เมลามีนคืออะไร


เมลามีนคืออะไร

เมลามีนคืออะไร 
 
เมลามีน (Melamine) เป็นสารอินทรีย์เคมี โดยทั่วไปพบในรูปของผลึกสีขาว ละลายน้ำได้เล็กน้อย มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 66 มีชื่อทางเคมีคือ 1, 3, 5-triazine-2, 4, 6-triamine ในปัจจุบันการผลิตสารเมลามีนจะใช้ยูเรีย (Urea) เป็นวัตถุดิบ ซึ่งยูเรียจะแตกตัวออกได้เป็นสารเมลามีน แอมโมเนีย และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการใช้เมลามีนในเรื่องใดบ้าง

เมื่อเอาเมลามีนมาผสมกับฟอร์มาลดีไฮด์ จะได้เป็นเมลามีนซิน (Melamine resin) เป็นพลาสติกที่ขึ้นรูปด้วยความร้อน มีความทนทาน มีการนำมาใช้ในผลิตโฟมทำความสะอาดพื้นผิว แผ่นฟอร์ไมกา กาว จาน ชาม ไวท์บอร์ด เป็นต้น

 

หากกินอาหารที่ปนเปื้อนเมลามีนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร

 ตัวเมลามีนเดี่ยวๆ มีความเป็นพิษต่ำมาก ไม่เป็นพิษต่อสารก่อพันธุกรรม แต่เมื่อให้ในปริมาณสูงก็ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะในหนูทดลอง เนื่องจากเมลามีนทำให้เกิดก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ตัวก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา กระตุ้นให้เกิดก้อนมะเร็ง ตัวเมลามีนเองไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะโดยตรง แต่ก็ถือเป็นตัวการทางอ้อม แต่ถ้าเมลามีนเกิดไปเจอกับกรดไซยานูริก (Cyanuric acid) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ผลิตจากยูเรียเช่นเดียวกับเมลามีน และอาจมีการปนเปื้อนมากับเมลามีน หรือมีการผสมไปกับอาหารหรืออาหารสัตว์เพื่อเพิ่มโปรตีน ก็จะเกิดผลึกเมลามีนไซยานูเรต (Melamine cyanurate) ซึ่งเป็นผลึกที่ไม่ละลายน้ำ ส่งผลให้เกิดนิ่วในไต ก้อนผลึกเล็กๆ จะอุดตันท่อในไต ทำให้ไม่สามารถผลิตปัสสาวะได้ ส่งผลให้ไตวายและทำให้เสียชีวิตได้ ในบางโอกาสเมลามีนยังก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในคน แม้ยังไม่เคยมีการศึกษาโดยตรงในคน แต่การศึกษาในสัตว์ทดลองก็พอจะคาดการณ์ถึงอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน

ทำไมข่าวที่ออกมาพบว่าเมลามีนก่อให้เกิดอันตรายเฉพาะเด็กทารก

 แม้เมลามีนจะมีความเป็นพิษต่ำ แต่เนื่องจากทารกดื่มนมที่มีการจงใจเติมเมลามีนลงไป และเป็นการดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ได้รับเมลามีนในปริมาณที่สูงติดต่อกัน จึงทำให้เกิดนิ่วในไต และอาการไตวายตามที่เป็นข่าว สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบ หากนมนั้นมีการปนเปื้อนเมลามีนผู้บริโภคก็จะได้รับเมลามีนไม่มาก เพราะส่วนประกอบที่เป็นนมมักจะมีไม่มาก และไม่ได้มีการกินเป็นอาหารหลักอย่างเช่นทารก ที่สำคัญอีกประการคือระบบการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายของทารกยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าของผู้ใหญ่ จึงได้รับอันตรายได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ นมที่มีความปลอดภัยและมีประโยชน์สูงสุดสำหรับทารกก็คือนมแม่ หากคุณแม่ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพจนไม่สามารถให้นมลูกได้ ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการดีที่สุด ทั้งปลอดภัย ได้ประโยชน์ แถมประหยัด

ลักษณะอาการที่เกิดกับทารกที่ได้รับอันตรายจากเมลามีนเป็นอย่างไร

 จากการติดตามอาการของทารกที่เจ็บป่วยจากการบริโภคนมสูตรทารกที่ปนเปื้อนเมลามีน พบว่ามีอาการดังนี้ คือร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่มีการถ่ายปัสสาวะ หรืออาจมีอาการอาเจียน ม่านตามีการหดตัวภาวะไตวายเฉียบพลัน มีก้อนแข็งออกมาขณะที่มีการขับถ่ายปัสสาวะ และความดันโลหิตสูงมีอาการบวมน้ำ และมีอาการปวดเมื่อมีการกระทบถูกที่บริเวณไต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกเชื่อว่าอาจจะทำให้เกิดภาวะไตวายที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยอาจมีไข้ที่ไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากทางเดินปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะในขั้นต่อมา

จะรู้ได้อย่างไรว่าได้รับพิษจากเมลามีน

 อาการที่อาจบอกได้ว่าได้รับพิษจากเมลามีน คือ อาการระคายเคือง มีเลือดในปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย อาการไตอักเสบ ความดันโลหิตสูง

จาน ชาม ที่ทำจากเมลามีนมีความปลอดภัยหรือไม่

 การนำเมลามีนมาผลิตจาน ชาม นั้น ไม่ได้ใช้เมลามีนเดี่ยวๆ แต่เขาเอายูเรียมาผสมกับฟอร์มาลดีไฮด์ภายใต้ความร้อนและแรงดันที่สูง ได้เป็นเมลามีนเรซิน เพื่อนำไปขึ้นรูปเป็นจาน ชาม และผลิตภัณฑ์อื่น ด้วยความร้อนจาน ชาม เมลามีนจึงทนความร้อนได้สูงกว่าพลาสติกอื่นๆ แต่หากถูกความร้อนที่สูงมาก เช่น เอาเข้าเตาอบ หรือเอาเข้าเตาไมโครเวฟ จะทำให้จาน ชาม เมลามีน อ่อนตัวและปล่อยฟอร์มาลดีไฮด์ออกมา เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ถ้าจานชามเมลามีนไม่เปลี่ยนสีชัดเจน ก็ยังใช้ได้อย่างปลอดภัย

ถ้ากินอาหารที่มีเมลามีนปนเปื้อนเล็กน้อยจะเป็นอันตรายหรือไม่

 สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดค่าปนเปื้อนสูงสุดที่ร่างกายได้รับต่อวันโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือ Tolerable Daily Intake (TDI) โดยสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ 0.63 มก.ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ขณะที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ที่ 0.50 มก.ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ดังนั้น ถ้าเรามีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม เราต้องได้รับเมลามีน 25 มก.ต่อวันถึงจะเป็นอันตราย ถ้าหากนมที่เราดื่มมีการปนเปื้อน เมลามีน 1 กิโลกรัม นม 1 กล่อง มีปริมาณ 250 กรัม เราต้องกินนมถึง 100 กล่องต่อวันถึงจะเป็นอันตราย แต่ถ้าเป็นเด็ก เช่น เด็กที่มีน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ก็จะต้องกินนมถึง 40 กล่อง จึงจะได้รับอันตราย

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการปนเปื้อนเมลามีนจากธรรมชาติ

 การปนเปื้อนเมลามีนในนมที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเกิดจากการจงใจใส่ลงไปเพื่อเพิ่มไนโตรเจน จึงมีปริมาณเมลามีนสูงในนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำนมที่ปนเปื้อนนั้น แต่ในธรรมชาติก็อาจมีการปนเปื้อนได้ เนื่องจากมีการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีส่วนประกอบของสารไซโรมาซีน (cyromazine) ในการกำจัดหนอนแมลง สารนี้มีสูตรโครงสร้างเหมือนกับเมลามีน เมื่อสัตว์กินเข้าไป หรือพืชดูดซึมเข้าไป สารไซโรมาซีนจะแตกตัวได้เป็นเมลามีน จึงมีโอกาสตกค้างไปกับอาหารได้ แต่จะมีปริมาณตกค้างที่น้อยมากอยู่ในค่าเกณฑ์ความปลอดภัย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย. ได้ดำเนินการออกมาตรการดูแลอย่างไร

 หลังจากที่เกิดข่าวขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาตรการต่างๆ ดังนี้

 - อายัดนมและผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ ที่มีการนำเข้าจากประเทศจีนเพื่อตรวจวิเคราะห์หาเมลามีนก่อน หากพบว่ามีความปลอดภัยจึงจะอนุญาตให้นำเข้าได้

 - สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้ามาก่อนแล้ว ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการเก็บลงจากร้านค้าต่างๆ ก่อน และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ เมื่อพบว่าปลอดภัยแล้วจึงจะอนุญาตให้นำกลับมาขายได้

 - แจ้งขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง และเข้มงวดการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์นมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบทางชายแดน

 - ประชาสัมพันธ์ไม่ให้ผู้บริโภคซื้อนมผงชนิดแบ่งขาย ซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. หรือไม่ทราบแหล่งที่มา ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเมลามีนเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตะหนก และให้เกิดความมั่นใจในการทำหน้าที่ของ อย. และให้ผู้บริโภคแจ้งเบาะแสหรือข้อมูล หากพบว่ามีการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อน

 - ตั้งวอร์รูม (war room) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดการในการดูแลได้อย่างทันท่วงที สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

 - จะออกประกาศห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์นม และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ ที่มีการปนเปื้อนเมลามีน โดยกำหนดนมผงมีเมลามีนปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1 ส่วนต่ออาหารล้านส่วน (ppm) หรือ 1 มิลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และอาหารอื่นที่มีนมเป็นส่วนประกอบจะพบเมลามีนได้ไม่เกิน 2.5 ส่วนในอาหารล้านส่วน ซึ่งเป็นขนาดที่น้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และในการกำหนดค่าความปลอดภัยนี้ ก็ได้มีการพิจารณาถึงการที่ผู้บริโภคมีโอกาสที่จะได้รับสารเมลามีนจากแหล่งอื่นๆ ไว้ด้วยแล้ว

จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบให้ปลอดภัยได้อย่างไร

 อย. มีการควบคุมการผลิตและนำเข้าอาหารอย่างเข้มงวด อาหารที่ผลิตภายในประเทศต้องได้มาตรฐานตามเกณฑ์จีเอ็มพี และมีการขึ้นทะเบียน มีเครื่องหมาย อย. อาหารที่นำเข้าก็ต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด และต้องได้รับอนุญาตมีเครื่องหมาย อย. ดังนั้น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารขอให้ดูที่ฉลากเป็นลำดับแรก ว่ามีการแสดงแหล่งประเทศที่ผลิต มีเครื่องหมาย อย. ดูความเรียบร้อยและสมบูรณ์ของภาชนะที่บรรจุว่าสะอาด ไม่มีร่องรอยรั่ว ฉีกขาด ซึ่งจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ได้ และดูสภาพการเก็บรักษา ไม่มีการวางปะปนกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย และเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อนมผงที่มีลักษณะของการตักแบ่งขาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

หมายเลขบันทึก: 216795เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท