ที่มาของคำไทย สุภาษิตไทยและ ชื่อต่าง ๆ และ อีกมากมาย 9


รู้ไว้ใช่ว่า

"กางเกงลิง" หมายถึงกางเกงชั้นในรัดแนบเนื้อ ไม่มีขา เป็นภาษาปาก หรือภาษาพูด เชื่อว่าน่าจะมาจากศัพท์ที่ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษใช้ด้วยกัน คือคำว่า "ลิงเจอรี-lingerie" ที่แปลว่าชุดชั้นในสตรี
ในสมัยโบราณผู้หญิงไทยนุ่งโจงกระเบน เข้าใจว่าคงไม่มีการใส่กางเกงชั้นใน ต่อมาเมื่อรับกระโปรงแบบแหม่มมาสวมจึงเริ่มใช้ชุดชั้นในแบบแหม่มด้วย แต่นิสัยคนไทยชอบพูดย่อๆ จึงเรียกกางเกงชั้นในแบบแหม่ม เพียงคำต้นของ "ลิงเจอรี" ว่า "กางเกงลิง"

ที่มาของก๋วยเตี๋ยวราดหน้า

ราดหน้าเป็นก๋วยเตี๋ยวของคนจีน แรกๆเป็นอาหารขายเฉพาะในภัตตาคาร แต่ต่อมาได้รับความนิยมมาก จึงมีคนจีนโดยเฉพาะคนจีนแต้จิ๋วทำขายทั่วไป น้ำเหนียวข้นที่ใช้ราดเส้นเป็นภาษาจีนเรียกว่า "เกิง" ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าสมัยก่อนจะใช้ผักกวางตุ้ง น้ำราดมีเพียงเล็กน้อย เพราะจะต้องห่อด้วยใบตองที่รองด้วยกระดาษ น้ำน้อยขนาดที่ห่อแล้วไม่ไหลออกจากใบตอง ส่วนเส้นที่ใช้ก็คือก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ทำเป็นแผ่นกลมใหญ่ นึ่งร้อนๆแล้วนำมาตัดเอง

ความอร่อยของก๋วยเตี๋ยวราดหน้าอยู่ที่เส้นก๋วยเตี๋ยว จะต้องมีกลิ่นหอมจากไฟกระทะ ลักษณะเส้นต้องมีรอยไหม้เกรียมและพอง การผัดเส้นให้ได้ลักษณะดังกล่าวนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้กระทะเหล็กเนื้อหนา เตาแก๊ซหัวฟู่ และคนผัดที่ชำนาญ เวลาผัดต้องตั้งกระทะเหล็กบนไฟแรงก่อน จึงใส่น้ำมันลงไป กลอกให้ทั่วกระทะ แล้วเทน้ำมันกลับคืนให้เหลือติดก้นกระทะเล็กน้อย เมื่อกระทะน้ำมันร้อนจัดขยี้ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ใส่ลงไป เร่งไฟให้แรง ผัดเร็วๆแต่นานๆให้เส้นเกรียมและพองมีรอยไหม้ ใส่ซีอิ๊วดำหรือไม่ใส่ก็ได้ ผัดให้ทั่วอีกทีก็ใช้ได้แล้ว

ส่วนน้ำราดหน้า เครื่องปรุงที่เป็นตัวหลักคือ เต้าเจี้ยวดำ เต้าเจี้ยวที่หมักดองจนได้รสเค็มกลมกล่อม สร้างรสชาติเฉพาะให้กับน้ำราดหน้า ปัจจุบันมีการใช้เต้าซี่แทนเต้าเจี้ยวบ้างเหมือนกัน แต่จะใช้กับเนื้อปลาเท่านั้น เช่น รดาหน้าปลาเต้าซี่ ซึ่งเป็นอาหารเหลาที่ขายในภัตตาคารจีนหรือร้านอาหารจีนมีระดับ

เดิมทีก๋วยเตี๋ยวราดหน้าใช้ผักกวางตุ้ง จากนั้นเปลี่ยนมาใช้ผักคะน้า เพราะผักกวางตุ้งเหี่ยวง่าย ลำต้นไม่กรุบกรอบเท่าคะน้า จากก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ขยายเป็นเส้นหมี่ บะหมี่กรอบ เส้นหมี่กรอบ เกี๊ยวกรอบ และอื่นๆ

ที่มาของการรับน้องใหม่
ระพี สาคริก
ขณะนี้มีข่าวเป็นครั้งคราวว่าพิธีรับน้องใหม่ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งกระจายไปอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดปัญหาการบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ บางครั้งถึงขั้นสูญเสียชีวิตเป็นช่วงๆ หลังติดตามการเปลี่ยนแปลงมาแล้วจากอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้หวนกลับไปค้นหาความจริงจากจุดเริ่มต้นและสิ่งที่เป็นมาแล้ว กว่าจะมาถึงช่วงนี้ หลังกลุ่มทหารและพลเรือนซึ่งส่วนใหญ่ถูกส่งไปศึกษาเล่าเรียนเมืองนอกกลับมา ได้มีการรวมตัวกันอย่างลับๆ ทำการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2475 โดยอ้างว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย ระหว่างนั้นผู้เขียนเรื่องนี้มีอายุได้สิบขวบ แต่ก็ยังจำได้ดีว่า มีกระแสเสียงจากกลุ่มปฏิวัติหลายคนที่อ้างว่า เมืองนอกเขาเป็นประชาธิปไตยกันแล้ว แต่ทำไมเมืองไทยยังล้าหลังอยู่ หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ประเทศไทยเปิดเสรีภาพในการติดต่อกับต่างประเทศ โดยที่ขาดการมองเห็นผลสะท้อนซึ่งกลับมากระทบวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของไทย การมองเห็นด้านเดียวยิ่งเป็นด้านนอกด้วย มีผลทำให้ขาดการมองเห็นความจริงจากรากฐานตนเอง จึงทำให้ขาดการรู้เท่าทัน มีผลอำนวยให้อิทธิพลจากด้านนอกซึ่งมีพลังเหนือกว่า เริ่มเริ่มหลั่งไหลเข้ามากลบกลืนรากฐานความเป็นไทแก่ตนเองของคนไทยให้เริ่มเห็นแววตกต่ำมากขึ้น ในด้านการจัดการศึกษา โดยเฉพาะสายเกษตรซึ่งให้โอกาสคนท้องถิ่นสัมผัสพื้นดินอันเป็นถิ่นเกิดของตน ซึ่งย่อมมีผลปลูกฝังความรักพื้นดินให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ช่วงนั้นเริ่มมีการส่งนักเรียนที่คัดหัวกะทิจากการเรียนในระบบ อย่างที่เรียกกันว่า นักเรียนทุน ก.พ. ไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เท่าที่จำได้ เราส่งนักเรียนซึ่งมีผลการเรียนระดับยอดดังกล่าวไปเรียนเกษตรต่อยอดระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติ ณ เมืองลอสแบนยอส ในประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงนั้น สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาถือครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์เอาไว้ทั้งหมดและมีการถ่ายทอดรูปแบบเทคโนโลยีจากประเทศที่เป็นนายเข้ามาครอบงำ ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นไปตามแนวคิดและระบบอเมริกัน นอกจากนั้นในด้านกิจกรรม นักศึกษาก็ได้มีการถ่ายทอดความคิดในการประกอบพิธีรับน้องใหม่เข้ามาไว้ที่นั่นด้วย โดยที่เชื่อว่าน่าจะมีผลทำให้เกิดควมรักความผูกพันและความสามัคคีระหว่างหมู่คณะ ช่วงปี พ.ศ. 2482 – 83 ได้มีการรวบรวมโรงเรียนเกษตรกรรมของไทยซึ่งครั้งนั้นขึ้นอยู่กับการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนดังกล่าวซึ่งอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศ เข้าไปไว้ที่ศูนย์รวมซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในบริเวณหมู่บ้านห้วยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเรียนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ระหว่างช่วงนั้นพอดี ประกอบกับตัวเองมีนิสัยค้นหาความจริงย้อนไปสู่อดีต จึงทำให้มีผลรวบรวมข้อมูลเข้าไว้ในความทรงจำ ระหว่างโรงเรียนเกษตรที่แม่โจ้ได้มีการปรับหลักสูตรยกระดับขึ้นมาเป็นโรงเรียนเตรียมวิทยาลัย มีครูอาจารย์ที่แบ่งออกเป็น 2 พวก จากความรู้สึกอันเป็นธรรมชาติของคนขณะนั้น โดยที่พวกหนึ่งจบจากโรงเรียนประถมกสิกรรมภายในประเทศ ถูกเรียกว่าครู ส่วนอีกพวหนึ่งคือผู้สำเร็จปริญญาตรีกลับมาจากประเทศฟิลิปปินส์ถูกเรียกว่าอาจารย์ นับเป็นการปลูกฝังความคิดแบบแบ่งชนชั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเงินและสถานะ หากเป็นเรื่องของการแบ่งแยกระดับประกาศนียบัตรออกจากกัน ช่วงนั้นพิธีรับน้องใหม่เกิดขึ้นที่โรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้แห่งเดียว ส่วนที่อื่นยังไม่ปรากฏ ทราบว่ากิจกรรมดังกล่าว เริ่มต้นจากการที่มีครูอาจารย์ผู้สำเร็จการศึกษาจากฟิลิปปินส์นำเข้ามาใช้ที่นั่น ดังจะพบได้ว่า หลังพิธีรับน้องใหม่ผ่านพ้นไปแล้วมีนักเรียนที่เข้าไปเรียนปีแรกบางคน นำความไปปรับทุกข์กับอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ที่จบมาจากเมืองนอก จะได้รับคำตอบกลับมาว่า ปีหน้าก็คงถึงทีเธอบ้างไม่ต้องเสียอกเสียใจอะไรไป นอกจากนั้น ยังพบด้วยว่า ระหว่างพิธีเวลากลางคืน มีอาจารย์บางคนมาเฝ้าดูอย่างลับๆ ในความมืดอีกด้วย เตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นโรงเรียนเตรียมของวิทยาลัยที่บางเขน ระบบการจัดการศึกษาครั้งนั้น หลังจบจากแม่โจ้หลังมีการคัดคนจากผลการเรียนในห้องเพื่อส่งมาเรียนต่อที่บางเขน ดังนั้นที่บางเขนจึงไม่มีพิธีรับน้องเช่นทุกวันนี้ จนกระทั่งเวลาผ่านพ้นมาอีกช่วงหนึ่ง วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังคงรับนักเรียนเตรียมจากแม่โจ้ต่อมาอีก ถัดมาอีกช่วงหนึ่ง ได้มีการปรับแนวคิดและโครงสร้างสายเกษตรใหม่ โดยที่ผู้บริหารยุคนั้นเห็นว่า ภาคปฏิบัติมีความสำคัญน้อยกว่าการเรียนในห้อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงเปิดรับนักเรียนทั่วไปโดยตรง หลังจากนั้นมาจึงมีพิธีรับน้องใหม่เกิดขึ้นที่บางเขน ทั้งนี้และทั้งนั้น เนื่องจากแม่โจ้และบางเขนได้แยกตัวออกจากกันอย่างเด็ดขาดแล้ว ต่อจากนั้นมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้ผลิตคนออกไปอยู่ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เริ่มต้นจากสายเกษตรก่อน นอกจากนั้นภายในมหาวิทยาลัยเองได้มีการขยายพื้นฐานการจัดการกว้างขวางออกไปสู่สาขาวิชาอื่นๆ แต่ความคิดหลายคนที่มองมหาวิทยาลัยนี้ติดอยู่กับชื่อและรูปแบบการเกษตรที่เน้นเทคโนโลยีแทนการมองเห็นความจริงของชีวิตคน จึงทำให้พื้นฐานแนวคิดคนจำนวนมากรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยทั่วไป โดยไม่ได้เน้นการเกษตรเช่นแต่ก่อน ถึงขนาดเกิดปฏิกิริยารุนแรงให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยด้วย การกระจายความคิดแต่รากฐานยึดติด ซึ่งแทรกซึมอยู่ในพื้นฐานคนในสังคมไทย มีผลทำให้พิธีรับน้องใหม่ กระจายไปสู่สถาบันต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะยึดติดรูปแบบที่ฝังลึกอยู่ในรากฐานจิตใจคนไทยมีผลทำให้สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น มักทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว กับอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาแฝงอยู่ในรากฐานจิตใจอย่างลึกซึ้งได้แก่ภาวะยึดติดรูปแบบซึ่งแฝงอยู่ในพื้นฐานอย่างแก้ได้ยาก มีผลทำให้เหตุการณ์ต่างๆ บานปลายออกไปอย่างรวดเร็วอีกทั้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด น่าจะทำให้มองเห็นความจริงได้ว่าสภาพที่เกิดขึ้นกับพิธีรับน้องใหม่ คงไม่เพียงแต่เกี่ยวกับพิธีการนี้เท่านั้น หากเกิดขึ้นในสังคมไทยกับพิธีกรรมต่างๆ ทุกรูปแบบ
ดังนั้น เมื่อปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับกระบวนการจัดการศึกษาซึ่งถือว่าน่าจะเป็นพื้นฐานการแก้ปัญหาสังคมได้ทุกเรื่อง เราจึงหวังได้ยากว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแก่สังคมไทยุคปัจจุบัน น่าจะไกลกับความหวังในการแก้ไขปัญหาให้เห็นได้ชัดเจนออกไปได้ทุกขณะ จนกว่าสังคมทั้งหมดจะได้รับผลกระทบทำให้รู้สึกเจ็บปวดจากทุกๆ เรื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะไปถึงจุดอันเป็นที่สุดของการปรับเปลี่ยน


ที่มา เริ่ม พ.ศ.ใหม่ ใครอยากรู้ที่มา ของศักราชไทย



หนังสือไทยโบราณทั้งหลาย เช่น หนังสือพงศาวดาร ประกาศกฏหมายเก่า หรือ ตำราต่างๆ ฯลฯ มักลงศักราช ไว้ต่างๆ กัน สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อจะลงศักราชบอกเวลาเป็นปี นิยมใช้ "จุลศักราช" หนังสือที่ตีพิมพ์ตั้งแต่พุทธศักราช 2431 หรือในตอนกลางรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น หนังสือราชการ ตำรา และแบบเรียน ฯลฯ ใช้ "รัตนโกสินทรศก" แทน "จุลศักราช" ทั้งสิ้น

แต่การลงศักราชเป็น "รัตนโกสินทรศก" นั้น กระทำอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะปรากฏว่า ตั้งแต่พุทธศักราช 2455 เป็นต้นมา หนังสือราชการและสิ่งพิมพ์ต่างๆ หันมาใช้ "พุทธศักราช" แทน "รัตนโกสินทรศก" ตราบจนทุกวันนี้ ประโยชน์ของการเปรียบเทียบศักราช เป็นสิ่งควรจำสำหรับใช้ประโยชน์ ในการศึกษาค้นคว้าตำราเก่า

ศักราชเท่าที่ปรากฏในหนังสือไทยโบราณ มีด้วยกัน 5 ชนิด คือ

1. มหาศักราช

2. จุลศักราช

3. ศักราชจุฬามณี (ศักราชกฏหมาย)

4. รัตนโกสินทรศก

5. พุทธศักราช

มหาศักราช มีกำหนดแรกบัญญัติ นับแต่วันพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว 621 ปี เป็นศักราชที่แพร่หลายเข้ามาใช้ในเมืองไทยก่อนศักราชอื่น ประมาณว่า ตั้งแต่เริ่มมีการจารึกหนังสือไทย ใช้มหาศักราชเป็นส่วนใหญ่

จุลศักราช เป็นศักราชที่ตั้งขึ้น และใช้ในเมืองพม่ามาแต่ก่อน ต่อมาได้แพร่หลายเข้ามาใช้ในราชการ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา (2112- 2133) ซึ่งขณะนั้นกรุงศรีอยุธยา ติดต่อเกี่ยวกับเมืองหงสาวดี ในฐานะเป็นเมืองประเทศราชอยู่ถึง 15 ปี เนื่องจากเสียกรุงแก่พม่าครั้งแรก

ความเป็นมาของ จุลศักราช มีว่า "สังฆราชบุตุโสระหัน" เมื่อสึกจากสมณเพศได้ชิงราชสมบัติเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 19 ในราชวงศ์สมุทฤทธิ์ในประเทศพุกาม ได้บัญญัติจุลศักราชขึ้น เมื่อพุทธศักราช 1182 (กำหนดแรกบัญญัติตั้งแต่วันพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว 1181 ปี) และต่อมาก็เลิกใช้ เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจุลศักราช 1250 ได้มี "ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่" ว่า :

"มีพะบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ด้วยทรงพระราชดำริห์ถึงวิธีนับวัน เดือน ที่ใช้กันอยู่ในสยามมณฑล และที่ใช้ในประเทศน้อยใหญ่ เป็นอันมากในโลกนี้ เป็นวิธีต่างกันอยู่มาก คือกล่าวโดยย่อ ก็เป็นวิธีใช้ตามจันทรคติอย่างหนึ่ง และสุริยคติอย่างหนึ่ง จึงทรงพระราชดำริห์ว่า วิธีนับวัน เดือน ปี อย่างดีที่สุดนั้น ควรจะประกอบด้วยเหตุอันควร 3 ประการคือ

1. ให้ถูกต้องใกล้ชิดกับฤดูกาล

2. ให้มีประมาณอันเสมอไม่มากไม่น้อยไปกว่ากันนัก กับ

3. ให้คนทั้งปวงรู้ง่ายทั่วไปดีกว่าอย่างอื่น ทั้ง 3 ประการนี้ จึงจะสมควรที่จะใช้ในประชุมชนทั้งปวง…"ผลการประกาศฉบับนี้ ศักราชที่เคยใช้มาก่อนทั้งมวลเป็นอันงดใช้ และให้ใช้ "รัตนโกสินทรศก" เว้นแต่ในทางพระพุทธศาสนา คงใช้พุทธศักราชเท่านั้น

รัตนโกสินทรศก เป็นศักราชที่ใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ กำหนดแรกบัญญัติ ตั้งแต่ปีที่ตั้งกรุงเทพพระมหานคร เป็นทางราชการ คือ ในปีพุทธศักราช 2325 เพราะฉะนั้น รัตนโกสินทรศก 1 ก็คือปีพุทธศักราชล่วงมาแล้ว 2324 ปี แต่รัตนโกสินทรศก ใช้กันอยู่ไม่นานนัก ก็เป็นอันเลิกใช้ใน ร.ศ.131 เป็นต้นมา สิ่งพิมพ์ต่างๆ และหนังสือราชการ ก็หันมาลงศักราช เป็น"พุทธศักราช" ในมาตรฐานเดียวกัน

พุทธศักราช ซึ่งทางราชการไทยใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีคติตั้งแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน โดยไทยถือตามมติของลังกา คือถือว่า ทรงปรินิพพาน 543 ปีก่อนคริสต์ศักราช แม้ว่าเราจะใช้พุทธศักราชกันมานานแล้ว แต่ทางราชการเพิ่งจะบังคับใช้ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรมประกาศลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 131 ความว่า

"...ทรงพระราขดำริว่า พระพุทธศักราชนั้น ได้เคยใช้ในราชการทั่วไป ถ้าจะให้ใช้พระพุทธศักราชแทนปีรัตนโกสินทรศกแล้ว ก็จะเป็นการสะดวก แก่การอดีตในพงศาวดาร ของกรุงสยามมากยิ่งขึ้นฯลฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระพุทธศักราช ในราชการทั้งปวงทั่วไป ฯลฯ " หลังประกาศฉบับนี้ หนังสือไทยทุกประเภท จึงลงศักราช เป็นพุทธศักราชมาจนทุกวันนี้

ศักราชจุฬามณี เป็นคำระบุศักราช ที่พบในตำราหนังสือไทยเก่าๆ ยังไม่มีผู้ใดสืบหลักฐานที่มาได้ เพียงแต่สอบได้ความว่า ถ้าปรากฏศักราชชนิดนี้ ในบานแผนกกฎหมายต้องใช้เกณฑ์เลข 258 ลบ ผลลัพธ์ เป็นจุลศักราช

คริสตศักราช เป็นศักราชที่มีต้นกำเนิด และใช้ในหนังสือต่างประเทศ หนังสือไทยโบราณทุกสมัยก่อนๆ ไม่ปรากฏว่าได้เคยใช้ศักราชแบบนี้เลย

เกณฑ์ตัวเลขสำหรับการเปรียบเทียบศักราช เพื่อเป็นพุทธศักราช

1. ถ้าพบว่าเป็น "มหาศักราช" ให้เอา 621 บวก

2. ถ้าพบว่าเป็น "จุลศักราช" ให้เอา 1181 บวก

3. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชรัตนโกสินทร์" ให้เอา 2324 บวก

4. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชจุฬามณี" หรือ "ศักราชกฏหมาย" ให้เอา 258 ลบ ผลลัพธ์เป็นจุลศักราช แล้วจึงเปลี่ยน "จุลศักราช" เป็น พุทธศักราช

5. ถ้าพบว่าเป็น "คริสตศักราช" ให้เอา 543 บวก

คำสำคัญ (Tags): #ความรู้
หมายเลขบันทึก: 218917เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2008 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท