นโยบายรัฐบาล: กระจายอำนาจแก่ชุมชนท้องถิ่นจริงหรือ ?


นโยบายรัฐบาล

 

                                                                             บาว นาคร***

ย้อนมองกลับไปในวันที่ 7 ตุลาคม  2551 ซึ่งเป็นวันแถลงนโยบายรัฐบาลและจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันนั้น ที่ได้แถลงต่อรัฐสภานั้นมีทั้งหมด 8 นโยบายหลักๆ ได้แก่ 1) นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก 2) นโยบายความมั่นคงของรัฐ 3) นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต 4) นโยบายเศรษฐกิจ 5) นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม6) นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม 7) นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 8) นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกมี 16 ข้อได้แก่ 1)สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย  2) แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน้อมนำแนวทางพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 3) ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างประเทศในภูมิภาค 4) สร้างกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤตการเงินของโลก  5) เร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ  6) เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ ทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ที่มีความพร้อมในการดำเนินการ  7) แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะภัยธรรมชาติ ภาวะเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน  8) จัดตั้งสภาเกษตรกร และสร้างระบบประกันความเสี่ยงให้เกษตร  9) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของชุมชน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน 10) สนับสนุนสินเชื่อรายย่อยให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  11) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  12) เร่งรัดปราบปรามการค้ายาเสพติด ปราบปรามผู้มีอิทธิพล อบายมุข และสิ่งยั่วยุเยาวชน  13) เร่งรัดปรับปรุงระบบสาธารณสุข โดยพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้มีคุณภาพ 14) เร่งรัดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำ 15) เร่งรัดมาตรการและโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบ รวมทั้งการปรับตัวเพื่อพร้อมรับวิกฤติโลกร้อน 16) จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลก การผันผวนของราคาพลังงาน และวิกฤตอาหารของโลก

ส่วนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นพอสรุปได้ดังนี้ คือ

·    เสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างจริงจัง เพื่อให้ราชการเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชน รวมถึงพัฒนาและนำมาตรการทางสังคมมาใช้ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้หมดสิ้น ตลอดจนสนับสนุนการสร้างค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องชอบธรรม

·    สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส สามารถแก้ไขปัญหาท้องถิ่นให้สามารถพึ่งตนเองได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน วัฒนธรรมไทยที่ดีงาม ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลผู้ด้อยโอกาส ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมตามศักยภาพของท้องถิ่น และเชื่อมโยงและบูรณาการภารกิจกับแผนชุมชนและแผนระดับต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นฐานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง

·    ปรับปรุงการจัดระบบความสัมพันธ์ของราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้มีความเหมาะสม โดยเร่งรัดดำเนินการถ่ายโอนภารกิจของราชการส่วนกลางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณและบุคลากรของท้องถิ่นและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งพารายได้ของตนเองได้มากขึ้น

·    สนับสนุนกระบวนการจัดทำ แผนชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และสามารถเชื่อมโยงกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน

·    ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่บรรลุตามเป้าหมาย รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารร่วมเสนอความเห็น ปัญหาและแนวทางแก้ไข และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

ดังนั้น คำว่า นโยบายสาธารณะ หรือ นโยบายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะมีคำนิยามว่า เป็นคำประกาศอย่างเป็นทางการของรัฐบาลในการนำเสนอต่อรัฐสภา หรือใช้ในการปฏิบัติราชการแผ่นดิน เป็นนโยบายที่กำหนดให้สาธารณะต้องดำเนินตาม การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะจึงอยู่ที่รัฐ และกระบวนการตัดสินใจของรัฐ ซึ่งเป็นการมองนโยบายสาธารณะอย่างจำกัดว่า เกิดขึ้นในรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือ สถาบันทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง เป็นต้น

ในบริบทของสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งรัฐสมัยใหม่มีสภาพไร้พรมแดน และสังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การมีค่านิยมใหม่ และความมีอัตลักษณ์ของคนเฉพาะถิ่นในชุมชนนั้นๆ การจัดการทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่หลากหลายของคนในสังคมเป็นสิ่งสำคัญ แนวทางการสร้างทางเลือกและการจัดการชีวิตตนเองในระดับชุมชนท้องถิ่น คำว่านโยบายสาธารณะจึงไม่ได้เป็นการมุ่งผลักดันให้รัฐทำหรือไม่ทำอะไรเพื่อให้มีชีวิตสาธารณะที่ดี แต่เป็นการมีส่วนร่วมในการกำหนดชีวิตตัวเองในบางเรื่อง และเป็นปฏิกิริยาตอบโต้การใช้อำนาจรัฐ เพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐของภาคประชาชนและ เป็นกระบวนการใช้อำนาจทางตรงของประชาชนที่มากไปกว่าการเลือกตั้ง

 บริบททางสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนำไปสู่การตั้งคำถามว่าแนวทางการวิเคราะห์นโยบายแบบเส้นตรงหรือจากบนลงล่าง (Top-down approach) ซึ่งระบบการเมืองดั้งเดิมนั้นกระบวนการนโยบายสาธารณะให้ความสำคัญกับรัฐและสถาบันทางการเมือง เป็นการตัดสินใจแบบรวมศูนย์อำนาจ มาเป็นการวิเคราะห์และการจัดทำนโยบายจากระดับล่างสู่ด้านบน (Bottom-up approach) เป็นการขับเคลื่อนนโยบายด้วยกระบวนการสนทนาปรึกษาหารือของผู้คนในชุมชน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องราวในชีวิตของตนเองภายใต้ความมุ่งหวังที่จะแสวงหาความเป็นชุมชนและสังคมที่ดี ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่นเอง

เพราะฉะนั้น กระบวนการเสริมสร้างนโยบายสาธารณะในระดับชุมชนท้องถิ่นจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จัดทำได้ และภาคประชาสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายที่ดีได้ แต่ว่ากระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติ ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมานั้น รัฐบาลไม่ค่อยได้ดำเนินการตามคำแถลงการณ์ที่ได้ให้ไว้ต่อรัฐสภาและนโยบายที่ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการนั้น ในบางสถานการณ์ก็ขัดต่อคำแถลงนโยบาย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้น เป็นการสลายการชุมนุมที่เป็นซึ่งทำให้เกิดความรุนแรงและความขัดแย้งมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการสร้างความสมานฉันท์และส่งเสริมความปรองดองของคนในชาติและปัจจุบันปัญหาทางด้านเศรษฐกิจก็เป็นปัญหาที่สำคัญที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาและควรมีมาตรการป้องกันก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นจนยากที่จะดำเนินการแก้ไขได้

 

 



*** บุญยิ่ง ประทุม. [email protected].

หมายเลขบันทึก: 221088เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2008 02:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท