ถอดรหัส PMQA ประสาคนไม่เข้าใจ: ตอน ข้อมูลองค์กร..ปัญหาโลกไม่แตก


หมวด P ...PMQA คือ การรวบรวมข้อมูลในการบริหารองค์กร

 

                ความเดิมตอนที่แล้ว..ผมให้ความหมาย   PMQA หมายถึง  วิชาการบริหารส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพ  ประกอบด้วยวิชาที่จะต้องเรียนรู้  8  วิชา  ตอนนี้จะเล่าเรื่อง หมวด P  ลักษณะสำคัญขององค์กร  วิชานี้ผมใช้ชื่อวิชาว่า  การเก็บรวบรวมข้อมูลขององค์กร ใช้ชื่อตอนว่า  ข้อมูลองค์กร...ปัญหาโลกไม่แตก  ตามประสาคนไม่เข้าใจ

                สิ่งสำคัญในการศึกษา PMQA  คือ ต้องเปลี่ยนทัศนคติจากการทำ PMQA  เพื่อตรวจสอบและจับผิด  เป็นศึกษา PMQA  เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาองค์กรของตนเอง  ที่ผ่านมา  เท่าที่ได้ฟัง  ได้ทราบ  PMQA คือเครื่องมือในการจับผิดการปฏิบัติงานของส่วนราชการ  ทำให้ทัศนคติของข้าราชการต่อ PMQA คือทำทำไม  ไม่ได้เรื่อง  ไม่มีประโยชน์  หรือทำ ๆ ไปให้มันเสร็จก็แล้วกัน  อย่าคิดมาก

                ในองค์กรแต่ละองค์กร   เมื่อเวลาผ่านไปและองค์กรนั้นคงอยู่  วิถีการดำรงอยู่ขององค์กรมีความรู้และเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย    อยู่ที่ใครจะจดจำมากน้อยเพียงใด  ในวิถีขององค์กรภาคราชการก็เช่นกัน มีเรื่องราวที่เป็นข้อเท็จจริงเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน  บ้างก็เกิดขึ้นบ้างก็ดับไปเป็นธรรมดา  บางสิ่งก็ดีสมควรจะจดจำ   แต่ไม่จำ  บางสิ่งก็กระทบความรู้สึกที่ไม่ดี  ไม่ควรจำ  แต่กลับจำ  แต่ข้อมูลใน PMQA  จะเป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการบริหารส่วนราชการให้มีประสิทธิภาพ   ที่ทุกส่วนราชการต้องมี  ต้องทำ  ถึงจะดีและประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นข้อมูลองค์กรสมัยใหม่  ที่เหล่านักวิชาการทางการบริหารทั้งหลาย  กำลังนำเสนอ  และการันตีว่าดีเยี่ยมและให้ทำ

                 ในหมวด P ลักษณะสำคัญขององค์กร  ข้อมูลที่  PMQA กำหนดว่าส่วนราชการต้องมี  ต้องทำ  ประกอบด้วยข้อมูล   5 กลุ่มข้อมูล  คือ

1.       ข้อมูลทั่วไปขององค์กร  PMQA เรียกว่า  ลักษณะพื้นฐานขององค์กร

2.       ข้อมูลด้านการบริหารจัดการองค์กร  PMQA เรียกว่า  ความสัมพันธ์ภายในและภายนอกองค์กร

3.       ข้อมูลผลการวิเคราะห์งานและแนวทางการทำงานในอนาคต  PMQA เรียกว่า  ความท้าทายต่อองค์กร

4.       ข้อมูลงานหลักและงานเด่นขององค์กร   PMQA  เรียกว่า  ความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์

5.       ข้อมูลและวิธีการดำรงรักษาองค์กร 

1.ข้อมูลทั่วไปขององค์กร

                การเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วไปขององค์กรนั้น  เป็นข้อมูลที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ในการกำหนดงาน  และเป้าหมายขององค์กร  ตลอดจนเป็นข้อมูลที่ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องต้องใช้ในการตัดสินใจ  เพื่อให้องค์กรดำรงอยู่  ในสภาวการณ์แข่งขันในปัจจุบัน  และภาพองค์การราชการที่ถูกนำเสนอในเชิงลบอยู่เสมอ  ใน PMQA ได้ให้แนวทางข้อมูลในส่วนนี้ที่ส่วนราชการต้องรวบรวมหรือทำให้มี  ไว้อย่างน้อย  8  ข้อมูล  ดังนี้

1.       พันธกิจขององค์กร  เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าองค์กรส่วนราชการนั้นมีภารกิจที่ต้องทำอย่างไรบ้าง

 ในส่วนนี้ PMQA ให้ระบุรายละเอียดหน้าที่ตามกฎหมายของส่วนราชการ  แนวทางและวิธีการให้บริหารแก่ผู้รับบริการ  สรุปให้ง่าย คือ ส่วนราชการมีหน้าที่อะไร  และทำหน้าที่อย่างไร

2.       วิสัยทัศน์ขององค์กร 

3.       เป้าประสงค์หลักขององค์กร

4.       วัฒนธรรมของส่วนราชการ

5.       ค่านิยมของส่วนราชการ

6.       ข้อมูลบุคลากร  พร้อมรายละเอียดการวิเคราะห์ข้อมูล

7.       เทคโนโลยี  อุปกรณ์  และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีของสำนักงาน

8.       กฎหมาย  ระเบียบข้อบังคับ  ที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ

ในส่วนของข้อมูลทั่วไปทั้ง  8 ข้อมูล  จะเห็นได้ว่าเป็นข้อมูลที่จำเป็นที่ส่วนราชการต้องใช้ในการปฏิบัติราชการ  เพื่อให้มีประสิทธิภาพ  ถูกต้องและถูกใจของคนที่เกี่ยวข้อง

2.ข้อมูลการบริหารจัดการองค์กร

                ข้อมูลการบริหารจัดการ   ทั้งภายในและภายนอกส่วนราชการ  ควรมีข้อมูลที่สำคัญอย่างน้อย  4  เรื่อง ดังนี้

1.       โครงสร้าง หรือแผนผังที่แสดงการบริหารของส่วนราชการ

2.       ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการกำกับและดูแลตัวเองที่ดี  (ป้องกันอย่าให้ผิด)

3.       ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานกับผู้อื่นและวิธีการทำงานด้วยกัน

4.       ข้อมูลการทำงานกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึงไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงแต่ได้รับผลกระทบจากการทำงานด้วย)

3.ข้อมูลการวิเคราะห์งานของส่วนราชการ

                ในส่วนนี้ถ้าดูตามข้อมูลในเอกสารแล้ว  จะเป็นข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์งานด้วยเทคนิก SWOT และเปรียบกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ทำงานลักษณะคล้ายเคียงกัน  เพราะจะเป็นคู่แข่งขันในการทำงานในปัจจุบันและในอนาคต  สุภาษิตสมัยใหม่ (แต่เกิดไม่ทัน)  ที่ว่า รู้เขา  รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

4.งานหลักและงานเด่นขององค์กร

               ในข้อ 4 งานหลักและงานเด่นขององค์กร  ผมหาชื่ออื่น ๆ ไม่ได้จริง  จึงใช้คำนี้  เป็นการคิดค้นงาน (ใน PMQA เรียกว่า  งานที่ท้าทาย)  เพื่อให้บรรลุพันธกิจขององค์กร  การปฏิบัติการ  และเรื่องทรัพยากรบุคคล  ที่ทำแล้วดี  ทำแล้วดัง  และเป็นงานที่ยากที่คนอื่น ๆ หน่วยงานอื่น ๆ ทำไม่ได้  ทำไม่สำเร็จ แต่หน่วยงานเราทำได้ทำสำเร็จ  สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าเป็นงานที่เราคิด  เป็นงานที่เราสร้าง  ทำให้บรรลุพันธกิจขององค์กร

5. ข้อมูลและวิธีการดำรงรักษาองค์กรให้คงอยู่

                ในข้อ 5  ข้อมูลและวิธีการดำรงรักษาองค์กรให้คงอยู่  เป็นข้อมูลที่ระบุแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน  ให้ทันกับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ตลอดจนการส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรทั้งภายในสำนักงาน  และแลกเปลี่ยนกับสำนักงานอื่น ๆ  ที่เป็นตัวอย่างที่ดี  และนำมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ

                แต่เดิม..... ถ้าจะให้เก็บรวบรวมข้อมูลขององค์กร  ก็จะเริ่มต้นด้วย  ประวัติองค์กร  เกิดเมื่อไหร่  ใครเป็นใหญ่เป็นโตบ้าง มีใครกี่คน ทำงานอย่างไร  เปลี่ยนแปลงอย่างไร  แต่ละหน่วยงานจะมีความแตกต่างกันไป  แต่ละความคิดในการรวบรวมของแต่ละองค์กรก็จะแตกต่างกัน ถ้านำมารวมกันแล้วใช้ในการบริหาร..ก็จะเป็นปัญหาโลกแตก....ของข้อมูลที่แตกต่างกันและใช้ในการบริหารได้น้อย

ถ้า..ถูกสั่งบอกให้รวบรวมข้อมูลทางการบริหารให้หน่อย  งง....แต่ให้นึกเองแล้วรวบรวม  น่าจะนาน  และคงไม่ครบถ้วน  แต่ถ้าท่านใช้แนวทางในหมวด P เป็นแนวทางในการรวบรวมข้อมูล  ท่านจะได้ข้อมูลทางการบริหารที่ครบถ้วน  ในการตัดสินใจ  และนำไปใช้ในการบริหาร  ดังนั้นข้อมูล หมวด P ใน PMQA  จึงเป็นการรวบรวมข้อมูลทางบริหารที่จำเป็นอย่างยิ่ง  ทุกส่วนราชการจะมีข้อมูลในแนวทางเดียวกัน..เมื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล  ก็ใช้ได้  ข้อมูลที่เป็นปัญหาโลกแตกแต่เดิมก็จะ...หายไป

                สำหรับผู้บริหาร...ข้อมูลในหมวด P สามารถนำมาใช้ในการบริหารองค์กรได้ตลอดเวลา  เป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง  ที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์  และกระบวนการมีส่วนร่วมมาแล้ว  ถ้าองค์กรนั้นได้ดำเนินการตามกระบวนการที่ PMQA  กำหนด  เพราะในหมวดต่อ ๆ ไป  PMQA จะอธิบายวิธีการทำ  ให้ได้มาในแต่ละเรื่องอย่างละเอียด  เป็นขั้นเป็นตอน  ซึ่งจะเน้นที่การนำข้อมูลมาวิเคราะห์และผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในองค์กร  และผู้เกี่ยวข้องภายนอกองค์กร  ดังนั้น  หมวด P ของ PMQA จึงดีสำหรับผู้บริหาร  ที่จะใช้ข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง  อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางการบริหารที่ชัดเจน  อ้างอิงได้ตลอดเวลา  ....

หมายเลขบันทึก: 220458เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2008 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คุณอธิบายได้ดีมาก ๆ เลยค่ะ กำลังศึกษาด้านนี้ เปิดมาเจอเลยเข้าใจมาก ๆ ได้ยินแต่คนอื่น ๆ พูดกัน แต่ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้คนอื่นเค้ารู้หรือป่าว ขอบคุณนะคะ

คุณอธิบายได้ดีมาก เข้าใขง่ายค่ะ กำลังศึกษาด้านนี้ เพื่อจะนำไปเปรียบเทียบกับ HPH PLUS อย่างไรดี

ขอบคุณมากค่ะ กำลังศึกษาเรื่องนี้นำมาใช้กับองค์กร ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นค่ะขอบคุณค่ะ

กำลังงง สงสัยอยู่พอดีเลย ได้รับมอบหมายงานให้ทำโดยที่ไม่รู้เรื่องเลยเป็นแค่ผู้ปฏิบัติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท