสารนั้น ด้วยการปฏิบัติเป็นตัวอย่างและอธิบายสารดังกล่าวให้กับมนุษย์อื่นๆ ดำเนินเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยที่พระองค์ทรงแต่งตั้งศาสนทูตท่านสุดท้าย (คอตะมันนบียีน) คือท่านนบีมุหัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) จากชาวอาหรับ โดยประทานสารสุดท้ายของพระองค์ลงมาด้วย คือ คัมภีร์อัลกุรอาน

การประทานคัมภีร์อัลกุรอานนั้น ไม่ได้ประทานลงมาทั้งเล่ม แต่จะทยอยประทานลงมา ครั้งละนิด และท่านนบีก็จะอ่านให้ฟัง อธิบาย และปฏิบัติเป็นตัวอย่าง การอธิบายและการปฏิบัติของท่านนั่นแหละที่เราเรียกว่า "หะดิษ" รวมถึงการยอมรับการปฏิบัติของสาวกของท่าน คำตักเตือน คำแนะนำ และอื่นๆ

ดังนั้นเมื่อเราศึกษา "หะดิษ"  เราก็จะรู้เกี่ยวกับอิสลามในแง่มุมต่างๆทุกเรื่องและครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุกด้านครับ

มีนักวิชาการด้านหะดิษได้ศึกษาและรวบรวมหะดิษของท่านนบี (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)ไว้มากมายและที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ท่านอิมามบุคอรี อิมามมุสลิม อิมามอบูดาวูด อิมามอัตติรมีซีย์ อิมามนะสาอีย์ และอิมามอิบนุมาญะฮฺ

ยกตัวอย่างท่านอิมามอัลบูคอรี หนังสือรวบรวมหะดิษของท่านรวม ๙ เล่ม ท่านได้แบ่งหมวดหมู่หะดิษออกเป็นบทๆ รวม ๙๓ บท

อย่างเล่มที่ ๑ มี ๑๒ บทประกอบด้วย

  • บทที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องวะหฺยู (วิวรณ์)
  • บทที่ ๒ ว่าด้วยการศรัทธา
  • บทที่ ๓ ว่าด้วยวิชาการ (ความรู้)
  • บทที่ ๔ ว่าด้วยการอาบน้ำละหมาด
  • บทที่ ๕ ว่าด้วยการอาบน้ำ
  • บทที่ ๖ ว่าด้วยเลือดประจำเดือน
  • บทที่ ๗ ว่าด้วยตะยัมมุม (ว่าด้วยการอาบน้ำละหมาดในกรณีที่ไม่มีน้ำ)
  • บทที่ ๘ ว่าด้วยการละหมาด
  • บทที่ ๙ ว่าด้วยส่วนต่างๆที่เกี่ยวกับขอบเขตของที่ละหมาด
  • บทที่ ๑๐ ว่าด้วยเวลาและความประเสริฐของการละหมาดในเวลา
  • บทที่ ๑๑ ว่าด้วยการอะซาน (การเรียกให้มาละหมาด) และ
  • บทที่ ๑๒ ว่าด้วยลักษณะของการละหมาด

....................................................................................................................................

หวังใจว่า คำอธิบายนี้จะตอบข้อสงสัยของคุณรุ่งนภานะครับ

ขออัลลอฮฺทรงนำทางคุณรุ่งนภาสู่แนวทางอันอบอุ่นและเที่ยงตรงยิ่งของพระองค์ อามีน

 

[1]  อ้างจาก หนังสือมุศเฏาะละหฺ อัลหะดิษ แปลและเรียบเรียงโดย ดร.อับดุลเลาะ การีนา ปี ๒๕๔๙ หน้า ๑๖-๑๗

 

หมายเลขบันทึก: 221188เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2008 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อามีนนนนนนนนน

อัสลามูอาลัยกุม

ไหนว่ามี 12 บทละครับ แล้วทำไมมีบทที่ 23 ด้วย

"บทที่ ๒๓ ว่าด้วยลักษณะของการละหมาด "

(แวะมาเรียนรู้ครับ แต่ขออนุญาตแซวเล่นหนึ่งประเด็น)

  • วะอาลัยกุมุสสะลามครับ
  • ขอบคุณอาจารย์จารุวัจน์มากครับที่มาช่วย proof แก้ไขแล้วตามที่แนะนำครับ
  • ขอบคุณอาจารย์จารุวัจน์อีกครั้งครับ

สวัสดีครับ

  • ได้ความรู้เพิ่มเยอะเลย
  • อาจาย์สบายดีนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • ขอบคุณท่านเกษตรยะลาที่แวะมาเยี่ยมครับ
  • อัลหัมดุลิลละฮฺ (มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ) ผมสบายดีครับ
  • หวังใจว่าท่านเกษตรยะลาก็สบายดีนะครับ ด้วยความระลึกถึงเสมอครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท