ปรัชญาการศึกษา ( Philosophy of Education )


การศึกษา หมายถึง

ปรัชญาการศึกษา ( Philosophy of Education )

การศึกษา หมายถึง การถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และทัศนคติของคนรุ่นก่อนให้กับอนุชนรุ่นหลังของสังคม ทั้งนี้เพราะ อนุชนรุ่นหลังคงไม่อาจเติบโตไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ถ้าไม่ได้ดูดซับความเชื่อเกี่ยวกับโลกทัศน์ และทักษะในการดำรงชีวิตและแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ ก่อนที่การศึกษาจะกลายมาเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องกระทำด้วยความตั้งใจและเป็นทางการ และเป็นระบบ โดยมีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง คือ พระหรือนักปราชญ์ หรือนักวิชาการเป็นผู้รับผิดชอบนั้น

คนในสมัยโบราณก็มีการให้การศึกษาแก่เด็กในสังคมของเขาเหมือนกัน แต่การให้การศึกษาของคนสมัยก่อนเป็นไปในลักษณะของการถ่ายทอดให้เกิดการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันโดยอัตโนมัติ เช่น การสอนการดำรงชีพ โดยการสอนการจับปลาและการเพาะปลูก รวมทั้งการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางสังคม เช่น พิธีศพ การศึกษาในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การศึกษาแบบเป็นทางการ ไม่ใช่การศึกษาที่เป็นระบบ และไม่ใช่กระบวนการที่จงใจกระทำขึ้นเพื่อการเรียนรู้ จึงไม่มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบต่อเรื่องการศึกษาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์ได้สะสมอารยธรรมมากขึ้น การถ่ายทอดและการเรียนรู้ให้กับอนุชนรุ่นหลังของสังคมไม่อาจเป็นไปในลักษณะไม่เป็นทางการดังเดิมได้ การศึกษาจึงต้องกลายมาเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องกระทำด้วยความตั้งใจและเป็นทางการ โดยมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งก้าวเข้ามาทำหน้าที่รับผิดชอบแทน กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้อาจจะเป็นพระ หรือนักปราชญ์ หรือนักวิชาการ

ผลจากการที่รวมการถ่ายทอดวัฒนธรรมไว้ในมือของคนกลุ่มพิเศษกลุ่มหนึ่ง ก็คือ คนกลุ่มนี้ได้พยายามทำให้วัฒนธรรมและความรู้ที่ต้องถ่ายทอดดีขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น นั่นก็คือ การทำให้เกิดการค้นคว้าวิจัยทางด้านความรู้และวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น

ผลประการที่ 2 คือ กลุ่มบุคคลผู้รับผิดชอบกับการสอนเริ่มมองเห็นว่า การสอนหรือการถ่ายทอดวัฒนธรรมของเขา หรือการให้การศึกษาของเขาต้องสนองเป้าหมายบางอย่าง การศึกษาจึงไม่เป็นเพียงการรักษาและถ่ายทอดวัฒนธรรมเท่านั้น แต่การศึกษาควรสนองตอบเป้าหมายบางอย่างนี้ด้วยเป้าหมายของการศึกษาควรเป็นอะไร   นี่แหละ คือ ปัญหาที่อยู่ในขอบเขตของนักปรัชญาที่จะให้คำตอบ ดังนั้น ปรัชญาการศึกษา คือ ปรัชญาในส่วนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหา เป้าหมายของการศึกษาของสังคมโดยพยายามตอบคำถามที่ว่า เป้าหมายหรือผลที่พึงประสงค์ที่จะก่อให้เกิดกับผู้เรียนนั้นควรจะเป็นอะไร ? และเป้าหมายดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ ? เมื่อตอบคำถามถึงเป้าหมายของการศึกษาเสียแล้ว ก็สามารถตอบคำถามต่อไปได้ว่า ความรู้ใด ทัศนคติใด ทักษะใด ควรได้รับการถ่ายทอดให้แก่เขาเหล่านั้น รวมทั้งมรรควิธีให้การศึกษาจะนำไปสู่เป้าหมายนั้นด้วย

คำตอบของนักปรัชญาการศึกษาต่อปัญหาที่ว่า เป้าหมายของการศึกษาหรือผลที่พึงประสงค์ของการศึกษาหรือสิ่งใดนั้น ย่อมมีผลสืบเนื่องมาจากทัศนะความเชื่อของ
นักปรัชญาทางด้านอภิปรัชญาและญาณวิทยาอยู่มากที่เดียว ตัวอย่างเช่น นักปรัชญาอย่างเพลโตมีความเชื่อทางอภิปรัชญาว่า วัตถุทั้งหลายเป็นเพียงสิ่งเลียนแบบแม่แบบในโลกแห่งแบบ แม่แบบเป็นสิ่งที่จริงกว่า หรือแม่แบบคือสัจธรรม ดังนั้น เป้าหมายของการศึกษาควรมุ่งให้เรียนรู้สัจธรรมมิใช่มีความรู้ในโลกแห่งประสบการณ์ซึ่งเป็นเพียงสิ่งเลียนแบบสัจธรรมเท่านั้น วิชาวิทยาศาสตร์จึงมิใช่วิชาที่สำคัญ ส่วนนักปรัชญาอย่างฟรานซิส เบคอน, จอห์น ล็อค มีความเชื่อว่า โลกแห่งปรากฏการณ์อย่างที่มันเป็น เป็นจริงแล้ว การศึกษาจึงมีเพียงเป้าหมายที่จะเข้าใจโลกแห่งปรากฏการณ์นี้เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องหาความรู้ในเชิงนามธรรมที่ห่างไกลตัวออกไปอย่างทัศนะของเพลโต ดังนั้น วิชาเช่นวิทยาศาสตร์จึงเป็นวิชาที่สำคัญ

ปรัชญาการศึกษาโดยสรุป
ยุคก่อนโซฟิสต์

นักปรัชญามิได้เสนอทัศนะเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาไว้ แต่ได้ทำหน้าที่ของผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการถ่ายทอดความรู้และวัฒนธรรม คือ การค้นคว้าวิจัยเพื่อเพิ่มเติมความรู้และแก้ไขข้อบกพร่องของสิ่งเดิม

ยุคโซฟิสต์

โซฟิสต์ คือ กลุ่มนักปรัชญาที่เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาไว้ว่า การศึกษาต้องสามารถทำให้ผู้เรียนได้รับความสำเร็จในการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง

โสคราตีส

โสคราตีสมีความเห็นว่า เป้าหมายของการศึกษา คือ การค้นพบสัจธรรมหรือความจริงเชิงปรนัย

เพลโต

เพลโตเป็นนักปรัชญาคนแรกที่กล่าวถึงเป้าหมายของการศึกษาที่ชัดเจน เพลโตมีความเห็นว่า เป้าหมายของการศึกษา คือ การทำให้บุคคลตระหนักได้ชัดเจนว่าเขาสมควรเป็นชนชั้นไหนของสังคม และสิ่งที่สามารถทดสอบว่าเขาควรเป็นชนชั้นไหนของสังคม ก็คือ ความรู้ในความจริงขั้นปรมัตถ์ (ขั้นสูงสุด) กล่าวคือ ถ้าใครสามารถบรรลุความรู้ในขั้นนี้ เขาสมควรเป็นผู้ปกครองรัฐ หรือราชาปราชญ์

เซนต์ ออกัสติน

เซนต์ ออกัสติน มีความเห็นว่า เป้าหมายของการศึกษา คือ การมุ่งให้ผู้เรียนกลับใจไปรักพระเจ้า ( conversion ) และสำนึกในบาปของตน ( repentance ) ทั้งนี้ เพราะการกลับใจไปรักพระเจ้าย่อมทำให้มนุษย์พบกับความสุขที่แท้จริง

ล็อค

ล็อคมีความเห็นว่า เป้าหมายของการศึกษาควรมุ่งสู่สังคมและรัฐ ไม่ใช่อาณาจักรของพระเจ้า เป้าหมายดังกล่าว คือ การรักษารัฐที่ให้ความมั่นคงในสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล

 

 

รุสโซ

รุสโซมีความเห็นว่า เป้าหมายของการศึกษา คือ การให้ผู้เรียนได้เติบโตตามแนวโน้มแห่งธรรมชาติของตน การศึกษาจึงเป็นอิสระจากสังคมและอิทธิพลใด ๆ ทั้งสิ้น ผลของการให้การศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้คือ ผู้เรียนสามารถเป็นตัวของตัวเอง จากนั้น จึงเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมและการมุ่งสู่ความดีของสังคมทั้งสังคมโดยละเลยผลประโยชน์เฉพาะตนและเฉพาะกลุ่มลงเสีย

ปรัชญาปฏิบัตินิยม

ปรัชญาปฏิบัตินิยมมีความเชื่อว่า เป้าหมายของการศึกษา คือ การสร้างให้ผู้เรียนเป็นผู้พร้อมที่จะแก้ปัญหาของตนด้วยตนเอง ดังนั้น การศึกษาต้องมุ่งให้เกิดผลที่ปฏิบัติได้ มิใช่มุ่งการเรียนรู้แต่ทฤษฎีเท่านั้น

ปรัชญาอัตถิภาวนิยม

ปรัชญาอัตถิภาวนิยมมีความเชื่อว่า เป้าหมายของการศึกษา คือ การเป็นตัวของตัวเองของผู้เรียน และความเป็นอิสระของผู้เรียน และประสบการณ์ที่แท้จริงของผู้เรียน

รัฐฟาสซิสต์

ปรัชญาการศึกษาของรัฐฟาสซิสต์ คือ ผู้เรียนต้องเสียสละตัวเองและมุ่งสู่เป้าหมายของรัฐ

รัฐประชาธิปไตย

ปรัชญาการศึกษาของรัฐประชาธิปไตย คือ การศึกษามุ่งสู่จุดหมายของปัจเจกบุคคลมิใช่รัฐ ดังนั้น รัฐประชาธิปไตยจึงชื่นชมปรัชญาการศึกษาแบบปรัชญาปฏิบัตินิยม และปรัชญาอัตถิภาวนิยมมากกว่า

 

 

หมายเลขบันทึก: 211107เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2008 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท