ฺBook Review: เศรษฐกิจเขียวและใส: เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับประเทศไทยในเรือนกระจก


ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มหนึ่งที่คนไทยทุกคนควรอ่านเพื่อเข้าใจ สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพื่อความตระหนักรู้ ถึงสภาพการณ์ และเพื่อความเข้าใจและซาบซึ้งถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดเจนขึ้น



น้องแต๋มส่งหนังสือชื่อ "เศรษฐกิจเขียวและใส : เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับประเทศไทยในเรือนกระจก" ของสำนักพิมพ์มติชน มาให้อ่านสงสัยเพราะเห็นว่าผมสนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่  

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ดร.พงษ์พิสิฎฐ์ วิเศษกุล  เขียนคำนิยมโดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล หนังสือเล่มนี้ดูแว่บแรกคิดว่าต้องเป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงล้วนๆหรือเปล่า แต่พอเหลือบดูมุมล่างซ้ายของปก เขียนว่า "ทรรศนะเพื่อทางรอดของสิ่งแวดล้อมและสังคมไทย" เลยยิ่งทำให้รู้สึกสนใจมากขึ้นไปอีกว่า ดร.พงษ์พิสิฎฐ์จะนำเสนออะไรที่เป็นทางรอดของสังคม

โดยภาพรวมหนังสือเล่มนี้เขียนได้น่าสนใจมากครับ ถ้าใครดู An  Inconvenient  Truth ของ Al Gore แล้วจะให้ความรู้สึกเดียวกันเลยครับ หนังสือเล่มนี้มีห้าบทครับ สามบทแรกเป็นการฉายภาพหายนะที่มาแล้วและกำลังจะมาถึงทางด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจากน้ำมือมนุษย์ โดยผู้เขียนฉายภาพกว้างในบทแรกให้ผู้อ่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมและความมีจำกัดของทรัพยากรก่อน แล้วฉายภาพปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วในลักษณะของลำดับเชิงประวัติศาสตร์ และจำแนกให้เห็นปัญหาในแต่ละประเด็ฯทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เขียนนำเสนอได้อย่างชัดเจน

ในบทที่สี่เป็นการนำเสนอทางรอด ทางออกจากปัญหา โดยยกเอาแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ขึ้นมาเป็นทางออก นำเสนอทั้งในส่วนพระราชดำรัส เปรียบเทียบกับเศรษฐศาสตร์สำนักอื่นๆ หลักปรัชญา และการประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ผู้เขียนยังเน้นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะการปฏิรูปในระดับปฐมวัย ให้เหมาะกับพัฒนาการของสมอง อันจะเป็นช่วงสำคัญที่เราจะ "ปลูกฝัง" ความคิด แนวปฏิบัติ มารยาท และคุณธรรมที่จำเป็นต่อการเป็นพลเมืองที่ดีลงไปได้

โดยรวมผมประทับใจหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะในส่วนของสามบทแรกที่นำเสนอได้อย่างกระชับและน่าสนใจมาก ได้ความรู้ และความ "ตระหนักรู้" ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการบริโภคเกินพอดีของคนในสังคม ทำให้เราเห็นว่า ในประวัติศาสตร์ของโลกเราที่เกิดมาเพียงเสี้ยวเวลาเดียวของเวลาของโลกทั้งหมด กำลังจะใช้ทรัพยากรที่โลกสั่งสมมาตลอดหลายพันล้านปีเสียแล้ว ยิ่งคิดก็ยิ่งกังวลถึงลูกหลานของเราในอนาคตว่าจะอยู่อย่างไร การนำเสนอเป็นไปอย่างลื่นไหลและทำให้คล้อยตามได้มากทีเดียว

อย่างไรก็ดี ในบทที่สี่ตอนที่ผู้เขียนเปรียบเทียบเศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐศาสตร์สำนักอื่นนั้น ผมก็นึกแย้งอยู่ในใจ ประเด็นแรก ผู้เขียนแบ่งเศรษฐศาสตร์ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ "กลุ่มที่เชื่อว่าทรัพยากรธรรมชาติมีเหลือเฟือใช้ได้ไม่หมด" กับอีกกลุ่มหนึ่งเป็น "นักเศรษฐศาสตร์ที่เห้นว่าเราอยู่ในโลกที่มีทรัพยากรจำกัด" การแบ่งแบบนี้ขัดกับสามัญสำนึกของนักเรียนเศรษฐศาสตร์อย่างผมมากทีเดียว

การมีจำกัดของทรัพยากรและการจัดการทรัพยากรดังกล่าวนั้นเป็นหลักสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิคมาโดยตลอด เรียกได้ว่า หากทรัพยากรมีไม่จำกัดแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ในโลกเลยก็ได้ เท่าที่ได้ศึกษาเศรษฐศาสตร์ในสาขาอื่นๆมาบ้างไม่มากก็น้อย ก็ยิ่งไม่เคยเห็นมีสำนักไหนกล่าวถึงเลยว่าเราเชื่อว่าทรัพยากรธรรมชาติมีเหลือเฟือไม่จำกัด กระทั่งผู้เขียนเองก็ไม่ได้มีการอ้างอิงถึงเอกสารใดๆเลย ถ้าเป็นการจำแนกแยกแยะเองก็ถือว่าเป็นการจำแนกที่ฟันธงลงไปมากเกินไปหน่อย

การที่เศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆไม่ได้กล่าวถึงว่าทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด ก็ไม่จำเป็นว่าเขาจะ "เชื่อ" ว่าทรัพยากรธรรมชาติมีเหลือเฟือใช้ได้ไม่หมด  ผมคิดว่าควรจะระวังอย่างมากในการฟันธงเรื่องนี้ หากจะยืนยันการจำแนกลักษณะนี้ก็ควรมีเชิงอรรถ หรือการอ้างอิงไปสู่เอกสารที่มีการระบุแนวคิดดังกล่าว หากไม่มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน ก็ควรใช้คำที่อ่อนลงกว่านี้ มิเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการให้ความรู้ท่ีไม่แม่นยำนักแก่ผู้อ่าน

นอกจากนี้ ผมยังแอบผิดหวังเล็กๆเมื่อเห็นว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้นำเสนอในหนังสือเล่มนี้มิได้มีส่วนที่มากไปกว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถหาได้อ่านในหนังสือเล่มอื่นแต่อย่างใด เพียงแต่ย้ำสิ่งที่ได้ถูกนำเสนอไปแล้วในหนังสือเล่มอื่นเท่านั้น

แม้ว่าผู้เขียนมีเป้าหมายที่จะนำเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ผู้คนธรรมดาที่ไม่ใช่นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์เข้าใจก็ตาม ก็น่าจะเขียนขยายในส่วนทางออกได้มากกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น แนวปฏิบัติที่จะสามารถปรัชใช้ได้กับชีวิตประจำวันของคนชั้นกลางที่่น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้มากกว่าใครเพื่อน เหมือนที่ตอนท้ายของภาพยนตร์ An Inconvenient Truth ได้นำเสนอวิธีการต่างๆในการช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นส่วนสำคัญและทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมากขึ้น

แต่นอกเหนือจากประเด็นที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มหนึ่งที่คนไทยทุกคนควรอ่านเพื่อเข้าใจสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพื่อความตระหนักรู้ ถึงสภาพการณ์  และเพื่อความเข้าใจและซาบซึ้งถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดเจนขึ้น

หมายเลขบันทึก: 218763เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2008 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนค่ะ
  • เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของท่านพ่อหลวงทำให้พายุเศรษฐกิจของโลกไม่ร้ายแรงนักในคนไทยของเรา
  • พี่ว่าอย่างนั้นไหมคะ
  • อิอิ

สวัสดีค่ะ

จะชอบหรือไม่ชอบเศรษฐศาสตร์ก็ไม่เป็นไร แต่ทำอย่างไร นักวิชาการทั่วไปจึงจะเข้าใจหลักคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ได้ถูกต้อง

แค่ใช้คำว่า "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" ก็ตีความผิด หาว่า เศรษฐศาสตร์สอนให้งกเสียนั่น..

..ข้าวหนึ่งจานที่ทาน ย่อมมีหงาดเหงื่อแรงงานของชาวนา ... นี่คือ ตัวอย่างของ "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" ที่เปลี่ยนมาใช้ภาษาให้ถูกใจคนที่ไม่ชอบนักเศรษฐศาสตร์

ในอีกด้านหนึ่ง คนไทยก็มักเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงในความหมายแคบ

การอ่านมาก ศึกษามาก บันทึกถ่ายทอดประสบการณ์มาก และเปิดโอกาสให้คนอื่นๆถกเถียง จะช่วยเปิดกว้างทางความคิดความเข้าใจ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท