สังคหวัตถุธรรม


สังคหวัตถุธรรม

            สังคหวัตถุแผ้ว ผ่องธรรมสี่ประการกุศลกรรม ก่อเกื้อคือเครื่องยึดเหนี่ยวนำ มิตรภาพน้ำจิตน้ำใจเอื้อ โอบอุ้มพิภพสถานฯ

(1.ทาน )
            ทานคือเสียสละแม้น ทรัพย์ตน
            ละละโมบฉ้อฉล ชั่วช้า
            มิหวังเพื่อพึงผล เพียงประโยชน์ ตนเฮย
            พลีทรัพย์ ณ เมื่อหน้า เมื่อนี้สุขสนองฯ

(2.ปิยวาจา)
            ปิยพจน์โอษฐ์เอื้อน วจี
            อดหยาบหยามพาที อวดอ้าง
            เว้นส่อเสียดเสียศรี ทุศีลบาป
            สานสืบสัมพันธ์สร้าง มิตรแม้นโลก-สวรรค์

(3.อัตถจริยา)
           
บำเพ็ญสงเคราะห์ให้ แก่ชน
            รู้ช่วยบำเรอผล โลกหล้า
            ยังประโยชน์ทุกหน ทุกแห่ง
            คนย่อมใคร่คบค้า ครึกครื้นทุกสมัยฯ

(4.สมานัตตตา)
           
ประพฤติดีแต่ต้น จนปลาย
            สม่ำเสมอใจกาย ทั่วถ้วน
            ละเว้นอัตตาคลาย อคติ
            รู้ตริรู้ตรองล้วน โลกนั้นสรรเสริญฯ

            นรชนแลโลกนี้ อนิจจัง
            เงาบาปเงาบุญบัง บ่มไซร้
            ชาติภพย่อมสิ้นสังขารที่ สุดนา
            บังบาปเบิกบุญไว้ บ่มบ้างบ่เสียหลายฯ

หมายเหตุ

            สังคหวัตถุธรรม หมายถึง หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน
มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

            1. ทาน คือ การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆตน
เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้

            2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง  เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
            -เว้นจากการพูดเท็จ
            -เว้นจากการพูดส่อเสียด
            -เว้นจากการพูดคำหยาบ
            -เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

            3. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

            4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล
รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่น

 

Mr.PK

 

ขอขอบคุณที่มาคุณ ธิธารา จากเว็บ

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=titara&month=10-2007&date=08&group=4&gblog=46

หมายเลขบันทึก: 219136เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2008 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท