การเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างมีวิจารณญาณ


เรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างมีวิจารณญาณ

สายพิน   แก้วงามประเสริฐ

 

                กระแสความคิดที่จะรื้อฟื้น และให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์กำลังอยู่ในความสนใจของสังคมอยู่ไม่น้อย อีกทั้งเป็นนโยบายแรกๆของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ที่จะให้ความสำคัญกับการสอนวิชาประวัติศาสตร์  แม้ไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะทำเป็นรูปธรรมอย่างไร

                นอกจากนี้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การศึกษา วุฒิสภาได้จัดเสวนาเรื่องวิชาประวัติศาสตร์กับ                  การศึกษา  ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนประวัติศาสตร์ไว้หลากหลาย   ทั้งเห็นว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่มีความสำคัญทำให้รู้จักตนเองเพื่อจะได้อยู่กับปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีความสุข   และเห็นว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไม่สามารถเรียนเนื้อหาที่มีอยู่ทั้งหมด   เพราะไม่อาจยกเลิกวิชาอื่นแล้วขยายเวลาเรียนวิชาประวัติศาสตร์ได้   ดังนั้นควรเน้นแค่การฉายหนังตัวอย่าง   และควรสอนวิธีเรียนเพื่อให้เด็กได้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม

                ที่ประชุมเสวนายังเสนอว่า   วัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ต้องเรียนเพื่อให้เด็กเป็นคนดี  รักชาติบ้านเมืองและท้องถิ่น  จะได้เป็นพลเมืองดี

                จากแนวคิดของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา  ด้วยการสอนประวัติศาสตร์  เพียงแค่ฉายหนังตัวอย่าง  และให้เด็กค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองนั้น   อาจทำให้เด็กไม่เข้าใจ  ไม่เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้จริงๆ  หากเรียนแล้วเด็กไม่เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์   ที่อาจเป็นบทเรียน  แง่คิดที่จะทำให้เกิดความระมัดระวังป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ที่เป็นความผิดพลาดในอดีตเกิดได้อีกนั้น   เพื่อให้สามารถอยู่กับปัจจุบันได้อย่างมีความสุข   และเพื่ออนาคตที่มั่นคง   ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้   หากปราศจากการเรียนประวัติศาสตร์ด้วยการฝึกให้เด็กรู้จักการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

                การเรียนด้วยการฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ   คือการเรียนเพื่อให้เด็กรู้จักคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ  แยกแยะข้อเท็จจริง  ความคิดเห็นออกจากกันได้   สามารถตั้งสมมติฐานเพื่อหาหนทางแก้ไข  และสรุปประเด็นสำคัญโดยใช้เหตุผล  เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรอบคอบและรอบด้านมากขึ้น

                ดังนั้นหากนำวิธีการทางประวัติศาสตร์   ซึ่งเน้นการรวบรวมหลักฐานอย่างหลากหลาย  และรอบด้าน  พร้อมทั้งวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของหลักฐานทางประวัติศาสตร์  แล้วจึงอธิบายเรื่องราวเหตุการณ์โดยไม่พยายามนำทัศนคติ  อคติ  และความเชื่อส่วนตัวมาปะปนกับคำอธิบายนั้น ๆ   ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและอธิบายปรากฎการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นได้ว่า  เพราะเหตุใดเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้น  

นอกจากนี้หากนำวิธีการทางประวัติศาสตร์มาประกอบกับการสอนโดยเน้นการฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้กับเด็กแล้ว   การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าเพียงเรียนเพื่อให้รู้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างเท่านั้น  แต่หารู้ไม่ว่าเหตุการณ์นั้น ๆ  เป็นบทเรียนที่ควรค่าแก่การจดจำ  ทบทวน  นำไปสู่การแก้ไขปัจจุบัน   ให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ไม่ใช่แค่ในสังคมเดียวกันเท่านั้น  แต่ยังจำเป็นต้องเรียนเพื่อให้อยู่ร่วมกับสังคมโลกได้อย่างเป็นสุขอีกด้วย  

                ดังนั้นหากเรียนประวัติศาสตร์เพียงเพื่อให้เกิดความรักชาติ  รักท้องถิ่นมากเกินไป  จนกลายเป็นความคลั่งชาติ  แล้วทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโลก   หรือสังคมท้องถิ่นอื่นได้  การเรียนประวัติศาสตร์ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด

                อีกทั้งการเรียนประวัติศาสตร์อาจไม่เกิดประโยชน์เลย   หากเพียงเรียนเพื่อให้เข้าใจตนเอง  กลับไม่เคยเข้าใจคนอื่น  ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  การเรียนนั้นย่อมไม่เกิดประโยชน์สักเท่าไร   แต่หากได้นำทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณมาใช้ประกอบการเรียนประวัติศาสตร์  ย่อมทำให้รู้จักการใช้หลักฐาน  ใช้เหตุผลอย่างรอบคอบด้วยการฝึกคิดไตร่ตรองอยู่เสมอแล้ว    วิชาประวัติศาสตร์ก็น่าจะเป็นวิชาที่มีชีวิตจิตใจ สอนให้รู้จักการให้อภัย  รู้จักทบทวนตัวเองอยู่เสมอ   ย่อมเป็นวิชาที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

                รวมทั้งยังเป็นการฝึกให้ผู้เรียนมีใจคอกว้างขวาง  ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตนได้   ความแตกแยกในสังคมที่แบ่งเป็นฝักฝ่าย   หากใครคิดไม่เหมือนตนเองย่อมไม่ใช่คนดีเช่นตัวเรา   สมควรขับไล่ไสส่งให้ไปยืนอีกมุมหนึ่งในสังคม   สภาพเช่นนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น   หากการเรียนการสอนในโรงเรียน  สามารถใช้ทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลอมเข้ากับการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์   จัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดีแล้ว   ย่อมทำให้การรื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมีความหมาย   มากกว่าสักแต่ได้ชื่อว่าบรรจุวิชาประวัติศาสตร์ไว้ในโรงเรียนเท่านั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 216173เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2008 01:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แวะมาอ่านข้อคิดดีๆค่ะ ครูเล็ก

สวัสดีครับ นี่คุณสายพิณจริงเหรอครับ ได้ยินชื่อมานาน ดีใีที่ได้อ่านบล็อกครับ อิอิ

ประเทศเราก็อย่างนี้แหละครับ แล้วแต่ผู้มีบารมีจะชักจูง พวกไพร่ก็อย่าได้คิดมากนัก เลียๆเข้าไปเด๋วก็ดีเอง

ยิ่งเรียนปวส.มาก ท่องกันเข้าไป ซาบซึ้งกันเข้าไป ก็จะได้ให้เชื่อโพรพากันด้าได้ง่าย อิอิ

ขอบคุณค่ะครูต้อย และคุณสยาม ที่เข้ามาอ่าน

-สวัสดีค่ะ วันนี้ต้องการเข้ามาอ่านอีกครั้งเพื่อกระตุ้นความคิด

-เห็นด้วยกับหลักการนี้ของครูเล็กค่ะ"การเรียนการสอนในโรงเรียน สามารถใช้ทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลอมเข้ากับการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ จัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดีแล้ว ย่อมทำให้การรื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมีความหมาย "

-มีสิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ว่า ยังมีผู้สอนให้เด็กคิด และถ้าคิดไม่เหมือนตำรา ก็จะถูกมองข้าม อันนี้น่าจะเป็นการสกัดกั้นต่อมความคิดเห็น ต่อไปเด็กก้ไม่กล้าคิดนอกตำราอันนี้ ต้องหันมามองด้วย

งั้นๆแหละมีแต่คนแก่

รำคาญ.........................

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท