ไปเพิ่มพูนความรู้-ประสบการณ์หลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับกลาง( 7 )


ได้เดินทางไปเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงโคขุน ณ.ฟาร์มโคลุงเชาว์

ไปศึกษาฟาร์มลุงเชาว์ ที่ตำบลหัวนา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ในวันที่ 4 กันยายน 2551

 

 

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2551 ทางคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับกลางรุ่นที่ 38 ได้เดินทางไปเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงโคขุน ณฟาร์มโคลุงเชาว์  โดยมีคุณเรวัต วัชราไทย ได้เล่าให้ฟังว่า

              ประวัติความเป็นมา    ฟาร์มลุงเชาว์เป็นฟาร์มโคเนื้อขนาดใหญ่ มีทั้งโคขุนและโคพันธุ์ ตั้งอยู่ที่ 120/1 หมู่ 2 ตำบลหัวนา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี บริหารงานโดยคุณเรวัต วัชราไทย ซึ่งเป็นลูกชายของลุงเชาว์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งฟาร์มลุงเชาว์ขึ้นในปี 2513

              ในอดีต พื้นที่ของฟาร์มลุงเชาว์เป็นไร่มันสำปะหลัง ระบบชลประทานยังไม่เข้าถึง ดินไม่ดี ปลูกพืชผลไม่เจริญงอกงาม จึงเริ่มหันมาเลี้ยงโคเนื้อทั้งโคพันธุ์ลูกผสม และพันธุ์ไทยแท้ สามารถจำหน่ายโคได้ มีรายได้เข้ามาใช้ในครอบครัว จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะขยายปริมาณการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ประมาณปี พ.ศ. 2515- 2516 จึงเริ่มเลี้ยงโคอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเพาะพันธุ์เอง แล้วเอาโคตัวผู้ให้ชาวบ้านไปใช้แรงงาน 2-3 ปี จึงนำกลับมาขายแลกเนื้อ โดยขายให้พ่อค้าเขียง ซึ่งไม่มีมาตรฐานการรับซื้อ เงินก็ช้าหรือไม่ได้ จึงออกหาตลาดโดยส่งบริษัท แต่ก็ประสบปัญหาหลายๆ เรื่อง จึงหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตโคเนื้อได้มาตรฐานครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการรับประทานเนื้อที่ดี ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ปัจจุบันมีพ่อโคพันธุ์ดี 8 ตัว แม่พันธุ์ 600 ตัว โคขุน 1,200 ตัว ผลิตอาหารสดได้เดือนละ 270 ตัน

 


กระบวนการผลิตโคขุน

 

                          

                   โคที่นำมาขุนภายในฟาร์มลุงเชาว์ได้มาจากการเพาะพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์ของฟาร์ม และรับซื้อจากภายนอก โดยมีเกษตรกรที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาโคตัวผู้เข้ามาส่งที่ฟาร์ม แต่ละปีจะมีโคเข้าขุนประมาณ 5,000 ตัว เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าของฟาร์ม โคขุนต้องมีอายุ 6-7 เดือน ขึ้นไป หลังจากขุนแล้ว จะส่งขายได้ ส่วนใหญ่แต่ละตัวจะมีน้ำหนักกว่า 500 กิโลกรัมต่อตัว หรือต้องมีฟันแท้ไม่เกิน 1 คู่ เมื่อโคมาถึงที่ฟาร์ม จะมีการตรวจสอบ ชื่อเจ้าของ อายุของโค มีฟันน้ำนมเต็มปากหรือไม่ เกิดจากพ่อแม่ชื่ออะไร เป็นพันธุ์อะไร น้ำหนักเท่าไร อุณหภูมิในตัวเท่าไร มีประวัติเคยป่วยเป็นโรคอะไร เคยใช้ยาอะไรบ้างหรือไม่ แล้วเก็บบันทึกข้อมูลไว้อย่างละเอียด เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเจ้าของโคได้ จากนั้นจึงทำการติดเบอร์ที่หูด้านซ้ายและสักยันต์ที่หูขวา และนำไปแยกไว้ที่คอกกักกันนานประมาณ 1 เดือน เพื่อดูอาการโค หลังจากนั้น จะเริ่มฝึกให้กินอาหาร เข้าสู่กระบวนการขุน เริ่มต้นในช่วงแรกโคจะไม่สามารถปรับตัวได้ แต่เมื่อผ่านไปประมาณ 1 เดือน จะสามารถปรับตัวกินอาหารและน้ำที่เตรียมให้ได้ เมื่อผ่านกระบวนการนี้เสร็จเรียบร้อยจะตรวจสอบอีกครั้งว่า โคที่ผ่านการฝึกมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร ก่อนจะนำโคที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวเข้าสู่ระบบเลี้ยงที่ฟาร์มใหญ่อีกที ถ้าโคมีโรคติดต่อหรืออาการไม่ดี จะไม่คัดให้เข้าฟาร์มใหญ่อย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบาด

 

 

                              

                   คอกเลี้ยงใช้เหล็กกั้นอย่างดี มีการออกแบบที่แข็งแรงให้เหมาะสมกับสถานที่ ภายในคอกจัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนร่ม และส่วนกลางแจ้ง เพื่อโคจะได้รับอากาศที่ดี มีการถ่ายเทตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลให้โคมีความแข็งแรง สถานที่ตั้งคอก ต้องเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทดี มีการป้องกันไม่ให้มีปัญหาเรื่องของสัตว์เลื้อยคลานที่เข้ามาทำอันตรายโคที่เลี้ยง มีการเก็บมูลโคออกจากคอกประมาณเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันโรคและทำความสะอาด สำหรับมูลโคที่เก็บ ทางฟาร์มจะนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์จำหน่ายต่อไป

                    อาหารที่ใช้ คือ เปลือกข้าวโพด มันสำปะหลัง และอาหารข้น ให้วันละ 2 มื้อ เช้าและเย็น โดยต้องตรวจสอบทั้งอาหารและน้ำไม่ให้มีสารปลอมปนที่เป็นอันตราย ทั้งนี้ในฟาร์มเองก็มีการจัดการทุ่งหญ้า การปลูกหญ้าไว้ให้โคกินในยามอาหารขาดแคลนอีกด้วย

                   โคที่ขุนทั้งหมดของฟาร์มลุงเชาว์จะส่งเข้าโรงงานของบีพโปร  ที่อำเภอเดิมบางนางบวช

 

 

การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน

 

 

ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรีและเจ้าหน้าที่        ปศุสัตว์ในการป้องกันโรคระบาดสัตว์ ในการให้คำปรึกษาหารือ

 

 

การบริหารจัดการกลุ่มและการสร้างเครือข่าย

 

 

ได้มีการจัดตั้งกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อเป็นการจัดแบบธรรมชาติไม่ได้จดทะเบียนโดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ และความซื่อสัตย์ของสมาชิกในกลุ่ม มีการซื้อขายโคภายในกลุ่มและทั่วไป แม่โคของลุงเชาว์ฟาร์มได้ผลิตลูกและขายให้สมาชิกกลุ่มหรือบุคคลทั่วไปและรับซื้อโคจากสมาชิกมาขุนมีการสร้างเครือข่ายจากสมาชิกของกลุ่มออกไปเรื่อย ๆ จนมีเครือข่ายจำนวนมาก  ตลอดจนฟาร์มได้ให้การช่วยเหลือแก่กลุ่มสมาชิก

 

 

ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจการ

 

 

1. เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น คืออาหารโคขุนราคาแพง วัตถุดิบ เช่น มันสำปะหลังแพงขึ้น กากน้ำตาลแพงขึ้น ปลาป่นแพงขึ้น จึงเป็นเหตุให้ลุงเชาว์ฟาร์มต้องการจะลดการขุนโคลง จาก 7 – 8 เดือนเป็น 6 เดือน เพื่อลดค่าอาหารลงซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย

 

                        2.  การรับซื้อโคเพื่อนำมาขุน จะต้องกักไว้เพื่อตรวจสอบการติดเชื้อก่อน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเป็นการเพิ่มต้นทุน

 

3.   การควบคุมคุณภาพของประเทศคู่ค้า ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด และเข้มงวดมาก เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ส่งผลให้ต้นทุนสูงตามไปด้วย

 

 

ประโยชน์ที่ได้รับและแนวทางการปรับใช้ต่อการปฏิบัติงานขององค์กร

 

·       มีสร้างเครือข่ายให้มากขึ้น

·       มีความซื่อสัตย์สุจริตไว้วางใจสมาชิก

·       ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินกิจการให้สอดคล้องกับปัจจุบัน รู้จักปรับปรุงลดต้นทุนการผลิตเพื่อมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ขององค์กร

·       มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า

 

      จึงนับได้ว่าฟาร์มโคลุงเชาว์ เป็นฟาร์มโคเนื้อตัวอย่างฟาร์มหนึ่ง ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโครายย่อย และ เกษตรกรที่รวมกลุ่มเลี้ยงโค สามารถไปศึกษาดูงาน ด้านกระบวนการผลิตโคเนื้อ เพื่อผลิตเป็นโคขุน รวมทั้งการบริหารจัดการฟาร์มโค  รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากมูลโค ของฟาร์มที่ค่อนข้างจะประสบผลสำเร็จ  ทางคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับกลาง รุ่น38 ต้องขอขอบคุณผู้จัดการฟาร์มโคลุงเชาว์ ไว้ ณ.โอกาสนี้ครับ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 209759เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2008 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มาสุพรรณบุรีก็ไม่บอก
  •  จะได้ตามไปทักทาย
  • เอาโคชาวบ้านมาฝากครับ
  • ขอบคุณท่านอาจารย์ขจิต ครับ
  • ดีใจสุดๆที่อาจารย์ แวะมาททักทายกัน
  • ความจริงแล้ว ทีแรกตั้งใจไว้จะไปเยี่ยมอาจารย์ด้วย เพราะว่าวันที่ 3 กย. 51 ไปรับประทาอาหรเช้าและกลาวัน ที่สวนปาล์ม ใกล้กับสำนักส่งเสริมและฝึกอบรมนั่นเอง
  • แต่คิดดูอีกที ไปกันเป็นคณะใหญ่ จึงเกรงใจ เอาไว้มีโอกาสส่วนตัวแล้วค่อยไปแวะเยี่ยมอาจารย์ครับ
  • ขอบคุณที่นำภาพวัวสุพรรณ มาฝาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท