การพัฒนาศักยภาพนักเรียนด้านการคิด


การพัฒนาการคิด
1. ชื่อนวัตกรรม มิติการคิดอย่างมีคุณภาพ ((Dimensions of Quality Thinking) การพัฒนาศักยภาพนักเรียนด้านการคิดด้วยกระบวนการเรียนรู้ ควบคู่การวิจัย 2. สนองกลยุทธ์ สพฐ. ข้อที่ 3 กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ 3. จุดประสงค์ 1. เพื่อสร้างกิจกรรมพัฒนาทักษะการคิด 2. เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนด้านการคิด ด้วยกระบวนการเรียนรู้ ควบคู่การวิจัย 3. เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันของนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 4. แรงบันดาลใจ ปัญหาของการจัดการเรียนการสอนมักจะพบว่านักเรียนขาดทักษะการคิดที่ถูกต้องซึ่งเราก็คงได้พบเห็นในโรงเรียน และในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในเรื่องของการคิด คิดผิด คิดเอาเปรียบ คิดไม่เป็น เลียนแบบผู้อื่น ไม่คิด ติดนิสัยพึ่งพาผู้อื่น เชื่อตัวบุคคล เชื่อสื่อโดยไม่ไตร่ตรอง คิดแล้วไม่ทำ ปล่อยให้คนที่รับผิดชอบไปทำคนเดียว ปัจจุบันสังคมไทย มีปัญหาความขัดแย้งกันให้เห็นอย่างชัดเจน การเห็นแก่ตัว ขาดคุณธรรม จริยธรรม การกระทำในสังคมไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ความมีน้ำใจในสังคมก็น้อยลงทุกที เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย ที่จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและค่านิยมของเด็กและเยาวชนมากขึ้น ซึ่งสามารถจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา สภาพบริบทของนักเรียนโรงเรียนวัดใดใหญ่ ร้อยละ 80 จะอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง เนื่องจากบิดา มารดาต้องเดินทางไปทำงานในกรุงเทพฯ ครอบครัวขาดความอบอุ่น นักเรียนส่วนใหญ่จะขาดความรับผิดชอบเพราะขาดความเอาใจใส่จากผู้ปกครอง พฤติกรรมที่แสดงออกจะเป็นเรื่องการแต่งกายที่ไม่ถูกกาละเทศะ การคบเพื่อนที่ไม่สนใจเรียน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่นการใช้โทรศัพท์มือถือราคาแพง สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากนักเรียนขาดการคิดที่ถูกทาง ไม่มีทักษะพื้นฐานในการคิดที่ดี จึงทำให้กระบวนการคิดไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง ที่จะผิดศีลธรรม อีกทั้งในโลกยุคไร้พรมแดนที่ข่าวสารที่อยู่แดนไกลสามารถมาถึงตัวนักเรียนได้เพียงแค่คลิกนิ้วมือ นั่นคือโลกของอินเตอร์เน็ตที่มีข้อมูลทั้งที่เป็นประโยชน์ และโทษมหันต์ ทำอย่างไรที่นักเรียนของเราจะเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ ทำอย่างไรนักเรียนจะมีวิธีการเลือก และตัดสินใจเลือกรับในสิ่งที่มีคุณค่าต่อตนเอง และสามารถสร้างสิ่งที่มีคุณค่าต่อผู้อื่นได้ด้วยตัวของเขาเอง จากปัญหาดังกล่าวทำให้ครูต้องหันมาทบทวนกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเองว่าได้มีการพัฒนากระบวนการคิดหรือความสามารถทางการคิดของผู้เรียนเพียงพอหรือยัง เทคนิคการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความสามารถการคิดจึงนับเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของครูในยุคปัจจุบัน 5. กระบวนการได้มาซึ่งนวัตกรรม / วิธีการปฏิบัติ การพัฒนาศักยภาพด้านการคิดของนักเรียน เริ่มทดลองใช้กิจกรรมฝึกคิด ในปี 2548 – 2549 มีการพัฒนาปรับปรุง และนำใช้ในปี 2550 พร้อมกับการจัดกระบวนการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดควบคู่การวิจัยในชั้นเรียน โดยกำหนดกรอบการทำงานเป็น 2 ระยะ ระยะแรก เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีเนื้อหาสาระตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียนสร้างทักษะการคิดจากแหล่งเรียนรู้แก้ปัญหาจากสภาพจริง เทคนิคการส่งเสริมความสามารถการคิดที่จัดทำขึ้นเป็นนวัตกรรมลักษณะชุดฝึกการคิดชื่อ มิติความคิด...อย่างมีคุณภาพ โดยใช้ทักษะการคิดแบบนิรนัย (Deductive) เป็นการสอนวิธีการใช้ทักษะการคิดทางอ้อม คือ การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนดำเนินการคิดตามกระบวนการคิดที่เหมาะสมของทักษะการคิดที่ต้องการฝึกฝน ใช้เนื้อหาสาระเป็นสื่อเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนจะได้วิธีการคิดนั้นๆไปในตัว มีทั้งหมด 10 กิจกรรม ๆ ละ 3 – 4 ชั่วโมง ดังนี้  กิจกรรมร้อยเรียงรูปภาพ  กิจกรรมศิลปะจากธรรมชาติ  กิจกรรมดูซิ...ฉันพบอะไร  กิจกรรมจดหมายถึง...ต้นไม้  กิจกรรม Roundtable  กิจกรรมวาดภาพตามคำสั่ง  กิจกรรมบูรณาการการเคลื่อนไหวในสาระการเรียนรู้  กิจกรรมการใช้เหตุผล  กิจกรรม Mind Mapping  กิจกรรมการนำเสนอแผนผังความคิด สู่ บทเพลง กิจกรรมส่งเสริมความสามารถทางการคิดของนักเรียนใช้เวลาดำเนินงาน ประมาณ 2 – 3 เดือนและในการตรวจสอบผลงานการคิดที่มีคุณภาพของนักเรียน หรือการประเมินการคิด (Assessment Thinking) จะใช้ การประเมินระดับคุณภาพ (Rubrics) ซึ่งเกณฑ์การประเมินบางกิจกรรมก็ให้ผู้เรียนกำหนดเกณฑ์ขึ้นเอง ความจริงการประเมินความคิดจะมีด้วยกันหลายวิธี การประเมินโดยการฟัง เช่น การฟังนักเรียนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การสนทนา รายงานหน้าชั้นเรียน ซึ่งครูต้องฟังว่านักเรียนคิดอย่างไร การตั้งคำถามแลกเปลี่ยนความรู้ในห้องเรียนจะทำให้รู้ว่าเด็กคิดในระดับไหน ระยะที่สอง เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นเนื้อหาสาระ พัฒนาการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน ดำเนินการวิจัยควบคู่กับการเรียนของนักเรียนซึ่งในการทดลองการพัฒนาศักยภาพการคิดครั้งนี้ครูผู้สอนใช้เนื้อหาสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม(เศรษฐศาสตร์)โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ V10 ของโครงการ Intel Teach ภาพรวมของการจัดการเรียนการสอนหน่วยการเรียนรู้นี้ ใช้รูปแบบการประเมิน ก่อน เรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียน โดยก่อนเรียนเป็นการประเมินโดยใช้แบบทดสอบ ตรวจสอบพื้นฐานความรู้เดิม ของนักเรียนและในระหว่างเรียนมีการประเมินการทำงานเป็นรายบุคคล แสดงความคิดเห็นผ่าน e- mail และประเมินพฤติกรรมการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม การทำงานกลุ่มการเขียนรายงานตาม แนวคิดของนักเรียนในขณะที่นักเรียนปฏิบัติงานกลุ่ม และใช้เกณฑ์การประเมินเชิงคุณภาพแบบ Rubrics ในการประเมินโครงงานกลุ่มของนักเรียน ในระหว่างการจัดการเรียนการสอน ได้จัดทำรายงานการวิจัยเรื่องการพัฒนาทักษะกระบวนการคิด และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิด ของนักเรียนเรียนควบคู่ไปด้วย ผลการวิจัยพบว่า ค่าความแตกต่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และทักษะกระบวนการคิดหลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05 6 การออกแบบนวัตกรรม ได้คิดรูปแบบการทำงาน อย่างเป็นระบบเรียกว่า SASA MODEL ความหมายคือ 1. Self regulation การคิดอย่างมีสติ มีคุณธรรมสร้างค่านิยมต่อตนเองและผู้อื่น เป็นการสร้างระดับคุณภาพการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดเป็นทักษะการคิดที่ฝังแน่น ลุ่มลึกกับนักเรียน 2. Active Learning คือการจัดกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำ ปฏิบัติด้วยตนเอง ด้วยความกระตือรือร้น เช่น ได้คิด ค้นคว้า ทดลอง รายงาน จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย ทั้งบุคคลและเครื่องมือทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนกับสิ่แวดล้อมที่เป็นมนุษย์ และธรรมชาติ นักเรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ตามหลักการที่ว่า “ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์” 3. Student’s work ผลงานนักเรียนที่เกิดจากกระบวนการคิดที่มีคุณภาพ เป็นหลักฐานของการเรียนรู้ซึ่งอาจจะทำงานคนเดียว เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่ม ข้อสำคัญครูต้องดึงความคิดของนักเรียนออกมาโดยให้นักเรียนร่วมกันสะท้อนความคิด ร่วมสรุป เพื่อการตัดสินใจ 4. Authentic Assessment มิติการประเมินอย่างมีคุณภาพ เป็นการประเมินเพื่อการปรับปรุงและพัฒนา (Improve the design activities & fine student develop) การจัดกิจกรรมแบบ Active Learning โดยนำทฤษฎีการเรียนรู้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้มาใช้ในการออกแบบ ดังนี้ 1. ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of multiple intelligences) ของ การ์ดเนอร์ ที่มีการพัฒนาการคิด แบบ พหุปัญญา 8 ด้าน คือ ด้านภาษา / ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ / ด้านดนตรี / ด้านการเคลื่อนไหว / ด้านศิลปะ มิติสัมพันธ์ / ด้านการสื่อสาร / ด้านความรู้สึกเข้าใจตนเอง / ด้านเข้าใจธรรมชาติ 2. กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ ไตรสิกขา แนวคิดของ ศาสตราจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นศีล การควบคุมตนเองให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยปกติ ขั้นสมาธิ เป็นขั้นรวบรวมจิตใจให้อยู่จุดเดียว ขั้นปัญญา เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถใช้สมาธิในการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนจนเกิดการเรียนรู้ 3. กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ 4 MATของนักการศึกษา McCarthy โดยประยุกต์แนวความคิดของ Kolb เกี่ยวกับการเรียนรู้และการทำงานของสมอง 2 ซีก ซีกซ้าย มีศักยภาพเกี่ยวกับภาษา การฟัง ความจำ วิเคราะห์ จัดลำดับ คำนวณ เหตุผลเชิงตรรกะ ซีกขวา มีศักยภาพเกี่ยวกับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ ศิลปะ ดนตรี มิติสัมพันธ์ การเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนใช้สมองซีกซ้าย และซีกขวาอย่างเท่าเทียม และสมดุล 6.1 ขั้นตอนการจัดกิจกรรม 4 ขั้นตอน คือ 1. นำเสนออย่างน่าสนใจ ครูใช้บทเพลงที่มีท่วงทำนองนุ่มนวล หรือใช้บทเพลงที่มีความหมาย เช่น เพลงต้นไม้ของพ่อ เปิดเบา ๆในขณะนักเรียนนั่งสมาธิ ใช้จังหวะของการพูดเพื่อสร้างบรรยากาศให้นักเรียนพร้อมที่จะเรียนรู้ 2. เปิดใจเรียนรู้สู่...การค้นคว้า ดำเนินกิจกรรมตามกำหนด 3. สรุปหาหลักการ...ทำงานตามความคิด นักเรียนจะมีการนำข้อมูลที่ได้มาจัดกระทำ และผลิตชิ้นงานทั้งการพูด การเขียน 4. เพิ่มพูนทักษะชีวิต..ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นักเรียนนำเสนอรายงานมีการประเมิน วิจารณ์ผลงานร่วมกัน 7. ข้อมูลแสดงผลงานที่ประสบความสำเร็จ การสอนผู้เรียนในระดับประถมศึกษาซึ่งเป็นวัยที่มีความสนใจในระยะสั้น การใช้กิจกรรมนำให้ผู้เรียนพร้อมที่จะเรียนอย่างมีสมาธิ มีบทเพลง เรื่องสั้น การใช้คำถามของครูช่วยให้รียนสนใจ เกิดความสนุก ผ่อนคลายความเครียด ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนมีชีวิต การใช้ กิจกรรม มิติการคิด...อย่างมีคุณภาพสามารถนำไปใช้บูรณาการกับสาระวิชาอื่นได้ดี เพราะเป็นการฝึกทักษะชีวิต (Life Skill)ที่นักเรียนสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในห้องเรียน และในความเป็นจริงของชีวิตประจำวันสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้น เรียนโดยใช้แหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัว เรียนรู้แบบร่วมมือ หลังการทดลองใช้นวัตกรรมได้นำแนวคิดและกิจกรรมเผยแพร่ให้เพื่อนครูในโรงเรียน และโรงเรียนใกล้เคียง คือ โรงเรียนวัดธรรมเจดีย์ ในลักษณะ Peer Coachingและนำเสนอในกลุ่มพัฒนาเครือข่ายคุณภาพการศึกษาลุ่มน้ำลพบุรี ในงานนิทรรศการ Open House และใน งานนวัตกรรมการศึกษา Symposium 2007 เป็นผู้นำเสนอ นวัตกรรมการศึกษา Good Best Practice ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต 1 และได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจาก สพท.ลบ.1 เข้ารับการประเมินนวัตกรรมดีเด่นในระดับเขตตรวจราชการที่ 5 (สระบุรี เขต 1,2 / ลพบุรี เขต 1,2 / สิงห์บุรี / ชัยนาท) ได้รับการคัดเลือกเป็นนวัตกรรมดีเด่นในระดับเขตตรวจราชการที่ 5 อันดับที่ 2 ได้รับเกียรติบัตร จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2008ได้นำเสนอผลงาน เผยแพร่กับเพื่อนครู ในงานตลาดนัดวิชาการ สร้างสรรค์นวัตกรรม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง คู่เคียงลพบุรีมหานครแห่งการเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 211683เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2008 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับครูแอนสุดสวยตอนนี้ผมอยู่ชายแดนเขมร ร.ร.ส.ไทยเสรีอุตสาหกรรม 3 อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว คิดถึงครูทุกคนใดใหญ่ โดยเฉพาะครูแอน สบายดีนะครับฝากความคิดถึงถึงเด็ก ๆ ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท