ทศพิธราชธรรม


หลักธรรมข้อสำคัญที่ใช้ในการปกครองประเทศ

       วันนั้นได้ยินแว่ว ๆ ในสภาอันทรงเกียรติเกี่ยวกับหลักธรรมข้อสำคัญที่ใช้ในการปกครองประเทศ ที่ชื่อว่าทศพิธราชธรรม ก็คิดอยู่หลายวัน ยังไม่ได้มีโอกาสเข้ามาเขียนบันทึก ด้วยเห็นว่าทศพิธราชธรรมนั้นเหมาะสำหรับนักปกครองทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศ หากว่าผู้บริหารทั้งปวงได้น้อมนำเอาไปปฏิบัติ  ยังตนให้ตั้งอยู่ในธรรมะนี้ได้  ความสุขและความอิ่มเอิบใจก็จะบังเกิดขึ้น  ถ้าหากเป็นผู้นำไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามแล้วไซร้ ก็จะใช้อำนาจวาสนาบารมีเข้าข่มขี่ รังแกประชาชนและผู้ใต้ปกครองเสมอ ๆ จึงก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งในทุก ๆ ที่  ไม่ว่าฝ่ายอาณาจักรหรือศาสนจักร หากมีอำนาจแล้ว  ใช้อำนาจไม่เป็น  อำนาจนั้นเองจะกลับกลายมาเป็นเครื่องบั่นทอนให้เสื่อมลง  ฉะนั้นบุคคลเมื่อมีอำนาจวาสนา  เป็นผู้นำกลุ่มชนแล้ว  ต้องมีต้องได้ให้ดี  และเป็นผู้นำที่ต้องเป็นให้ถูกจึงจะสามารถครองใจประชาชนได้  หลักธรรมที่ว่านี้มี 10 ประการคือ
       1.  ทาน  การแบ่งปัน  การให้  การสงเคราะห์
       2.  ศีล  การรักษากาย วาจา ให้เป็นปกติ
       3.  บริจาค  การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน  เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
       4.  อาชชวะ  ความเป็นผู้ซื่อตรง
       5.  มัททวะ   ความเป็นผู้อ่อนโยน  อ่อนน้อม
       6.  ตบะ  ความเป็นผู้มีความเพียรเพื่อเผาผลาญความชั่ว
       7.  อักโกธะ  ความเป็นผู้เมตตา  กรุณา  ไม่ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด
       8.  อวิหิงสา  ความเป็นผู้ไม่กดขี่  ข่มเหง  เบียดเบียนผู้อื่น
       9.  ขันติ  ความเป็นผู้อดทน  อดกลั้นต่ออุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง
      10. อวิโรธนะ  ความเป็นผู้ประพฤติไม่ผิดพลาดจากธรรม
      เพื่อความเข้าใจและจำง่าย พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์  (ประยุทธ์  ปยุตฺโต)  ท่านได้สรุปความหมายไว้สั้น ๆ ไว้ในหนังสือธรรมนูญชีวิต ว่า
       ทาน...ให้ปันช่วยชาวประชา  ศีล...รักษาความสุจริต  บริจาค...บำเพ็ญกิจด้วยเสียสละ  อาชชวะ...ปฏิบัติภาระโดยซื่อตรง  มัททวะ...ทรงความอ่อนโยนเข้าถึงคน  ตบะ...พ้นมัวเมาด้วยเผากิเลส  อักโกธะ..ถือเหตุไม่โกรธา  อวิหิงสา...มีอหิงสานำร่มเย็น  ขันติ...ชนะเข็ญด้วยขันติ อวิโรธนะ...มิปฏิบัติคลาดจากธรรม
        สรุปอีกที่ว่า  โลกอยู่ได้เพราะการให้  ไว้วางใจเพราะสุจริต  สำเร็จกิจเพราะเสียสละ  ไม่หายนะเพราะซื่อตรง  รักกันมั่นคงเพราะอ่อนโยน  ไม่เสียคนเพราะทนต่ออำนาจกิเลส  ประกอบเหตุด้วยเมตตา  จิตไม่พยาบาท  องอาจเพราะอดทน  ไม่สับสนในจารีตประเพณี     

หมายเลขบันทึก: 212325เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ
  • มาเรียนรู้ครับผม
  • อนุโมทนาสาธุ

ขอบคุณครับ...ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท