ถอดรหัสPMQA : ประสาคนไม่เข้าใจ


ของดี ที่เข้าใจยาก คือ PMQA

          ไหนช่วยอธิบายให้เข้าใจหน่อย  ว่า PMQA มันคืออะไร  ทำแล้วได้อะไร  เป็นโจทย์ที่ยากมากหลังจากถูกถามมาแล้วหลายครั้งหลายหน  อธิบายหลายครั้งก็ยังมีคำถามแบบเดิมอยู่เสมอ  เลยสรุปได้ว่า  ที่เพื่อนไม่เข้าใจเพราะเราไม่เข้าใจ  ถึงแม้ว่าจะได้รับการฝึกอบรมมาแล้ว  2  ครั้ง  ถูกบังคับให้ทำมาแล้วหลายหน  ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ  เพื่อนถามก็ถามหลังจากที่ฟังมาด้วยกัน  ทำมาด้วยกัน  ในใจก็นึก “แล้วจะถามทำไมวะ  ก็ฟังมาพร้อมกัน”

          เมื่อถูกถามก็พยายามหาคำตอบ  สิ่งแรกที่ทำ คือ ถามตัวเองว่า “ที่ฟังและทำมาแล้วเราเข้าใจว่าอย่างไร”  คำตอบที่ได้ คือ ไม่รู้  เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำ  เขาบอกให้คะแนนก็ให้คะแนน  คะแนนที่ได้ก็เป็นคะแนนแบบไม่รู้  จึงบอกกับตัวเองว่า  เรานี่ฉลาดน้อยเหลือเกิน  สิ่งที่ทำจึงนั่งอ่านหนังสือหลายเล่ม  หลายร้อยหน้าที่ได้จากการฝึกอบรม  เมื่ออ่านจบแล้วสรุปสั้น ๆ นั่งอ่านให้ตัวเองเข้าใจตามประสาคนไม่เข้าใจ  เมื่อถูกถามก็จะอธิบายโดยเริ่มต้นจากคำว่า “สิ่งที่ผมจะอธิบายเป็นความเข้าใจของผม  ซึ่งไม่เข้าใจและไม่มีความรู้เรื่อง PMQA“  และเป็นที่มาของบันทึกที่มีชื่อว่า   “ถอดรหัส PMQA:ประสาคนไม่เข้าใจ”

          ในหนังสือ PMQA เขาเขียนไว้ว่า  Public Sector Management Quality Award  ภาษาไทยเขาแปลไว้ว่า  “รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ”  พอเอาชื่อนี้เป็นธงนำในการอ่าน  โดยตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรให้ได้รางวัล”  อ่าน 2 เที่ยวแล้วก็ยังไม่เข้าใจ  วันหนึ่งอากาศดีนั่งดูเอกสารเก่า ๆ ในสมัยเรียนใหม่ ๆ พบหนังสือหลายๆ วิชาที่ใกล้เคียงกับ PMQA  เช่น องค์การและการจัดการ  การบริหารงานมุ่งผลสัมฤทธิ์  ภาวะผู้นำ เป็นต้น  จึงตั้งธงในการอ่านทำความเข้าใจใหม่  โดยให้ความหมายของ PMQA ว่า วิชาการบริหารส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพ

          ขอบเขตเนื้อหาวิชาประกอบด้วย  ความรู้หลัก  8 วิชา คือ

                   1. การเก็บรวบรวมข้อมูลองค์กร    PMQA เรียกวิชานี้ว่า  ลักษณะสำคัญขององค์กร (หมวด P )

                   2. ภาวะผู้นำและการจัดการ      PMQA เรียกวิชานี้ว่า  หมวด 1 การนำองค์กร

                   3. การวางแผนพัฒนาองค์กร     PMQA เรียกวิชานี้ว่า  หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์

                   4. ลูกค้าสัมพันธ์      PMQA เรียกวิชานี้ว่า หมวด3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

                   5. การจัดการความรู้ในองค์กร    PMQA เรียกวิชานี้ว่า หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้

                   6. การบริหารงานบุคคล         PMQA เรียกวิชานี้ว่า  หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล

                   7 การออกแบบงานและการจัดการ PMQA เรียกวิชานี้ว่า หมวด 6 การจัดการกระบวนการ

                   8. การบริหารงานมุ่งผลสัมฤทธิ์    PMQA เรียกว่า  หมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินงาน

          เมื่อตั้งธง PMQA  หมายถึง วิชาการบริหารส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพ  แต่ละหมวดเปลี่ยนชื่อเสียใหม่  ตามประสาคนไม่เข้าใจ  ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น (ผมเอง)  แล้วสรุปได้ว่า PMQA  คือสุดยอดวิชาการบริหารส่วนราชการให้มีประสิทธิภาพ  ถ้าส่วนราชการใด ทำตาม PMQA ครบทุกข้อ รับประกันได้เลยว่า  จะเป็นส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพยิ่ง  สมควรที่จะได้รับรางวัล เพราะทุกคนพึงพอใจ  ประทับใจ ทั้งประชาชนและคนทำงาน

          ในปี พ.ศ. 2551 PMQA ตั้งระบบโดยกำหนดมาตรฐานทั้ง 8 เรื่องไว้  ว่าส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพ  ต้องทำทั้ง 8 เรื่องอย่างไร  และได้ทำถูกต้องครบถ้วนหรือไม่  โดยตั้งเคำถามเป็นข้อ ๆ ให้ตอบตามที่ส่วนราชการนั้นได้ทำจริง  เกณฑ์ให้คะแนนตั้งไว้  5 ระดับ  แต่ละระดับก็กำหนดมาตรฐานงานแต่ละเรื่องไว้ชัดเจน  ยกเว้นเกี่ยวกับข้อมูลองค์กร (หมวด P ) ต้องตอบโดยการอธิบาย  ว่าแต่ละเรื่องส่วนราชการได้ทำหรือไม่  ถ้าทำก็ให้ระบุรายละเอียด  แต่ละส่วนราชการก็จะแตกต่างกันไปตามภารกิจและหน้าที่ของส่วนราชการนั้น

          การตอบคำถามในแต่ละข้อ  ให้แต่ละส่วนราชการตอบด้วยตนเอง  เป็นการประเมินตนเองว่าแต่ละเรื่องได้ทำอย่างไร  สิ่งใดที่ทำแล้วครบถ้วน สิ่งใดที่ยังไม่ได้ทำ  เป็นการประเมินตนเอง ทำเอง เห็นเอง  ว่ามีจุดอ่อนอย่างไรตามมาตรฐานของส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพตาม PMQA  เมื่อมีการตรวจสอบตามมาตรฐานของส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพแล้ว  ก็ให้ส่วนราชการนั้น ๆ นำข้อบกพร่อง  หรือจุดอ่อนที่ไม่มี  ไม่ได้ทำ  ตามที่ PMQA กำหนดไว้  ดำเนินการปรับปรุง พัฒนาด้วยตนเองตามความสมัครใจ  ภายใต้ศักยภาพของตนเองที่มี

          ถ้าถามต่อว่า PMQA ดีหรือไม่  ต้องตอบว่าดีมาก  ถ้าส่วนราชการสามารถปฏิบัติตามข้อเท็จจริงได้ถูกต้องครบถ้วน และดีมากสำหรับข้าราชการทุกคน  ถ้าได้ศึกษา เพราะ PMQA ได้รวมรวมกระบวนวิชาการบริหารจัดการองค์กรที่กระจักกระจายมารวมไว้เป็นเล่มเดียว  และดีมากสำหรับผู้บริหารถ้าได้ศึกษาให้เข้าใจ  โดยเฉพาะหมวด 1  การนำองค์กร ในปีแรก ๆ ที่ใช้ระบบการอธิบายตามข้อคำถาม  เข้าใจได้ยากมาก  ในปี 2551  ในแต่ละข้อคำถามมีคำอธิบายตามลำดับขั้นตอน  ในแต่ละขั้นตอนก็มีการอธิบายรายละเอียดไว้ให้เข้าใจอีก แล้วให้ขีดถูกเพื่อให้คะแนนแบบนักเรียน ในการประเมินตนเองของส่วนราชการ ก็ดีไปอีกแบบเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ภาษาในเอกสาร  “บางคำ”  ต้องอธิบายเพิ่มเติมเพราะเป็นภาษาเฉพาะของ PMQA  ที่สร้างสรรค์ขึ้นให้วิจิตรพิสดาร  หรือเพื่อความสละสลวยก็ได้  อ้นนี้ไม่แน่ใจ

          ในเบื้องต้นถอนรหัส PMQA ไว้เท่านี้ก่อน  ตอนต่อไป  จะเขียนบันทึกสิ่งดี ๆ ในแต่ละวิชาของ PMQA…  สวัสดีครับ

 

หมายเลขบันทึก: 218514เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2008 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอโทษนะคะ อยากจะบอกว่าเป็นสารที่ไม่เข้าใจค่ะ

นี่คืออุปสรรคของการสื่อสาร

เข้ามาอ่านอีกรอบ

คราวนี้เป็นสารที่ชัดเจน สามารถอ่านได้แล้วค่ะ

ตอนแรกนั่งอีกเครื่องหนึ่งค่ะไม่ทราบเหมือนกันว่า

เป็นเพราะเหตุใดไม่สามารถอ่านข้อความที่ท่านเขียนได้

PMQA คือ อะไร รับทราบแล้วค่ะ

จะติดตามอ่านต่อไปค่ะ

เป็นอีกคนหนึ่งที่มีเคยมีความรู้สึกเหมือนท่าน กว่าจะเข้าใจ กว่าจะรู้เรื่องก็เหนื่อยแทบแย่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท