เมื่อไปเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวานกับโรงพยาบาลเลย


ปัญหาเรื่องการเกิดแผล อัตราการตัดเท้าตัดขาในผู้ป่วยเบาหวานคงลดลง คุณภาพชีวิตของเขาก็ดีขึ้น นับว่าโชคดีที่ผู้ป่วยเบาหวานของเมืองเลยจะได้รับบริการตรงส่วนนี้.

 

 

เมื่อวันที่ 12 กย.51 มีโอกาสไปที่จังหวัดเลยอีกครั้ง โดยทางโรงพยาบาลเลย กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โดยมีผู้ประสานงานคุณน้องไก่(สุณิสา)ได้เชิญเจ้าหน้าที่คลินิกเท้าของเราซึ่งก็ได้แก่คุณเปรมสุรีณ์และดิฉันเท้าทั้งสองข้างนะแหละ ไปเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวานกับโรงพยาบาลเลย  ในโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อการดูแลสุขภาพเท้าผู้ป่วยเบาหวาน ของอำเภอเมืองเลย 

โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานในโรงพยาบาลเลย และหน่วยงานสาธารณสุขเครือข่ายโรงพยาบาลเลย ให้สามารถนำไปพัฒนาการปฏิบัติงาน เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้รับบริการ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานเบาหวานที่ปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตจังหวัดเลย ทั้งหมด 20 แห่ง รวมทั้งสิ้น 60 คน (ตอนแรกประสานงานแจ้งยอดกับเรา 25 คน พอก่อนวันมา เพิ่มเป็น 35 คน ตกตอนเย็น วันมาถึง น้องไก่ผู้ประสานงานบอกว่า เพิ่มเป็น 55 คน และพอตอนเช้าก่อนเริ่มการแลกเปลี่ยน ปรากฏว่าเพิ่มเป็น60 คน ว้าว! ตอนแรกก็คิดว่าสบายๆง่ายๆกันเอง แต่พอทราบจำนวนครั้งหลังสุดก็เริ่มเกร็ง แต่อ้อ เปรมสุรีณ์เสียอย่าง สามารถค่ะ)

ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากทีมเจ้าหน้าที่รพ.เลย (ตั้งแต่แรกรับเมื่อถึงเมืองในตอนค่ำๆเลยเลยทีเดียว น้องๆพาไปทานอาหารร้านอร่อย) ในตอนเช้าโดยมีท่านหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล ดร.จิตรศิริ ขันเงิน มาให้กำลังใจด้วยค่ะ ส่วนคุณอ้อ เปรมสุรีณ์ รู้สึกว่าจะเป็นที่รู้จักของคนจังหวัดเลยเพราะเคยมาสร้างวีรกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วครั้งหนึ่ง 

เริ่มแรกนพ.ไกรฤทธิ์ ติยะกุล หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม รพ.กล่าวรายงาน ท่านผู้อำนวยการรพ.นพ.สุรชัย นิวัตยะกุล กล่าวเปิดงาน ได้พูดถึงปัญหาแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้า ออก รพ.บ่อยๆ การอบรมครั้งนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพแก่เจ้าหน้าที่ในการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน และมีการสร้างเครือข่ายการดูแลร่วมกัน จะมีประโยชน์ยิ่งในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานได้

ท่านผู้อำนวยการรพ.นพ.สุรชัย นิวัตยะกุล กล่าวเปิดงาน

 

หลังจากนั้น นพ.ไกรฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม(รพ.เลยมีแผนก wound care unit ด้วยค่ะ) ได้บรรยายในหัวข้อ Overview of diabetic foot ได้บรรยายถึง และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องภาวะแทรกซ้อนที่เท้า การเกิดปัญหา ปัญหาที่ตามมาตั้งแต่ การเกิดแผล การดูแลรักษา จนกระทั่งถึงการตัดเท้าตัดขาตามมาส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานและครอบครัว

สรุปConclusion ของ section นี้ของ  นพ.ไกรฤทธิ์ เพื่อต้องการให้

1.รู้ความสำคัญของภาวะ Diabetic Ulcer

2.รู้กลไกการเกิด Diabetic Ulcer

3.รู้ขบวนการ วินิจฉัยและการรักษา Diabetic Ulcer โดยสังเขป

4.สามารถให้คำแนะนำและดูแลรักษาในเบื้องต้นได้

5.สามารถพัฒนาระบบ early detection & transfer

6. Diabetic Ulcer เป็นสาเหตุสำคัญของ lower limb amputation

7.กระบวนการ ดูแล รักษา ผู้ป่วย Diabetic Ulcer อย่างครบถ้วน ถูกต้อง สามารถ ลดอัตราของ lower limb amputation ได้อย่างมีนัยสำคัญ

8.Diabetic foot care Protocol ต้องอาศัยความร่วมมือจาก สหสาขาวิชาชีพคือ แพทย์อายุรกรรม ศัลยกรรม เชกรรมสังคม เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ สถานีอนามัย อสม. ญาติผู้ป่วยและตัวผู้ป่วยเอง

9.การมี Protocol ที่ชัดเจน ทำให้การทำงานเป็นทีม ง่ายขึ้น และลดความผิดพลาดลง ช่วยอำนวยความสะดวก แก่ทีมที่มีประสบการณ์น้อย

10. การจัดทำ Diabetic foot care Protocol ต้องใช้เวลาในการจัดทำระบบ (อาจารย์บอกว่าคงจะสำเร็จภายในหนึ่งปีนี้)

นพ.ไกรฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม บรรยายในหัวข้อ Overview of diabetic foot

 

ช่วงต่อไปหลังเบรคก็เป็นหน้าที่ของคุณเปรมสุรีณ์ในการพูดถึงระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบบูรณาการของบริการปฐมภูมิ และระบบการดูแลภาวะแทรกซ้อนทางเท้า และความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน การตรวจประเมินเท้า ประเมินหลอดเลือดส่วนปลายที่เท้า การประเมินหลอดเลือดที่เท้า ปัญหาที่เท้าต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวาน การทำหัตการต่างๆ เช่นการทำแผล การขูดหนังหนาตาปลา การ off loading โดยการประยุกต์ใช้รองเท้า ในภาคบรรยายโดยละเอียด ก่อนที่จะพักรับประทานอาหารและภาคบ่ายจะป็นภาคปฏิบัติ

คุณเปรมสุรีณ์ในการพูดถึงระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบบูรณาการของบริการปฐมภูมิ และระบบการดูแลภาวะแทรกซ้อนทางเท้า และความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน

ก่อนภาคปฏิบัติในช่วงบ่าย คุณสมชัย ภูมิชัย นักกายภาพบำบัด ของโรงพยาบาลเลย ซึ่งเคยไปดูงานเกี่ยวกับเรื่อง Foot wear จากโรงพยาบาลเทพธารินทร์ และไปศึกษากับอาจารย์สมเกียรติ  โรงพยาบาลพระประแดงมาแล้ว และเมื่อประมาณต้นปีในทีมของจังหวัดเลย คุณสมชัยก็ร่วมทีมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงพยาบาลพุทธชินราชมาแล้วครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นคุณสมชัยก็ได้พัฒนางานเรื่อง Foot wear ร่วมกับทีม Wound care unit ของศัลยกรรม รพ. เลย  จนก้าวหน้าไปหลายขั้นทีเดียว (และวันนี้ก็เพิ่งได้รับเครื่อง Podoscope มาสดๆร้อนๆเลยทีเดียว) มีการดูแลอย่างเป็นระบบ มีการวัดแรงกดที่เท้า เพื่อทำ แผ่นรองเท้า ทำรองเท้า Modify รองเท้าตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย คุณสมชัยได้พูดถึงเรื่อง Protective foot wear ทบทวนเรื่องกายวิภาคของเท้า ลักษณะการเดิน การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติทำให้เกิดปัญหาที่เท้า มีการ Treatment of ulcer ร่วมกับศัลยแพทย์ ดูแลคนไข้ใน ward ขูดหนังหนา ตาปลา การดูแลแผล Off loading การModify shoes การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม เทคนิคการเลือก การเสริม Insole ในรองเท้า การ Rehabilitation  เป็นต้น (ในส่วนของรพ.เราเกี่ยวกับเรื่อง foot wear ยังไม่รู้ว่าจะสมบูรณ์แบบเมื่อไหร่นะ)  นับเป็นโอกาสดีของเราด้วยที่ได้ทบทวนความรู้ตรงส่วนนี้ไปด้วย

หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราเป็นพี่เลี้ยง ในการฝึกภาคปฏิบัติ ในเรื่องของการตรวจประเมินเท้า การนวดทาโลชั่นที่เท้า การบริหารเท้า การขูดหนังหนาตาปลา 

 บางส่วนของผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานเบาหวานที่ปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตจังหวัดเลย ทั้งหมด 20 แห่ง รวมทั้งสิ้น 60 คน

 

 ร่วมกิจกรรมการดูแลสุขภาพเท้า

 

 สาธิตการดูแลเล็บ และการทำหัตการต่างๆแก่ผู้เข้ารับการอบรม

 

 ฝึกปฏิบัติเรื่องการตรวจประเมินเส้นเลือดที่เท้า

 

ฝึกปฏิบัติการตรวจประเมินการรับรู้ความรู้สึกสัมผัสที่เท้า โดยใช้ Monofilament

นอกจากนี้เรายังได้อาสาสมัครเป็น Model ในการขูดหนังหนาตาปลาจากผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้ด้วย ซึ่งไม่มีภาพประกอบเพราะถ่ายโดยกล้องของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ถ้ามีโอกาสอยากให้น้องไก่นำมาแลกเปลี่ยนกันนะคะ

ไปจังหวัดเลยในครั้งนี้เราหวังว่าเรื่องการดูแลภาวะแทรกซ้อนทางเท้าในผู้ป่วยเบาหวานจะมีการขยายเครือข่ายไปได้อย่างมากมาย ปัญหาเรื่องการเกิดแผล อัตราการตัดเท้าตัดขาในผู้ป่วยเบาหวานคงลดลง คุณภาพชีวิตของเขาก็ดีขึ้น นับว่าโชคดีที่ผู้ป่วยเบาหวานของเมืองเลยจะได้รับบริการตรงส่วนนี้....เพราะจากการที่ได้สังเกตุดู เจ้าหน้าที่ของเมืองเลยมีความกระตือรือร้นมากในการฝึกอบรมครั้งนี้ มีการซักถามข้อสงสัยกันพอสมควรทีเดียว รวมทั้งเรื่องเคล็ดลับการลดความอ้วนของคุณอ้อ เปรมสุรีณ์ด้วย(ฮาๆ...เกี่ยวกับเรื่องเท้าตรงไหนเนี่ย)

แต่ที่ีแน่ๆ เราเห็นแล้วว่าโรงพยาบาลเลยมีอะไรที่ดีๆ และพัฒนาก้าวหน้าไปกว่าเรามากแล้วด้วยในเรื่องการดูแลภาวะแทรกซ้อนที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน คือมีคลินิก wound care มีนักกายภาพที่มาลงปฏิบัติเรื่อง Foot care การ Modify รองเท้า การขูดหนังหนา ตาปลา การทำหัตการอื่นๆแล้ว และที่สำคัญคือมีความพร้อม  พร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงแก่ลูกข่าย  ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆท่านค่ะ...ที่สำคัญอย่าลืมเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับทีมเบาหวานพุทธชินราชผ่านทางบล็อกบ้างนะคะ เรารออยู่ค่ะ....

นู๋ทิม ผู้เล่า

หมายเลขบันทึก: 211431เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2008 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีนะหนูคงได้ประสบการณ์จากโรงพยาบาลเลยมาอีกมากมาย อย่าลืมเอามาปรับใชักับงานของเราด้วยนะ เอ ว่าแต่ว่าเคล็ดลับการลดความอ้วนของอ้อนี่ได้เผยแพร่ให้ชาวเลยรับทราบมั่งรึเปล่านะ

หวัดดีจ้ะ นู๋ทิม  อ่านบันทึกนู๋ทิมแล้วทำให้นึกถึงครั้งแรกที่เราไปเยี่ยมเลยกันถึงถิ่นวันนั้นสนุกและมีความสุขกันมากๆเลยนะที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับทีมเครือข่ายของจังหวัดเลยอยู่กันจนห้าโมงไม่มีใครกลับบ้านซักคน แต่ก็อยูด้วยใจเนอะไม่ได้ถูกบังคับ 555  หลังจากนั้นทีมจังหวัดเลยมาเยือนเราถึงถิ่นสองครั้ง และเราก็ได้ทำสัญญาใจกันว่ากลับไปจะไปทำอะไร วันนี้ก็ได้รู้ละว่ากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เราต่างก็ให้และรับด้วยใจเกิดผลจริงๆ ทีมจังหวัดเลยเข้มแข็งมากเลยนะหนูนะ และก็มีความตั้งใจสูงทีเดียว และก็ยังจำได้ว่า คุณสมชัย ภูมิชัย นักกายภาพบำบัด ของโรงพยาบาลเลย ที่ร่วมทีมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงพยาบาลพุทธชินราชมาแล้วครั้งหนึ่ง บอกว่ากลับไปจะไปสร้างระบบการดูแลเท้าให้เกิดขึ้นเลยให้ได้ วันนี้ฝันก็ได้เป็นจริงแล้วนิ .....แถมก้าวหน้าไปหลายขั้นทีเดียว ต้องขอชื่นชมทีมเครือข่ายจังหวัดเลยด้วยนะคะ และเป็นสิ่งที่เราพุทธชินราชต้องนำมาเป็นแบบอย่างการพัฒนางานด้วยละค่ะ

เรื่องเคล็ด(ไม่)ลับการลดน้ำหนัก...ไม่อยากพูดว่าอ้วนแล้วมันแสลงใจน่ะ...อ้อก็ไปขายไอเดียเหมือนกัน...รู้สึกว่าเป็นที่สนใจของเพื่อนๆมากเลยคะ...ไม่แน่ใจว่าจะสนใจกว่าเรื่องเท้าหรือเปล่าคะ...แหะ ๆ ๆ

แต่การไปเลยครั้งนี้รู้สึกมีความสุขมาก ที่เห็นความก้าวหน้าขอเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเรา และขอขอบคุณคุณหมอไกรฤทธิ์ น้องไก่และทีมงานอย่างมากที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง...อ้อ(เปรมสุรีณ์)...ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท