เกษตรระฟ้า "เวอร์ติเคิล ฟาร์ม"


จะแปลกอะไรถ้าจะปลูกผักไว้เป็นคอนโดมิเนียม...เมื่ออะไรก็เกิดขึ้นได้ในวงการเกษตร

วันนี้ ( 16 กันยา 51 )ได้เปิดอ่านเว็บไซค์ของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ปรากฏว่ามีบทความน่าสนใจมาก..เรื่อง" เวอร์ติเคิล ฟาร์ม" หรือ "ฟาร์มเกษตรกรรมแนวดิ่ง"...เป็นยังไงหลายๆท่านคงสงสัย  ก็ขออนุญาตคัดลอกมาบอกเล่าเก้าสิบต่อกันในบล็อกนี้ ดังนี้เน้อ...

"ดิ๊กสัน เดสพอมเมียร์" ศาสตราจารย์คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา มีความฝันอันยิ่งใหญ่ วางแผนวางระบบ-ก่อสร้าง "เวอร์ติเคิล ฟาร์ม" หรือ "ฟาร์มเกษตรกรรมแนวดิ่ง" ในตึกระฟ้าเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งในอนาคตจะทำหน้าที่เป็นเหมือนกับ "ฟาร์มเกษตรรระฟ้า" คอยผลิตและป้อนอาหารหล่อเลี้ยงประชากรที่แออัดยัดเยียดอยู่ใน "เมืองใหญ่" รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนอีกด้วย!



ศาสตราจารย์เดสพอมเมียร์ วัย 68 ปี เริ่มจุดประกายความคิด "เวอร์ติเคิล ฟาร์ม" (วีเอฟ) เป็นครั้งแรกเมื่อ 9 ปีก่อน และร่วมมือกับทีมงานจัดทำรายงานผลการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการมาตามลำดับ

ทฤษฎีสนับสนุนแนวคิดนี้มีอยู่ว่า ภายในปี 40 ปีข้างหน้า ประชากรร้อยละ 80 ของโลกจะตั้งรกรากอยู่ใน "เมืองใหญ่" ขณะเดียวกัน จำนวนพลเมืองโลกจะขยับขึ้นไปสูงถึง 3,000 ล้านคน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการอาหารย่อมต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน การลงทุนสร้าง "แหล่งผลิตอาหาร" กลางเมืองใหญ่เป็นการตอบโจทย์ปัญหานี้ได้ดีที่สุด  โดยพื้นที่การเกษตรและเลี้ยงสัตว์ จะถูกจับเข้าไปอยู่ใน "ตึกระฟ้า" ความสูง 30 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นมีฟังก์ชัน หรือหน้าที่การทำงานแตกต่างกันไป

 

 


บน-ภาพจำลอง "ฟาร์มระฟ้า" ยามค่ำคืน ซึ่งชั้นล่างจะเปิดเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขายสินค้าตลอดทั้งวัน

ล่าง-โครงสร้าง "ฟาร์มระฟ้า" : (1) แผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ (2) จุดติดเทอร์ไบน์กังหันลมผลิตไฟฟ้า (3) กระจกเคลือบไทเทเนียมออกไซด์ ช่วยดูดซับและกรองมลพิษ (4) ห้องควบคุม (5) ตัวตึกออกแบบทรงกลมเพื่อให้ใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพและรับแสงมากขึ้น (6) ชั้นปลูกพืช

สำหรับวิธีปลูกพืชผักผลไม้ ทำโดยกรรมวิธีปลูกผักไร้ดิน "ไฮโดรโปนิก" เป็นหลัก

ส่วนการเลี้ยงสัตว์ เบื้องต้นจะเลี้ยงเฉพาะไก่ในระบบปิด

นอกจากนั้น "พลังงาน" ที่ใช้ในตัวตึกนั้นไม่ต้องไปหามาจากไหนไกล เพราะใช้ "พลังงานหมุนเวียนตามธรรมชาติ" ที่ได้จากแสงอาทิตย์กับกระแสลม และภายในตึกยังนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้อีกหลายชนิด เช่น การรีไซเคิลน้ำดื่ม น้ำใช้ และบำบัดน้ำเสีย

รวมทั้งมีระบบแปรสภาพ "ขยะ-ของเสียจากกระบวนผลิต" ทั้งจากในตัวตึกและในเมือง มาทำเป็นเชื้อเพลิง

ความฝันของเดสพอมเมียร์ใกล้ความจริงเข้าไปอีกก้าว

เมื่อนายสก็อต เอ็ม. สตรินเกอร์ ผู้บริหารเกาะแมนฮัตตันของสหรัฐ แสดงความสนใจในโครงการนี้ และติดต่อขอข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ปัจจุบัน แผนงานอยู่ระหว่างการศึกษาผลดี-ผลเสีย-ความคุ้มค่า เพื่อนำเสนอให้สำนักงานนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กพิจารณา โดยเงินลงทุนสร้าง "ต้นแบบฟาร์มระฟ้า" คาดว่าต้องใช้ทุนอย่างต่ำ 480-1,020 ล้านบาท แต่ถ้าจะสร้างกันเต็มรูปแบบจริงๆ งบประมาณน่าจะสูงเกินหลักพันล้านบาท!

เดสพอมเมียร์ เชื่อมั่นว่า จำนวนเงินแค่นั้นไม่มากเลย เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้กลับมา เพราะ "ฟาร์มระฟ้า" มีจุดแข็งนับไม่ถ้วน อาทิ  การเพาะปลูกทำในระบบปิดที่ควบคุมภาวะแวดล้อมได้ทั้งหมด จึงไม่ต้องกังวลกับปัญหายาฆ่าแมลง ภัยธรรมชาติ หรือสภาพอากาศแปรปรวน ไม่ต้องสิ้นเปลืองน้ำมันในการขนส่งสินค้า จากชนบทเข้าเมือง ช่วยลดการใช้น้ำมันและลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนสู่ชั้นบรรยากาศ ที่สำคัญ ในอนาคตพื้นที่การเกษตรในต่างจังหวัดมีแต่จะลดน้อยลง และ "ฟาร์มระฟ้า" จะเข้ามาทดแทนฟาร์มแนวราบที่หายไปได้  เรียกว่า คนเยอะตรงไหนก็สร้างฟาร์มบนตึกขึ้นมาตรงนั้นเลย เพื่อรองรับผู้บริโภคแบบตรงจุด

ส่วนพื้นที่ทำสวนทำไร่ในชนบทที่ไม่มีความจำเป็น ก็ฟื้นฟูปลูกป่าขึ้นมาอีกครั้งเพื่อใช้ดูดซับก๊าซโลกร้อนคาร์บอนไดออกไซด์

"ผมคิดว่าเวอร์ติเคิล ฟาร์ม 1 หลัง ผลิตอาหารเลี้ยงคนในเมืองได้ 50,000 คน" เดสพอมเมียร์ ประเมิน

อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มติงว่า เป็นแนวคิดสุดขั้วเกินไป เช่น ศาสตราจารย์เจอร์รี่ คอฟแมน ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนผังเมือง มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ระบุว่า "ฟาร์มระฟ้า" ฟังดูเป็นความคิดที่ดี แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดต้องสร้างตึกสูงถึง 30 ชั้น เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าลดลงมาเหลือแค่ 5-6 ชั้น ซึ่งดูทำได้จริงมากกว่า

ด้านนายอาร์มานโด คาร์โบเนลล์ ประธานฝ่ายผังเมือง สถาบันนโยบายที่ดินลินคอล์น เห็นว่า

การนำที่ดินในมหานคร-เมืองใหญ่ ซึ่งมีราคาแพงกว่าทองคำไปทำเป็นฟาร์มปลูกผัก ถือว่าไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

"มันไม่น่าเป็นไปได้ที่นักลงทุนใหญ่ๆ จะปล่อยให้คุณเอาพื้นที่แมนฮัตตันตอนล่างไปปลูกมะเขือเทศ!"

แต่ถึงคนอเมริกันด้วยกันเองไม่เชื่อในแผนปฏิบัติการเกษตรแบบไฮเทคครั้งนี้คงไม่เป็นไร

เพราะล่าสุด มีผู้สนใจจาก "จีน" ช่วยมอบเงินสมทบงบวิจัยโครงการให้เดสพอมเมียร์มาแล้ว 170 ล้านบาท!


เจาะแบบร่าง"ฟาร์มระฟ้า"

1. พืชผักผลไม้หลักๆ ที่จะปลูก ได้แก่ ผักขม แอปเปิ้ล กะหล่ำ ผักกาด ถั่ว พริกไทย เชอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่

2. ตึกทรงกลมเหมาะสมกับโครงการนี้มากที่สุด และแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาจะหมุนตามดวงอาทิตย์ได้ด้วย

3. หนึ่งในแบบร่าง "ฟาร์มระฟ้าขนาดเล็ก" ที่อาจสร้างขึ้นเพื่อการทดลอง ก่อนถึงลงมือก่อสร้างจริง

4. มีผู้เสนอแบบตึก "ฟาร์มระฟ้า" หลายรูปทรง รวมถึงทรงพีระมิด

ระบบการทำงานภายในตึก

ระบบการทำงานหลักๆ ในตึกฟาร์มระฟ้า มีดังนี้ (1) ระบบเก็บไอน้ำ-ความชื้น เพื่อนำไปรีไซเคิลขายเป็นน้ำดื่ม (2) น้ำที่เก็บได้จะส่งผ่านท่อ คาดว่า 1 ปีจะผลิตน้ำได้ 60 ล้านแกลลอน (3) ถังบำบัดน้ำเสียง นำกลับไปรดพืชผัก (4) เครื่องตรวจคุณภาพผักผลไม้ (5) แปลงปลูกพืช สามารถซ้อนกันได้ 10 ชั้น (6) สระกักเก็บน้ำ (7) เครื่องรดน้ำอัตโนมัติ (8-11) ระบบแปรสภาพเศษขยะทั้งที่มาจากในตัวตึกและในชุมชนเป็นพลังงาน

(ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซค์ข่าวสดค่ะ)

เป็นไงบ้างคะ  อ่านแล้วคิดว่า ทำได้หรือไม่ได้ ดีหรือไม่ดี...แต่ส่วนตัวแล้วผู้เขียนเห็นว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะการควบคุมโรคและแมลงแบบระบบปิด น่าจะลดการใช้สารเคมีลงได้มาก แต่ปัญหาที่น่าคิดคือ ถ้าเมืองไทยจะทำแบบนี้บ้างแล้วปลูก"ข้าว" พืชหลักของเราจะทำได้มั้ยน้อ.....เผื่อจะไปของที่ดินแถวรัชดาจากคุณหญิงแม่ มาสร้างตึกปลูกข้าวขายบ้าง...อิอิ  ล้อเล่น.....

 

หมายเลขบันทึก: 209015เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2008 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ผักผลไม้ระฟ้า ไก่ระฟ้า ที่ปลูกที่โตในตึกแห่งจินตนาการนี้ คงจะส่งออกไปขายให้นางฟ้าเทวดาได้ลิ้มลองเป็นแน่แท้นะก๊ะ...พี่เก๋
  • ถ้าทำได้จริง สงสัยจะเป็นงานอดิเรกของเศรษฐีพันเจ็ดร้อยล้าน (ดอลล่าร์) แก้เซ็งชัวร์เลยง่ะ
  • แล้วเราชาวไทย จะไปดูงานกันนะ...อิอิ
  • สวัสดีครับพี่เก๋
  • ขอนำบล็อกเข้าชุมชนนักส่งเสริมการเกษตรนะครับ
  • http://gotoknow.org/planet/doaekm

^  โอ.. อลังการงานสร้าง จริงจริง !

^  คุณยายอ่านดูแล้ว คิดว่าตัวเองขอแจม ตอนที่ผลผลิตออกละกัน

 ^_^  หวาน กรอบ อร่อย ปลอดภัยไร้สาร คุณยายช๊อบชอบค่ะ

สวัสดีครับ พี่เก๋

เขาจะทำกันจริงๆไหมนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท