โรคระบาดในสัตว์ที่สำคัญในหน้าฝนปี2008


ทริปปาโนโซม โค-กระบือแท้งลูก ตัวเหลือบ แมลงดูดเลือด

บทความวิชาการโรคสัตว์ : โรคทริปปาโนโซม.........ภัยเงียบที่มากับแมลงและฝน

                                น.สพ.ดร.สาทิส   ผลภาค

                                                                                                                                กลุ่มเชี่ยวชาญโรคสัตว์ใหญ่

 

                ในช่วง 3 เดือนระหว่าง ก.ค.  ก.ย.2551 ทางศวพ.ฯ ขอนแก่น ได้รับตัวอย่างเลือดป้ายสไลด์ (Blood smear) เลือดจากอวัยวะสด (Organ smear) เลือดใน EDTA และอวัยวะสัตว์จากโค-กระบือ-สุกรที่แสดงอาการป่วยหรือตาย 16 ราย (ดังตารางที่ 1) ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการปาราสิตวิทยาตรวจพบเชื้อ Trypanosoma evansi  ทั้งหมด ซึ่งมากผิดปกติกว่าปีก่อนๆในช่วงเวลาเดียวกัน ทางพื้นที่ที่พบและยังไม่พบโรคควรทำความรู้จักกับโรคนี้เพื่อเป็นแนวทางในการเฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขการระบาดของโรคนี้ต่อไป 

              โรคทริปปาโนโซมเป็นโปรโตซัวในเลือดชนิดที่อยู่ภายนอกเม็ดเลือดแดง มีการกระจายของเชื้อโดยแมลงดูดเลือดชนิดต่างๆ โดยเฉพาะตัวเหลือบ(Tabanus spp.) ซึ่งมีปริมาณชุกชุมในช่วงฤดูฝน เชื้อนี้สามารถอยู่ในร่างกายสัตว์ได้หลายชนิดเช่น โค กระบือ สุกร ม้า  โดยไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น แต่เมื่อสัตว์เกิดความเครียดจากภาวะสิ่งแวดล้อมและจากตัวสัตว์เองมาเสริม  เช่น การเปลี่ยนแปลงของ ดิน ฟ้า อากาศ ดังกรณีฝนที่ตกหนักและต่อเนื่อง ภาวะน้ำท่วม ภาวะขาดอาหาร สัตว์ที่ตั้งท้อง (ระยะกลาง-ระยะท้าย)การเคลื่อนย้ายสัตว์และการใช้แรงงานสัตว์ในฤดูทำนา จะทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนในตัวสัตว์ได้อย่างรวดเร็ว    และเกิดการกระจายของเชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่นๆในในฝูง โดยการกัดของแมลงดูดเลือดหลายชนิดโดยเฉพาะ ตัวเหลือบ  (Tabanus spp.) เนื่องจากตัวเหลือบมีนิสัยการกินเลือดแบบ Interrupted feeding คือเหลือบตัวหนึ่งจะไม่กินเลือดสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งจนอิ่ม แต่จะกินเลือดจากสัตว์อื่นๆในบริเวณใกล้เคียงในรัศมี 1 2  กิโลเมตรอีกหลายตัวเหลือบจึงจะอิ่ม ทำให้เกิดการแพร่เชื้อจากเลือดสัตว์ที่มีเชื้อที่ติดอยู่บริเวณงวงปาก(proboscis)ของแมลงเหล่านี้ไปยังสัตว์ตัวอื่นๆ ที่ยังไม่มีเชื้อได้อีกหลายตัว โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณน้ำท่วมขังที่มีสัตว์อพยพมารวมกันจำนวนมากๆในบริเวณที่แห้ง   ถ้าไม่มีการควบคุมโรคที่ถูกต้องโรคจะแพร่กระจายภายไปยังฝูงสัตว์บริเวณใกล้เคียงในระยะเวลาเพียง 2 4 อาทิตย์

                อาการสัตว์ป่วยส่วนใหญ่สัตว์จะแสดงอาการขาแข็ง ตัวแข็ง  กินได้แต่ผอมลงเรื่อยๆ  เลือดสัตว์ป่วยจะใสเป็นน้ำ (watery blood) และสัตว์จะเข้าสู่ภาวะโลหิตจาง  ไข้ขึ้นๆลงๆ   บางตัวอาจมีบวมตามข้อขา   ตาอักเสบแดงน้ำตาไหล  ในสัตว์ที่ตั้งท้องมักจะแท้งลูก   แม่โคนมจะให้นมลดลง  พ่อพันธุ์จะไม่แสดงอาการกำหนัด น้ำเชื้อมีคุณภาพเลวลง    บางครั้งถ้าเกิดโรครุนแรงเชื้ออาจจะขึ้นสมองทำให้สัตว์ป่วยแสดงอาการทางประสาท เช่น ชัก เกร็ง คอเหยียดแหงน  ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สัตว์ป่วยอาจจะตายได้ (ดังตารางที่ 1) นอกจากนี้เชื้อดังกล่าวยังมีคุณสมบัติไปกดภูมิคุ้มกันในร่างกาย (Immunosuppressive) ทำให้การทำวัคซีนป้องกันโรคไม่ได้ผลและเพิ่มความไวต่อสัตว์ที่มีเชื้อในร่างกายยังต่อการติดโรคระบาดชนิดต่างๆ เช่นโรคคอบวม (เฮโมราจิกเซบติกซีเมีย)  ซึ่งมักจะพบการระบาดในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย

                จากภาวะโลกร้อนที่เริ่มส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สภาพแวดล้อมและฤดูกาลในประเทศไทยชัดเจนขึ้นในปีนี้และปีต่อๆไป    จะทำให้โรคสัตว์หลายๆโรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรคเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นไม่เพียงเฉพาะโรคทริปปาโนโซมเท่านั้น โรคสัตว์ชนิดต่างๆเช่น  โรคไวรัสในระบบทางเดินหายใจ โรคที่เกิดจากการกัดของเห็บ เช่น บาบีเซีย ไทเลอเรียและอนาพลาสม่า เป็นต้น ก็จะพบจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามมา   ในพื้นที่ที่มีการพบอาการสัตว์ป่วยดังกล่าวมาข้างต้น จึงควรส่งตัวอย่างยืนยันการติดเชื้อดังกล่าวเนื่องจากอาการของโรคนี้ใกล้เคียงกับโรคอื่นๆอีกหลายโรค    ชนิดตัวอย่างที่เหมาะสมในการส่งตรวจที่ศวพ.ขอนแก่น ได้แก่ เลือดป้ายสไลด์  เลือดใน EDTA  เลือดป้ายจากอวัยวะสดจากสัตว์ที่ป่วยตายโดยเฉพาะจากเลือดป้ายจากกล้ามเนื้อหัวใจ   เพื่อจะได้ให้ยารักษาและควบคุมโรคได้ อย่างถูกต้อง   เนื่องจากพยาธิในเลือดชนิดนี้ไม่สามารถจะรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ทั่วๆไป   ยาที่ให้ผลดีในการรักษาคือยา Berenil ( Diminazene  aceturate)  ขนาดยาที่ควรใช้ ในโค สุกร คือ ขนาด 3.5 5  มก/กก     ส่วนในกระบือควรให้ยาในขนาด 5 7  มก/กก  ฉีดเข้ากล้ามเนื้อลึกๆ เพียงครั้งเดียว  บริเวณแผงคอหน้าไหล่หรือตะโพกสัตว์  ส่วนใหญ่แล้วสัตว์ที่ป่วยไม่มากจะหายป่วยอย่างรวดเร็วหลังการรักษาเพียงครั้งเดียว

                จากธรรมชาติของโรคที่มีลักษณะเหมือนพายุเมื่อโรคผ่านไปบริเวณใดแล้วก็จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิตและสุขภาพสัตว์  ทันที ในระยะเวลาสั้นๆ    ต่อมาโรคจะสงบอย่างรวดเร็ว หรือบางครั้งโรคอาจจะหมดไปได้เอง แต่ก็ทิ้งความเสียหายไว้เบื้องหลัง โดยอาจพบอัตราการแท้งลูก(Abortion storm)ในสัตว์ที่ตั้งท้องในหมู่บ้านหรือบริเวณที่พบโรคที่อาจสูงถึง 50 % นอกจากนี้ยังทำให้มีสัตว์ป่วยอีกจำนวนหนึ่งตายอีกด้วย   ดังนั้นในพื้นที่ที่มีประวัติการพบโรคนี้ จึงควรมีการเฝ้าระวัง โดยให้สังเกตอาการป่วยของสัตว์และให้ความรู้แก่เจ้าของสัตว์  รวมทั้งเมื่อพบสัตว์ป่วยหรือตายควรส่งชนิดตัวอย่างที่ถูกต้องยืนยันหาสาเหตุ เพื่อป้องกันการกระจายของโรคซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่สัตว์อื่นๆในบริเวณใกล้เคียงต่อไป

            บันทึก   09/10/2008 22.30 น.

 

หมายเลขบันทึก: 215353เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาอ่านค่ะ

ให้ความรู้ดีจริงๆ ขอบคุณมากค่ะ

เดือน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท