สถานการณ์ สุขภาพคนไทย ต้นทุนทางสุขภาพกับความจริงที่ต้องคิดใหม่


“สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง” และคนไทยสามารถร่วมสร้างสังคมที่มี “สุขภาวะที่สมบูรณ์” ได้จากการมีจินตนาการใหม่เกี่ยวกับสุขภาพ

สถานการณ์ สุขภาพคนไทย
ต้นทุนทางสุขภาพกับความจริงที่ต้องคิดใหม่
                                                       

 

 

 จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

 

มีคนพูดถึงมลพิษที่อยู่ในเกณฑ์ที่อันตรายในจุดที่จราจรคับคั่งในกรุงเทพมหานคร ปัญหาสารพิษตกค้างจากโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ ที่ปนเปื้อนในน้ำและอาหารของมนุษย์ ข่าวการใช้สารพิษกำจัดแมลงที่เข้มข้นในสวนส้มแถบอำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่  ชาวบ้านแม่เมาะ จังหวัดลำปางที่ต้องทนกับมลพิษจากเหมืองถ่านหิน โรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น

เหตุการณ์เช่นนี้ปกติธรรมดาหรือ? ชีวิตและสุขภาพของคนไทยต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงต่อไปเรื่อย ๆ เช่นนี้หรือ?

ทำไมคนไทยต้องบาดเจ็บล้มตายโดยไม่จำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในอดีตชีวิตและสุขภาพของคนไทยไม่ได้ถูกภัยคุกคามเช่นทุกวันนี้ ถ้าขาดสารอาหารก็ป่วยหรือตายคนเดียว ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนแล้วป่วยก็อาจจะตายหรือพิการคนเดียว การเจ็บป่วยล้มตายเป็นหมู่ทีละมาก ๆ จากโรคติดต่ออาจมีบ้าง แต่ก็มักจะเอาชนะได้ด้วยหยูกยาและวิทยาการทางการแพทย์

แต่วันนี้สังคมเปลี่ยนไป พัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น แต่คนไทยกลับต้องมาบาดเจ็บล้มตายเสียสุขภาพโดยไม่จำเป็นด้วยเหตุใหม่ ๆ ภัยใหม่ ๆ มากขึ้นแทบไม่น่าเชื่อ

ทุกวันนี้คนไทยตายจากอุบัติเหตุปีละเป็นหมื่นคน บาดเจ็บพิกลพิการอีกหลายหมื่น คนไทยติดเชื้อเอดส์ร่วมล้านคน คนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคจากการประกอบอาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ คนไทยเป็นเบาหวานกว่า 1 ล้านคน เป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเรื้อรังต่าง ๆ ติดสารเสพย์ติด เป็นโรคทางจิตทางประสาทรวมกันหลายล้านคนสถิติสาธารณสุข    พ.ศ. 2542 - 2546  พบว่าสาเหตุการตายหนึ่งในห้าอันดับแรกของประเทศไทยคือโรคหัวใจและหลอดเลือด และจากสถิติสาธารณสุข พ.ศ.2546 มีอัตราตายเท่ากับ 63.7 ต่อประชากรแสนคน ในเพศชายมีอัตราตาย 71.8 ต่อประชากรแสนคน และเพศหญิงมีอัตราตาย 55.7 ต่อประชากรแสนคน โดยสาเหตุการตายจากโรคไม่ติดต่ออันดับ 2 เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง และอันดับ 3 เกิดจากโรคหัวใจ

ซึ่งการบาดเจ็บล้มตายเสียสุขภาพด้วยสาเหตุใหม่ๆเหล่านี้ ต่อให้มีแพทย์มีพยาบาลมีโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกสักเพียงใด ก็เอาชนะไม่ได้ ลดปัญหาไม่ได้ เรียกสุขภาพดีกลับคืนมาไม่ได้

เพราะระบบสุขภาพที่เรามีและใช้กันมานมนานนั้น เป็นระบบตั้งรับเพื่อแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ระบบรุกเพื่อสร้างสุขภาพ เพื่อป้องกันโรค ป้องกันปัญหาที่คุกคามสุขภาพ

ระบบที่ดำรงอยู่นี้ มาจากทิฐิหรือวิธีคิดที่เน้นการซ่อมมากกว่าการสร้าง รอให้เกิดเรื่อง หรือมีปัญหาแล้ว หรือเจ็บป่วยแล้วค่อยแก้ไข ซึ่งใช้เงินมากใช้คนมากแต่ได้ผลน้อย

ตอนเกิดเหตุร้านพลุที่มหาชัยระเบิด ใครดูภาพข่าวจะเห็นว่า แพทย์และพยาบาลต้องวิ่งกันวุ่นไปหมด เพื่อช่วยชีวิตผู้คนที่ประสบเหตุร้าย เป็นการต่อสู้กับเงื้อมมือมัจจุราช ต่อชีวิตและบรรเทาการบาดเจ็บ ลดหนักเป็นเบา แต่ไม่มีทางที่จะรักษาความมีสุขภาพดีให้มหาชนได้เลย

ถ้าต้องการให้ระบบสุขภาพสามารถสร้างเสริม ธำรงรักษาความมีสุขภาพดีของมหาชนได้จริง ต้องมองระบบสุขภาพกันใหม่ จัดระบบกันใหม่ให้เป็นระบบที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพดี นำหน้าการซ่อมสุขภาพเสีย

ต้องเน้นสร้างนำซ่อม

คนที่โดนแรงระเบิดของพลุจนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ต่อให้มีหมอเก่ง เครื่องมือดีอย่างไรก็ช่วยอะไรไม่ได้ คนที่บาดเจ็บจากพลุระเบิด หมออาจช่วยให้รอดชีวิตได้ ช่วยไม่ให้พิการหรือพิการน้อยที่สุดได้ แต่ทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้แล้ว เพราะทุกอย่างสายเกิน

ดังนั้นถ้าต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพดี จึงไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของหมอ ของพยาบาล ของโรงพยาบาล ของระบบบริการสุขภาพเพียงลำพัง ระบบนี้ดีและจำเป็นสำหรับการช่วยชีวิต การลดความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ระบบที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหา ทำให้ประชาชนสามารถธำรงรักษาความมีสุขภาพดีได้นั้น ต้องเป็นระบบย่อยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบการค้าการขาย ระบบค่านิยมในสังคม ระบบกฎหมายและการรักษาความสงบเรียบร้อย ระบบขนส่งจราจร ฯลฯ  ซึ่งทุกระบบมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพด้วยกันทั้งนั้น เรื่องสุขภาพจึงไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหมอของพยาบาลเพียงลำพังกันอีกต่อไป

ถ้าทุกระบบให้น้ำหนักไว้ที่ “สุขภาพ” ทุกระบบก็ต้องสร้างมาตรการและดำเนินการทุกเรื่องโดยยึดการมีสุขภาพดีของมวลชนเป็นตัวตั้ง จะคิดอะไร ทำอะไร ก็ต้องเน้นการมีสำนึกสุขภาพ ไม่ใช่เอาเงินหรือเอาง่ายเข้าว่าเป็นตัวตั้ง

ถ้าสังคมเอาสุขภาพเป็นตัวตั้ง ทิฐิหลักก็จะต้องเปลี่ยนมาเน้นที่การสร้างสุขภาพและการป้องกันปัญหาที่จะคุกคามสุขภาพไม่ว่าด้วยรูปแบบใด ๆ นำหน้าการมุ่งเปิดอู่ซ่อมสุขภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น

ระบบกฎหมายและการรักษากฎหมายก็ต้องเข้มงวดกวดขัน ไม่ปล่อยให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพอยู่รอบตัวประชาชนเต็มไปหมด รถมอเตอร์ไซค์ขับแซงซ้ายแซงขวา ล่อแหลมต่อการเกิดอุบัติเหตุก็ต้องถูกจับกุมอย่างเข้มงวด เมาแล้วขับซึ่งจะนำไปสู่การบาดเจ็บและตายหมู่ ก็ต้องเข้มงวด ปิคอัพโกโรโกโสหรือมอเตอร์ไซค์บรรทุกถังแก๊สที่ล่อแหลมต่อการเกิดอุบัติเหตุตายหมู่ก็ต้องถูกจับกุม ร้านขายพลุดอกไม้ไฟ โรงงานหรือร้านที่มีสารเคมีอันตรายก็ต้องเข้มงวดกวดขันมิใช่ปล่อยปละละเลยแบบทุกวันนี้  รอให้เกิดเรื่องแล้วค่อยเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ยกกันไปทั้งรัฐมนตรี  ทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ จากนั้นอีกไม่นานก็เงียบหายไป รอให้เกิดเรื่องใหม่แล้วค่อยออกมาพูดกันใหม่อีกที

ประชาชนต้องหวงแหนสุขภาพ

การจะรอให้ระบบย่อยต่าง ๆ ในบ้านเมืองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตำรวจต้องรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด ข้าราชการต้องทำทุกอย่างเพื่อความผาสุกของประชาชนและสังคม เทศบาลองค์การส่วนท้องถิ่นต้องทำทุกอย่างเพื่อประชาชน ฯลฯ คงไม่ใช่เรื่องที่ได้จากการเรียกร้องเพียงเท่านั้น

ภาคประชาชนเองนั่นมีส่วนสำคัญมาก เพราะสุขภาพเป็นของทุกคน ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะมีสุขภาพดี ในขณะเดียวกันทุกคนก็มีหน้าที่สร้างเสริมสุขภาพทั้งของตัวเอง ของครอบครัว ของชุมชน และของสังคมด้วย  อย่ารอให้ใคร ๆ มาสร้างสุขภาพหรือคุ้มครองสุขภาพให้กับเราอย่างเดียว

รวมตัวกัน ช่วยกันสร้างชุมชนของเราให้เป็นชุมชนสุขภาพดี ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างระบบ ระเบียบของชุมชนและสังคมให้มีกติกา มีวินัย รักษากฎหมายโดยมุ่งที่การมีสุขภาพดีของทุกคน จะคิดอะไร ทำอะไร ต้องมีสำนึกสุขภาพกำกับอยู่ด้วยเสมอ

เห็นใครทำอะไร ค้าขายอะไร ประกอบกิจกรรมอะไรที่ล่อแหลมหรือเสี่ยงต่อการเสียสุขภาพของผู้อื่น ต้องไม่ทำเป็นธุระไม่ใช่ ต้องช่วยกันบอกกล่าวเจ้าหน้าที่ เรียกร้องผู้รับผิดชอบให้เข้าไปดำเนินการ แจ้งแก่สื่อมวลชน เปิดเผยปัญหาแก่สาธารณะ สร้างแรงกดดันให้เกิดเป็นมาตรการทางสังคม ฯลฯ ก็จะเป็นแรงสำคัญอีกด้านหนึ่งที่ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่คุกคามสุขภาพมหาชนลดน้อยเบาบางลงไปได้บ้าง

คนไทยต้องการความคิดใหม่และจินตนาการใหม่เกี่ยวกับสุขภาพ จึงจะสามารถสร้างสุขภาพได้ ความคิดเก่าและจินตนาการเก่าไม่สามารถสร้างสุขภาพได้จริง และก่อความเสียหายร้ายแรง เมื่อนึกถึงคำว่าสุขภาพ เรามักเห็นโรงพยาบาล มดหมอ หยูกยา เท่านั้น โรงพยาบาล หมอและยา เป็นเรื่องทางเทคนิค เมื่อเป็นเรื่องทางเทคนิคก็เป็นเรื่องของคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่เกี่ยวขั้องได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนทั้งหมด และเมื่อคิดถึงว่าสุขภาพเป็นเรื่องของโรงพยาบาล ระบบสุขภาพของเราจึงเป็นระบบตั้งรับ คือ รอให้ผู้คนสุขภาพเสียหรือเจ็บป่วยเสียก่อนแล้วจึงค่อยมาโรงพยาบาล ทำให้คนไข้ท่วมท้น สังคมสนใจแต่การทุ่มทรัพยากรลงไปในการสร้างโรงพยาบาล แต่เท่าไรก็ไม่พอห้าปีที่แล้ว (2543) ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพเกือบ 300,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นด้วยอัตรากว่าร้อยละ 10 มาหลายปีติดต่อกัน แต่คนไทยก็ยังเจ็บป่วยล้มตายโดยไม่จำเป็นเหลือคณานับ ถ้าสภาพยังเป็นอย่างนี้ต่อไป เราจะวิ่งเข้าสู่สภาวะวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ เงินหมด แต่ไม่สามารถทำให้คนไทยมีสุขภาพดีและได้รับบริการเป็นที่พอใจ
ในการสร้างความคิดใหม่และจินตนาการใหม่ต้องคำนึงถึงนิยามคำว่า “สุขภาพ” องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามของคำว่า “สุขภาพ” ว่า “Health is complete physical , mental, social and spiritual well – being” นั่นคือ สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และจิตวิญญาณ มนุษย์ต้องมีจินตนาการใหญ่ จึงจะทำให้เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้


สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ เป็นจินตนาการใหญ่ และควรเป็นอุดมการณ์ของมนุษยชาติ แล้วพยายามที่จะแสวงหาปัญญาอันจะทำให้สำเร็จ

หากคนไทยถือว่าสุขภาพหรือ “สุขภาวะที่สมบูรณ์” เป็นอุดมการณ์ของชีวิต เป็นเป้าหมายของการพัฒนาร่วมกัน ก็ต้องเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยกันทำความเข้าใจว่าระบบสุขภาพ คืออะไร และคลี่โครงสร้างของระบบสุขภาพดีมาเป็นองค์ประกอบที่ครบถ้วน จากนั้นพัฒนาให้ครบทุกส่วน

อย่าปล่อยหรือหวังว่า การมีสุขภาพดี การไม่บาดเจ็บล้มตายโดยไม่จำเป็นที่เกิดขึ้นมากและรุนแรงในบ้านเมืองเรา เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วตามลำพัง ถ้าเราคิดและปล่อยไปเช่นนั้น ก็มีแต่จะผิดหวังและเสียใจ เมื่อพบว่าไม่ค่อยจะมีอะไรดีขึ้น

เราทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ สำรวจตัวเอง สำรวจครอบครัว สำรวจกิจการงานของเรา อะไรที่เอื้อต่อสุขภาพ ทำต่อไปให้มากขึ้น อะไรที่คุกคามสุขภาพทั้งของตนเองหรือของคนอื่น ก็แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้ก็ด้วยความจริงที่ว่า

“สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง” และคนไทยสามารถร่วมสร้างสังคมที่มี “สุขภาวะที่สมบูรณ์” ได้จากการมีจินตนาการใหม่เกี่ยวกับสุขภาพ

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 21411เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2006 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จริงๆแล้วมนุษย์ทุกคนห่วงแหนชีวิตของตัวเองอยู่แล้วค่ะ เพียงแต่ลืมห่วงแหนชีวิตคนรอบข้าง ซึ่งแต่ละคนพยายามที่จะขนขวายสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตและปล่อยสิ่งที่หมดประโยชน์ให้กับธรรมชาติ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนรอบข้าง ได้รับสิ่งที่ตัวไม่ต้องการแล้ว นั้นหมายถึงสิ่งที่เป็นภัยต่อสังคม

สุขภาวะที่สมบูรณ์” ได้จากการมีร่วมมือในทุกๆฝ่ายค่ะ

    ขอบคุณมากมาย นะคะ

                มีความสุขเสมอๆ

                            รักษาสุขภาพ  นะคะ

                           

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท