จะช่วยเด็กทำการบ้านและฝึกนิสัยการเรียนรู้ได้อย่างไร


ความจริงแล้วการที่เด็กจะทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรือทบทวนบทเรียนนั้น พ่อแม่มีส่วนสำคัญมาก

                พ่อแม่หลายคนอาจจะประสบปัญหาว่าลูกไม่ยอมทำการบ้าน ไม่อ่านหนังสือหรือทบทวนบทเรียน และโทษว่าลูกไม่เอาถ่าน แต่ความจริงแล้วการที่เด็กจะทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรือทบทวนบทเรียนนั้น พ่อแม่มีส่วนสำคัญมากในการที่จะช่วยเหลือลูก พ่อแม่จะช่วยลูกทำการบ้านและฝึกนิสัยการเรียนรู้ของเขานั้นทำได้ไม่ยาก ถ้าพ่อแม่ปฏิบัติดังนี้

-          ปิดทีวี เมื่อถึงเวลาทำการบ้านเพราะเป็นเวลาของการเรียนรู้ ไม่ใช่เวลาดูทีวี

-          แล้ววิทยุล่ะ... ผู้เชี่ยวชาญยังถกเถียงกันอยู่ เด็กบางคนทำงานได้ดีแม้จะเปิดวิทยุฟังเพลงโปรดของเขา

-          วางกฎที่แน่นอนเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ ไม่ให้คุยนานเกินไป แต่โทรศัพท์ไปถามเพื่อนถึงเรื่องการบ้านที่ได้รับมอบหมายจากครูในกรณีที่ไม่แน่ใจหรือถามการบ้านข้อที่ยากๆได้ (น่าอิจฉาเด็กสมัยนี้ที่มีโทรศัพท์ให้โทรถามกันได้ ซึ่งสมัยพ่อแม่อย่างเราๆไม่มี)

-          จัดสถานที่สำหรับทำการบ้านและเรียนรู้ ลดสิ่งรบกวนให้มากที่สุด อาจเป็นในห้องนอนของเด็กเอง ห้องครัว หรือโต๊ะอาหาร

-          โต๊ะควรมีสถานที่กว้างพอให้เด็กวางหนังสือและจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็น เช่น ปากกา ดินสอ กระดาษ หนังสือ

-          จัดกระดานหรือไวท์บอร์ดขนาด 3 ฟุต x 4 ฟุต ให้เด็กไว้ติดสิ่งต่างๆ เช่น ตารางสอน บันทึกช่วยจำ โน้ตสูตรต่างๆ

-          ส่งเสริมให้เด็กใช้สมุดโน้ตเล็กๆ เพื่อจดงานที่ได้รับมอบหมายหรือการบ้านที่ต้องส่งครู

-          ความสม่ำเสมอเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียน จัดเวลาอาหารเย็นให้แน่นอน หลังการพูดคุยในครอบครัวจบลงก็ถึงเวลาที่จะอ่านหนังสือ ถ้าเด็กกลับถึงบ้านเร็วอาจทำการบ้านก่อนถึงเวลารับประทานอาหารเย็นก็ได้

-          ปรับเวลาทำการบ้านให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก เด็กชั้นมัธยมสามารถจดจ่อกับการบ้านได้นานกว่า 1 ชั่วโมง แต่เด็ก ป. 1 มักจดจ่อได้นานไม่เกิน 15 นาทีต่องานชิ้นหนึ่ง ซึ่งก็ควรให้เขาพักและอาจให้รางวัลเมื่อเขาเสร็จงานชิ้นหนึ่ง

-          ช่วยเขาบริหารจัดการการเรียนและการบ้าน อาจดึงปฏิทินออกมาเรียงต่อกันหลายเดือนและให้เด็กกาหรือทำเครื่องหมายไว้ว่าวันสอบคือวันไหน วันไหนต้องส่งรายงาน

-          สอนเด็กว่าการเรียนรู้ไม่ใช่เพียงแค่ทำการบ้านเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างให้เรียนรู้

-          ส่งเสริมให้เด็กทำสิ่งเหล่านี้

o      จดโน้ตย่อหลังจากที่เขาอ่านบทเรียนจบ

o      รู้จักสรุปใจความสำคัญของสิ่งที่เขาได้อ่านในสำนวนของเขาเอง

o      ศึกษาตารางและแผนภูมิต่างๆ

o      รู้จักอ่านผ่านๆ กวาดตามองรอบหนึ่ง จากนั้นเลือกอานเฉพาะส่วนที่สำคัญ

o      ทำบัตรบันทึกโน้ตย่อของเขาเอง เช่น สูตรต่างๆ คำสะกดต่างๆเพื่อสะดวกในการทบทวนอย่างรวดเร็ว

-          สอนให้เด็กรู้จักทำโน้ตย่อ เด็กบางคนทำไม่เป็น รู้สึกว่าต้องจดทุกคำที่ครูพูด ครูที่เตรียมตัวมาดีจะมีโครงร่างของการสอนเพื่อช่วยให้เด็กโน้ตย่อได้ดี

-          โน้ตย่ออาจต้องถูกเขียนซ้ำ กรณีที่ครอบคลุมเนื้อหามาก เด็กจดอย่างรวดเร็วและไม่มีเวลาเรียบเรียง การเขียนซ้ำแม้จะเสียเวลา แต่ทำให้เด็กได้มีโอกาสทบทวนอีกครั้ง

-          ควรมีพจนานุกรมประจำบ้านไว้ในที่เด็กหยิบได้ง่าย และมีพจนานุกรมประจำตัวเด็กสำหรับเฉพาะตัวของเขา

-          ช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นใจในการสอบ คืนก่อนสอบไม่ควรอดนอนอ่านหนังสือจนดึก ควรเข้านอนเวลาปกติ

-          เตือนเด็กว่าก่อนทำโจทย์ให้เด็กอ่านคำสั่งให้ดี ข้อไหนไม่รู้ ทำไม่ได้ให้ข้ามไปก่อน ถ้ามีเวลาเหลือค่อยย้อนกลับมา ก่อนสอบหายใจเข้าลึกๆ ผ่อนคลาย แล้วก็สอบ อย่าลืมเตรียมดินสอพิเศษ เช่น 2B

-          ระหว่างที่เด็กทำการบ้าน สังเกตท่าทีของเด็กว่ารู้สึกคับข้องใจ โกรธหรือกังวลกับการบ้านที่มากเกินไปหรือยากเกินไปหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นพ่อแม่ควรเข้าไปช่วยทำให้การบ้านง่ายขึ้นสำหรับเขาในคืนนั้น เขียนโน้ตถึงคุณครูเพื่ออธิบายสถานการณ์และอาจพูดคุยกับครูเมื่อมีการประชุมผู้ปกครองเกี่ยวกับคุณภาพและปริมาณการบ้านที่ได้รับมอบหมาย

-          พ่อแม่ควรช่วยเด็กทำการบ้านหรือไม่.... ใช่ ควร ถ้าชัดเจนว่าต้องช่วย เช่น การอ่านคำยากที่เขาอ่านไม่ออก หรือตรวจสอบวิธีทำและคำตอบเลขข้อที่ยากๆ  แต่ไม่จำเป็นต้องช่วย ถ้าเด็กสามารถทำและเรียนรู้ได้เอง ถ้าจะช่วยหรือสนับสนุน ต้องทำอย่างสงบและยินดี ถ้าช่วยอย่างไม่เต็มใจ ช่วยไปบ่นไป สู้ไม่ช่วยเสียเลยจะดีกว่า เมื่อเด็กทำการบ้านเสร็จก็ช่วยตรวจสอบอีกครั้ง ให้คำแนะนำในทางบวกหรือชมเชย เพราะเราคงไม่อยากให้เด็กเชื่อมโยงการทำการบ้านกับการต่อสู้ที่บ้าน

-          จะทำอย่างไรกับรายงานผลการเรียน เพื่อไม่ให้ช็อคหรือกังวล ควรพูดคุยกับลูกเป็นระยะๆ เช่น วันนี้ไปโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้างลูก สอบเลขเป็นไงบ้าง ยากไหม รายงานประวัติศาสตร์ลูกทำอย่างไรล่ะ โครงงานวิทยาศาสตร์เป็นไงบ้าง ต้องช่วยไหม ซึ่งเป็นคำถามที่บอกถึงความสนใจ หรือถามลูกเกี่ยวกับครู ถ้าลูกบอกว่า ครูดุ น่ากลัว ครูสอนเร็วมาก อาจจะเป็นวิธีการที่เด็กพยายามจะสื่อความคับข้องใจของเขาเกี่ยวกับการทำความเข้าใจเนื้อหาในบทเรียนวิชาต่างๆ แต่ถ้าคุณจะไปพูดคุยกับครู ต้องให้เด็กยินยอมด้วย มันอาจจะทำให้ดูว่าคุณเข้าไปก้าวก่ายกับครูมากเกินไป

                                                                            

หมายเลขบันทึก: 221108เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2008 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

  • ดีใจค่ะ..ที่ได้อ่านบันทึกอีกครั้ง
  • แล้ว..พ่อแม่สักกี่คนที่จะได้อ่านคะเนี่ย
  • ขออนุญาตพิมพ์ออกไปแจกเด็ก ๆ บ้างนะคะ
  • นับว่าเป็นปัยหากับครูมากที่สุด..เช่นกันค่ะ กรณีเด้กไม่ทำการบ้าน  ลอกการบ้าน  มาทำการบ้านที่โรงเรียน
  • ขอขอบคุณค่ะ
  • ยังคิดถึงเสมอนะคะ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ ช่วยเอาไปใช้ประโยชน์นี่ยิ่งต้องขอบคุณมากเลยค่ะ

ช่วยกันส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีของเด็กๆด้วยการคลิก Like โครงการ w.a.s.h. หน่อยค่ะ ได้บุญมากๆ

http://www.facebook.com/nuttc#!/ProtexThailand?sk=app_125060207565984

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท