ฉบับที่ ๗ การกำหนดราคา


กลไกราคา

ฉบับที่ ๗

***************

  กานต์วลีที่คิกถึง

        ความยินยอมพร้อมใจเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งในชีวิตรักของคนสองคน ไม่มีใครที่สามารถบังคับจิตใจของใครได้  ผมรู้สึกลำบากใจกับสิ่งที่กานต์อ้อนวอนขอให้ผมช่วยเหลือ โดยเฉพาะช่วยเหลือเพื่อนของกานต์คนนั้น ซึ่งกานต์บอกว่าธุรกิจของเขากำลังตกต่ำอย่างหนัก

            กานต์ยังจำดอกกุหลาบสีแดงสด ที่ผมสรรหามาให้กานต์อยู่เสมอในวันวาเลนไทน์ได้ไหมครับ ซึ่งในวันปกติธรรมดาหาไม่ได้ง่ายดายอย่างวันนี้  เมื่อถึงวันวาเลนไทน์คราวใด เรามักจะเห็นกุหลาบสารพัดสี มีอยู่มากมายหลากหลายพร้อมวางขายอยู่ทั่วไป ทุกหนแห่งและราคาก็ถีบตัวสูงขึ้นมากเป็นพิเศษจนน่าตื่นตกใจ กานต์ยังเคยบอกเลยว่า ทำไมกุหลาบในวันนี้จึงแพงนัก  นั่นแหละกานต์ ที่ทางเศรษฐศาสตร์เขาเรียกว่า ความมหัศจรรย์ของกลไกราคา  เมื่อมีคนต้องการซื้อ(demand) ก็มีคนต้องการขาย (supply)  เมื่อมีคนต้องการมาก ราคาก็จะพุ่งสูงขึ้นตามกลไกของราคา และเมื่อความต้องการน้อยลง  ราคาก็จะลดต่ำลง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย

 

            กานต์วลี  ถ้าผมไม่ยินยอมช่วยเหลือ คุณจะบีบบังคับใจของผมไม่ได้หรอก

            แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องมีข้อยกเว้นเสมอ ผมรักกานต์  ผมพร้อมจะช่วยเหลือ แม้ในหลักเศรษฐศาสตร์ก็มีการแทรกแซงช่วยเหลือ  เช่น เมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้น ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นการยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่ายในการทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนกันโดยมี “ราคา” เป็นกลไกสำคัญ แต่ความเป็นจริงอาจจะเป็นไปได้ว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายผู้บริโภคหรือฝ่ายผู้ผลิต อาจเป็นฝ่ายเดือดร้อน ถูกเอารัดเอาเปรียบ  และหากมีการเปลี่ยนแปลงราคาจนไม่สามารถควบคุมได้ อาจก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและเงินฝืด และปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้  ผู้ที่มีอำนาจในการควบคุมกลไกราคา เช่น รัฐ จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ผู้ที่เสียเปรียบ

            เมื่อใดก็ตาม สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการบริโภค มีราคาสูงจนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน รัฐบาลจะต้องเข้าไปแทรกแซงช่วยเหลือโดยการควบคุมราคา โดยการออกกฎหมายกำหนดราคาสูงสุดของสินค้าชนิดนั้น ๆ ซึ่งราคาสูงสุดที่รัฐกำหนดขึ้นนี้ จะต่ำกว่าราคาดุลยภาพหรือราคาที่มีการซื้อขายกันในขณะนั้น แต่จะต้องเป็นราคาที่ไม่ทำให้ผู้ผลิตเดือดร้อนเช่นกัน  ซึ่งก็จะมีผลตามมา

กานต์ลองดูที่รูปกราฟสิ

 

ณ ราคาซื้อขาย ที่ op 15  เกิดการซื้อขายผู้บริโภคจำยอมต้องซื้อ เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค

รัฐจึงต้องเข้าแทรกแซงกลไกของราคา โดยการกำหนดราคาสูงสุดในการซื้อขายสินค้าชนิดนี้ไว้

ซึ่งต่ำกว่าราคาเดิม คือ pm10 เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค แต่ ณ ระดับราคานี้

pm10 (เส้นประ) ความต้องการซื้อ จะเท่ากับ Qa9 และความต้องการขาย ณ ราคานี้ จะเท่ากับ Qa3  ทำให้มีความต้องการซื้อที่เหลือ คือ จำนวน FH  ไม่ได้รับการตอบสนองเพราะไม่มีสินค้า ซึ่งเราเรียกว่า “ อุปสงค์ส่วนเกิน  (EXCESS DEMAND)  เพราะ ณ ราคานี้ ผู้ผลิตไม่เต็มใจที่จะผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย หรืออาจจะลักลอบเก็บสินค้าไว้ขายหลังร้าน ในราคาสูง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่าสินค้าในตลาดมืด ถ้ารัฐต้องการให้การกำหนดราคาสูงสุดนี้ได้ผล รัฐจะต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยการปันส่วนสินค้า หรือการรับซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในราคาที่สูงกว่าราคาควบคุม เพื่อนำมาขายให้แก่ประชาชนหรือผู้บริโภคในราคาควบคุม

 

            กานต์วลี  นี่คือนโยบายแทรกแซงราคา เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ที่เรียกว่าการกำหนดราคาขั้นสูงสุด

 

            แต่ในบางครั้ง ผู้เดือดร้อนกลับเป็นผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งรัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยเข้ามาควบคุมราคาสินค้านั้นให้สูงกว่าที่ซื้อขายกันในตลาด เราเรียกว่า การกำหนดราคาขั้นต่ำหรือการพยุงราคาสินค้า

 

 

ราคาซื้อขายกัน ณ จุด E เป็น การซื้อขาย ที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายซึ่งเป็นเกษตรกร เดือดร้อน เพราะราคาต่ำ รัฐบาลจึงต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยการกำหนดราคาขั้นต่ำหรือการพยุงราคา ไว้ที่ OP3500 ซึ่งสูงกว่าราคาที่เป็นอยู่ และเมื่อราคาสูงขึ้น ผู้ผลิตก็ผลิตสินค้ามาจำหน่ายมากขึ้น จาก OQ2 เป็น OQa3  แต่ ณ ราคานี้ เต็มใจซื้อสินค้าเพียง OQa1  ซึ่งจะทำให้มีสินค้าเหลือ จำนวน FH ซึ่งเราเรียกว่า “อุปทานส่วนเกิน” ( EXCESS  SUPPLY) และถ้าหากรัฐบาลต้องการจะให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจะต้องเข้าไปรับซื้อส่วนเกินนี้ไว้ จึงจะทำให้จุด Fการซื้อขายเข้าสู่จุด ดุลยภาพ

            นี่คือ นโยบายแทรกแซงราคา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิต  โดยการกำหนดราคาขั้นต่ำหรือที่เรียกว่า การพยุงราคาสินค้าเกษตร

            นอกจากนี้ รัฐยังมีการช่วยเหลือ ด้วยการให้เงินอุดหนุน (Subsidies) แก่ผู้ผลิต เป็นต้น

กานต์วลี การช่วยเหลือมีหลายแบบ หลายชนิด คุณจะให้ผมช่วยเหลืออะไรหรือ คุณบอกมาสิ 

ฝากบอกเพื่อนของคุณด้วยว่า

“ สรรพสิ่งบนโลก ล้วนก่อเกิดพร้อมจุดมุ่งหมาย

โรคทุกโรคมีสมุนไพรรักษา    คนทุกคนต่างมีพันธกิจที่จะต้องกระทำให้ลุล่วง”  

และ      “ สิ่งแรกที่จำเป็นต้องมีก่อนแบกรับพันธกิจอันยิ่งใหญ่ คือความมั่นใจในตนเอง”

                                                                                                           

                                                                                         ผมยินดีช่วยคุณทุกอย่างและทุกครั้ง

                                                                                                                                    อภิษฐา

 

คำสำคัญ (Tags): #การกำหนดราคา
หมายเลขบันทึก: 215914เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 02:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบพระคุณอย่างสูงยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท