ดอกรัก
นาง อมรรัตน์ เปิ้ล เถื่อนทอง

ความขัดแย้ง


การหาความสุขสงบ ต้องขจัดความขัดแย้งที่ใคร
สามขัดแย้ง หนึ่งสมดุล
โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
วิศิษฐ์ วังวิญญู ดำเนินรายการ
ณ ป๋วยเสวนาคาร วันเสาร์ที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๕
ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ ชั่ว ๆ ดี ๆ หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๕

เมื่อวันเสาร์ที่แล้วผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในวงสนทนาของ 'ป๋วยเสวนาคาร'
หัวข้อที่ทางผู้จัดตั้งไว้เป็นเรื่องความงามในงานศิลปวรรณคดี
 ส่วนผู้เข้าร่วมนั้นส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาวราวห้าสิบคนเห็นจะได้
แน่ละ คุยกันสองชั่วโมง เนื้อหาย่อมเคลื่นย้ายไปรอบทิศทาง
แต่คำถามใหญ่ที่ผมต้องตอบ ยังคงมีอยู่ว่าความงามคืออะไร
ผมบอกพวกเขาไปว่าตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้
 อีกทั้งไม่เคยรู้แจ้งในเรื่องไหน หากมีความเข้าใจในบางเรื่องราวอยู่บ้าง
 คงเป็นเพราะพยายามแยกแยะประสบการณ์ที่ผ่านมา
ในทรรศนะของผม หากจะต้องอธิบายความงามอย่างรวบรัดที่สุด
ก็คงกล่าวได้ว่าความงามคือความกลมกลืนของสิ่งขัดแย้ง (Homony of Opposites หรือ Homony of Differences)
ไม่เชื่อลองคิดดูว่าบนใบหน้าของหญิงงาม
 มีสิ่งที่ต่างกันอยู่มากน้อยเพียงใด หูจมูกอยู่ในแนวตั้ง ปากคิ้วตาอยู่ในแนวนอน
 ทั้งหมดถูกจัดวางไว้ในที่ทางอันเหมาะสม หากจัดเรียงใหม่ให้อยู่ในแนวดิ่งหรือแนวราบเหมือนกันหมด
แม้จะเป็นองค์ประกอบชิ้นเดิม ไม่ทราบว่าใบหน้าจะเป็นเช่นใด
เฉกเช่นบนแผ่นภาพจิตรกรรม สีสันที่ปาดป้ายล้วนแตกต่างขัดแย้ง
 แดง นำเงิน เขียว ดำ เหลือง ฯลฯ หรือต่อให้เป็นภาพเอกรงค์ ก็ยังมีแก่อ่อนเข้มจาง
บทเพลงไพเราะ ถึงอย่างไรก็มิอาจเกิดได้ด้วยโน๊ตดนตรีเพียงเสียงเดียว ฯลฯ
ถามว่า ผมให้กำเนิดความเห็นเช่นนี้ออกมาได้อย่างไร
จุดเริ่มต้นกลับมิใช่ภาพเขียนหรืองานปะติมากรรม
หากเป็นภาพชายชาวป่าผู้หนึ่งควงขวานอยู่บนกิ่งแรกของต้นไม้
ยามนั้น ผมเห็นเขายืนเลี้ยงตัวอยู่บนความสูง
ผสานจังหวะสั่นไหวของกิ่งไม้เข้ากับจังหวะเหวี่ยงขวาน
เกิดเป็นความเคลื่อนไหวของเรือนร่างที่พลิ้วคล่องราวร่ายรำ
น้ำหนักกระทำของคมขวาน ที่โค่นตัดต้นไม้ก็เต็มไปด้วยพลัง ดูช่างงดงามลงตัวนัก
ผมเก็บภาพดังกล่าวมาครุ่นคิดดู พบว่าที่คนตัดไม้ทำเช่นนั้นได้ก็เพราะ
รู้จักสร้างความสมดุลท่ามกลางความขัดแย้งหลายประการ
ความขัดแย้งระหว่างน้ำหนักตัวของเขากับแรงดึงดูดของโลก
ความขัดแย้งระหว่างกิ่งไม้กับตัวเขาที่มีมวลสารมากกว่า
ความขัดแย้งระหว่างน้ำหนักขวานกับกล้ามเนื้อบนแขนไหล่
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงความขัดแย้งระหว่างแรงกระแทกของคมขวานกับต้นไม้ที่เขาต้องการตัดโค่น
ในเมื่อเขาสามารถหยิบยืมแรงกดดันทั้งหมดมาดีดส่งจังหวะกระทำของตนเอง
ภาพที่เกิดขึ้นจึงลื่นไหลกลมกลืนและมีพลังอย่างยิ่ง
จากนั้นผมจึงสรุปได้ว่าความงามคือความกลมกลืนหรือความสมดุลระหว่างสิ่งขัดแย้ง
 และความงามที่แท้จริงนับเป็นสิ่งที่มีพลัง
ข้อเตือนใจมีเพียงอย่างเดียวคือ เนื่องเพราะสรรพสิ่งในโลกล้วนอยู่ในสภาวะเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนต่อเนื่อง
 ดังนั้นไม่มีความสมดุลอันใดที่ถาวรเป็นนิรันดร์ ดังนั้นไม่มีความงามใดที่ปรากฏอยู่ชั่วนิรันดร์
เพียงแต่ความสมดุลสามารถบังเกิดใหม่ได้ หากเรารู้เท่าทันสภาวะที่แปรเปลี่ยนไป

ถามว่าแล้วชีวิตคนเล่า จะต้องจัดการความขัดแย้งอะไรบ้าง จึงจะบังเกิดความสมดุล
บังเกิดความงาม และบังเกิดพลัง?
ต่อเรื่องนี้ ผมได้อธิบายให้คนหนุ่มสาวฟังว่าจากประสบการณ์ที่อยู่มาโลกห้าสิบกว่าปี
ผมเห็นพวกเราเวียนว่ายอยู่ในความขัดแย้งใหญ่สามประการ
ประการแรกคือขัดแย้งกับตัวเอง ประการต่อมาขัดแย้งกับธรรมชาติ หรือเอกภพ
ก่อนกล่าวต่อผมคงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนสักนิดว่าที่เรียกว่า 'ขัดแย้ง' นั้น
โดยพื้นฐานแล้วมิได้หมายความถึงการทะเลาะเบาะแว้งในแง่มุมที่ใช้กันทั่วไป
หากหมายถึงการดำรงอยู่ทับซ้อนที่ตกลงกันไม่ได้
เว้นไว้แต่จะมีการขยับเคลื่อนให้กันและกัน หรือไม่หักล้างกันไปข้างใดข้างหนึ่ง
เราขัดแย้งกับตัวเอง เพราะโดยส่วนมากแล้วเรามักมีปรารถนาที่ขัดแย้งกัน
หรือบางทีก็ทะเยอทะยานฝันใฝ่ในสิ่งที่ตัวเองไม่มีศักยภาพจะบรรลุถึงได้
เราขัดแย้งกับผู้อื่น เพราะการดำรงอยู่ของเราเริ่มต้นก็ต้องการพื้นที่
 และเงื่อนไขหลายประการมารองรับ ยิ่งขยายความต้องการให้พ้นเกินไปจากความจำเป็น
การแย่งชิงเงื่อนไขต่าง ๆ กับเพื่อนมนุษย์ยิ่งรุนแรงเข้มข้น
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากความคิดความเชื่อที่ปราศจากวินัยทางปัญญา
สุดท้าย เราขัดแย้งกับธรรมชาติก็มี
 เพราะชีวิตคนจะดำรงอยู่ได้ล้วนต้องหยิบเงื่อนไขจากธรรมชาติ
 ไม่ว่าอากาศ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยวัตถุปัจจัยที่มาจากธรรมชาติทั้งสิ้น
 กฎกติกาดังกล่าวหากไม่ตั้งอยู่ในความสมดุล
จากอิงแอบก็จะกลายเป็นรุกรานจนกระทั่งธรรมชาติหวนมาหักล้างการดำรงอยู่ของเรา
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การดำรงอยู่ของความขัดแย้งเหล่านี้
 เป็นเรื่องราวของภววิสัยที่ไม่อาจเลี่ยงพ้น
แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือการจัดการพลังขัดแย้งให้อยู่ในความสมดุล
 หาไม่แล้วสิ่งตรงข้ามทั้งหลายทั้งปวงก็จะหักล้างกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย
 ความขัดแย้งที่ไม่ควรเป็นปฏิปักษ์กลายเป็นสงครามรุนแรง
เกิดมาชาติหน้ามีแต่ทะเลาะกับตัวเอง ทะเลาะกับเพื่อนมนุษย์ และทะเลาะกับจักรวาล
ครับ ผมคงไม่ต้องเอ่ยก็ได้ว่าผู้คนในสังคมไทยเวลานี้
หรือแม้แต่มนุษยชาติในช่วงปัจจุบัน ได้สูญเสียความสมดุลไปมากแค่ไหนแล้ว
 แทนที่เราจะหยิบยืมพลังของสิ่งแตกต่างมาสร้างความกลมกลืนและความงามของชีวิต
กลับดำเนินการหักล้างทั้งตัวเอง ผู้อื่น และโลกธรรมชาติอย่างบ้าคลั่งเมามัน
นับวันชีวิตของพวกเราจึงยิ่งไร้ทั้งความงามและพลัง
อย่างไรก็ตาม ผมบอกกับคนหนุ่มสาวที่กรุณามารับฟังคนแก่อย่างผมว่า
จริง ๆ แล้วความงามเป็นเรื่องของอัตวิสัย ซึ่งหมายถึงว่าอยากเห้นสิ่งใดงาม
ก็ต้องเอาตัวเองเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องทั้งควรเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้อง
ทั้งควรเข้าไปในห้วงยามที่เหมาะสม และจัดวางตนเองไว้ในมุมมองที่ถูกต้อง

กล่าวเช่นนี้แล้ว ทำให้ผมนึกออกว่าท่ามกลางความสับสนอลหม่าน
อันเนื่องมาจากสภาวะไร้สมดุลของความขัดแย้งใหญ่สามประการนั้น
เรายังสามารถสร้างความสมดุลได้หนึ่งอย่าง คือจัดการกับความข้ดแย้งภายในตัวเราเอง
เลิกเพ้อเจ้อทะเยอทะยานเกินความชั่วคราวของชีวิต
 เลิกสร้างอัตลักษณ์ลวงด้วยปัจจัยภายนอก แล้วหันมาสร้างความสงบสมดุลตลอดจนความงามจากด้านใน
จากนั้นเราอาจจะมีพลังจัดการความขัดแย้งที่เหลืออีกสองประการ
เฉกเช่นคนตัดต้นไม้ หากไม่มีสมาธิสมดุลทางอัตวิสัย
ไหนเลยจะสามารถยืมแรงโน้มถ่วงของโลกมาใส่คมขวาน

พูดไปพูดมา เรื่องของวิถีชีวิต...วิถีธรรมก้ยิ่งทวีความสำคัญ
 
คำสำคัญ (Tags): #ป.บัณฑิต รุ่น 32550
หมายเลขบันทึก: 212131เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท