Nan & Ball Chongbunwatana
นายและนาง คมกฤชและประณยา จองบุญวัฒนา

35:การเดินทางไปถวายจีวรที่ Rajbhana Vihara, Rangamati, Chittagong 23 ก.ย.51:ตอนที่ 1


เล่าบรรยากาศการถวายจีวรI ณ เมืองจิตตะกอง

การเดินทางไปถวายจีวรที่ Rajbhana Vihara Buddhist Monastery, Rangamati, Chittagong เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2551

การประสานเรื่องการออกของ (จีวร) กับฝ่ายพิธีการศุลกากรบังกลาเทศนั้นประสบอุปสรรคมายาวนาน

หลายเดือน เพราะเดี๋ยวเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้ ไม่ครบบ้าง ตัวเลขระบุไว้ในเอกสารไม่ถูกต้องบ้าง ต้องแก้ไข

กันไปทีละจุด ในที่สุดเมื่อกลางเดือนกันยายน 2551 สถานเอกอัครราชทูตฯ ก็สามารถดำเนินการออกของ

และได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าได้สำเร็จ หลังจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงนำจีวรและผ้าชนิดอื่นๆ  

ซึ่งมีมากกว่า 400 ชิ้น บรรจุอยู่ในกล่องขนาดใหญ่จำนวน 13 กล่องไปฝากเก็บไว้ที่สำนักงานการบินไทย

เมืองจิตตะกอง โดยมีคุณหนึ่ง พลภัทร     นีลภมร ผู้จัดการทั่วไป การบินไทย เมืองจิตตะกอง เป็นผู้รับ

ผิดชอบดูแลให้

 

ต่อมาได้รับทราบว่า ระหว่างวันที่ 21-26 กันยายน 2551 อธิบดีกรมเอเชียใต้ฯ กระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดจะนำคณะผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ พร้อมทั้งสื่อมวลชนของไทยเดินทางเยือนบังกลาเทศเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน และมีกำหนดเดินทางไปเมืองจิตตะกองด้วย สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงบรรจุให้การถวายจีวรเป็นส่วนหนึ่งของกำหนดการเยือนเมืองจิตตะกองของคณะดังกล่าวด้วย โดยกำหนดจะนำไปถวายในวันที่ 23 กันยายน 2551 ที่วัดราชพนา (Rajbhana) ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในป่าลึกในเขตรังกามาติ (Rangamati) และประสานขอความร่วมมือให้วัดดังกล่าวนำไปกระจายต่อให้วัดอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงต่อไป

 

เพื่อให้ผู้ร่วมทำบุญที่เมืองไทยได้ร่วมสัมผัสถึงบรรยากาศการนำจีวรและผ้าชนิดอื่นๆ ที่ทุกท่านได้ร่วมกันบริจาคมานั้น ได้ไปจนถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ผมจึงขอเขียนเล่าบรรยากาศในวันนั้นมาให้ทุกท่านได้ร่วมสัมผัส ดังนี้ครับ

 

คืนวันที่ 22 ก.ย. 2551 เวลาประมาณ 21.45 น. หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการนำทีมงานสารคดีรายการโลก 360 องศา ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับคณะไปเก็บภาพสถานที่ต่างๆ ในตัวเมืองจิตตะกองเพื่อนำไปผลิตเป็นสารคดีเกี่ยวกับบังกลาเทศและจะออกอากาศทางโทรทัศน์ที่เมืองไทยมาตลอดทั้งวันแล้ว ผมและ Reza ลูกจ้างท้องถิ่นของสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้เดินทางออกจากโรงแรมที่พักเพื่อนำเอาจีวรทั้งหมดจากสำนักงานการบินไทยกลับมาเก็บไว้ที่โรงแรมที่พัก เนื่องจากในวันรุ่งขึ้น คณะทั้งหมดจะต้องเดินทางออกจากโรงแรมแต่เช้า หากจะย้อนกลับไปกลับมาในช่วงเช้า อาจทำให้กำหนดการอย่างอื่นคลาดเคลื่อนได้ หลังจากนับจำนวนกล่องได้ครบ 13 กล่อง ตามที่ปรากฏใน invoice ที่ได้รับจากพี่บุญรุ่งและคุณอ้อย การบินไทย แล้วผม เรซ่า และ เจ้าหน้าที่ รปภ. ของการบินไทยอีก 2-3 คน ก็ช่วยกันขนของทั้งหมดขึ้นรถและขับกลับมาโรงแรม ตอนแรกกลัวว่า รถตู้คันเดียวจะไม่พอ เพราะของค่อนข้างเยอะ และอาจจะต้องแกะของออกจากลังก่อนแล้วค่อยนำมาบรรจุไว้ในรถเพื่อประหยัดพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ไม่สะดวกเวลาขนย้ายขึ้นลง อย่างไรก็ตาม ในที่สุด เราก็สามารถนำกล่องทั้ง 13 กล่องบรรจุไว้ในรถตู้คันเดียวได้พอดี โดยไม่ต้องแกะของข้างในออกมา โดยมีที่นั่งเหลืออยู่เพียง 2 ที่คือ ที่นั่งคนขับและที่นั่งข้างคนขับ แต่ผม เรซ่าและคนขับรถก็นั่งเบียดกันมาจนถึงโรงแรมจนได้ ดูเวลาแล้วเห็นว่าเที่ยงคืนกว่าเกือบตีหนึ่ง จึงรีบอาบน้ำและเข้านอน เนื่องจากวันรุ่งขึ้น ต้องตื่นตั้งแต่ ตีห้า

 

เช้าวันถัดมา คณะออกเดินทางจากโรงแรมแต่เช้าตรู่ เพื่อมุ่งตรงไปยังรังกามาติ ในช่วงเช้า มีกำหนดจะไปศึกษาดูการดำเนินงานของ UNDP เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ให้แก่ประชาชนในเขตดังกล่าว หลังจากนั้นจึงค่อยเดินทางต่อไปถวายจีวรที่วัดราชพนาซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันในช่วงบ่าย ทุกคนต้องเตรียมตัวเข้าห้องน้ำห้องท่าให้เรียบร้อยเป็นอย่างดี เพราะการเดินทางต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และระหว่างทางก็จะไม่มีห้องน้ำที่มีความสะอาดเพียงพอที่จะใช้ได้ พาหนะมีรถตู้จำนวน 4 คัน โดยคันหนึ่งเป็นรถที่ใช้บรรทุกจีวรทั้งหมด ซึ่งจะมุ่งหน้าตรงไปที่วัดราชพนาเลยเพื่อจะได้ไม่ต้องติดตามคณะไปตามที่ต่างๆ ให้สิ้นเปลืองเวลาและพลังงาน

 

พวกเราเดินทางรวดเดียวโดยไม่ได้หยุดพักรถระหว่างทาง ถนนแม้จะมีเพียงสองเลนให้รถสวนกันไปมา และเส้นทางก็คดเคี้ยวเพราะต้องลัดเลาะไปตามภูเขา แต่ก็ถือได้ว่า มีสภาพค่อนข้างดี แต่หากคณะจะรู้สึกไม่ปลอดภัยกันบ้าง ก็คงเพราะนิสัยการขับรถของคนที่นี่ ที่ต่างคนต่างดึงดันจะเดินหน้ากันอย่างเดียว ไม่มีใครยอมหลีกทางให้กัน จนไม่ทันได้สนใจถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้คนร่วมถนน (สำหรับผมอาจจะค่อนข้างชินแล้ว เพราะอยู่ประเทศนี้มาได้เกือบปีแล้วก็เลยไม่ค่อยรู้สึกอะไร แต่คณะที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ บ่นหวาดเสียวเป็นเสียงเดียวกัน) สองข้างทางเต็มไปด้วยป่าไม้ ซึ่งถือได้ว่ายังอุดมสมบูรณ์ ไม่ปรากฏสภาพภูเขาหัวโล้นให้ได้เห็น ประมาณสิบโมงเช้า เราก็เดินทางถึงตัวเมืองรังกามาติ ซึ่งมีความเจริญมากกว่าที่ผมคิดไว้แต่แรก มีบ้านเรือนซึ่งมีลักษณะเป็นตึกแถวสองชั้นตั้งอยู่ตลอดสองข้างทาง แต่ละห้องมีหน้ากว้างไม่มากนัก บางบ้านก็เปิดชั้นล่างเป็นร้านค้า ขายของเล็กๆ น้อยๆ หรือประกอบกิจการเล็กๆ ตอนแรกก็นึกแปลกใจ เพราะที่เคยได้ยินมานั้น ในเขตรังกามาติ จะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวพุทธ ซึ่งจะมีหน้าตาคล้ายคลึงกับคนพม่าหรือคนไทย แต่เท่าที่สังเกตดูผู้คนตามบ้านหรือร้านค้าต่างๆ ยังไงๆ ก็ยังมีลักษณะเป็นคนแขกอยู่ เพิ่งมารู้หลังจากได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของ UNDP ว่า ชาวพุทธที่เราพูดถึงนั้น จะไม่ได้อาศัยอยู่ในตัวเมืองอย่างนี้ แต่จะอยู่อาศัยกันเป็นหมู่บ้านแบบชนบทจริงๆ ซึ่งตั้งอยู่กระจัดกระจายตามเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลสาบขนาดใหญ่ใจกลางรังกามาติ ซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนที่มีชื่อเรียกว่า Kaptai ของรัฐบาลบังกลาเทศ (การสร้างเขื่อนดังกล่าวเป็นประเด็นขัดแย้งหนึ่งระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศกับชาวพื้นเมืองในเขตนี้ เพราะกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีมาแต่เดิม และทำให้ต้องมีการอพยพขึ้นมาอยู่อาศัยบนยอดเขา ซึ่งเป็นเกาะแก่งมากมายในบริเวณทะเลสาบในปัจจุบัน) 

 -มีต่อครับ-

หมายเลขบันทึก: 212898เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2008 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • มาสาธุๆๆ
  • พี่ทั้งสองท่าน
  • หายไปนานมากๆๆเลยครับ
  • สบายดีไหมครับ
  • เอารูปพี่เอกชัย
  • มาทักทาย
  • ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
  • ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันครับ ไม่ได้เข้ามานานเลยครับ
  • ฝากกราบสวัสดีท่านเอกชัยด้วยครับ
  • ได้เลยครับ
  • พบพี่เอกชัยวันที่ 2 ตค นี้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท