หลวงปู่ดูลย์ ฝากข้อคิดไว้แด่คนรุ่นหลัง


จิตเป็นเหมือนความว่าง แม้แสงอาทิตย์ส่องสว่างลงมาทั่วพื้นโลก ความว่างที่แท้จริงก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อดวงอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้ดับลง ธรรมชาติของความว่างนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง จิตของพุทธะและของสัตว์โลกทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น

หลวงปู่ดูลย์ฝากไว้

         จบพระไตรปิฎกหมดแล้ว  จำพระธรรมได้มากมาย  พูดเก่งอธิบายได้อย่างซาบซึ้ง  มีคนเคารพนับถือมาก  ทำการก่อสร้างวัตถุไว้ได้อย่างมากมาย  หรือสามารถอธิบายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างละเอียดแค่ไหนก็ตาม  "ถ้ายังประมาทอยู่  ก็นับว่ายังไม่ได้รสชาติของพระศาสนาแต่ประการใดเลย  เพราะสิ่งเหล่านี้ยังเป็นของภายนอกทั้งนั้น  เมื่อพูดถึงประโยชน์  ก็เป็นประโยชน์ภายนอกคือเป็นไปเพื่อสงเคราะห์สังคม  เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น  เพื่อสงเคราะห์อนุชนรุ่นหลัง  หรือเป็นสัญญลักษณ์ของศาสนวัตถุ  ส่วนประโยชน์ของตนที่แท้นั้น  คือ  ความพ้นทุกข์  "จะพ้นทุกข์ได้ต่อเมื่อรู้ จิตหนึ่ง."

จิตคือพุทธะ

 คำสอนที่ลึกซึ้งของหลวงบู่ดูลย์ อตุโล

พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้นไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งแล้วมิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย

จิตหนึ่ง นี้เท่านั้นเป็นพุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ เสีย และเพราะเหตุนั้น เขาจึงแสวงหาพุทธะจากภาวะภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเองทำให้เขาพลาดจากพุทธภาวะ และการทำเช่นนั้น เท่ากับ เป็นการใช้สิ่งที่เป็นพุทธะ ให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะได้พยายามจนสุดความสามารถของเขา ก็จะไม่สามารถลุถึงภาวะพุทธภาวะได้เลย

          เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเอง เพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวาย เพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา เพราะว่า  จิต นี้คือ พุทธะ นั่นเอง และ พุทธะ คือ สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง นั่นเอง สิ่งๆนี้ เมื่อปรากฏอยู่ที่สามัญสัตว์ จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่ และเมื่อปรากฏอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่

         

          ถ้าเราให้จิตของเราให้ปรุงแต่งความคิดผันต่างๆ นั้น เท่ากับเราทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกพันตัวเองอยู่กับรูปธรรมซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือก พุทธะซึ่งมีอยู่ตลอดกาลนั้น ไม่ใช่พุทธะของความยึดมั่นถือมั่น

         

         การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ด้วยเจตนาที่จะบรรลุเป็นพุทธะสักองค์หนึ่งนั้น  มันเป็นเพียงการแค่ตื่นและลืมตา ต่อจิตหนี่งนั้นเท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร นี่แหละคือพุทธะที่แท้จริง

        

         จิตเป็นเหมือนความว่าง แม้แสงอาทิตย์ส่องสว่างลงมาทั่วพื้นโลก ความว่างที่แท้จริงก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อดวงอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้ดับลง ธรรมชาติของความว่างนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง จิตของพุทธะและของสัตว์โลกทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น

          

          ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะดั้งเดิมของเรานั้น โดยความจริงอันสูงสุดแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตนแม้แต่สักปรมาณูเดียว สิ่งนั้นคือ ความว่าง เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกแห่ง สงบเงียบ และมีอะไรเจือปน มันเป็นสันติสุขที่รุ่งเรืองและเร้นลับ และก็หมดกันเพียงเท่านั้นเอง

          

          ธรรมชาติเดิมแท้ของเรา นั้นเป็นสิ่งๆหนึ่ง ซึ่งไม่มีการตั้งต้นที่การเกิด และไม่มีการสิ้นสุดลงที่การตาย แต่เป็นของสิ่งเดียวกันรวด และปราศจากการเคลื่อนไหวใดๆ ในส่วนลึกจริงๆ ของมันทั้งหมด

         

          สัจธรรมที่แท้จริงของเรานั้น ไม่ได้หายไปจากเรา แม้ในขณะที่เรากำลังหลงผิดอยู่ด้วยอวิชชา และไม่ได้รับกลับมา ในขณะที่เรามีการตรัสรู้ มันเป็นธรรมชาติแห่งภูตัตถนา ในธรรมชาตินี้ไม่มีทั้งอวิชชา ไม่มีทั้งสัมมาทิธิ มันเต็มอยู่ในความว่าง

         

          จิต วิญญาณ ก็เกิดมาจาก รูปนามของจักรวาล มันเป็นมายาหลอกลวงแล้วเปลี่ยนแปลงให้คนหลงจากรูปนามไม่มีชีวิต เปลี่ยนมาเป็นรูปนามที่มีชีวิต จากรูปนามที่มีชีวิต มาเป็นรูปนามที่มีจิตวิญญาณ แล้วจิตวิญญาณก็เปลี่ยนแปลงแยกออกจากกัน คงเหลือแต่ นามว่าที่ปราศจากรูป นี้ เป็นจุดสุดยอดของการหลอกลวงของรูปนาม

 

ลำดับความโดยย่อมาจาก

http://www.fungdham.com/download/book/article/dul/001.pdf

     จิต คือ พุทธะ” ธรรมเทศนาของหลวงปู่ดูลย์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2535

 

หมายเลขบันทึก: 216035เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับสาระธรรมดีๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท