พระบรมราชจักรีวงศ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


พระบรมราชจักรีวงศ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช

                                                                            

 

                    องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ตรงกับ วันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ได้รับราชการ ตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี เป็นพระยาราชนรินทรในกรมพระตำรวจ เจ้าพระยาจักรีและสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่ง กรุงสยาม เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ทรงย้ายเมืองหลวงจาก กรุงธนบุรีมาเป็นกรุงเทพมหานคร เริ่มสร้างพระบรม มหาราชวังและสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เสร็จ ในปี พ.ศ. 2327

                   ทรงเป็นนักรบและตรากตรำการสงครามมา ตั้งแต่ปลายสมัย กรุงศรีอยุธยา ตลอดสมัยกรุงธนบุรี และในรัชสมัยของพระองค์เอง ในด้านการศาสนา ได้โปรดให้มีการสังคายนา ชำระพระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา ฯลฯ ณ วัดมหาธาตุ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างหอมณเฑียรธรรมขึ้นในบริเวณ วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง สำหรับเป็นที่เก็บคัมภีร์ ทางพระพุทธศาสนา และทรงจัดการปกครอง คณะสงฆ์ให้เรียบร้อย

                   พระราชานุกิจ (กิจวัตรประจำวัน) ของพระองค์ ตลอดรัชสมัย เป็นที่น่าประทับใจ พระองค์ทรงงาน ตั้งแต่เช้าตรู่ จนดึกดื่นทุกวันมิได้ขาด เริ่มตั้งแต่ ทรงบาตรถวายภัตตาหารพระสงฆ์ ฟังรายงานจาก พระคลังมหาสมบัติ ออกรับพระ บรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ฟังรายงานและ วินิจฉัยคดีจาก จางวาง และปลัดกรมตำรวจ วินิจฉัยเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งข้าราชการจากฝ่ายทหารและพลเรือน แล้วจึง เสวยพระกระยาหารเช้า แล้วพบข้าราชการฝ่ายใน หลังพระกระยาหารค่ำ ทรงฟังพระธรรมเทศนา ฟังรายงานการใช้จ่ายเงินคลัง การก่อสร้าง เสร็จแล้วเสด็จออกรับขุนนาง ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน กรมท่านำใบบอกหัวเมืองมากราบทูลทรงวินิจฉัย ปัญหาต่าง ๆ อยู่จน 4 ทุ่ม หรือดึกกว่านั้น แล้ว จึงเสด็จขึ้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

                   

                   เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 พระนามเดิมว่า ฉิม เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ก่อนขึ้น ครองราชย์ ทรงดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์มี ความสามารถทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างดี ทรงร่วมนิพนธ์วรรณคดี กับสมเด็จพระราชบิดาไว้หลาย เรื่อง ได้แก่ อุณรุท รามเกียรติ์ อิเหนา และดาหลัง ซึ่งเรียกว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1

      นอกจากนี้ยังได้ทรงนำบทละครเก่ามานิพนธ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ไกรทอง คาวี ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง มณีพิไชย ฯลฯ ด้านดนตรี ทรงเป็นเอตทัคคะในทาง สีซอสามสาย

      ด้านศิลปะ โปรดการเขียนลวดลายอันวิจิตรงดงาม ตัวอย่างที่เด่นชัดปรากฎที่บานประตูวัดสุทัศน์ เทพวราราม เมื่อปฐมวัยได้ ทรงติดตามพระราชบิดาไปในงานสงครามแทบทุกครั้ง ตั้งแต่พระชมมายุ ได้ 8 พรรษา

       ทรงผนวช เมื่อ พระชนมายุ 22 พรรษา ทรงจำพรรษา ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) เป็นเวลา 1 พรรษา ลาผนวชแล้ว ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนา เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชสมัยของพระองค์ ประเทศโปรตุเกสและประเทศอังกฤษ ได้ ส่งผู้แทนทางการทูต มาเจริญสัมพันธไมตรีเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ คือได้ส่งมา เมื่อ พ.ศ. 2361 และ พ.ศ. 2363 ตามลำดับ ด้านกฎหมาย ทรงปรับปรุงและออกกฎหมายต่างๆ ได้แก่ กฎหมายห้ามขายฝิ่น สัญญา เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน พินัยกรรม และกฎหมายอาญาอื่น ๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับการลงโทษ ทั้ง ฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร

      "สุนทรภู่ กวีเอกของไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในรัชกาลนี้"

                                            สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

                       เสด็จ พระราชสมภพ เมื่อ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 มี พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทับ เป็น พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาเรียบ ก่อนขึ้นครองราชย์ ทรงดำรงพระยศเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงเคยว่าราชการ มาหลายตำแหน่ง เช่น กรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศ) กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมตำรวจ และผู้ว่าความในศาลฎีกา ในรัชสมัย ของพระองค์ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ เอาใจออกห่าง กระด้างกระเดื่อง เป็นกบฎไปเข้ากับญวณ แล้ว ฉวยโอกาสยกทัพเข้าตี เมืองอุบล ร้อยเอ็ด ตัวเจ้าอนุวงศ์เองยกทัพจาก เวียงจันทร์ลงมาตี เมือง นครราชสีมาได้ แล้วให้ทัพหน้าเข้าตีสระบุรี พระองค์ได้ จัดทัพใหญ่เตรียมรับศึก ในกรุงเทพ ฯ ได้ จัดการป้องกันพระนคร วางกำลัง รายรอบเมืองตั้งแต่ทุ่งบางเขน ถึงทุ่งหัวลำโพงจัดกำลังทหารไป ตั้งรับที่สระบุรี ทัพเจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนผู้คนไปเวียงจันทร์ทุกวัน คุณหญิงโม ภรรยาปลัด เมือง นครราชสีมา เป็นหัวหน้า รวบรวมพวกเชลยไทยต่อสู้ พอทัพจากกรุงเทพ ฯ ยกขึ้นไปช่วยเจ้าอนุวงศ์ จึงถอยทัพกลับไปเวียงจันทร์ โดยวางกำลังคอยต้านทานกองทัพไทย ที่ยกไปตีเวียงจันทร์ไว้ที่เมือง หล่มเก่า และเมืองภูเขียว

      โปรดให้ กรมพระราชวังบวรเป็นแม่ทัพ ยกทัพผ่านนครราชสีมา ขึ้นไปตีเวียงจันทร์สายหนึ่ง อีกสายหนึ่ง ให้กรมหมื่นสุรินทร์รักษ์เป็นแม่ทัพยกไปตีฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ที่มายึดเมืองอุบล และเมือง ร้อยเอ็ด แล้วไปบรรจบกับกองทัพใหญ่ที่เวียงจันทร์ อีกสายหนึ่งให้เจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นแม่ทัพ ยกไปตีฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ที่เมืองหล่มสัก แล้วไปบรรจบทัพใหญ่ ที่ เวียงจันทร์ กองทัพไทยปราบกบฎ เจ้าอนุวงศ์ได้ราบคาบ ตีกรุงเวียงจันทร์แตก จับเจ้าอนุวงศ์ได้ ในปี พ.ศ. 2371

      เสร็จศึกแล้วได้โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งคุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารีในรัชกาลของพระองค์ ประเทศไทย ได้เริ่มเปิด ประเทศรับ ชาวยุโรป อย่างกว้างขวาง อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา ส่งทูตเข้ามาเจริญ สัมพันธไมตรีกับไทยการค้าขายกับ อังกฤษรุ่งเรืองมาก บางคราวมีเรือสินค้าเข้ามาจอดในแม่น้ำ เจ้าพระยาถึง 50 ทางสหรัฐอเมริกาได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาสอนศาสนา และนำเอาวิชาการแพทย์แผน ใหม่ โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ และสอนภาษาอังกฤษให้คนไทย ผู้ที่ควรได้รับเกียรติในผลงานนี้ คือ หมอบรัดเลย์ ทรงโปรดให้มีประกาศห้ามนำฝิ่นเข้ามาขายในประเทศ และให้เก็บฝิ่นที่มีอยู่ในประเทศ นำไปเผาทั้งหมด

      ด้านพระศาสนา ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา สร้างวัดใหม่ 9 วัด บูรณะวัดเก่า 60 วัด โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระนอนใหญ่ที่วัดโพธิ์ และในรัชกาล นี้ได้มีกวีแก้วแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เกิดขึ้น คือ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์ วาสุกรี พระราช โอรสในรัชกาลที่ 1)

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 209793เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2008 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท