โนราภาค3


บริบททางสังคม


     ด้านความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมของโนราเป็นที่มาของ ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมที่มีอิทธิพล ต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน ได้แก่ความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา ความเชื่อไสยศาสตร์ ความเชื่อเรื่องการแก้บน ความเชื่อเรื่องการเหยียบเส้น ความเชื่อเรื่องการรักษาอาการป่วยไข้ ความสัมพันธ์ทางด้านประเพณี และพิธีกรรมที่สำคัญคือประเพณีการรำโนราลงครู

     ซึ่งมีขั้นตอนของพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา โนราลงครูมี 2 ชนิด คือ โนราโรงครูใหญ่และโนราครูเล็ก โนราครูใหญ่จะประกอบพิธี 3 วันเริ่มตั้งแต่วันพุธไปสิ้นสุดในวันศุกร์ ส่วนโนราโรงครูเล็กจะประกอบพิธี 2 วันเริ่มตั้งแต่วันพุธไปสิ้นสุดวันพฤหัสบดี พิธีกรรมที่สำคัญได้แก่ การเซ่นไหว้ และแก้บนครูหมอโนรา การรำสอดเครื่องสอดกำไลและพิธีตัดจุก พิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหม่ การเหยียบเสน การรำคล้องหงส์ การรำแทงเข้ (จระเข้) และพิธีส่งครู

     ด้วยความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมของโนราได้ส่งผลให้เกิดการสร้างระบบความสัมพันธ์ และการควบคุม พฤติกรรมของคนในสังคม การอนุรักษ์ ส่งเสริมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม การสร้างภูมิปัญญา และวัฒนธรรมพื้นบ้านต่างๆ

      ในปัจจุบันโนรา ได้กลายเป็น ”สื่อ” ที่ช่วยให้ข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ได้เผยแพร่ให้ประชาชน ได้รับทราบอย่างทั่วถึง และเข้าถึงชาวบ้านด้วยภาษาที่เป็นของชาวบ้าน โดยเนื้อหาที่รัฐต้องการ โนรา จึงจัดได้ว่าเป็นศิลปะและศิลปินที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

โอกาสการแสดง 


      โนราได้รับความนิยมอย่างยิ่งจากชาวภาคใต้ การแสดงจึงมีให้เห็นได้ทั่วไป ซึ่งจำแนกโอกาสที่แสดงได้ 2 ลักษณะ คือแสดงเพื่อความบันเทิง กับเพื่อประกอบพิธีกรรม

      การแสดงโนราเพื่อความบันเทิงมีได้แทบทุกกิจกรรมของชีวิต ตั้งแต่งานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ ตลอดจนถึงงานศพ การแสดงอาจจะแสดงเพียงคณะเดียว หรือมากกว่า 1 คณะก็ได้ ถ้าจัดมากกว่า 1 คณะ มักอยู่ในรูปแบบการประชันที่เรียกว่า “โนราแข่ง” ซี่งถือเป็นงานใหญ่และสนุกสนานมาก เพราะมีการแสดง สุดฝีมือเพื่อเอาชนะกัน การแสดงเพื่อความบันเทิงมีตลอดทั้งปี

      ส่วนการแสดงโนราเพื่อประกอบพิธีกรรมจะกำหนดช่วงเวลาไว้แน่นอน แต่อาจจะแตกต่างกันบ้าง ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นิยมจัดพิธีในช่วงเดือน 4 ถึงเดือน 9 (โดยยกเว้นเดือน 8) ในขณะที่จังหวัดทางฝั่งตะวันตก เช่นตรัง กระบี่ นิยมจัดในช่วงเดือนอ้าย ถึงเดือน 6

      นอกจากกำหนดช่วงเดือนแล้วยังกำหนดวันแน่นอน ถ้าพิธีกรรมธรรมดาๆ จะจัดเฉพาะวันพฤหัสบดี แต่ถ้าเป็นพิธีใหญ่จะจัดถึง 3 วัน ตั้งแต่วันพุธถึงวันศุกร์ และบางแห่งถ้าวันศุกร์เป็นวันพระก็ยึดเวลาไปอีก 1 วัน เสร็จพิธีในวันเสาร์ ปัจจุบันการแสดงโนราเพื่อประกอบพิธีกรรม ยังมีอยู่ทั่วไป และคงรูปแบบการแสดง แบบดั้งเดิมไว้เกือบครบถ้วน

 




ลำดับการแสดง


- ตั้งเครื่อง เป็นการประโคมดนตรีเพื่อขอที่ขอทาง เมื่อเข้าโรงแสดงเรียบร้อยแล้ว
- โหมโรง
- กาศครู หรือเชิญวิญาณครู เป็นการขับร้องบทไหว้ครู กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของโนรา
- สดุดีครูต้นและผู้มีพระคุณทั้งปวง
- ปล่อยตัวนางรำออกรำ อาจมี 2-5 คน ซึ่งแต่ละตัวก็จะมีขั้นตอนดังนี้

      เกี้ยวม่าน หรือขับม่าน คือการขับร้องบทกลอนอยู่หลังม่านกั้นไม่ให้ใครเห็นตัว
      ออกร่ายรำแสดงความชำนาญและความสามารถในเชิงรำเฉพาะตัว
      นั่งพัก ว่าบทร่ายแตระ แล้วทำบท คือการร้องบทและตีท่ารำตามบทนั้นๆ
      ว่ากลอน เป็นการแสดงความสามารถเชิงบทกลอนไม่เน้นการรำ
      รำอวดมืออีกครั้งแล้วเข้าโรง

- ออกพราน คือออกตัวตลก มีการแสดงท่าลีลาการเดินของพราน การนาดกรายของพราน
- การขับร้องกลอนตามลีลาของพราน พุดตลกให้ผู้ชมคอยชมนายโรง
- ออกตัวนายโรงหรือโนราใหญ่ ซึ่งจะอวดท่ารำและขับร้องบทกลอนเป็นพิเศษให้สมฐานะนายโรงใหญ่
- ออกพรานอีกครั้ง เพื่อบอกว่าต่อไปจะเล่นเป็นเรื่อง และจะเล่นเรื่องอะไร
- เล่นเป็นเรื่อง

 

 

หมายเลขบันทึก: 218474เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2008 03:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท