ที่มาของคำไทย สุภาษิตไทยและ ชื่อต่าง ๆ และ อีกมากมาย 3


รู้ไว้ใช่ว่า

ที่มาของคำว่า นิสิต

คำว่า นิสิตนั้นเป็นภาษาบาลี แปลว่าผู้อาศัยกับอุปัชฌาย์เนื่องจากแต่เดิมสถาบันการศึกษาระดับสูงมักมีหอพักให้ผู้เรียนได้พักอาศัยภายในสถาบัน ประกอบกับความนิยมภาษาบาลีด้วยจึงได้ใช้คำนี้โดยทั่วไป

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มแรกเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ ได้สถาปนาขึ้นเป็นจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยและปรากฏใช้คำว่า นิสิตสำหรับนิสิตชาย และ นิสิตาสำหรับนิสิตหญิง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า นิสิตเพียงคำเดียว

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ก่อตั้งขึ้นโดยที่ค่านิยมภาษาบาลีสันสกฤตยังเป็นที่นิยมและมีหอพักให้ผู้เรียนภายในสถาบันเช่นเดียวกัน จึงใช้คำว่า นิสิตมาตั้งแต่แรกเริ่ม

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นับเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย เริ่มต้นจากการเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถนนประสานมิตร” (สถาปนาเมื่อ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๒) ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น วิทยาลัยวิชาการศึกษา” (สถาปนาเมื่อ ๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๗) นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยที่สามารถเปิดสอนวิชาชีพครูได้ถึงระดับปริญญา โดยมีสาขาทั่วประเทศทั้งสิ้น ๘ แห่งและทุกแห่งก็ใช้คำว่า นิสิตเหมือนกันหมด
ภายหลังวิทยาลัยวิชาการศึกษาทั้ง ๘ แห่ง ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ” (อ่านว่า สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด) และปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (คงสถานะเดิม)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (ยุบวิทยาเขต)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา (ยุบวิทยาเขต)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน (ยุบวิทยาเขต/ให้สถาบันราชภัฏพระนครเช่าตึกและอาคารเรียนทั้งหมด)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัย มหาสารคาม)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยบูรพา)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยทักษิณ)
แม้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒแต่ละแห่งได้มีการเปลี่ยนไปด้วยประการต่าง ๆ แต่ทุกแห่งก็ยังคงใช้คำว่า นิสิตเหมือนกันหมด

ทุกมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนกล่าวถึงทั้งหมดใช้คำว่า นิสิตด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ มีหอพักให้ผู้เรียนอยู่ภายในสถาบัน

ในสมัยที่ประชาธิปไตยพยายามจะเบ่งบาน มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ธรรมศาสตร์ หมายถึง วิชาว่าด้วยกฎหมาย) เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ไม่มีหอพักให้ผู้เรียน จึงสร้างคำใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เป็น ไทย ๆมากขึ้น คือคำว่า นักศึกษา

มหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นภายหลังหลาย ๆ แห่ง แม้จะมีหอพักนักศึกษาอยู่ภายในมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่นิยมใช้คำว่า นิสิตเหมือนมหาวิทยาลัย โบราณที่ก่อตั้งมานานแล้วทั้งหลาย จึงหันไปใช้คำว่านักศึกษาเหมือนกันแทบทุกแห่ง แม้แต่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง แต่เดิมก็ใช้คำว่า นิสิตแต่ภายหลังอธิการบดีท่านหนึ่งซึ่งเป็นนายแพทย์ ก็ได้เปลี่ยนคำว่า นิสิตมาเป็นคำว่า นักศึกษาดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองก็นับเป็นมหาวิทยาลัยที่เคยใช้คำว่า นิสิตมาก่อน

ผู้ที่ตอบกระทู้ในโต๊ะห้องสมุดหลายคน ก็ให้เหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น
๑. สถานศึกษาที่ก่อตั้งมานานจะใช้คำว่านิสิต ก่อตั้งไม่นานใช้คำว่านักศึกษา
๒. สถานศึกษาใดต้องการใช้คำว่านิสิตต้องขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๓. สถานศึกษาใดที่ "เจ้าฟ้า" เสด็จเข้าทรงศึกษาจะเปลี่ยนไปใช้คำว่านิสิตทันที
เหตุผลเหล่านี้เป็นเหตุผลที่น่าแคลงใจทั้งสิ้น เพราะผู้เขียนพบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ใช่น้อยก็ยังใช้คำว่านักศึกษา ในขณะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช้คำว่านิสิตในเบื้องต้นทั้งที่ก่อตั้งมาทีหลัง แสดงว่าเหตุผลที่ ๑ เป็นอันตกไป

ส่วนเหตุผลที่ ๒ นั้นดูแปลกพิกลอยู่ เพียงแค่คำว่า "นิสิต" คำเดียว ถึงกับต้องขอพระราชทานเชียวหรือ ? แล้วอย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคำว่า "นิสิต" คืนหรือไม่ ?

ส่วนเหตุผลที่ ๓ เป็นเหตุผลที่พิสดารกว่าใคร ๆ เพราะพบว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยได้ใช้คำว่า "นิสิต" อยู่แล้ว จากนั้นสมเด็จพระเทพฯ ทรงศึกษาต่อระดับปริญญามหาบัณฑิต ณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรก็ไม่ได้เปลี่ยนคำเรียกไปใช้คำว่า "นิสิต" แต่อย่างใด

เรื่องยังไม่จบแค่นี้ สมเด็จพระเทพฯ เป็นผู้มีความวิริยอุตสาหะ ขวนขวายในศิลปวิทยาการทั้งปวงเป็นอย่างมาก จึงเสด็จเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แต่..โอ้โอ๋กระไรเลย บ่มิเคย ณ ก่อนกาล... มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใช้คำว่านิสิตมาก่อนหน้านั้นแล้ว เรียกว่าใช้คำนี้มาแต่อ้อนแต่ออกด้วยซ้ำไป

เรื่องของเรื่องที่ผู้เขียนได้อธิบายมาทั้งหมดจึงอยากสรุปว่าคำว่านิสิตหรือนักศึกษานั้นไม่สำคัญ คำว่า "นิสิต" ไม่ได้ทำให้ใครยิ่งใหญ่ หรือแสดงความเจ้ายศเจ้าอย่าง มีชนชั้นวรรณะเหนือกว่าใคร ถ้านิสิตไม่ตั้งใจเรียน ประพฤติไม่สมแก่ความมุ่งหมายของมารดาบิดร คำว่านิสิตนั้นจะภูมิใจอะไรเท่านักศึกษาที่ตั้งใจเรียนและประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม

อีกประการหนึ่งนั้น อยากให้ผู้มีทัศนะต่าง ๆ นานานั้นได้เข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่แสดงเหตุผลอันน่าเคลือบแคลงให้ผู้อื่นต้องจำผิด ๆ ไปอีกหลาย ๆ ทอด


ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา


ในช่วงที่น้าเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้ให้สัมภาษณ์ 'สารคดี' เมื่อเดือนตุลาคม 2532 ว่า "ค่านิยมเหล่านี้มันไม่เกี่ยวกับความเป็นซ้ายเป็นขวา" และ "คนเราเวลารู้สึกผิดมักจะออกไปทางซ้ายจัด" คำว่า "ซ้าย" และ "ขวา" ในที่นี้หมายความว่าอย่างไรครับ

คำว่า 'ซ้าย' และ 'ขวา' มาจากการแบ่งที่นั่งของสมาชิกพรรคการเมืองในสภาของฝรั่งเศส พรรที่นั่งข้างซ้ายจะเป็นพรรคที่ถือเหตุผลสากลนิยม ประชาธิปไตย ต่อต้านลัทธิอาณานิคม มีความเชื่อมั่นในความกว้างหน้า เชื่อตลอดเวลาว่าประชาชนสามารถปกครองตนเองได้ ต่อต้านชนชั้นสูง ศาสนา กองทัพ ระบบการเงิน คือต่อต้านองค์การแห่งอำนาจรัฐ

ส่วนพรรคที่นั่งข้างขวาเป็นกลุ่มชาตินิยม ติดอยู่กับจารีตประเพณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนา เทิดทูนอำนาจอธิปไตยว่ามาจากเบื้องบนไม่เชื่อมั่นว่าจะมาจากเบื้องล่าง นิยมในอำนาจ ชอบออกคำสั่งและให้คนเคารพเชื่อฟัง เกี่ยวพันกับธุรกิจเอกชน

การแบ่งที่นั่งของพรรคการเมืองฝรั่งเศสที่มีความชัดเจนเช่นนี้ จึงเกิดความนิยมเรียกพรรคหรือคนที่มีแนวคิดต่างๆ กันว่าเป็น 'ฝ่ายซ้าย' หรือ 'ฝ่ายขวา' ดังคำอธิบายข้างต้น

ที่มา : 108 ซองคำถาม เล่ม 1 หน้า 91 – 92

 

 

ทำไมพ่อครัวต้องสวมหมวกสีขาวทรงสูง ?

ซองคำถามเคยตอบคำถามนี้แล้วว่า หมวกของพ่อครัวใหญ่หรือเชฟ (Chef) ออกแบบให้เป็นหมวกทรงสูงเพื่อระบายอากาศร้อน ต่อมาได้ข้อมูลเพิ่มเติมในเชิงประวัติความเป็นมา จึงขอนำมาขยายต่อดังนี้

ธรรมเนียมปฏิบัติของเชฟในการสวมหมวกทรงสูงพองโป่งด้านบนย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ ๑๕ ในยุคนั้นพ่อครัวเป็นอาชีพที่ทำรายได้สูงมากและยังเป็นที่ยกย่องนับถือของชาวกรีกในกรุงไบแซนเทียม (ชื่อโบราณของกรุงอิสตันบูล จนถึงปี ๓๓๐ ก่อนคริสตกาล) เมื่อพวกเติร์กล้มล้างจักรวรรดิไบแซนทีนใน ค.ศ. ๑๔๕๓ บรรดาพ่อครัวต้องหนีไปหลบซ่อนตัว สถานที่หลบภัยก็คือสำนักสงฆ์ เพื่อให้กลมกลืน พวกเขาสวมใส่เครื่องแต่งกายเช่นเดียวกับพระที่พวกเขามาขออาศัยอยู่ด้วย

เครื่องแต่งกายชิ้นหนึ่งของพระก็คือ หมวกสีดำทรงสูงที่พองโป่งตรงส่วนยอด ต่อมาพวกพ่อครัวได้เปลี่ยนเฉพาะสีของหมวกเป็นสีขาวเพื่อให้พอแยกออกระหว่างพวกเขากับพระจริง ๆ ส่วนรูปทรงของหมวกนั้น เข้าใจว่าพวกพ่อครัวคงชอบมาก จึงคงไว้แบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

พูดถึงเชฟแล้ว คุณณัชชารู้หรือไม่ว่า เรื่องตำแหน่งหน้าที่ในครัวฝรั่งดูแล้วไม่ต่างอะไรจากกองทัพที่มีนายร้อย นายพัน นายพลเลย อแมนดา เกล เชฟหญิง เล่าไว้ใน จีเอ็ม ปักษ์หลังกรกฎาคม ๒๕๔๗ ว่า โดยทั่วไปที่เป็นพื้นฐานเลยก็คือตำแหน่งฝึกงานซึ่งจะได้ค่าจ้างน้อย ๆ ก่อน แล้วพอทำงานไปเรื่อย ๆ อาจจะเป็น ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ๔ ปี แต่ละปีก็จะได้เงินมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วหลังจากนั้นก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเดมิเชฟเดอพาตี คำว่า เดมิ (demi) ก็คือ small หรือเล็ก จากนั้นถึงจะได้ขึ้นมาเป็นเชฟเดอพาตี มีหน้าที่ดูแลแผนกต่าง ๆ จากนั้นถึงจะเป็นเดมิซูส์เชฟ ก่อนจะเป็นซูส์เชฟ แล้วก็เชฟ และเอ็กเซ็กคูทีฟเชฟในที่สุด

 

 

 

 

กล่องดนตรี

 หรือ Music Box ถือเป็นต้นกำเนิดของตู้เพลงแบบหยอดเหรียญ มีต้นกำเนิดมาจากหมู่ระฆังในโบสถ์ที่ใช้สั่นบอกเวลาเป็นเสียงเพลง เริ่มจากปีค.ศ.1796 อองตวน ฟาเวร่ ชาวเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นำเทคนิคสร้างเสียงเพลงจากระฆังนี้มาดัดแปลง โดยใช้แท่งโลหะและลูกตุ้มไปติดแทน แล้วเชื่อมโยงด้วยหมุดเหล็ก พัฒนาให้เป็นนาฬิกาเสียงดนตรี จากนั้นในปี 1802 จึงนำผลงานประดิษฐ์ดังกล่าวมาย่อส่วนใส่ลงในกล่องยานัตถุ์ เป็นกล่องยานัตถุ์เพลง (Music snuff box) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของมิวสิค บ๊อกซ์ เป็นต้นมา 


          ในปีค.ศ.1815 ทั้งกรุงเจนีวาและเมืองสเต-ครัวซ์ กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตกล่องเพลง โดยนายเดวิด เลอคูลเทร ถือเป็นนายช่างคน แรกที่นำโลหะทรงกระบอกมาใช้ตรึงหมุดในกล่องเพลงเป็นคนแรก ทั้งเป็นคนเพิ่มซี่เหล็กทำเสียงดนตรีออกเป็น 5 ซี่ (เหมือนหวี) เพื่อเพิ่มเสียงตัวโน้ตมากขึ้น ขณะเดียวกันพี่น้องตระกูลนิโคล ก่อตั้งโรงงานผลิตกลอ่งดนตรีชื่อ นิโคล-เฟรเรส์ พัฒนาเทคนิคทำกล่องเพลง เช่น ใช้ไม้ผลมาทำเป็นตัวกล่องให้สวยงาม และใช้ตัวควบคุมการทำงานของดนตรี 3 ตัว (ตัวเปลี่ยนเสียงเพลง ตัวเริ่มและหยุดเสียง และตัวหยุดเสียงทันที) นอกจากนี้ยังประดิษฐ์ตัวไขลานติดไว้ที่ด้านซ้ายของกล่อง (บริษัทนี้มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน)
         ในช่วงค.ศ.1850-1870 ถือเป็นช่วงที่มีการประดิษฐ์กล่องดนตรีที่ประณีตที่สุด ทั้งในด้านเสียงเพลงและตัวกล่อง จากนั้นในช่วง 1880 อุตสาหกรรมการผลิตกระบอกโลหะ (ตัวหมุน) เฟื่องฟูมาก เมื่อกล่องเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลาย คนธรรมดาเดินดินก็ซื้อได้ แต่การผลิตกล่องเพลงมาชะงักราวปี 1910 เมื่อประชาชนหันไปนิยมเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เอดิสันประดิษฐ์ขึ้นในปี 1877 จากนั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 การประดิษฐ์กล่องเพลงจึงซบเซาไป ในปัจจุบันกล่องเพลงที่มีชื่อเสียงยังคงเป็นของสวิส แต่บริษัทเยอรมันเองก็ไม่น้อยหน้า สามารถครองส่วนแบ่งของตลาดได้มากที่สุด
          เพลงที่นิยมใช้ในกล่องเพลง เป็นเพลงคลาสสิค และตอนนี้มีหลายแบบ ทั้งเพลงจากภาพยนตร์ เพลงของวงดนตรีดังๆอย่าง X-Japan ก็ยังมี ถ้าอยากเห็นชัดๆว่ากล่องเพลงทำงานอย่างไร ต้องไปดูอันที่ใช้แก้วเป็นฝาที่มองเห็นกลไกการทำงานภายใน จะเข้าใจได้ดีขึ้น

 

 

 

 

ไก่แก่แม่ปลาช่อน


สำนวนเป็นหนึ่งในความร่ำรวยทางภาษาไทย คนไทยนิยมใช้ถ้อยคำสำนวน เพื่อใช้ในการสื่อความหมายและเปรียบเปรยได้อย่างคมคายลึกซึ้ง สำนวน ?กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน? เป็นสำนวนดั้งเดิมของไทย ซึ่งก็คือ สำนวน ?ไก่แก่แม่ปลาช่อน? ในปัจจุบันนั่นเอง
สำนวนไก่แก่แม่ปลาช่อน หมายถึง หญิงค่อนข้างมีอายุ มีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมาก หลักฐานที่อ้างอิงได้ว่าในอดีตเราใช้สำนวน กระต่ายแก่แม่ปลาช่อนนั้นมาจากวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ดังในบทละครนอก คาวี พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กล่าวถึง ท้าวสันนุราชปรารถนาจะได้นางจันท์สุดาเป็นชายา แต่เพราะตัวเองชรามาก จึงอยากจะชุบตัวให้เป็นหนุ่มรูปงาม ทำให้หลงกลอุบายของหลวิชัย จนถึงแก่ความตาย คาวีสวมรอยเป็นท้าวสันนุราชขึ้นครองเมืองแทน นางคันธมาลี มเหสีท้าวสันนุราช พึงพอใจกับรูปโฉมใหม่ของท้าวสันนุราช นางน้อยใจที่ท้าวสันนุราชสนใจแต่นางจันท์สุดา คาวีที่สวมรอยเป็นท้าวสันนุราชต้องเข้าไปง้องอน นางก็แสดงกิริยาสะบัดสะบิ้ง

ไม่พอที่ตีวัวกระทบคราด สัญชาติกระต่ายแก่แม่ปลาช่อน
แสร้งสะบิ้งสะบัดตัดรอน จะช่วยสอนให้ดีก็มิเอา

วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ก็พบสำนวนกระต่ายแก่แม่ปลาช่อน เป็นตอนที่พระอภัยมณีปรารภถึงนางสุวรรณมาลีที่หึงหวงนางละเวงว่า

ขี้เกียจเกี่ยวเคี่ยวขับข้ารับแพ้ กระต่ายแก่แม่ปลาช่อนงอนไม่หาย

กระต่ายแก่แม่ปลาช่อนเป็นสำนวนที่มีที่มาจากธรรมชาติ ธรรมชาติของกระต่ายเมื่อแก่มักจะเปรียว (ว่องไว) จึงนำมาเปรียบเทียบกับหญิงที่มีอายุมาก ย่อมมีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมากกว่าสาว ๆ ส่วนปลาช่อน โดยทั่วไปมิได้ดุร้าย แต่ธรรมชาติของแม่ปลาช่อนเมื่อวางไข่จะดุสามารถกัดคนตายได้ ดังนั้นทั้งกระต่ายและแม่ปลาช่อนมีลักษณะคล้ายคลึงกันเมื่อแก่ตัว จึงนำมาเอ่ยเปรียบเทียบเป็นสำนวน

ประจักษ์ ประภาพิทยากร สันนิษฐานว่า สำนวนกระต่ายแก่แม่ปลาช่อน เพี้ยนมาเป็น ไก่แก่แม่ปลาช่อน เพราะมีเสียงใกล้เคียงกัน
คำว่าไก่แก่ตามความหมายในสำนวน คงมิได้หมายความว่าเปรียวแบบกระต่ายตามสำนวนดั้งเดิม ไก่เป็นสัตว์ที่เรานำมาปรุงเป็นอาหาร ธรรมชาติของไก่เมื่อแก่ย่อมจะมีเนื้อเหนียว เคี้ยวยากกว่าไก่รุ่น ๆ คำว่าไก่แก่จึงเทียบได้กับสาวแก่นั่นเอง


แหล่งที่มาของข้อมูล ประจักษ์ ประภาพิทยากร. วรรณคดีวิเคราะห์ พระอภัยมณี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2526.
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. บทละครนอก. พิมพ์ครั้งที่ 9 กรุงเทพ:บรรณาคาร, 2540.

 

 

 

ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 คืออะไร

 

เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ. ) ได้ส่งเสริมให้ประชาชนร่วมใจกันประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าและใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจุดมุ่งหมายในการลดการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศ จึงได้จัดทำโครงการ ประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า โดยให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง สำหรับเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตสูง และใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดทั้งในบ้านพักอาศัยและในภาคธุรกิจ กฟผ. ได้ขอความร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศให้เข้าร่วมโครงการ เพื่อกำหนดระดับประสิทธิภาพและพัฒนาเครื่องปรับอากาศ เพื่อติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพเบอร์แสดงระดับประสิทธิภาพตามมาตรฐานสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ( สมอ. ) โดยสถาบันไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ ( สฟอ. ) เป็นหน่วยงานทดสอบค่าประสิทธิภาพ โดยเกณฑ์ที่ใช้กำหนดระดับประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศ คือ

 

ฉลาก

ประสิทธิภาพ

อัตราส่วนประสิทธิภาพ (EER)

5

ดีมาก

EER > = 11

4

ดี

9.6 <= EER < 10.6

3

ปานกลาง

8.6 <= EER < 9.6

2

พอใช้

7.6 <= EER < 8.6

1

ต่ำ

EER < 7.6

 

 



"Z" อ่านว่า "ซี" หรือ "แซด" ??


ซึ่งผมหวังว่ามันคงจะเป็นประโยชน์ไ่ม่มากก็น้อยครับ และผมก็ยังคงยืนยัน นั่งยัน นอนยันว่า "H อ่านว่า เอช แน่ๆ ไม่ใช่เฮด หรือ เฮ็ด"

คราวนี้มาต่อกันที่ตัว Z ครับ

"ตัว Z อ่านว่า ซี หรือ แซด กันแน่"

เวลาคุยกันเนี่ย ถ้าเราบอกว่าตัว Z ว่าตัว "ซี" เนี่ย คนฟังมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นตัว "C" ครับ

ดังนั้น ผมจึงเรียกตัวนี้ว่า "แซด" มาตลอด

แม้บางทีเราจะรู้สึกว่าอ่านผิด แต่วันนั้น ผมรู้แล้่วว่า ที่อ่านไปน่ะไม่ผิดหรอก

มันเป็นแค่ "สำเนียง" ครับกล่่าวคือ

ตัว Z จะอ่านว่า "ซี" ในการพูดภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน (American English) คือสำเนียงแบบคนอเมริกัน

ส่วนมันจะอ่านว่า "แซด" ในภาษาอังกฤษแบบบริติช (British English) หรือสำเนียงคนอังกฤษนั่นเอง ซึ่งในแบบอังกฤษ ตัว "Z" จะอ่านได้อีกเสียงคืออ่านว่า "เซด" ครับ

รับรองว่าชัวร์ ไม่มั่วนิ่มแน่นอน เพราะที่ๆผมเจอคือสารนุกรมออนไลน์ Wikipedia ครับ ที่ลิ้งค์นี้

เป็นยังไงล่ะครับ หวังว่าวันนี้คงได้รับความรู้ และโล่งอกไปนะครับ

ปล.ส่วนตัวแล้ว ผมชอบภาษาอังกฤษแบบอังกฤษมากกว่า เพราะสมัยก่อนที่ผมเรียนภาษาอังกฤษมา เรียนกันแบบ British English ครับ ซึ่งสมัยนี้อาจจะเรียนกันแบบอเมริกัน เพราะดูง่ายกว่าแบบอังกฤษครับ


 

ลมเกิดขึ้นได้อย่างไร
ความหมาย ลม (wind) คือ อากาศซึ่งเคลื่อนที่เนื่องจากความแตกต่างด้านความกดอากาศ (air pressure) ของสองบริเวณ โดยจะเคลื่อนที่จากบริเวณซึ่งมีความกดอากาศสูง (high air pressure) ไปสู่บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ (low air pressure) โดยมีอุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความกดอากาศต่ำ (low air pressure) ตามทฤษฎีการพาความร้อน (convection theory) กล่าวคือ ในสภาพที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 27 องศาเซลเซียส มวลอากาศร้อนจะขยายตัว ทำให้มีน้ำหนักเบาและลอยตัวขึ้น ทำให้มวลอากาศบริเวณนั้นเบาบางลง เมื่อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดเป็นความกดอากาศต่ำ ทำให้อากาศที่อยู่บริเวณข้างเคียงซึ่งมีความหนาแน่นกว่าเคลื่อนที่เข้ามาสู่บริเวณนั้นเกิดเป็นลมขึ้น

โอ่งราชบุรีทำไมต้องเขียนลายมังกร


คนจีนซึ่งเคยทำเครื่องปั้นดินเผามาก่อนจากเมืองจีน ได้มาริเริ่มทำโอ่ง อ่าง ไห ขาย
จีนรุ่นบุกเบิกชื่อ นายจือเหม็ง แซ่อึ้งและพรรคพวก ได้รวบรวมทุนได้ 3,000 บาท ตั้งโรงงานเถ้าเซ่งหลีขึ้น
เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 เป็นโรงงานขนาดเล็กบริเวณสนามบินอยู่ตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลราชบุรีเดี๋ยวนี้
แหล่งดินสีแดงที่ราชบุรีก็ค่อนข้างจะมีคุณภาพเหมือนที่เมืองจีน ดังนั้น จากเดิมเราใช้โอ่งอ่างไหจากเมืองจีน
ผู้ริเริ่มก็ทำอ่าง ไห กระปุก และโอ่งบ้างเล็กน้อย ให้ชาวมอญราชบุรีใส่เรือไปเร่ขาย
การทำโอ่งได้ริเริ่มอย่างจริงจังก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินขาวที่ใช้แต่งลวดลายเดิมได้มาจากเมืองจีน
ต่อมาได้หาทดแทนจากดินที่ท่าใหม่จันทบุรี และสุราษฏร์ธานี
เมื่อกิจการรุ่งเรืองขึ้น โรงงานจึงขยายกิจการและผลิตโอ่งเพิ่มมากขึ้น
หุ้นส่วนหลายคนแยกตัวไปตั้งโรงงานเอง โดยเฉพาะในจังหวัดราชบุรี
ปัจจุบันมีโรงงานผลิตโอ่งอยู่ถึง 42 แห่ง และเป็นโรงงานผลิตเครื่องเคลือบรูปแบบต่าง ๆ ออกไปอีก 17 แห่งตามจังหวัดอื่น ๆ ที่แยกไปจากนี้ คือ ที่อำเภอ
หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดชลบุรีและในกรุงเทพมหานครบริเวณ สามเสน เป็นต้น
เจ้าของโรงงาน ช่างปั้น และประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดราชบุรี เมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วล้วนเป็นลูกหลานจีน ดังนั้นช่างปั้นจึงได้คิดคัดเลือกลวดลายที่เป็นมงคล และมี
ความหมายที่ดี เพื่อให้เกิดความรู้สุกที่ดีต่อผู้ใช้ นอกเหนือจากความงามเพียงอย่างเดียว ที่สุดก็ได้เลือกสรรลวดลายมังกร ซึ่งแฝงและฝังไว้ด้วยความหมายตามความเชื่อ
คตินิยมในวัฒนธรรมจีน
ลวดลายมังกรดั้นเมฆ มังกรคาบแก้ว และมังกรสองตัวเกี่ยวพันกัน ล้วนเป็นสัตว์สำคัญในเทพนิยายของจีน เป็นเทพแห่งพลัง แห่งความดี และแห่งชีวิต ช่างปั้นเลือกเอา
มังกรที่มี 3 เล็บหรือ 4 เล็บ เป็นลวดลายตกแต่งโอ่ง ช่างผู้ชำนาญปาดเนื้อดินด้วยหัวแม่มือเป็นรูปมังกร โดยไม่ต้องร่างแบบ ขีดเป็นลายมังกรด้วยปลายซี่หวี เป็นหนวด นิ้ว
เล็บ ส่วนเกล็ดมังกรหยักด้วยแผ่นสังกะสีแล้วเน้นลูกตาให้เด่นออกมา

คำสำคัญ (Tags): #ความหมาย#ที่มา
หมายเลขบันทึก: 218895เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2008 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ห่วยแตกมากไอ่ควย ควาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท