ศูนย์ศึกษาและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนละแม


เรียนรู้และปฏิบัติ สรุปบทเรียน สู่การจัดการตนเอง

ข้อมูลศูนย์ศึกษาและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนละแม

ศูนย์เรียนรู้บ้านสระขาว  หมู่ที่  ๑๖  ตำบลละแม  อำเภอละแม  จังหวัดชุมพร

 

                ๑.ประวัติความเป็นมา        ศูนย์เรียนรู้บ้านสระขาว  ( แปลงรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่น )  ตั้งอยู่ บ้านสระขาว หมู่ที่  ๑๖  ตำบลละแม  อำเภอละแม  จังหวัดชุมพร  เกิดขึ้นหลังจากที่บ้านสระขาวได้ประชาพิจารณ์แผนแม่บทชุมชน  เมื่อ  ๖  มิถุนายน    พ.ศ.  ๒๕๔๔  ก็ได้มีการแปลงแผนฯ  สู่การปฏิบัติ  โดยในปี  พ.ศ.  ๒๕๔๕  ดำเนินการโครงการสวนพฤษศาสตร์ชุมชน  ในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านตั้งอยู่ในสำนักสงฆ์แหลมเศียร  เนื้อที่  ๔๕   ไร่  โดยเป็นกิจกรรมหนึ่งของกลุ่มเกษตรกรรมบ้านสระขาว  ( จดทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เมื่อ ๒๗  เม.ย. ๔๓ ) และได้ดำเนินงานมาต่อเนื่องจนพัฒนามาเป็นกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์พืชบ้านสระขาว  ซึ่งมุ่งเน้นการปลูกพืชท้องถิ่นแซมในแปลงเกษตรและสร้างแปลงรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้ในพื้นที่สาธารณะเพื่อไว้ขยายพันธุ์และสำหรับศึกษาเรียนรู้  จนในปี พ.ศ.  ๒๕๔๗  ได้รับการสนับสนุนผ่านทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( สปก.) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ( FAO)  เพื่อดำเนินการโครงการปลูกพันธุ์พืชท้องถิ่นเพื่อเป็นอาหารและผลิตยาพื้นบ้าน  จึงสามารถขยายปริมาณการดำเนินงานได้เพิ่มมากขึ้น  จวบจนในปี  พ.ศ.  ๒๕๔๗ - ๒๕๔๙ ได้ร่วมกับโรงเรียนบ้านทับใหม่ ม. ๕ ต. ทุ่งคาวัด ,โรงเรียน ตชด.สิริราษฎร์ ม. ๑๖ ต.ละแม  จัดการเรียนรู้เรื่องสมุนไพรกับวิถีชีวิตชุมชน  ในทุกวันพฤหับสบดี  โดยใช้แปลงรวบรวมพันธ์เป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่กับกระบวนการแผนแม่บทชุมชน เช่น ประวัติและพัฒนาการ  ทรัพยากร ผู้นำผู้รู้ของชุมชนท้องถิ่น  มีวิทยากรท้องถิ่นเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้  (  การจัดกลุ่มย่อยจัดเก็บบันทึกข้อมูล  ศึกษาวิเคราะห์  อภิปราย  ปฏิบัติการ แฟ้มสะสมงาน นิทรรศการแก่ชุมชน )   และได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป  พร้อมกับการประสานกับ  สำนักงานเกษตรอำเภอละแม / สปก. ชุมพร  ในการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลละแม   และประสานกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอละแม เปิดจุดเรียนรู้ของ กศน. ขึ้นที่ศูนย์ฯ  ในทุกวันอังคาร    ในส่วนการบริหารงานกลุ่มฯ นั้นในรูปแบบคณะกรรมการ  มีประธานคนแรก   นายสุรพงษ์   แก้วเพชร ( พ.ศ.  ๔๕-๔๖)  คนที่สอง  นายสมเกียรติ  วรรณขาว ( พ.ศ. ๔๗-๔๙)  และคนที่สาม  นายจรินทร์  ชูกลิ่น ( ๒๕๕๐- ปัจจุบัน)

ปลายปี  พ.ศ. ๒๕๕๐   ได้ขับเคลื่อนโครงการขยายผลองค์ความรู้ปราช์ญเกษตร ฯ  สปก.  โดยเชื่อมประสานกับกลุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ  ในอำเภอละแม  อาทิ เช่น กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ ,  กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ตำบลละแม , กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร , กลุ่มบ้านน้ำตก ,กลุ่มจัดบ้านจัดเมือง  ฯลฯ   ก่อตั้งเป็นเครือข่ายจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำละแม ( ตามผังโครงสร้าง ) จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการจัดการทรัพยากร โดยสนับสนุนให้เกิดจุดเรียนรู้ย่อยรายบุคคลที่ทำเศรษฐกิจพอเพียง  (ครัวเรือนตัวอย่าง)  จำนวน  ๑๙  ราย  อาทิ  เช่น  ทำปุ๋ยชีวภาพ ,  เกษตรยั่งยืน , เพาะกล้าไม้ , เลี้ยงผึ้ง , เลี้ยงหมู เป็นต้น    

การทำกิจกรรมของสมาชิกในกลุ่มและเครือข่ายฯ  มีหลากหลาย  ได้แก่  การปลูกพันธุ์พืชท้องถิ่นและสมุนไพร  , ยาพื้นบ้าน  ,  การทำเกษตรยั่งยืน , การเพาะขยายพันธุ์ไม้ , การทำจักรสาน , การเลี้ยงหมู , การเลี้ยงผึ้ง , การทำปุ๋ยชีวภาพ , ออมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน , การจัดการเรียนรู้ท้องถิ่น  และ การปลูกไม้ใช้สอย (ธนาคารต้นไม้) ขึ้นอยู่กับความถนัดความสามารถของแต่ละบุคคล  และมุ่งเน้นให้เกิดการรวมกลุ่ม  ทั้งในรูปแบบการถือหุ้นบริหารโดยคณะกรรมการ และกลุ่มเพื่อการศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปพัฒนากิจกรรมของตนหรือของกลุ่ม  กระจายใน  ๗  หมู่บ้านหลัก  ในตำบลละแมและตำบลทุ่งคาวัด  และเชื่อมประสานกับหมู่บ้านอื่น ๆ ในอำเภอละแม

ปัจจุบันนั้นในการจัดการเรียนรู้แก่เด็กนั้นได้ดำเนินการในรุ่นที่สองกับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  ของโรงเรียนบ้านทับใหม่  ในส่วนโรงเรียน ตชด. ได้จัดการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษาตอนปลาย   เป็นสถานที่จุดศึกษาเรียนรู้ให้แก่ นักศึกษา  กศน. ในท้องถิ่น  และสถานที่การพบปะ  ประชุม  แก่สมาชิกกลุ่มต่าง  ๆ และประชาชนในท้องถิ่นลุ่มน้ำละแม  และเป็นกลุ่มแกนในการประสานเพื่อก่อตั้ง  สภาองค์กรชุมชนตำบลละแม ( พรบ. สภาองค์กรชุมชน  พ.ศ. ๒๕๕๑)  พร้อมกับการให้เยาวชนและคนหนุ่มสาวจัดเก็บรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ท้องถิ่น  ได้แก่  พันธุ์พืชท้องถิ่นและสมุนไพร  , ยาพื้นบ้าน  ,  การทำเกษตรยั่งยืน , การเพาะขยายพันธุ์ไม้ , การทำจักรสาน , การเลี้ยงหมู , การเลี้ยงผึ้ง , การทำปุ๋ยชีวภาพ , ออมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน , การจัดการเรียนรู้ท้องถิ่น  เพื่อใช้ในการเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชน  สมาชิกในเครือข่ายและประชาชนทั่วไปที่มาศึกษาเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้และชุมชนบ้านสระขาว/กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในเครือข่าย

๒. หลักคิด/วิธีคิดในการพัฒนา

วิสัยทัศน์ : ศูนย์การเรียนรู้บ้านสระขาว  เป็นแหล่งพบปะ  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชนในท้องถิ่นลุ่มน้ำละแม  เพื่อนำความรู้ไปจัดการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต และความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่ายฯ

เป้าหมาย : ให้เกิดความมั่นคงในชีวิต  ด้วยการมีหลักประกันในชีวิต  มีปัจจัยสี่อย่างพอเพียง มีอาชีพ  มีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ดี  มีสังคมที่เกื้อกูล  มีความปลอดภัยในชีวิต  และมีวิถีการเรียนรู้   ของคนในท้องถิ่น

แผนงาน               :  ประกอบด้วย  

หนึ่งการเสริมสร้างการเรียนรู้และการจัดการความรู้ของคนในท้องถิ่น  

สองการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชน 

สามการสร้างความมั่นคงทางอาหารของท้องถิ่น 

สี่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ห้าเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากรด้วยการแปรรูปผลผลิตและการตลาด

โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแปลงแผนแม่บทชุมชนสู่การปฏิบัติ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแผนอย่างต่อเนื่อง  และให้เกิดแผนพัฒนารายครัวเรือน ( นำร่องกับสมาชิกครัวเรือนตัวอย่าง ปี ๕๑  จำนวน  ๕๐   ราย )

                ๓.  แนวทางการบริหารจัดการและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

๓.๑  บริหารในรูปแบบคณะทำงาน  ประกอบด้วยคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์พืชบ้านสระขาว/วิทยากรท้องถิ่น/จุดเรียนรู้/คณะกรรมการเครือข่ายจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำละแม / ครูอาจารย์ / บุคลากรภายนอกเป็นพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษา

๓.๒  แบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ในแต่ละภารกิจ ดังนี้ 

- ผู้ประสานงานภายนอก  ได้แก่  นายทวีวัตร  เครือสาย  206  ม. 16  ต.ละแม  อ.ละแม โทร. 081 - 2700216

- ผู้ประสานงานภายใน      ได้แก่  นายจรินทร์  ชูกลิ่น  318  ม. 16  ต.ละแม  อ.ละแม โทร. 086 - 2692328

- งานข้อมูล/เอกสาร           ได้แก่  นส.อรอุมา  ศรีตังนันท์  178  ม. 16 ต.ละแม  อ.ละแม โทร. 086 - 2779222

- งานข้อมูล/เอกสาร           ได้แก่  อาจารย์สำเริง  พิทักษ์ปรัชญากุล 47 ม. 7 ต.ทุ่งคาวัด  โทร. 086 - 2697330

- ทีมวิทยากรท้องถิ่น          ได้แก่  นายบัว  ชัยเชิดชู ( เรื่องเกษตรยั่งยืน) ,นายประโยชน์  นิลรัตน์ ( เรื่องปุ๋ยชีวภาพ ) , นายนภดล ( การจัดการทรัพยากร) , นายทนง  เดี่ยววาณิชย์ ( เรื่องยาสมุนไพร ) , นายไพสิทธ์  ศรีตังนันท์ ( สมุนไพร) , นายวีศักดิ์   เกื้อสม ( เรื่องการเลี้ยงหมู ) , นายสมปอง  แก้วคงจันทร์ ( เรื่องจักรสาน)  นายสำเริง ( เรื่องการเลี้ยงผึ้ง / การจัดการเรียนรู้แก่เยาวชน )  , นายทวีวัตร ( กระบวนการแผนชุมชน ) ฯลฯ

-  ผู้รับผิดชอบประจำจุดเรียนรู้  ทั้งในรูปแบบกลุ่ม ฯ และ  บุคคล

- ทีมพี่เลี้ยง ได้แก่ จนท.สำนักงานการเกษตร อ.ละแม จ.ชุมพร / สปก. ชุมพร / กศน. ละแม / อบต.ละแม

๓.๓  การจัดการเรียนรู้  ใช้รูปแบบ/วิธีการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย  ดังนี้

กลุ่มเป้าหมาย

กระบวนการ/วิธีการ

เนื้อหาสาระสำคัญ

เครื่องมือ/อุปกรณ์

เด็กและเยาวชน

-การบรรยาย /อภิปรายกลุ่ม

-การฝึกปฏิบัติ / สรุปผลการเรียนรู้ทุกครั้งหลังทำกิจกรรม

-จัดกลุ่มย่อย/วิเคราะห์ /นำเสนอ

- บันทึก / แฟ้มสะสมงาน

หลักสูตรท้องถิ่น

สมุนไพรกับวิถีชีวิตชุมชน

ชีวิตกับการเปลี่ยนแปลง

คุณธรรมจริยธรรม/ แผนที่คนดี

สื่อวีดิทัศน์/หลักสูตร

แปลงรวบรวมพันธุ์พืช

จุดเรียนรู้ในท้องถิ่น

ครัวเรือนเด็กเยาวชน

 

สมาชิกในเครือข่าย

- อบรม/สัมมนาเชิงปฏิบัติการ

-การฝึกปฏิบัติ/สรุปผลการเรียนรู้ทุกครั้งหลังทำกิจกรรม

-จัดกลุ่มย่อย/วิเคราะห์ /นำเสนอ

-ศึกษาเรียนรู้ภายนอกท้องถิ่น

- การอนุรักษ์ทรัพยากร

- เทคนิคทำการเกษตรยั่งยืน

- การแปรรูป

- สื่อวีดิทัศน์ / เอกสาร

-แปลงรวมพันธุ์พืช

-จุดเรียนรู้แปลงเกษตรของสมาชิกในท้องถิ่น

 

บุคคลภายนอก/ทั่วไป

-  บรรยายสรุป / แลกเปลี่ยน

-ศึกษาเรียนรู้จากจุดเรียนรู้

-การฝึกปฏิบัติ/สรุปผลการเรียนรู้ทุกครั้งหลังทำกิจกรรม

 

องค์ความรู้ทั้ง 10  เรื่อง

เกษตรยั่งยืน / การจัดการเรียนรู้ /ปุ๋ยชีวภาพ/สมุนไพรและยาพื้นบ้าน / เพาะกล้าไม้ / เลี้ยงผึ้ง / เลี้ยงหมู / ออมทรัพย์และสวัสดิการ  ฯลฯ

- สื่อวีดิทัศน์ / เอกสาร

-แปลงรวมพันธุ์พืช

-จุดเรียนรู้แปลงเกษตรของสมาชิกในท้องถิ่น

 

 

๓.๔  การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ / สื่อวิดีทัศน์ และ จุดเรียนรู้ต่าง ๆ  ให้เอื้อต่อการเรียนรู้

๔.  การพัฒนากิจกรรม / กิจกรรมที่ดำเนินการ  ประกอบด้วย แผนงานดังนี้

- หนึ่งการเสริมสร้างการเรียนรู้และการจัดการความรู้ของคนในท้องถิ่น   ต้องพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและสื่อวิดีทัศน์ไว้สำหรับการถ่ายทอดและเผยแพร่  และเสริมทักษะการถ่ายทอดแก่วิทยากรท้องถิ่น  รวมทั้งการจัดทำหลักสูตรที่ใช้สำหรับบุคคลภายนอก   และการเพิ่มศักยภาพผู้นำชุมชนเป็นนักวิสาหกิจชุมชน  / พัฒนาศักยภาพนักประกอบการวิสาหกิจชุมชน

-สองการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชน   ต้องสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องโดยจัดสัมมนาเสริมทักษะในประเด็นที่สมาชิกสนใจ  พร้อมทั้งการไปเรียนรู้นอกพื้นที่

- สามการสร้างความมั่นคงทางอาหารของท้องถิ่น    ต้องขยายผลกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ให้ครอบคลุมมากขึ้น  เช่น  การปลูกพืชท้องถิ่นเป็นอาหารและยา  , การทำเกษตรยั่งยืน ( มีแปลงเกษตรที่เป็นจุดเรียนรู้  13  แปลง ) , การเลี้ยงหมูพื้นบ้าน ( มีสมาชิกเลี้ยงอยู่  17  ราย) , การปลูกไม้ใช้สอย / ธนาคารต้นไม้  ( สมาชิก 75  ราย) , การเลี้ยงปลา ( มีบ่อเลี้ยงปลา  35  บ่อ)  , กำลังดำเนินการสร้างโรงสีข้าวชุมชน  ฯลฯ

- สี่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   ต้องขยายผลการสร้างฝายชะลอน้ำ , การปลูกต้นไม้ริมคลอง , การฟื้นฟูและรักษาลำน้ำคลองละแม , การใช้ปุ๋ยชีวภาพ  , การรักษาป่าต้นน้ำ  ฯลฯ

- ห้าเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากรด้วยการแปรรูปผลผลิตและการตลาด  ต้องสนับสนุนเครื่องมือ/อุปกรณ์ในการแปรรูปยาสมุนไพรท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ , การจัดการผลิตภัณฑ์พืชผักพื้นบ้าน ( แบบสูญกาศ) , การรวบรวมผลผลิตแบบสหกรณ์  เป็นต้น(รายละเอียดตามแผนงานที่แนบมา และ แผนแม่บทชุมชน )

๕. แนวทางในการบริหารและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้

๕.๑ .ใช้กลไกการบริการงานแหล่งเรียนรู้ในรูปของคณะทำงานแบบพหุภาคี

๕.๒ จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่ายฯ ด้วยเวทีชุมชน  , การสาธิต/ทดลอง , ฝึกปฏิบัติการ  , มีเวทีสรุปบทเรียนหรือประเมินเป็นระยะ

๕.๓ ส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนแม่บทชุมชนและแผนงานของเครือข่ายฯ

๕.๓ เพิ่มศักยภาพกองทุนส่งเสริมการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำละแม

๕.๔ หนุนเสริมให้เกิดกระบวนการใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในกลุ่ม /ชุมชน

๕.๕  ประสานความร่วมมือกับ หน่วยงาน เช่น ธกส. ออมสิน ฯลฯ  ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ทุน

๖. แนวทางระดมทุน  การเชื่อมโยงกับแหล่งทุน และแหล่งสนับสนุนอื่น ๆ

๖.๑ ใช้ทุนในการดำเนินการจากสมาชิกผู้ที่สนใจมาเรียนรู้โดยเฉลี่ยจ่ายมาจากค่าอาหาร  แต่ก็ทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการแก่ทีมทำงาน เพราะกระทบต่อผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน

๖.๒  การตั้งตู้บริจาคสำหรับผู้มีจิตศรัทธา

๖.๓  การจัดตั้งกองทุน  โดยการทอดผ้าป่าสามัคคี หรือ รับจากผู้สนับสนุน หรือ จัดหาสินค้าที่ระลึกมาจำหน่ายเป็นรายได้  หรือ การสมทบจากดอกผลจากกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน

๖.๔  การประสานความร่วมมือกับ  องค์กรพัฒนาเอกชน  / องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น / หน่วยราชการ

                ๗. กระบวนการคิดในการแก้ไขปัญหา

 จากประสบการณ์ที่ผ่าน ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาโดยการพูดคุยหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง  หรือ ใช้เวทีการประชุมสมาชิกในเครือข่ายเพื่อหารือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และ การประชุมคณะกรรมการกลุ่ม / เครือข่าย เพื่อแก้ไขปัญหา  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ  ปัญหาและสภาพปัญหาหรือสาเหตุ  ระดับความรุนแรง  ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับบุคคล  กลุ่มบุคคล  กลุ่มองค์กร  เครือข่าย  ชุมชนท้องถิ่น         ทั้งนี้แกนนำหลักจะหารือ  วิเคราะห์ พิจารณาปัญหาค้นหาหนทางแก้ไขแล้วจึงดำเนินการไปที่ละขั้นตอน

  • ๘. องค์ความรู้ที่โดดเด่น / กิจกรรมที่ประสบความสำเร็จ / ปัจจัยที่ส่งเสริมให้สำเร็จ

องค์ความรู้ที่สามารถถ่ายทอดและเผยแพร่   ได้แก่   กระบวนการเรียนรู้แผนแม่ชุมชนและการแปลงแผนสู่การปฏิบัติ  ทั้งระดับบุคคล  ระดับกลุ่มองค์กรหรือวิสาหกิจชุมชน   ระดับเครือข่าย   ตัวอย่าง  เช่น  พันธุ์พืชท้องถิ่นและสมุนไพร  , ยาพื้นบ้าน  ,  การทำเกษตรยั่งยืน , การเพาะขยายพันธุ์ไม้ , การทำจักรสาน , การเลี้ยงหมู , การเลี้ยงผึ้ง , การทำปุ๋ยชีวภาพ , ออมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน , การจัดการเรียนรู้ท้องถิ่น 

บทเรียนที่สำคัญต่อกระบวนการพัฒนาที่ผ่านมา  มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการที่จะทำให้กระบวนการพัฒนาก้าวหน้าหรือถอยหลัง  ชาวบ้านสระขาวจึงสรุปได้ ดังนี้

หนึ่งเรื่องของภาวะผู้นำ ( ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ) ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์และแสวงหาความรู้ มีคุณธรรม เป็นนักประสานความร่วมมือ  เพราะผู้นำจะเป็นกำลังหลักในการผลักดันและประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดการพัฒนา ภายใต้ทิศทางที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ 

สองเรื่องระบบการจัดการชุมชน  ต้องมีการกำหนดกลไกและระบบการจัดการ ที่เหมาะสมกับศักยภาพของชุมชนและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวการณ์  ( ไม่ก๊อบบี้เป็นแบบเดียวทั้งประเทศ )

สามเรื่องการเพิ่มทักษะความรู้แก่บุคลากร   ทั้งการฝึกอบรม สัมมนาหรือศึกษาดูงานจะต้องมีดำเนินการอย่างต่อเนื่องและต้องสอดคล้องกับความต้องการของคนและปัญหาหรือสถานการณ์ในพื้นที่    ยังมีความจำเป็นที่ภายนอกยังต้องช่วยให้ชาวบ้าน เกิดการคิดวิเคราะห์สถานการณ์ภายในกับ ภายนอกชุมชน  ให้สัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน วางแผน หรือ แก้ไขปัญหาอย่างถูกทิศถูกทาง และปรับกระบวนการคิดของชาวบ้านในการพึ่งตนเองมากกว่าหวังพึ่งพิงผู้อื่น

สี่เรื่องความสอดคล้องงานกับปัญหาและศักยภาพของชุมชน   สังเกตจากโครงการหรือกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตเดิมหรือเหมาะสมกับศักยภาพของชุมชน จะดำเนินการได้สำเร็จและเกิดประโยชน์กับชาวบ้าน  เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในชุมชน

ห้าเรื่องการนำทรัพยากรภายนอกเข้ามาในชุมชน   ทรัพยากรที่เป็นทั้งเงิน คน ปัจจัยการผลิต ที่นำเข้า หรือ ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกนั้น หากไม่กระบวนการคิดวิเคราะห์ถึงความจำเป็นหรือประโยชน์ที่จะได้รับ และการวางแผนจัดการร่วมกันแล้ว  จะเป็นเหตุให้เกิดความร้าวฉาน  แตกความสามัคคี และจะเป็นตัวเสริมการพึ่งพาภายนอกจนเกิดเป็นพฤติกรรมพึ่งพาไม่ช่วยเหลือตนเอง

หกเรื่องการสนับสนุนหรือส่งเสริมจากภายนอก   ทั้งที่เป็นราชการหรือองค์กรเอกชนยังจำเป็นต้องเป็นผู้กระตุ้นหรือเป็นผู้ช่วยเหลือเอื้ออำนวย  (ข้อมูลและความรู้และจัดกระบวนการเรียนรู้ )  ให้แก่ชุมชนอย่างสม่ำเสมอจนกว่าชุมชนจะยืนด้วยตนเอง

คำสำคัญ (Tags): #social chumphon
หมายเลขบันทึก: 212444เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2008 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบโครงการนี้มาก

โครงการนี้ทำให้เรามีชีวิตที่ดีได้

มาเยี่ยมให้กำลังใจครับ ความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือ ร่วมใจ ของสมาชิกชุมชน การแบ่งงาน ช่วยเหลือ สนับสนุนกัน..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท