ปรัชญาการดำเนินชีวิตของนายห้างเทียม


ปรัชญาของนายห้างเทียม

     
 
             คนเราจะได้ชื่อว่าเป็นนักบริหารที่เก่งทั้งงาน เก่งทั้งคิด และเก่งทั้งคนนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยิ่งสำหรับคนดีมีคุณธรรมที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จทั้ง 3 เรื่องนี้อย่างสูงสุด กระทั่งถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นโรลโมเดลให้กับคนรุ่นหลังด้วยแล้ว คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า บุคคลผู้นั้นยอดเยี่ยมเพียงใด
 
            สำหรับในเมืองไทยแล้ว ถ้าจะให้คิดถึงชื่อบุคคลที่ประกอบไปด้วยคุณสมบัติดังกล่าว เชื่อแน่ว่าจะต้องมีชื่อของ ดร.เทียม โชควัฒนา อยู่ในห้วงความคิดของผู้คนเป็นรายชื่อแถวหน้าสุดอย่างแน่นอน
 
            ดร.เทียมหรือที่ผู้คนมักเรียกขานกันติดปากว่านายห้างเทียม เป็นบุคคลผู้ซึ่งมีความคิดความอ่านลึกซึ้ง ซึ่งจะว่าเป็นเรื่องเหนือกว่าความคาดหมายก็คงไม่ใช่ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ปรัชญาและแนวคิดของนายห้างเทียม ได้มีการบันทึกและถ่ายทอดออกมาสู่สังคมอย่างกว้างขวางจนสามารถกล่าวได้ว่า ได้กลายเป็นคู่มือหรือหลักคิดประจำใจของคนทำงานจำนวนมากมายในยุคสมัยปัจจุบัน
 
            ในหนังสือชื่อว่า  "ปรัชญาการทำงานและการดำเนินชีวิต" ของ ดร.เทียม โชควัฒนา ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเล็กๆขนาด ๕๐ กว่าหน้า ราคา ๓๐ บาท ซึ่งจัดพิมพ์ออกมาเมื่อประมาณ๒-๓
ปีก่อน ได้รวบรวมแนวคิดที่เป็นประโยชน์และมีค่าดั่งทองคำเอาไว้เป็นจำนวนมาก ในโอกาสนี้จึงขอนำเอาบางส่วนเสี้ยวของปรัชญาแนวคิดของท่านมาถ่ายทอดให้ได้ผ่านหูผ่านตากันสักเล็กน้อย  
            ปรัชญาการทำงานและการดำเนินชีวิต" ของ ดร.เทียม โชควัฒนา 

                       
 
"เที่ยงธรรมและเยือกเย็น"
ผู้บริหารที่ดีต้องปกครองคนด้วยความเที่ยงธรรม และสุขุมเยือกเย็นเป็นสำคัญ
 
"ความรู้เหมือนดาบ ยิ่งใช้ยิ่งคม"
ผู้ใดมีความรู้แล้วนำความรู้ของตนมาใช้ และถ่ายทอดให้ผู้อื่น ผู้นั้นจะยิ่งเกิดความชำนาญ และเป็นการเพิ่มคุณค่าแห่งความรู้นั้นด้วย เปรียบเสมือนดาบที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ และได้รับการเอาใจใส่ดูแล ให้คงไว้ซึ่งความคมตลอดเวลา
 
"มากคน มากวาสนา"
คนเราทุกคนล้วนมีวาสนาบารมี ถ้าทุกคนเอาวาสนาบารมีมารวมกัน บริษัทฯก็จะเจริญก้าวหน้า
 
"เร็ว ช้า หนัก เบา"
ในการทำงาน ควรหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า งานไหนทำก่อน งานไหนทำทีหลัง งานไหนต้องจริงจัง และงานไหนที่พอควร
 
"ทำดีเปรียบการเดินทวนกระแสน้ำ  ทำชั่วเปรียบการลอยตาม
น้ำ"
การทำความดีเปรียบเหมือนปลาว่ายทวนน้ำ ขึ้นไปที่สูงจะพบแต่น้ำที่ใสสะอาดฉันใด คนที่พยายามทำความดีแม้จะลำบากยากเย็น ก็ย่อมพบชีวิตที่ดี สะอาดสดใส อันเป็นมงคลแก่ตนเองฉันนั้น
 
"มนุษยสัมพันธ์ คือพื้นฐานของความสำเร็จ"
องค์กรจะเจริญรุ่งเรืองได้ บุคคลในองค์กรต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความสุภาพอ่อนโยน รู้จักข่มอารมณ์และให้อภัยซึ่งกันและกันเสมอ
 
"ความรู้ต้องมองสูง ความเป็นอยู่ต้องมองต่ำ"
ความรู้เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ คนที่อยากก้าวหน้าต้องใฝ่รู้ เรียนรู้ให้มากขึ้นอยู่เสมอ แต่ความเป็นอยู่นั้นต้องเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ
 
"ความคิดสร้างสรรค์ คือพื้นฐานสำคัญของผู้ประกอบการค้า"
ในการทำธุรกิจ ต้องพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ เพราะการผูกติดกับความคิดเก่าๆ ในขณะที่เวลาเปลี่ยนไปนั้น เป็นการปิดกั้นความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจ
 
"หากอยากมีอนาคตที่มั่นคง จงอย่าเห็นแก่ตัว"
คนดีย่อมไม่เห็นแก่ตัว ชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน คนเช่นนี้สมควรได้รับการสนับสนุนให้ได้ดีมีอนาคต
 
"ปลูกต้นไม้ใหญ่ อย่าเก็บผลไว้กินแต่เพียงผู้เดียว"
การทำงาน เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ควรแบ่งปันผลประโยชน์ให้ผู้อื่นและส่วนรวมด้วย
 
"ทำงานมากก็ผิดพลาดมาก ทำน้อยก็ผิดพลาดน้อย"
คนเราทำงานก็ต้องมีการผิดพลาดบ้าง คนที่ไม่มีความผิด ก็คือคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย
 
"เราพูดด้วยความโมโหเพียงครั้งเดียว แต่อยู่ในใจของคนอื่น
ตลอดชีวิต"
การพูดโดยใช้อารมณ์ ไม่ใช่สติไตร่ตรองเสียก่อน แม้เพียงครั้งเดียวก็อาจทำลายทั้งตนเอง และมิตรภาพได้ตลอดไป
 
"คนจะโง่ หรือ ฉลาด ดูได้จากคำพูด"
คำพูดเปรียบเหมือนประตูของจิตใจ คนโง่จะพูดเรื่องที่ขาดหลักคิดและเหตุผล ในขณะที่คนฉลาดจะมีเหตุผลและหลักคิดที่ดี
 
"ร่างกายต้องการอาหารกายฉันใด จิตใจต้องการอาหารใจฉันนั้น"
ขณะที่ร่างกายของคนเราต้องการอาหารเพื่อเป็นพลังในการมีชีวิต
จิตใจของคนเราก็ต้องการความรู้และหลักคิดที่ดี เพื่อเป็นพลังในการเป็นคนดี มีจิตใจดีเช่นกัน
 
"ปลูกต้นไม้ใหญ่ใช้เวลาร้อยปี 
สร้างคนใช้เวลาสิบปี"
การจะสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แข็งแกร่งมีคุณค่า ต้องใช้ความอดทน ใช้เวลา โดยเฉพาะการสร้างคนหนึ่งคนให้เก่ง ยิ่งต้องใช้ความอดทนและใช้เวลามาก ทั้งตัวผู้สร้างและผู้ถูกสร้าง เพราะนั่นหมายถึง การสร้างให้คนคนนั้นเพียบพร้อมทั้งความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์
 
"ทำคุณให้ผู้อื่นต้องลืม  ผู้อื่นทำคุณให้ต้องจำ"
หากเราเคยทำประโยชน์หรือช่วยเหลือใครไว้ อย่าจดจำหรือคาดหวังการตอบแทน เพราะอาจไม่ได้ดังที่หวัง หรือ เผลอไปทวงบุญคุณให้เขาเสียความรู้สึก แต่ถ้ามีใครช่วยเหลือเราต้องจดจำให้แม่น เพื่อหาโอกาสตอบแทนบุญคุณ

                     

หมายเลขบันทึก: 217840เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2008 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบนมัสการ ครับท่าน

 

• อ่านทุกประการโดยตลอด ยอดเยี่ยมสมนาม คือ "ไร้เทียมทาน" ครับผม

• ขอขอบคุณที่แวะไปเยือนบล็อก ครับผม

 

 

P               อนุโมทนาสาธุกับโยมaugustman

                       ธรรมรักษา 

ขอกราบขอบพระคุณท่านมากที่ตอกย้ำหลักคิดที่ไม่เคยล้าสมัยเหล่านี้ สังคมปัจจุบันต้องใช้หลักคิดเหล่านี้มาแก้ปัญหา สาธุ

ครูวรรณ

  • ธรรมสวัสดีโยมศิริวรรณ ศิริอาภาวงศ์
  • อนุโมทนาสาธุ..ธรรมรักษา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท