การทำบุญ อย่างแท้จริง


การทำบุญที่เราทำบุญโดยทั่วไปแล้วนั้นไม่ใช่การทำบุญธรรมดา แต่เหมือนมีการกำหนดมาให้เป็น ขั้นตอนหนึ่งของการฝึกตนกล่อมเกลา เพื่อให้เรามีโอกาสพัฒนาตัวเราไปสู่ขั้นตอนต่อๆ ไปจนถึงสุดทางคือนิพพาน

 

การทำบุญ

ช่วงที่ไปบวชได้อ่านหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง เห็นหน้าปกแล้วคิดว่าเหมือนหนังสือธรรมะทั่วไป การทำบุญรักษาศีลที่เคยทราบอยู่ หรือเพราะเรายังเป็นกบในกะลาอยู่ก็ได้ แต่พอได้อ่านแล้วจึงรู้ว่า การทำบุญที่เราทำบุญโดยทั่วไปแล้วนั้นไม่ใช่การทำบุญธรรมดา แต่เหมือนมีการกำหนดมาให้เป็น ขั้นตอนหนึ่งของการฝึกตนกล่อมเกลาเพื่อให้เรามีโอกาสพัฒนาตัวเราไปสู่ขั้นตอนต่อๆ ไปจนถึงสุดทางคือนิพพาน ได้จับใจบางส่วนเบื้องต้นมาดังนี้

วิธีการสร้างบุญบารมี
พระนิพนธ์ ในสมเด็จพระญานสังวรพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก

ทำบุญเป็นเรื่องของกาย
ทำกุศล
เป็นเรื่องของใจ อบรมใจ ให้มีอารมณ์ผ่องใส

ในด้านความหมาย บุญ มีทั้งเหตุและผล
เหตุคือความดี เป็นเครื่องฟอกล้างความชั่ว
ผลเป็นความสุข

บารมี คือ ความดีที่บำเพ็ญไว้อย่างยิ่งยวด นำไปให้ถึงฝั่งคือนิพพาน

การสร้างบุญบารมี มี 3 ขั้นตอน คือ การทำทาน รักษาศีล การเจริญภาวนา

สังเกตุว่าท่านใช้คำว่า 3 ขั้นตอน ไม่ใช้คำว่า 3 แบบ หรือ 3 อย่าง
สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ คือ มันเป็นขั้นตอนจริงๆ ที่ต้องทำไป
และแต่ละอย่างให้บุญไม่เท่ากัน
เช่น
การให้ทานก็ได้บุญน้อยกว่าการรักษาศีล การรักษาศีลก็ได้บุญน้อยกว่าการเจริญภาวนา

***  การให้หรือการทำทานเป็นการสร้างบุญเบื้องต้น แม้ทำมากมายเพียงไร ก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากกว่าการรักษาศีล และการถือศีลเข้มข้นเคร่งครัดอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากไปกว่าการเจริญภาวนาไปได้ การเจริญภาวนาจึงเป็นวิธีการสร้างบุญบารมีที่มีกำลังสูงที่สุด ได้บุญมากที่สุด

*** เงื่อนไขการทำบุญที่สำคัญสุดของการให้ทาน ก็คือเนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์ (ผู้รับการทำทานทำบุญ) หากเป็นผู้มีศีลมีธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดีได้บุญมาก เป็นสิ่งที่ผู้ให้ทานหากเข้าหาผู้มีศีลธรรมสูงแล้วจะปรับปรุงตนเองให้พัฒนาขึ้นด้วยได้ นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด หากผู้ได้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้นก็ไม่ผลิดอกออกผล แม้ 2 องค์ประกอบแรกจะบริสุทธิ์ครบถ้วนก็ตาม
นอกจากนี้อีกสององค์ประกอบที่รองลงไปคือ วัตถุทาน และ เจตนาต้องบริสุทธิ์
วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์ :: วัตถุทานจะมากหรือน้อย เลวหรือดี ประณีตหรือไม่ไม่สำคัญ  เมื่อเราไห้ทานตามกำลังทรัพย์ ที่มีอยู่ย่อมใช้ได้ และต้อง
ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ
 เจตนาในการให้ต้องบริสุทธิ์ :: ทั้งก่อนให้ ช่วงที่กำลังให้ จนถึงหลังให้ไปแล้ว
จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ แต่ระวังการทำทานอย่าได้เบียดเบียนตนเอง ซึ่งจะทำให้จิตเศร้าหมอง เจตนานั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ แม้วัตถุทานจะมากก็ย่อมได้บุญน้อย

 
เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนา ๑ กำมือ
แม้เมล็ดข้าวนั้นจะเป็นพันธุ์ดีที่พร้อมจะงอกงาม และ ผู้หว่านคือกสิกรก็มีเจตนาจะหว่านเพื่อทำนาให้เกิดผลิตผลเป็นอาชีพ โดยเมล็ดที่ไปตกในที่เป็นดินดี ปุ๋ยดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ดี ก็จะงอกเงยมีผลิตผลที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกบนพื้นนาที่แห้งแล้ง มีแต่กรวดกับทรายและขาดน้ำก็จะแห้งเหี่ยวหรือเฉาตายไป หรือไม่งอกเงยเสียเลย การทำทานนั้น ผลิตผลที่ผู้ทำทานจะได้รับก็คือ " บุญ " หากผู้ที่รับการให้ทานไม่เป็นเนื้อนาที่ดีสำหรับการทำบุญแล้ว ผลของทานคือบุญก็จะได้เกิดขึ้น แม้จะเกิดก็ไม่สมบูรณ์ เพราะแกร็นหรือแห้งเหี่ยวเฉาไปด้วยประการต่าง ๆ

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับดังนี้

1. ทำทานแก่สัตว์เดรัชฉาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าการให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีลเพียงครั้งเดียว

2. ทำทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีลธรรม ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าการให้ผู้มีศีล 5 แม้ เพียงครั้งเดียวก็ตาม

3. ทำทานแก่มนุษย์ผู้มีศีล 5 แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าการให้ผู้มีศีล 8 เพียงแม้ครั้งเดียวก็ตาม

4. ทำทานแก่มนุษย์ผู้มีศีล 8 แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าการให้ผู้มีศีล 10 เพียงแม้ครั้งเดียวก็ตาม

5. ถวายทานแก่สามเณรผู้มีศีล 10 แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ผู้มีปาติโมกข์สังวร 227 ข้อ แม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

6. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ ผู้มีปาติโมกข์สังวร 227 ข้อ แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระโสดาบัน แม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

7. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

8. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

9. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

10. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

11. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

12. ถวายทานแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

13. การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้ถวายมากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าการสร้างวิหารทานได้แก่ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม แม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม  แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น ศาลาที่พักคนเดินทาง โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถโดยสารประจำทาง สุสาน ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน

14. การถวายวิหารทาน แม้จะสร้างมากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าการให้ธรรมทานแม้จะให้แม้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

15. การให้ธรรมทาน แม้จะให้ถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าการให้อภัยทาน  แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
อภัยทาน
คือ การทำใจหายโกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่
อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายแม้แต่ศัตรู

 

ผู้ให้ "โกรธ"ถ้าให้อภัยเสียก็หายโกรธ เมื่อให้อภัยแล้วจิตใจขุ่นจะมัวหายไป ก็จะแจ่มใส


อ่านช้าๆ ::::::โกรธแล้วใจเร้าร้อนไม่เป็นสุข ให้อภัยแล้วใจจะเป็นสุขแจ่มใส::::::

 

ท้ายที่สุดการให้ทานทั้งหลายก็จบลงที่ใจเราเอง ด้วยการให้ธรรมะ และให้อภัย ทำใจเราให้บริสุทธิ์ผ่องใสไม่ขุ่นมัว การให้อภัยนั้นยาก แต่บุคคลที่ทำได้จึงรู้ว่ามันการให้อภัยนั้นเป็นความสุขจริงๆ ไม่ใช่เป็นการกดใจหรือข่มตนเพื่อให้อภัยซึ่งจิตใจนั้นยังขุ่นมัว ไม่ใช่อภัยที่แท้จริงซึ่งเป็นความโล่งโปร่งสบายของจิต

การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง
การให้อภัยทานแม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่น ๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า " ฝ่ายศีล " เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน สรุปง่ายๆ ก็คือว่า การให้อภัยเป็นแม้เป็นเรื่องที่ยากมากแล้วแต่การรักษาศีลหรือการภาวนาก็เป็นเรื่องที่ยากกว่า

การทำทาน ก็เป็นขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนาบ่มเพาะจิตใจให้ไปสู่ขั้นต่อไปซึ่งทำได้ยากกว่า

ซึ่งการให้ทานหรือการทำทานนั้นเป็นการสร้างบุญที่ได้บุญน้อยที่สุดไม่ว่าจะทำมามากอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะได้บุญไปมากกว่าการถือศีลไปได้

2. การรักษาศีล

 

ในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด

การถือศีลแม้จะมากอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากเกินไปกว่าการเจริญภาวนาไปได้

 

 

 

3. การภาวนา

 

เป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงสุด ประเสริฐที่สุด ได้บุญมากที่สุดเป็นกรรมดีอันยิ่งใหญ่เรียกว่า " มหัคคตกรรม " อันเป็นมหัคคตกุศล

อานิสงส์ของสมาธินั้น มีมากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า

 

 " แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู "

 

" ขนิกสมาธิ " คือสมาธิเล็ก ๆน้อย ๆ สมาธิแบบเด็ก ๆที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือหัดยืนแล้วก็ล้มลงแล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น สงบวูบลงเล็กน้อยแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิและฌาน แม้กระนั้นก็ยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้

 

 

๑ . สมถภาวนา ( การทำสมาธิ ) สมถภาวนา ได้แก่การทำจิตให้เป็นสมาธิหรือเป็นฌาน ซึ่งก็คือการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่น ๆ สมาธิ มีกรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์

๒ .วิปัสสนาภาวนา ( การเจริญปัญญา )

วิปัสสนาไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลายและสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ " ขันธ์ ๕ " ซึ่งนิยมเรียกกันว่า " รูป - นาม "

 

ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

 

 " ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงทีว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม "


            ดังนี้ จะเห็นได้ว่าวิปัสสนานั้น เป็นสุดยอดของการสร้างบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม้ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนหรือเสียทรัพย์แต่อย่างใดแต่ก็ได้กำไรมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทานเหมือนกับกรวด และทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางที่จะเทียบกับศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนา

 

การเจริญภาวนาจึงเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดได้มากที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าจะละทิ้งการให้ทานกับการรักษาศีลแล้วมานั่งเจริญภาวนาอย่างเดียวนั้นก็มิได้ จึงต้องกระทำไปพร้อมทาน ศีล ภาวนา

 

 สรุปได้ว่า การทำบูญทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อมุ่งให้เรามองเห็นความจริงตามธรรมชาติ

แม้จะยังไม่เห็นในขณะนั้น แต่หากทำอย่างต่อเนื่องก็จะนำไปสู่ขั้นตอนถัดไปได้อย่างอัติโนมัติ

 

อ่านแบบย่อ

http://docs.google.com/Doc?id=df4gz3j6_1063tqpgdm หรือ
http://www.vcharkarn.com/vblog/36915
หนังสือเต็มฉบับ

1.วิธีสร้างบุญบารมีฉบับเดิม
http://docs.google.com/gb?export=download&id=F.9555a28c-0462-48ca-8ff0-dd628535e8f1

2.วิธีสร้างบุญบารมีฉบับใหม่
http://docs.google.com/gb?export=download&id=F.ab9a0a72-6282-4445-9f4c-992234dda504

 

หมายเลขบันทึก: 210558เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2008 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณมากๆเลยนะครับสำหรับความรู้><

ผมจะพยามและรู้จักการให้อภัยให้มากๆเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท