การเยียวยาจิตใจ


การเยียวยาจิตใจ

หลังเหตุการณ์ต่างๆผ่านไปในบ้านเมืองเรา คำว่า"เยียวยา"ก็มาเยี่ยมเยียนให้ได้ยินกันบ่อยๆ  มีบทความหนึ่งเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ มาอ่านด้วยกันดีกว่า.....เนาะ

การเยียวยาจิตใจ

การเยียวยาจิตใจคืนชีวิตใหม่ผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤตสุขภาพจิต

โดย ราณี ฉายินทุ นักสังคมสงเคราะห์ 8ว.

          ปัญหาวิกฤติสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันมีมากมายหลายรูปแบบ นับวันจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์เองเช่น การพยายามฆ่าตัวตาย การจับคนเป็นตัวประกัน การทำร้ายร่างกายถึงแก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ส่งผลให้บุคคลเหล่านั้นมีปัญหาสุขภาพจิต มีความเครียด บางคนมีบุคลิกภาพเข้มแข็งมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ดีก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้ แต่บางคนที่มีลักษณะบุคลิกภาพอ่อนแอ ขาดกำลังใจ มักมองว่าตนเองไม่ดี ไม่มีคุณค่า ก็จะพยายามหาทางออกโดยการหนีปัญหาโดยวิธีการพยายามฆ่าตัวตาย ดังปรากฏข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวันเสมอ เช่น การพยายามกระโดดตึกหรือที่สูง ดังกรณี "นิสิตกระโดดตึกตายเพราะผิดหวังที่แฟนบอกเลิก" "ภรรยาน้อยใจสามีพร้อมลูกชายวัย5ขวบ" หรือกรณีผู้หญิงพยายามกระโดดตึกที่หาดใหญ่แต่พลาดตกลงมา เนื่องจากผู้เข้าช่วยเหลือไม่รัดกุมพอ การเกิดเหตุการณ์ภาวะวิกฤติดังกล่าว ศูนย์วิกฤติสุขภาพจิตสถาบันกัลยาราชนครินทร์ มีบทบาทที่เข้าไปช่วยเหลือทั้งเชิงลุกและกรณีได้รับการร้องขอ โดยมีทีมวิกฤติสุขภาพจิตเคลื่อนที่ออกไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ เป็นที่ปรึกษาให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สำคัญคือการเจรจาต่อรองให้ผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติล้มเลิกความคิดที่จะทำร้ายตนเอง และภายหลังจากที่เขาเลิกล้มความคิดที่จะทำร้ายตนเอง การให้ความช่วยเหลือต้องพยายามที่จะคืนชีวิตใหม่ให้กับเขา และเน้นที่บุคคลดังกล่าวสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ถูกรังเกียจจากสังคม โดยผู้ที่ช่วยเหลือจะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง แสดงความเห็นอกเห็นใจด้วยความจริงใจ


การช่วยเหลือหรือการคืนชีวิตใหม่ให้กับผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติเริ่มจากการมองว่าผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติเป็นผู้ที่น่าเห็นใจต้องการความช่วยเหลือ ต้องการกำลังใจ การแปลความหมายของผู้ที่จะพยายามฆ่าตัวตายว่าเป็นการเรียกร้องขอความช่วยเหลือไม่ใช่เป็นการเรียกร้องความสนใจ ซึ่งจะต้องพูดคุยด้วยโดยไม่ทำให้เขารู้สึกเสียหน้า การพูดคุยที่แสดงถึงความห่วงใย กระตุ้นให้เขารับรู้ว่าเขายังมีคุณค่า มีความหมายและมีคนที่รักเขา กำลังรอเขาอยู่ และหากเห็นว่าเขาควรได้รับการบำบัดรักษาก็ควรส่งต่อไปรับการรักษาต่อไป เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ นอกจากนี้ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือควรประสานกับญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะให้ความช่วยเหลือ เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการกระทำเช่นนี้อีก และมีการติดตามการดูแลอย่างต่อเนื่อง


สำหรับในกรณีผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะความมึนเมา สุรา หรือเมายาบ้า ซึ่งอาจจะก่อเหตุร้ายต่างๆ เช่นพยายามทำร้ายผู้อื่น หรือกรณีจับตัวประกัน การให้ความช่วยเหลือเพื่อคืนชีวิตใหม่ให้กับเขานั้น ผู้ที่ให้การช่วยเหลือต้องคิดเสมอว่าบุคคลเหล่านั้นต้องการบำบัดรักษา การกระทำอันรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากฤทธิ์ของสารเสพติด ซึ่งภายหลังจากการเข้าระงับเหตุการณ์ได้แล้ว สิ่งที่สำคัญคือ การไม่เข้าไปรุมทำร้ายเขา ซึ่งควรที่จะนำบุคคลดังกล่าวเหล่านั้นเข้ารับการบำบัดรักษา เยียวยาจิตใจต่อไป หรือส่งต่อให้ผู้ที่ทำหน้าที่ในการปรึกษาดูแลเฝ้าระวังต่อไป


ส่วนกรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจากสถานการณ์ชายแดนภาคใต้หรือจากภัยธรรมชาติ ซึ่งมีการสูญเสียทั้งร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินอย่างมหาศาล การช่วยเหลือเพื่อคืนชีวิตใหม่แก่เขานั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความอยู่รอด การได้รับปัจจัยทั้ง 4 ต่างๆ ในเบื้องต้น การประคับประคองจิตใจ ให้กำลังใจให้เขาคิดว่าจะต้องอยู่กับสถานการณ์นั้นได้ โดยให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเขา การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เขามีพลังที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆต่อไป นอกจากนี้การใช้หลักคำสอนทางศาสนามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้บุคคลเหล่านั้นสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น


ดังนั้น การเยียวยาจิตใจควรจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดความภาคภูมิใจในการพยายามหาทางช่วยเหลือตนเอง ไม่ถูกมองว่าเป็นคนน่าสงสาร กล่าวโดยสรุป การเยียวยาจิตใจเพื่อคืนชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤตินั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความจริงใจ เห็นอกเห็นใจอย่างแท้จริง การได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เขายืนหยัดอยู่ต่อไปได้ โดยพยามยามพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เห็นความสามารถและเห็นคุณค่าตนเอง ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ ซึ่งจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีความสุขต่อไป

รับข้อมูลจาก "http://www.galyainstitute.com/mediawik/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%83%E0%B8%88"
หมายเลขบันทึก: 215513เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท