พัฒนากลุ่มออมทรัพย์..ยั่งยืนมั่นคง ตอนที่ 4 (จบ)


คิดแล้วทำ ดีกว่าทำแล้วคิด

         ถึงตอนที่  4  น่าจะจบได้สักที  ตอนที่ 3  เพื่อนอ่านแล้วบอกว่าน่าจะคิดตารางที่ช่วยในการคิด  ก็น่าจะดีแต่เอาที่ง่าย ๆ บทสรุปของเวทีที่ 2 คือ "คิดแล้วทำ  ดีกว่าทำแล้วคิด"  จึงนำตารางที่ช่ายในการคิดมานำเสนอในตอนที่ 4  ตอนจบครับ         

ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้ในการคิด

ที่

เรื่อง

ปัจจุบันเป็นอย่างไร

จะทำอะไรเพื่อ        ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ทำอย่างไร

ใช้เงินจากไหน เท่าไหร่

ใครทำ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สิ่งที่ได้จากเวทีที่ 2  คือแผนพัฒนากลุ่มของคณะทำงานทั้ง  14  คณะ  จะได้  14  กิจกรรม  ในการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม  พร้อมรายละเอียด  แต่ละคณะทำงานให้คัดเลือกตัวแทน   จำนวน  1  คน   สำหรับเสนอแผนพัฒนากลุ่มให้กับที่ประชุมในเวทีที่  3  เฉพาะส่วนที่คณะทำงานที่ตนเองรับผิดชอบ

เวทีที่ 3  เวทีจัดทำแผนพัฒนากลุ่ม

            ในเวทีที่ 3  ให้จัดประชุมคณะทำงานและคณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  เพื่อจัดทำแผนพัฒนากลุ่ม  โดยให้คณะทำงานแต่ละคณะเสนอแผนพัฒนากลุ่มที่ตนเองคิดต่อที่ประชุม  ซึ่งผู้นำเสนอแผนแต่ละคณะทำงาน  คือคนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของคณะทำงาน  จากเวทีที่ 2   

                 แผนการพัฒนากลุ่มของคณะทำงาน  คือกิจกรรมพัฒนากลุ่ม  14  กิจกรรม  ในการพัฒนากลุ่มให้ดีขึ้น  ในช่วงระยะเวลา  1  ปี  ที่กลุ่มจะต้องดำเนินการให้สำเร็จด้วยการพึ่งตนเอง  หรือขอความช่วยเหลือจากองค์กรอื่นในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้  หรือขอความร่วมมือจากองค์กรอื่น  กรณีที่เกินขีดความสามารถของตนเอง แต่ต้องทำจึงจะทำให้กิจกรรมนั้นประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ              

                การนำเสนอแผนพัฒนากลุ่มของคณะทำงาน  ในเวทีนี้เปิดโอกาสให้คณะกรรมการบริหารกลุ่ม และคณะทำงานได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น  ปรับปรุงแก้ไขแผนพัฒนากลุ่มของคณะทำงานแต่ละคณะ  ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง  และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด  เป็นการพิจารณารับรองแผนครั้งที่1  ของคณะทำงานและคณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ฯ นั้นเอง

                เมื่อคณะทำงานและคณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ฯ  ร่วมกันปรับปรุงแก้ไขแผนพัฒนากลุ่มเรียบร้อยแล้ว  สิ่งที่ได้ คือ  แผนพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ประจำปี   ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติของคณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ฯ  แต่ทั้งนี้ต้องนำเข้าสู่เวทีการพิจารณารับรองแผนพัฒนากลุ่มของสมาชิกทั้งหมดก่อน  ในเวทีที่ 4  เวทีรับรองแผนพัฒนากลุ่มฯ

 

เวทีที่ 4  เวทีรับรองแผนพัฒนากลุ่มฯ

                เวทีนี้เป็นการนำแผนพัฒนากลุ่มที่ผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ฯ  และคณะทำงานจัดแผนพัฒนากลุ่มแล้ว  เข้าสู่เวทีการพิจารณาของสมาชิก  เป็นเวทีใหญ่ที่ต้องเชิญสมาชิกทุกคนเข้าร่วมประชุม   สมาชิกที่เข้าร่วมเวทีไม่ควรน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด  ถ้าเชิญแล้วสมาชิกมาน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง  ให้เชิญใหม่  ยอมเสียเวลาเพื่อสร้างอนาคตแห่งความร่วมมือ   ยอมทำใหม่เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต  หนังสือเชิญต้องระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน  ว่ามาเพื่อทำอะไร 

                ผู้นำเสนอแผนการพัฒนากลุ่มต่อเวทีสมาชิกอาจจะเป็นคณะกรรมการบริหารกลุ่ม  หรือ คณะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารกลุ่มก็ได้  ในการนำเสนอข้อมูลต่อเวทีให้นำเสนอทีละเรื่อง  จนครบ  14  กิจกรรม  แต่ละกิจกรรมให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นปรับปรุงแก้ไขได้   อย่ายึดติดว่าของเดิมต้องดี  ต้องถูกต้องเสมอไป  ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข  แต่ถ้าสิ่งใดของเดิมที่คิดไว้แล้วดี  ให้คณะกรรมการบริหารกลุ่มแสดงเหตุผล  และชี้แจงให้เข้าใจ  อย่าพึงใช้มติเสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจ   ถ้าสิ่งนั้นสมาชิกหลายคนยังไม่เข้าใจ  ยังไม่เห็นด้วย 

                เมื่อสมาชิกได้พิจารณาร่วมกันจนครบ  14  กิจกรรมแล้ว  ขอมติรับรองแผนพัฒนากลุ่มประจำปี    เมื่อผ่านการรับรองแล้ว แผนดังกล่าวเป็นแผนที่คณะกรรมการบริหารกลุ่มฯ ต้องร่วมกันวางแผนในรายละเอียดว่าแต่ละกิจกรรมจะทำอย่างไร  ใครช่วยทำอะไรบ้าง  คณะกรรมการบริหารกลุ่มควรให้คณะทำงานและสมาชิก  มาร่วมกันทำให้สำเร็จ  โดยให้สมาชิกมาร่วมในการทำงานให้มากที่สุด

                กิจกรรมทั้ง  14  กิจกรรมที่ผ่านการรับรองของเวทีสมาชิกแล้ว  เป็นสัญญาประชาคมระหว่างคณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ฯ  กับสมาชิก  ในการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯให้ดีขึ้น  ตามแผนที่ได้ผ่านกระบวนการคิดของคณะกรรมการฯ และสมาชิก  ทุกคนมีส่วนร่วม  ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด    แผนดังกล่าวจึงเป็นของทุกคน  เป็นแผนที่ชี้ว่าปีนี้เราจะพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯ  ให้ดีขึ้นอย่างไร  ใครถามตอบได้ตรงกัน 

                ต่อจากนั้นให้นำแผนการพัฒนากลุ่มทั้ง  14  กิจกรรม  ขึ้นป้ายไว้ ณ ที่ทำการกลุ่ม   ให้ทุกคนได้เห็น  ทุกคนจะมองเห็นภาพว่ากลุ่มออมทรัพย์ฯของทุกคนถ้าดำเนินการตามที่คิดไว้สำเร็จ  กลุ่มออมทรัพย์ของทุกคนจะดีขึ้นอย่างไร  แล้วเราจะต้องช่วยทำอะไรบ้าง     เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการมีส่วนร่วมในขณะเดียวกัน  และคณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ฯ ก็มีเป้าหมายในการพัฒนากลุ่มที่ชัดเจน  ตอบทุกคนได้  ถ้าทำสำเร็จก็เป็นความภาคภูมิใจ  เป็นผลงานที่น่าชื่นชมยิ่ง  กลุ่มออมทรัพย์ฯมีการพัฒนาดีขึ้น  ถ้าทำอย่างนี้ทุกปี  กลุ่มออมทรัพย์ฯก็จะดีขึ้นทุกปี  แล้วกลุ่มจะไม่เข้มแข็งได้อย่างไร  ผลประโยชน์ที่เกิดจาการพัฒนา  ก็จะเกิดกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

                สิ่งสำคัญ  พยายามทำตามที่คิดไว้ให้ได้ มากที่สุด  ถึงแม้ว่าจะได้ไม่ครบทั้ง  14  กิจจรรม   แต่ให้ร่วมกันทำก่อนตามศักยภาพของตนเอง  ให้พึ่งตนเองก่อน  ถ้าไม่สำเร็จหรือมีปัญหาค่อยพึ่งคนอื่น  องค์กรอื่นช่วยเหลือ  ความภาคภูมิใจอยู่ที่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตนเอง   ระหว่างทำจะเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติ  มีปัญหาอะไร  แก้ไขอย่างไร  ทำด้วยตนเอง  ร่วมกันแก้ปัญหา   สิ่งที่ได้เป็นองค์ความรู้ที่จะติดตัวตลอดเวลา  ต่อไปเกิดปัญหาก็รู้ว่าจะแก้อย่างไร  เพราะเคยแก้ปัญหาด้วยตนเองมาแล้ว ถ้ากลุ่มอื่นมีปัญหา สามารถบอกเพื่อนได้ว่าปัญหานี้เราเคยแก้ปัญหาอย่างไร 

เวทีที่ 5  เวทีฉลองความสำเร็จ

                เมื่อกลุ่มปฏิบัติตามแผนพัฒนากลุ่มที่วางไว้   สำเร็จหรือไม่สำเร็จครบทั้ง  14  กิจกรรม  สุดท้ายต้องนำทั้ง  14  กิจกรรมเข้าสู่เวทีฉลองความสำเร็จ   เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานตามแผนว่าได้ดำเนินการเรื่องใดไปบ้าง  เรื่องที่สำเร็จแล้วทำให้กลุ่มดีขึ้น  เรื่องที่ไม่สำเร็จ  เพราะอะไร  แล้วเราจะช่วยทำให้สำเร็จได้อย่างไร  เรื่องทำสำเร็จเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจของทุกคน  ที่ไม่สำเร็จก็เป็นผลงานที่ภาคภูมิใจที่เราได้ช่วยกันคิด  ปีต่อไปก็เอางานที่ไม่สำเร็จในปีนี้ไปเข้าแผนของปีต่อไป  รวมกับแผนที่คิดกันใหม่  กิจกรรมที่ทำแล้วทำไม่ได้ก็ยกเลิกไป  ปีต่อไปก็คิดเรื่องไม่ 

                เวทีที่ 5  เป็นเวทีรายงานผลการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯประจำปี  ทุกคนที่เข้าร่วมเวทีจะมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของกลุ่มออมทรัพย์ฯ การพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นการพัฒนาตามยถากรรม  แต่เป็นการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างมีระบบ  มีขั้นตอน  ที่ทุกคนมีส่วนร่วม   ใครทำอะไรบ้าง  ตอบได้ชัดเจน  กลุ่มออมทรัพย์ฯดีขึ้นอย่างไร  ไม่ต้องนั่งนิ่งแล้วคิดย้อนหลัง  ตอบได้ทันที  ปีนี้ดีขึ้นอย่างไร  ที่ดีขึ้นเพราะทุกคนช่วยกันคิด  ทุกคนช่วยกันทำ  ผลงานก็เป็นของทุกคน  เพราะกลุ่มออมทรัพย์ฯไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง  แต่เป็นของทุกคน  เวทีนี้จึงเป็นเวทีฉลองความสำเร็จของการทำงานร่วมกันของทุกคน

                การจัดเวทีที่ 5  ควรจัดร่วมกับการประชุมใหญ่สามัญประจำปี  ที่มีกิจกรรมอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย  ให้เวทีฉลองความสำเร็จเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมใหญ่สามัญประจำปี  เอกสารผลการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯควรจะรวมอยู่ในเอกสารรายงานผลการดำเนินงานประจำปีของกลุ่ม  เป็นการฉลองความสำเร็จ  การพัฒนากลุ่มของตนเอง ด้วยการพึ่งตนเอง คิดอย่างนี้ทุกปี  ทำอย่างนี้ทุกปี  กลุ่มออมทรัพย์ฯจะเข้มแข็ง ยั่งยืนตลอดไป

บทสรุป..สำหรับนักพัฒนา

            ผลงานของคนพัฒนาชุมชน  ที่เป็นมรดกตกทอดและได้รับการยอมรับในปัจจุบัน  คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯคนพัฒนาชุมชนเก่ง  แต่กลุ่มออมทรัพย์ฯดีเด่น  และประสบความสำเร็จเป็นเพราะนักพัฒนาหรือไม่   ไม่แน่ใจ  เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏว่าได้พัฒนาอย่างไร

                กระบวนการตามข้อเขียนชิ้นนี้  เป็นกระบวนการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ที่บ่งชี้ว่านักพัฒนาเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯหลังจาการจัดตั้งกลุ่มแล้วอย่างไร  ทำเมื่อไหร่  ผลของการพัฒนาเป็นอย่างไร  ดีขึ้นอย่าง ไร  ไม่ว่าจะเปลี่ยนนักพัฒนาไปเท่าไหร่ก็ตาม  กระบวนการพัฒนาและผลของการพัฒนา  ก็ยังเป็นเป็นของคนพัฒนาชุมชนพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตให้ดีขึ้นตลอดไป   

                ข้อเขียนชิ้นนี้  เป็นเพียงความคิดเห็นที่ผ่านการทดลองปฏิบัติแล้วได้ผล  จึงนำมาเล่าต่อเพื่อให้นักพัฒนานำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯให้เข้มแข็งและยั่งยืนโดยนักพัฒนาชุมชน      

                กระบวนการคิดในการพัฒนา  ที่ให้คิดที่ละองค์ประกอบในแต่ละด้าน  เพื่อจำกัดกรอบการคิดในแต่ละเรื่องให้ชัดเจนและแคบลง  เพราะประชาชนเป็นคิดและผู้ทำ นักพัฒนาเป็นวิทยากรกระบวนการ  จึงต้องทำให้ง่าย  และไม่เป็นวิชาการมากนัก  สิ่งสำคัญคือ คิดง่าย ปฏิบัติได้จริง  การคิดจะต้องเริ่มต้นที่ข้อเท็จจริงของกลุ่มในแต่ละด้านแต่ละองค์ประกอบในขณะนั้น  ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน    เมื่อได้ข้อเท็จจริงในการบริหารจัดการของกลุ่มแล้วนำมาศึกษาวิเคราะห์หาจุดอ่อน  ใช้ข้อมูลในการกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มให้ดีขึ้นตามความสามารถและศักยภาพของกลุ่ม   โดยยึดหลักการพึ่งพาตนเองของกลุ่ม

ในการแนะนำกลุ่มให้คิด  ควรให้กลุ่มคิดให้ครอบคลุมทุกด้านทุกองค์ประกอบ  และกำหนดวิธีการที่จะทำให้แต่ละองค์ประกอบดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องคิดการใหญ่ แต่คิดในสิ่งที่ทำได้จริง  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจะได้แผนการปฏิบัติงานประจำปี  ที่สามารถปฏิบัติได้จริงและแล้วเสร็จภายในหนึ่งปี  อย่างน้อย  14  เรื่องในแต่ละปี  เป็นพันธสัญญาที่คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตต้องปฏิบัติร่วมกันกับสมาชิกในการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม

จะเห็นได้ว่าวิธีการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น  เป็นวิธีการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตให้ดีขึ้นกว่าเดิมทุกปี  กลุ่มมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง  เน้นที่การพึ่งพาตนเองในการพัฒนา  คณะกรรมการและสมาชิกจะรู้เป้าหมายว่าปีนี้จะทำอะไรกัน  และช่วยกันทำให้สำเร็จตามที่ได้คิดไว้ด้วยความสมัครใจ  มีเอกสารหรือแผนปฏิบัติการในการขอรับการสนับสนุนจากบุคคลหรือหน่วยงานอื่นได้อย่างชัดเจน  ในกรณีที่เกินขีดความสามารถของตนเอง

แนวทางนี้เป็นวิธีการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ตามระบบมาตรฐานงานชุมชนนั้นเอง  โดยนำความรู้เรื่องกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  กับความรู้เรื่องระบบมาตรฐานงานชุมชน  มารวมกัน  ออกแบบกระบวนการและนำไปใช้ทดลองปฏิบัติ  ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ในการพัฒนากลุ่มได้ทุกกลุ่มทุกประเภท และทุกสังกัด   ที่ไม่เริ่มต้นจากระบบมาตรฐานงานชุมชน (มชช.)  เพราะกลัวเรื่องทัศนคติของคนพัฒนาชุมชนต่อระบบมาตรฐานงานชุมชน  แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีที่ควรบอกกล่าว.

 

หมายเลขบันทึก: 213547เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2008 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท