เล่าเรื่องเมืองหงสา ๓๐ เงินเดือนห้าร้อยบาทผมบ่กุ้มกิน


เชื้อร้ายชื่อ “ความฟุ่มเฟือย”เข้ามาแพร่ระบาด

ที่เมืองเล็กๆอย่างหงสานี่ผมมีญาติบุญธรรมอยู่ทั่วเมือง  หัวค่ำที่ผ่านมา มีคนมายืนตะโกนเรียกที่รั้วหน้าบ้าน ออกไปดูเห็นเป็นเจ้าหลานชายบุญธรรม ที่ร้อยวันพันปีไม่เคยโผล่มาเยี่ยมกัน เจ้าหนุ่มเป็นลูกชายของเอื้อยฮักที่สนิทชิดเชื้อกันดี สมัยที่ผมเข้ามาทำงานในหงสาสิบปีที่แล้ว ได้อาศัยฝากท้องไว้ที่บ้านนี้แทบทุกมื้อ เพราะสมัยนั้นก็มีบ้านเอื้อยนี่แหละที่เป็นร้านอาหารเพียงร้านเดียวในเมือง ผ่านไปสิบปีเจ้าหนุ่มเรียนจบชั้นสูง (ปวส.) ด้านการเงินมาจากเมืองหลวง(พระบาง)เรียบร้อยแล้ว

 

ได้อาศัยแรงงานเขาให้มาช่วยงานเก็บข้อมูล งานประมวลผลข้อมูลสองสามครั้ง ในฐานะพนักงานรายวัน แต่ก็เป็นงานชั่วคราว เมื่อหมดงานเขาก็ไปรับจ้างขี่ช้างลากไม้บ้าง ความจริงงานของโครงการเราเป็นที่คาดหวังกันว่า   จะสามารถสร้างงานให้กับหนุ่มสาวชาวหงสาเป็นหลายร้อยตำแหน่ง แต่นั่นหมายถึงว่าเมื่อโครงการเดินเต็มที่(แต่ตอนนี้ยัง) คนญาติบุญธรรมเยอะอย่างผมเลยได้แต่เก็บใบสมัครงานของลูกหลานบุญธรรมไว้เป็นปึกๆ

เท่านั้น

 

เจ้าหนุ่มบอกว่า พ่อกับแม่ให้มาขอคำแนะนำ เขาว่ามีคนมาชวนไปทำงานที่ห้องการทรัพย์สินที่ดินที่เมืองเงิน อาวเปลี่ยนว่าจะไปดีหรืออยู่รอทำงานโครงการฯที่นี่ดี ถ้าอยู่จะได้ทำงานเร็วๆนี้ไหม ตอนแรกผมก็แนะนำไปว่าไปเป็นลูกจ้างที่เมืองเงินก็ดีแล้ว อีกปีสองปีก็ได้บรรจุเป็นรัฐกร(ข้าราชการ) แต่พอรู้ว่าจะได้รับค่าจ้างเท่าไหร่ ก็เล่นเอาผมอึ้งไปเหมือนกัน เขาบอกว่าค่าแรงจะได้เดือนละแสนกีบกว่าๆ คิดเป็นเงินไทยเกินห้าร้อยไปไม่กี่สิบบาทแค่นั้นเอง ในขณะที่ทางโครงการฯจ้างวันละสองร้อยบาท

 

เงินเดือนพนักงานในลาวถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับบ้านเรา เท่าที่ถามๆดูก็เริ่มที่ประมาณหนึ่งพันกว่าบาท พนักงานขับรถของผมเล่าว่าแม่บ้านเขาเป็นนายครูได้เงินเดือนพันหกร้อยบาท บรรดารัฐกรจึงต้องมีอาชีพเสริม ส่วนใหญ่จะทำไร่ทำสวนกัน วันก่อนผมไปหาท่านหัวหน้าแผนกท่านหนึ่งที่แขวง(จังหวัด)ไชยะบุรี ท่านก็บอกว่าเพิ่งกลับมาจากไร่ข้าวโพด นี่ถ้าเป็นบ้านเรา ท่าน.....จังหวัดท่านจะไปทำสวนไหมนี่

 

ผมก็เห็นทุกท่านอยู่กันได้ มีบ้านหลังงามมีรถขับกัน นั่นเป็นเพราะบรรดาท่าน ต่างรู้จักค่าของเงินรู้จักการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหาร เห็นทุกบ้านมีสวนผักสวนครัว มีไก่มีเป็ดเลี้ยงไว้เป็นอาหาร พักกลางวันสองชั่วโมงท่านก็กลับบ้านไปเก็บผัก ไปกู้ลอบ หาปลามาทำกับข้าวกินกันทั้งครอบครัว นายครูแม่ลูกอ่อนก็ผูกลูกขึ้นหลังไปสอนหนังสือ เสาร์อาทิตย์แม่บ้านก็กลั่นเหล้าขาวเอาไว้ให้พ่อบ้านต้อนรับแขก

 

แต่เดี๋ยวนี้กระแสเทคโนโลยี (ทางนี้เรียกว่าเต็กโนโลซี ตามแบบฝรั่งเศส) ได้นำเชื้อร้ายชื่อ ความฟุ่มเฟือยเข้ามาแพร่ระบาด ที่เห็นได้ชัดคือ มือถือ บัตรเติมเงิน มอเตอร์ไซด์ กางเกงยีน น้ำอัดลม เครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง บรรจุกล่องชนิดต่างๆ ทำให้น่าเป็นห่วงว่า วิถีความพอเพียงของสังคมชนบท คงจะไม่อาจเพียงพอได้อีกต่อไปในฐานเงินเดือนดังกล่าว

 

ก็คงเหมือนกับบ้านใกล้เรือนเคียงกับเมืองหงสา คือบ้านเรานี่เอง ที่พบว่าพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรในชนบท ต้องดิ้นรนอย่างมากมาย กว่าจะหาเงินมาส่งให้ลูกที่เรียนหนังสือในเมืองได้สักคนหนึ่ง เกษตรกรผู้นำของผมหลายท่านที่ต้องขายที่ดิน ขายวัว ขายควาย บางท่านก็ต้องใช้บริการธนาคาร นี่ก็มีข่าวแจ้งมาจากดงหลวงอีกแล้วว่าเกษตรกรต้นแบบรายหนึ่งขอยกเลิกเข้าร่วมโครงการ เพราะอาจจะไปทำงานหาเงินมาส่งลูกเรียน

 

ไม่รู้จะจบบันทึกนี้อย่างไรดี ผมว่าในรายของหงสานี่ ยังพอเยียวยาทัน เพราะว่าเขาเป็นเมืองปิด กฏเกณฑ์ต่างๆของพรรคของรัฐยังควบคุมได้ แต่ที่สำคัญต้องมีการรณรงค์เรื่องจิตสำนึกให้พี่น้องยินยอมพร้อมใจจะดีกว่า แต่สำหรับบ้านเราแล้วคงต้องหาจุดที่ลงตัว ฝันว่าสวัสดิการของพี่น้องเกษตรกรในชนบทจะดีกว่านี้    

 

 

หมายเลขบันทึก: 215465เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ดูข่าวแต่ละวันที่เมืองไทยแล้วอยู่ไปอยู่เมืองหงษากับท่านจริง ๆ
  • เข้าหน้าหนาวแล้ว..ระวังสุขภาพด้วยนะครับพี่
  • ไม่อยากให้ที่หงสาเหมือนบ้านเราเลยนะครับ
  • หากรู้เท่าทันและป้องกันกันตั้งแต่บัดนี้ก็ยังไม่สายเนาะ
  • ขอบคุณมากครับ
  • สวัสดีเจ๊า ขอให้รีบป้องกันเมืองหงสา
  •  ก่อนที่ประชาธิปไตยจะเบ่งบานมากกว่านี้เถอะค่ะ
  •  สบายดีเน้อเจ๊า

ลำเค็ญ แรงกาย ขนขวาย หากิน

พลิกพื้น แผ่นดิน มีกิน ทั้งชาติ

ลำเค็ญ แรงใจ เฉไฉ วิปลาศ

บ้านเมือง อนาถ สิ้นชาติ เผ่าพันธุ์

         กึ๊ดเติงหาอ้ายเน่อฮักษาสุขภาพตวย

                                   รพี

 

  • หวัดดีจ่ะอาวฮักอาวบุญธรรม
  • เป็นคนมีญาติบุญธรรมเยอะจริงๆด้วย
  • วันนี้ป้าแดงก็คิดอยากทำสวนครัว แต่ว่าดินแข็งโป๊กเลย แถมด้วยหญ้าเยอะมาก ลุงอู้ดเลยถอยบอกว่า เดี๋ยวยากข้อยอีก อิอิอิ แต่อยากทำมากๆ แต่ทำแล้วก็ไม่ได้ใช้ ซื้อข้างกล่องกับส้มตำปากซอยเหมือนเดิม

 

ปล. ธันวา ไม่ไปเชียงรายค่ะ จะไปเชียงใหม่ ไปจิตอาสาที่เมืองปาย

อยากชวนไปด้วย แต่วันเวลาอาจจะตรงกับวันที่ไปเฮฮาศาสตร์ที่เชียงราย

จำได้ว่า ข้าราชการที่เมืองเวียงจันทร์ ต้องไปทำนาทำสวนเหมือนบ้านเราสมัยก่อน ไม่งั้นไม่พอกิน หลายสิบปีได้ไปอบรมพี่น้องลาวที่เมืองเวียงจันทร์ กลางคืนลองเข้าไปที่เต้นรำแบบ step ก็จะมีสตรีมาให้เราเช่าเวลามาเต้นรำด้วย พอสามทุ่มเธอเหล่านั้นก็รีบเดินทางกลับบ้าน พร้อมกับรับเงินพิเศษที่สถานที่นั้นจ่ายให้ และเราจ่ายทิบให้ เราซักถามในตอนเช้าพบว่า เธอเหล่านั้นคือครู มาหารายได้พิเศษ และรายได้พิเศษสูงกว่ารายได้การเป็นครูหลายเท่านัก ผู้ไปเที่ยวกินดื่มในสถานที่แบบนี้ไม่มีสิทธิ์ทำอะไรมากเกินไปกว่าเต้นรำนะครับ

ความจริงทั้งประเทศน่าที่จะได้รับมรดกโลกเชิงวัฒนธรรมที่ดีดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท