ประเพณีสารทเดือนสิบ


ประเพณ๊ภาคใต้
ประเพณีสารทเดือนสิบ ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช เป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย และได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ประเพณีสารทเดือนสิบมีพื้นฐานมาจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ว่า ในวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ พญายมจะปล่อย “เปรต” จากนรกภูมิให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องของตนในเมืองมนุษย์ และให้กลับขึ้นสู่นรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ โอกาสนี้ชาวบ้านจึงจัดให้มีกาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับพ่อแม่ ปู่ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว งานบุญนี้ถือว่าเป็นงานสำคัญวันหนึ่งวงศ์ตระกูล ในอันที่จะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาจิตต่อบรรพชน เป็นงานรวมญาติรวมความรักแสดงความสามัคคี เป็นการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นบรรดาญาติพี่น้องจากทั่วทุกสารทิศก็จะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมเพื่อร่วมทำบุญในประเพณีที่สำคัญนี้ ความมุ่งหมายของประเพณีสารทเดือนสิบ ประเพณีสารทเดือนสิบ มีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่ด้วยเหตุที่วิถีชีวิตของชาวนครศรีธรรมราชเป็นวิถีชีวิตแห่งพระพุทธศาสนาในสังคมเกษตรกรรม จึงมีความมุ่งหมายอื่นร่วมอยู่ด้วย 1. เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องหรือบุคคลอื่นผู้ล่วงลับไปแล้ว 2. เป็นการทำบุญ ด้วยการเอาผลผลิตทางการเกษตรแปรรูปเป็นอาหารถวายพระสงฆ์ รวมถึงการจัดหฺมฺรับถวายพระในลักษณะของ “สลากภัต” นอกจากนี้ยังถวายพระในรูปของผลผลิตที่ยังไม่แปรสภาพ เพื่อเป็นเสบียงแก่พระสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษาในฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว และเพื่อผลในการประกอบอาชีต่อไป 3. เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสนุกสนานรื่นเริงประจำปี เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกประเพณีของชาวนคร แต่ประเพณีนี้มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุก ๆ ปี เรียกว่า “งานเดือนสิบ” ซึ่งงานเดือนสิบนี้ได้จัดควบคู่กับประเพณีสารทเดือนสิบ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2466 จนถึงปัจจุบัน วิถีปฏิบัติ และพิธีกรรม ในแต่ละท้องที่อาจมีพิธีกรรมและการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปบ้าง กล่าวคือ บางท้องถิ่นจะประกอบพิธีในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ ครั้งหนึ่ง และประกอบพิธีในวันแรม 13 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ เดือน สิบ อีกครั้งหนึ่ง สำหรับชาวนครนั้น หากประกอบพิธีในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ จะเรียกว่า “วันหฺมฺรับเล็ก” ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่นิยม ส่วนใหญ่จะนิยมประกอบพิธีในวันแรม 13ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ เดือน สิบ ซึ่งเรียกว่า “วันหฺมฺรับใหญ่” ดังนั้น ประเพณีวันสารทเดือนสิบของนครศรีธรรมราชจะมีวิถีปฏิบัติและพิธีกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองพอสรุปได้ดังนี้ 1. การเตรียมการ ก่อนถึงวันสารทเดือนสิบ แต่ละครอบครัวจะเตรียมจัดหาข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้พร้อม ในอดีตจะมีธรรมเนียมการออกปากเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวเพื่อนำมาใช้ทำขนมประจำเทศกาลชนิดต่าง ๆ แต่วิถีปัจจุบันได้เปลี่ยนไป เพราะขนมประจำเทศกาลและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มีการวางขายโดยทั่วไป การรวมกลุ่มแสดงพลังสามัคคีจึงเลือนหายไปกับความเจริญทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุ การเตรียมการในปัจจุบันจึงเป็นเพียงการหาซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้พร้อมเพื่อการจัดหฺมฺรับ ซึ่งมักกระทำในวันแรม 13 ค่ำ เดือนสิบ โดยเรียกวันนี้ว่า “วันจ่าย” 2. การจัดหฺมฺรับ เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเรียกกันว่า “วันหลองหฺมฺรับ” แต่ละครอบครัวจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดเป็นหฺมฺรับ (สำรับ ที่ใช้ในการใส่ของทำบุญ) ในการจัดหฺมฺรับนั้นไม่มีรูปแบบที่แน่นอน จะจัดเป็นรูปแบบใดก็ได้ แต่ลำดับการจัดของลงหฺมฺรับจะเหมือน ๆ กัน คือ เริ่มต้นจะนำกระบุง กระจาด ถาด หรือกะละมัง มาเป็นภาชนะ แล้วรองก้นด้วยข้าวสาร ตามด้วยหอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ ต่อไปก็ใส่ของจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม และผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน ๆ เช่น ฟักเขียว ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น มัน ลางสาด เงาะ ลองกอง กล้วย อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ ฯลฯ จากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ไต้ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย และเครื่องเซี่ยนหมาก สุดท้ายก็ใส่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการจัดหฺมฺรับ คือ ขนม 5อย่าง ( บางท่านบอกว่า 6 อย่าง ) ซึ่งขนมแต่ละอย่างล้วนมีความหมายในตัวเอง คือ ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น ในกรณีที่มีขนม 6 อย่าง ก็จะมีขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอน รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดเครื่องเล่นและของใช้ต่าง ๆ ที่ผู้ตายเคยชอบจัดลงหฺมฺรับไปด้วย เช่น หากผู้ตายชอบไก่ชนก็จะใส่ตุ๊กตาไก่ชนใส่ลงไปด้วย โดยเชื่อว่าผู้จัดจะได้รับอานิสงส์มากยิ่งขึ้น 3. การยกหฺมฺรับ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็นวันยกหฺมฺรับ ต่างก็จะนำหฺมฺรับพร้อมภัตตาหารไปวัด โดยแต่ละคนจะแต่งตัวอย่างสะอาดและสวยงาม เพราะถือเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ วัดที่ไปมักจะเป็นวัดใกล้บ้านหรือวัดที่ตนศรัทธา การยกหฺมฺรับไปวัดอาจต่างครอบครัวต่างไปหรืออาจจัดเป็นขบวนแห่ ทั้งนี้เพื่อต้องการความสนุกสนานรื่นเริงด้วย วัดบางแห่งอาจจะจัดให้มีการประกวดหฺมฺรับอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาในงานเดือนสิบ ซึ่งในช่วงนี้สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวประชาสัมพันธ์หมู่บ้านไปในตัว เมื่อขบวนแห่หฺมฺรับมาถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน “ตั้งเปรต” เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน “หลาเปรต” โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะเป็นขนมทั้ง 5 หรือ 6 อย่างดังกล่าวข้างต้น รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่บรรพชนชอบ ตั้งเปรตเสร็จแล้ว พระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน “ชิงเปรต” โดยการแย่งชิงอาหารบนหลาเปรต ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว สิ่งนี้อาจเป็นอุบายแสดงให้เป็นรายกับว่ามีเปรตมากินอาหารจริง ๆ เพื่อให้ลูกหลานได้เห็นว่าเปรตมีลักษณะตัวตนเป็นอย่างไร จะได้มีทำบาปกรรมใด ๆ ตายไปจะได้ไม่ต้องลำบาก ให้ทำแต่กรรมดี ทำบุญกุศล ตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ ไม่ต้องตกนรกเหมือนเปรตต่าง ๆ เมื่อเสร็จสิ้นการชิงเปรตต่างก็แยกย้ายกลับบ้านด้วยใจอิ่มบุญ ขนมเดือนสิบ เอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรม สู่อาชีพของชุมชน "ขนมเดือนสิบ" เป็นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ของประเพณีบุญสารทเดือนสิบของชาวนครศรีธรรมราช และคนในบางพื้นที่ของภาคใต้ มีด้วยกัน 5 ชนิด คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ และขนมกง ขนมทั้ง 5 ชนิด ทำจากแป้งข้าวเป็นส่วนผสมหลัก ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพกาล ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ผสมผสานกับคติพุทธ ที่เมื่อถึงหน้าเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ (วัน แรม 1 ค่ำ เดือนสิบ ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ) ประมาณเดือนกันยายน หรือตุลาคมของทุกปี ชาวพุทธทุกครอบครัวจะต้องช่วยกันเตรียมข้าวของ และลงไม้ลงมือร่วมกันทำขนมสำคัญทั้ง 5 อย่าง ไว้เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เพื่อเลี้ยงต้อนรับบุตรหลาน ญาติมิตร และเพื่อเป็นของฝาก หรือแลกเปลี่ยนกัน แต่ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป ประเพณีการทำขนมเดือนสิบในครอบครัวไทยพุทธ เริ่มมีสัดส่วนลดลง แต่จะใช้วิธีการซื้อหาจากตลาดที่มีพ่อค้า แม่ค้า ทำออกขายกันมากขึ้น เป็นการสร้างงานสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว ตามความเชื่อของชาวนครศรีธรรมราช ที่ใช้ขนมอันเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีบุญสารทเดือนสิบใช้จัดเป็นสำรับ (หมรับ) ในวันทำบุญใหญ่ แบ่งตามชนิดขนม วัสดุที่ใช้ทำขนม และความเชื่อ ดังนี้ 1. ขนมพอง ทำด้วยข้าวเหนียวนึ่ง อัดเป็นแผ่นรูปต่างๆ บางแห่งใช้สีผสมอาหาร ผสมให้เป็นสีต่างๆ นำแผ่นข้าวเหนียวที่ได้ไปตากแดดจนแห้ง แล้วทอดให้พองในน้ำมันที่ร้อน จัด ขนมพองเป็นสัญลักษณ์และความหมายว่า ลูกหลานได้ส่งแพให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ไปเป็นพาหนะเดินทางข้ามห้วงมหรรณพ 2. ขนมลา ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า ผสมน้ำตาล โรยทอดในกระทะที่ทาด้วยน้ำมันร้อนๆ โรยเป็นแผ่นบางๆ ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อว่า ขนมลาใช้แทนเสื้อผ้า แพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม ส่งไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับได้นุ่งห่มปกปิดร่างกาย 3. ขนมบ้า ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว ผสมน้ำตาลเคี่ยว ปั้นเป็นรูปกลมๆ แบนๆ นำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อว่า ขนมบ้าใช้แทนลูกสะบ้า ส่งไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับใช้ละเล่นเพื่อความสนุกสนาน 4. ขนมดีซำ ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า ผสมน้ำตาลเคี่ยว ปั้นเป็นรูปวงกลม มีรูตรงกลาง ทอดในน้ำมันร้อนๆ ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อว่า ขนมดีซำใช้แทนเงินเบี้ย ส่งไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับได้ใช้จ่าย 5. ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา ทำด้วยแป้งถั่วเขียว ผสมน้ำตาลเคี่ยวชุบแป้งข้าวเหนียวทอดในน้ำมันร้อนๆ ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อว่า ขนมกงหรือขนมไข่ปลา ใช้แทนเครื่องประดับ สำหรับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ใช้เป็นเครื่องประดับ ตกแต่งร่างกายเพื่อความสวยงาม
หมายเลขบันทึก: 212038เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 00:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท