การพักผ่อน


การนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด

 ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีการพักผ่อนเพื่อลดการทำงานของร่างกายไม่ให้เกิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะได้ทำให้ร่างกายมีความสดชื่นไม่อ่อนเพลียหรือเบื่อหน่ายในการทำงาน การพักผ่อนมีได้หลายลักษณะ เช่นการออกกำลังกาย การท่องเที่ยว การพบปะสนทนากับบุคคลต่าง ๆ การชมภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ การนอน ฯลฯ ในการพักผ่อนเหล่านี้ถือว่าการนอนเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เพราะทำให้ทุกส่วนของร่างกายลดการทำงานอย่างแท้จริงและหลายท่านได้เคยสงสัยกันมานานแล้วว่าในขณะนอนหลับนั้นสมองของเรามีการพักผ่อนไปด้วยหรือไม่หรือกำลังทำอะไรอยู่
        เมื่อไม่นานมานี้นายแมธธิว วอล์กเกอร์ นักวิจัยจากภาควิชาจิตเวชคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาพบว่า เมื่อคนเราเกิดภาวะวิกฤตขึ้นมาสมองจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งคลื่นสัญญาณกระตุ้นเซลล์สมองต่าง ๆ ให้เชื่อมต่อกับประสาทส่วนอื่น ๆ คลื่นสัญญาณนี้เปรียบเสมือนกลไกที่ทรงพลังมหาศาลที่จะบอกกับสมองว่าขณะนี้ต้องทำงานสำคัญและก็จะเก็บบันทึกไว้ในหน่วยความจำของสมอง เพื่อจะนำมาตอบสนองเมื่อเกิดวิกฤตการณ์แบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
        ตามปกติแล้วสมองมีคลื่นกระแสไฟฟ้าที่เรียกว่า สลีป สปินเดิลส์ (Sleep spindles) หรือมีลักษณะหมุนในช่วงที่กำลังนอนหลับ และการหมุนนี้จะเกิดตลอดช่วงของการนอนหลับ ทั้งนี้นักวิจัยสามารถวัดคลื่นกระแสไฟฟ้านี้ได้ และจากการติดตามจำนวนการหมุนของคลื่นกระแสไฟฟ้าจากสมองของผู้ที่นอนหลับนาน 8 ชั่วโมงจะมีลักษณะการหมุนที่มีความถี่รุนแรงมากในช่วงสองชั่วโมงสุดท้ายของการนอนหลับในแต่ละคืน จึงถือได้ว่าสองชั่วโมงสุดท้ายของการนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ ผู้ที่นอนได้เพียง 6 ชั่วโมงแล้วออกไปปฏิบัติงาน อาจทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพลดลงเนื่องจากการทำงานของสมองยังมีการปรับเปลี่ยนระบบที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะเห็นได้ง่ายจากพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น นักเรียนที่นอนไม่เต็มที่จะอ่านหนังสือหรือเรียนหนังสือแบบไม่ค่อยมีสมาธิ และสมองไม่ค่อยยอมรับรู้ นักดนตรีที่นอนไม่เต็มที่จะเล่นดนตรีได้ไม่ดีเท่าที่ควร นักกีฬาที่นอนไม่เต็มที่จะขาดความกระฉับกระเฉง ฯลฯ
        อย่างไรก็ตาม ถ้าหากได้มีการนอนหลับในช่วงเวลาสั้น ๆ ในเวลากลางวันจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะเป็นการช่วยเติมพลังของสมองขึ้นมาใหม่ ทำให้รู้สึกสดชื่นและกระฉับกระเฉงขึ้นมาบ้าง แต่การนอนหลับวิธีนี้ก็ถือว่ายังเป็นการนอนหลับไม่เต็มที่ ไม่สามารถนำมาชดเชยกับการเติมพลังสมองในขณะที่นอนหลับอย่างเต็มที่ได้เลย เพราะสมองยังไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ สมองยังคงทำงานอย่างเต็มที่หรือตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
        ท่านผู้ฟังที่เคารพ ร่างกายของเราจำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนเพื่อปรับสภาพให้พร้อมที่จะทำงานต่อไป การทำให้ร่างกายทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยมิได้มีเวลาพักผ่อนเท่าที่ควร จะทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายชำรุดเสียหายได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากส่วนประกอบของร่างกายมิได้มีอะไหล่มาเปลี่ยนทดแทนสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมได้เหมือนเครื่องจักรต่าง ๆ ดังนั้นการรู้จักถนอมร่างกายให้เหมาะสมกับการทำงานจะช่วยรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงและมีชีวิตยืนยาวได้ยาวนานด้วยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 214395เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2008 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เข้ามาทักทายกันหน่อยนะ อุ้มเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท