มิติใหม่ในการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม (2)


รวมพลังเครือข่ายคุรุสภา

การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมเป็นภารกิจหลักของสถาบันการศึกษา
           ปัญหาการขาดคุณธรรม จริยธรรมของบุคคล ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมจนกลายเป็นปัญหาของชาติบ้านเมือง และกลายเป็นปัญหาของสังคม นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาทางด้านสังคมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกมองว่าเกิดความล้มเหลวด้านการจัดการศึกษา เสียงสะท้อนจากองค์กรต่าง ๆ    ในสังคม ที่มีต่อการแก้ไขปัญหาหรือภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในสังคมไทย อันเนื่องมาจากบุคคลขาดคุณธรรม จริยธรรม ต่างมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ภาระหน้าที่ในการสร้างสมดุลทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่บุคคลและสังคม กระทำได้โดยกระบวนการทางการศึกษา

             "การศึกษา หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคลากร และสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต"

คุณธรรม จริยธรรม : สาระที่ควรทราบ

             คุณธรรม จริยธรรม คือ ประมวลการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามทั้งกาย วาจา และจิตใจ โดยถือประพฤติปฏิบัติเป็นนิสัยทั้งต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม
             
ผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม ย่อมเป็นที่พึงประสงค์ของบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ บุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรมดีงามมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
             
๑. เป็นผู้ที่มีความพอดี ไม่ขาด ไม่เกินความพอดี คือ ปฏิบัติตนอยู่ในทางสายกลาง ไม่ขาด ไม่เกิน ไม่มาก ไม่น้อย
             
๒. เป็นผู้กระทำด้วยเจตนาดี ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทำไปเพื่อสิ่งที่ดีงาม ไม่ใช่ทำด้วยการถูกบังคับ หรือด้วยผลประโยชน์ใด ๆ
             
๓. เป็นผู้ที่มีเหตุผล พอใจที่ได้ปฏิบัติต่อผู้อื่น และเห็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นสำคัญ
             
๔. เป็นผู้ที่มุ่งสันติสุขหรือความสงบ ไม่ใช่มุ่งความสมบูรณ์พูนสุขเป็นที่ตั้ง
             
๕. เป็นผู้ที่มีความพอ รู้จักสละสิทธิทางธรรมชาติ เพื่อเห็นแก่ส่วนรวม และปฏิบัติตามข้อผูกพันและหน้าที่ด้วยความพอเหมาะพอควร
             
๖. เป็นผู้ที่มีนิสัยอันดีงามในการทำหน้าที่ รับผิดชอบต่อหน้าที่ และทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
             
๗. เป็นผู้สามารถควบคุมแรงกระตุ้นและความยากต่าง ๆ เอาไว้ได้ด้วยเหตุผล
             
๘. เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามกฎ หรือมาตรการทางจริยธรรม ได้เหมาะสมกับกาลเทศะอยู่เสมอ

คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน นักศึกษา
      
๑. ทางด้านร่างกาย
             - ให้มีสุขภาพสมบูรณ์เติบโตสมวัย
             -
เข้าใจสาธารณสุขพื้นฐาน รู้จักป้องกันโรค
             -
ปลอดจากสิ่งเสพติด
      
๒. ทางด้านจิตใจ
             - มีความสุข สงบ รู้จักพักผ่อน และสันทนาการในทางที่เหมาะสม
             -
มีคุณธรรม จริยธรรม มีวินัย ภาคภูมิใจในตนเอง
             -
มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยเข้าใจคนอื่น
             -
มีสุนทรี สำนึกในความเป็นไทย
             -
มีจิตใจที่จะสู้สิ่งยาก เห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในงานสุจริต
      
๓. ทางด้านความรู้
             - รู้จักคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา
             -
ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต
             -
สามารถปรับปรุงวิถีชีวิตและการทำงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
             -
รู้ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ เพื่อการสื่อสาร
             -
รู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีพื้นฐาน
             -
มีความสามารถในการจัดการ
             -
รู้จักตนเอง ประเทศของตน ประเทศเพื่อนบ้าน รู้เท่าทันโลก
             -
รู้และมีความสามารถที่จะทำให้ตนและผู้อื่นมีความสุข
             -
รู้จักในพุทธปรัชญาในศาสนาที่ตนนับถือ
             -
ไม่ยึดติดกับรูปแบบหรือคำตอบใดคำตอบเดียว
      
๔. ทางด้านทักษะการประกอบอาชีพ
             - มีทักษะเพียงพอที่จะประกอบอาชีพเฉพาะทาง
             -
มีนิสัยในการทำงานที่ดี
             -
สามารถพัฒนาสัมมาชีพจนสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
             -
สามารถพัฒนาอาชีพในท้องถิ่น

แนวทางการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
             ๑. ให้เรียนวิชาทางสังคมศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ ช่วยให้เกิดการพัฒนาจิตใจ
             
๒. การเน้นย้ำให้ครู อาจารย์ และเพื่อนช่วยกระตุ้นความตระหนักต่อสังคม ทั้งในและนอกวิชาเรียน
             
๓. ครู อาจารย์ เป็นแบบอย่างที่ดี
             
๔. เพื่อนเป็นตัวอย่างที่ดี
             
๕. การจัดโครงการหรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อพัฒนาจิตใจโดยตรง
             
๖. การสอดแทรกการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม เข้าไปในเนื้อหา และกระบวนการเรียนการสอนทุกวิชา/ กลุ่มสาระการเรียนรู้
            จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า ครู คือบุคคลสำคัญที่จะทำหน้าที่อบรมรมบ่มนิสัย พร้อมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและลักษณะอันพึงประสงค์ให้กับผู้เรียน  หากแม้นว่าครูเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการประพฤติปฏิบัติตนแล้วไซร้ ย่อมจะทำให้นักเรียนตลอดจนบุคคลทั่วไปสามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ สมดังคำกล่าวที่ว่า ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน

ดังนั้นประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (นายธนารัชต์ สมคเณ) จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ    ที่ปรึกษาประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อมีหน้าที่ให้คำปรึกษา เสนอความเห็นหรือคำแนะนำในการดำเนินงานของประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ประกอบด้วย ๑) พระธรรมกิตติวงศ์    ๒) พระราชวรนายก  ๓) พระภาวนาวิริยคุณ  ๔) พระมหาสมชายฐานวุฑฺโต  ๕) นายเฉลิมศักดิ์ รามโกมุท ๖) นายชินภัทร  ภูมิรัตน ๗) นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์  ๘) นางศิริพร กิจเกื้อกูล  ๙) นายพิษณุ ตุลสุข     ๑๐) นายวันชัย ธีระสัตยกุล  ๑๑) นายบุญช่วย ทองศรี  ๑๒) นายเพิ่ม หลวงแก้ว ๑๓) นายธีระ อ่ำพูล    ๑๔) นายปริญญา  ประจง  ๑๕) นายสนอง     ทาหอม ๑๖) นายปฐมพงศ์ ศุภเลิศ  ๑๗) นายวิชาญ อธิกพันธุ์ ๑๘) นายสุรินทร์ ศรีสนิท ๑๙) นายวิโรจน์ พูลสุข  ๒๐) นางสาวสมสุดา  ผู้พัฒน์  ๒๑) เลขาธิการคุรุสภา ๒๒) นางสาวรจนา  วงศ์ข้าหลวง

พระธรรมกิตติวงศ์ เจ้าอาวาสวัดโรสาราม ในฐานะประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาฯ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ สรุปได้ว่า การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม มีแนวดำเนินการดังนี้

๑.       สร้างภูมิคุ้มกัน ต่อสู้กับกระแสนิยม

 - สร้างความแข็งแกร่งของจิตใจ ใช้ปัญญา ความคิด

              - กำจัดกิเลส หาทางสร้างภูมิคุ้มกัน

๒.      สร้างจิตวิญญาณความเป็นครู

- ความรักในวิชาชีพ รักการสอน รักเด็ก

               - สร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย (เรียนรู้ เห็นความสำคัญ)

๓.       สร้างจิต ๓ ประการ ได้แก่

- จิตสำนึก (มโนธรรม) ติดตัวตลอด

     - จิตสาธารณะ (ความรู้สึกรักและหวงแหนสิ่งที่เป็นส่วนรวม)

- จิตอาสา (จิตบริการ) โดยการบริจาค และเสียสละ

๔.       การประชาสัมพันธ์

- ความดี กับครูดี (ดี คือคุณสมบัติส่วนตัว) เป็นจิตสำนึก

- ครูดี เก่ง (เก่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนอื่น) มีจิตอาสา บริการ

๕. การดำเนินกลยุทธ์ระยะกลางและระยะยาว โดย

            ๑) การอบรมครูเพื่อสร้างจิตวิญญาณ (ใช้สถานที่วัด)

                ๒) การสร้างครูรุ่นใหม่ (เหมือนกับทหาร ตำรวจ) จบแล้วมีงานทำ

            ๓) ต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบ เช่น กรมยุทธศึกษาทหาร

            ๔) สร้างครูอนุศาสน์ (มีคุณสมบัติพิเศษ)

            - มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ

            - สามารถอบรมดูแลครู

                    - มีความรู้ด้านศาสนา (ไม่จำเพาะศาสนาพุทธ ศาสนาอื่นๆด้วย)

                    - มีค่าตอบแทนพิเศษให้

            ๕) สร้างโรงเรียนฝึกหัดครู

               - จัดกระบวนการเรียนการสอนวิชาชีพครู

               - ฝึกอบรมความเป็นครู

มิติใหม่ในการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพครู จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือ ร่วมใจจากทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายผลิตและผู้ใช้ครูรวมทั้งตัวครูเอง และนับเป็นนิมิตหมายอันดีที่อาจารย์ธนารัชต์  สมคเณ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ได้เล็งเห็นคุณค่า ความสำคัญของการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูให้สมกับเป็นวิชาชีพชั้นสูง พร้อมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ จึงมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าเราพอจะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และเชื่อมั่นว่าเด็กและเยาวชนของไทยจะต้องได้รับการพัฒนาเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกๆท่าน

 

หมายเลขบันทึก: 213876เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2008 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท