การกำหนดตัวชี้วัดด้วยสูตร 2Q2T1P และ QQCT


การเขียนตัวชี้วัดระดับกลยุทธ์ควรมีองค์ประกอบ 2Q +2T+1P

  บันทึกนี้จะคุยเกี่ยวกับการจัดทำตัวชี้วัดต่อจากบันทึกที่แล้วนะคะ

หลักการ

  1. การเขียนตัวชี้วัดในระดับยุทธศาสตร์ชาติ  ระดับยุทธศาสตร์กระทรวง และระดับกลยุทธ์ของกรม  ควรมีองค์ประกอบ 2Q +2T+1P คือ ปริมาณ (Quantity)  คุณลักษณะ (Quality)  เวลา  (Time) กลุ่มเป้าหมาย (Taget  Group)   และสถานที่ (Place)

  2. การเขียนตัวชี้วัดในระดับผลผลิต  ควรมีองค์ประกอบ QQCT คือปริมาณ (Quantity)  คุณลักษณะ (Quality)  ต้นทุน (Cost) และเวลา  (Time)

เทคนิค

  1. การเขียนตัวชี้วัดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ ตามสูตรข้างต้น  มีความแตกต่างกันในการกำหนดเป้าหมาย ดังนี้

        -ระดับยุทธศาสตร์ชาติ  กลุ่มเป้าหมายได้แก่  สังคมในภาพรวม  หรือพื้นที่ในภาพรวม  หรือรัฐบาลในภาพรวม เช่น ประชาชน  ทรัพยากรธรรมชาติ  ประเทศ  รัฐบาล

         -ระดับยุทธศาสตร์กระทรวง  กลุ่มเป้าหมายได้แก่  กลุ่มสังคมที่กระทรวงรับผิดชอบ  หรือพื้นที่เฉพาะที่กระทรวงรับผิดชอบ  เช่น กลุ่มวัยแรงงาน  ทรัพยากรน้ำ  รายรับของรัฐบาล

         -ระดับกลยุทธ์ของกรม  กลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มผู้รับบริการที่กรมรับผิดชอบ หรือพื้นที่เฉพาะที่กรมรับผิดชอบ  เช่น กลุ่มวัยแรงงานที่ไม่มีงานทำ  เขตชลประทาน  รายรับของกรม

    2. ในระดับยุทธศาสตร์และระดับกลยุทธ์  การวัดเชิงปริมาณ (Quantity)  และ เชิงคุณลักษณะ(Quality) ของผลประโยชน์มีความแตกต่างกัน โดยขึ้นกับมาตรวัด (Scale)

          การวัดเชิงปริมาณ (Quantity)   ใช้ตัวเลขที่เป็น  อัตราส่วนมาตรา (Ratio  Scale) ช่วงมาตรา(Interval  Scale)  และลำดับมาตรา (Ordinal  Scale)  เช่น "อัตราส่วนของเยาวชนที่ติดยาเสพติดต่อเยาวชนทั้งหมดของประเทศ"  และ "รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก......บาท เป็น ......บาท "  "สัดส่วนของผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นจาก 1 ใน 4 เป็น 1 ใน 2 " เป็นต้น

          การวัดเชิงคุณลักษณะ (Quality) ใช้ตัวเลขที่เป็นนามมาตรา (Norminal  Scale) เช่น "กฎหมายที่กำหนดให้ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสต้องเปลี่ยนสกุลเป็นของสามีได้รับการยกเลิก" "หน่วยงานได้รับรางวัลองค์กรยอดเยี่ยมในด้าน.......จากองค์การระหว่างประเทศ"

    3. ในระดับยุทธศาสตร์และระดับกลยุทธ์  การวัดด้านเวลา / การกำหนด (Time) กำหนดได้ 2 ลักษณะ

         - กรณีที่ต้องการวัดเมื่อสิ้นสุดเวลาของแผนระยะยาวหรือสิ้นสุดโครงการ  เช่น "ภายในสิ้นแผนบริหารราชการแผ่นดินปี......" หรือ" เมื่อสิ้นสุดปี....." กรณีนี้มักจะใช้กับการวัดความสำเร็จของยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นใหม่ในแผนนั้นๆ  ซึ่งต้องใช้กระบวนการก่อตัวของแผน - การเตรียมงาน  - การปฏิบัติงาน - การแสดงผลจากการปฏิบัติงาน - การสิ้นสุด หรือ  การคงสภาพการปฏิบัติงาน โดยที่ผลการปฏิบัติงานมักจะไม่สามารถแสดงได้ในปีที่ 1  แต่จะเริ่มมีผลขึ้นบ้างในปีที่ 2 และมีผลเพิ่มขึ้นในปีที่ 3 และมีผลเกิดขึ้นเต็มที่ปีที่ 4 ดังนั้นจึงต้องกำหนดว่าปีใดจะได้ผลเท่าใด

         - กรณีที่ต้องการวัดเมื่อสิ้นสุดแต่ละรอบเวลาภายในเวลาของแผนระยะยาว เช่น "เพิ่มขึ้นร้อยละ.....ต่อปี " หรือ " ลดลงร้อยละ.....ต่อปี" กรณีนี้มักจะใช้กับการวัดความสำเร็จของยุทธศาสตร์  และกลยุทธ์ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากแผนที่แล้ว ซึ่งผลการปฏิบัติงานจะต่อเนื่องจากปีที่แล้ว  และมีผลงานเพิ่มขึ้นในปีที่ 1ปีที่ 2  ปีที่ 3 และปีที่ 4  ในอัตราเดียวกัน

        - สถานที่ (Place) ต้องระบุในกรณีที่ดำเนินการในพื้นที่เฉพาะ เช่น " ในจังหวัด......" " ในเขตโครงการ......." ส่วนกรณี "ทั่วประเทศ" ไม่จำเป็นต้องเขียนหากเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

   4. การเขียนตัวชี้วัดในระดับผลผลิต

        ปริมาณ (Quantity) ให้ระบุจำนวนชิ้นของวัตถุที่ถูกกระทำ เช่น "อาคารก่อสร้างแล้วเสร็จ" " ผู้ผ่านการฝึกอบรม"

        คุณลักษณะ(Quality) ให้ระบุมาตรฐานของวัตถุที่ถูกกระทำหรือการเปลี่ยนแปลงของวัตถุที่ถูกกระทำ เช่น " อาคารก่อสร้างตามคุณลักษณะที่กำหนดตามแบบ" "ผู้ผ่านการฝึกอบรมตามเกณฑ์การทดสอบ"

        ต้นทุน (Cost) ให้ระบุต้นทุนของผลิตภัณฑ์หรือบริการ เช่น "ราคาต่อหน่วยที่ลดลง" หรือ"ราคาต่อหน่วยภายในวงเงินที่กำหนด"

        เวลา (Time) ให้ระบุความรวดเร็วในการส่งมอบผลิตภัณฑ์หรือบริการ เช่น " ไม่เกิน 30 นาทีต่อราย" หรือ " ภายในระยะเวลาที่กำหนด"

ข้อผิดพลาด

  1. การเขียนตัวชี้วัดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์

     - กลุ่มเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์กระทรวงกำหนดไว้กว้างไป มีเพียงกระทรวงที่ใช้คำว่าประชาชนได้ เช่น กระทรวงสาธารณสุขในภารกิจที่ให้บริการทางการแพทย์ทุกกลุ่มอายุ  ส่วนกระทรวงอื่น  จะต้องพิจารณาว่ามีภารกิจให้บริการทุกกลุ่มอายุ  หรือกลุ่มอาชีพ  หรือกลุ่มสังคมใดบ้าง  เช่นกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีภารกิจต่อกลุ่มผู้ยังไม่เข้าวัยเรียน  และกระทรวงแรงงานไม่ได้มีภารกิจต่อกลุ่มผู้ที่ยังไม่เข้าวัยแรงงาน เป็นต้น

    - กลุ่มเป้าหมายระดับกลยุทธ์  ของกรมกำหนดไว้กว้างไป  หน่วยงานบางหน่วยงานไม่ได้ให้บริการในอาณาเขตเต็มพืนที่  แต่กำหนดกลุ่มเป้าหมายในอาณาเขตเต็มพื้นที่  เช่น " เกษตรกรในจังหวัดสามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างทั่วถึง" ซึ่งต้องเขียนว่า " เกษตรกรในเขตโครงการชลประทานที่หน่วยงานรับผิดชอบสามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างทั่วถึง" มิฉะนั้นการสุ่มตัวอย่างจะครอบคลุมประชากรที่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการให้บริการโดยตรงจากหน่วยงานด้วย  อาจทำให้ผลจากการประเมินผลสรุปได้ว่าหน่วยงานไม่ประสบผลสำเร็จในภารกิจนั้น

     - กรณีที่ต้องการวัดเมื่อสิ้นสุดแต่ละรอบเวลาภายในเวลาของแผนระยะยาว เช่น "เพิ่มขึ้นร้อยละ...ต่อปี"  หรือ " ลดลงร้อยละ....ต่อปี"  กรณีนี้มักจะใช้กับการวัดความสำเร็จของยุทธศาสตร์  และกลยุทธ์ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากแผนที่แล้ว  ซึ่งผลการปฏิบัติงานจะต่อเนื่องจากปีที่แล้วและมีผลงานเพิ่มขึ้นในปีที่ 1 ปีที่ 2 ปีที่  3 และปีที่ 4 ในอัตราเดียวกัน

การเขียนตัวชี้วัดผลผลิต

      การเขียนตัวชี้วัดในระดับผลผลิต  ที่มักเข้าใจว่าการวัด "Quality" เป็นการวัดคุณภาพในลักษณะที่แสดงความสามารถในการประยุกต์ใช้

     คุณลักษณะ (Quality) ให้ระบุมาตรฐานของวัตถุที่ถูกกระทำหรือการเปลี่ยนแปลงของวัตถุที่ถูกกระทำ เช่น " อาคารก่อสร้างตามคุณลักษณะที่กำหนดตามแบบ " " ผู้ผ่านการฝึกอบรมตามเกณฑ์การทดสอบ"

การเขียนตัวชี้วัด " ระดับความสำเร็จในการดำเนินงาน" จะต้องระมัดระวังเรื่องที่มาของการวัด

       ถ้าคะแนนของความสำเร็จเกิดมาจากการวัดความคืบหน้าของกิจกรรมในแต่ละขั้นตอน  ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการดำเนินงานนั้นเป็น Process Indicator ไม่ใช่ Output Indicator หรือไม่ใช่ Outcome Indicator

      ถ้าคะแนนของความสำเร็จเกิดมาจากการวัดความคืบหน้าของปริมาณของผลผลิตซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการสุดท้ายของการผลิต หรือปริมาณผู้รับบริการจากกระบวนการสุดท้ายของการให้บริการ  ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการดำเนินงานนั้นเป็นOutput Indicator

     ถ้าคะแนนของความสำเร็จเกิดมาจากการวัดความคืบหน้าของปริมาณกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลประโยชน์จากการใช้ผลผลิต  ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการดำเนินงานนั้นเป็นOutcome Indicator

 

 ที่มา : เอกสารเรื่องแนวทางการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของรัฐ   จัดทำโดย คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางดำเนินการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของรัฐ  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

หมายเลขบันทึก: 220542เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2008 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดึค่ะ แวะมาทักทายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท