Deep listening ข้อได้คิดจากการประชุม นสส. กรมอนามัย (6)


เราไม่ต้องรีบจนลุกลน เพียงแต่ว่า ให้มีสติที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง รับรู้ในสิ่งรอบตัว นำเข้ามาประมวลกับความคิดอย่างมีสติ ในที่สุดก็จะได้ปัญญา สนองต่อการทำงาน และชีวิตก็มีคุณภาพด้วย

 

คำว่า สติมา ปัญญาเกิด ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นความจริงทีเดียว เพราะว่าเวลาฟังอะไรไม่รู้เรื่อง ก็ตอบอะไรไม่ได้ ต่ออะไรไม่ได้ พูดอะไรก็ไม่ได้ (นอกจากเพ้อเจ้อไปเรื่อยๆ) ... เวลาที่เราได้ทำวิปัสสนา เดินจงกรม ทำสมาธิในสภาวะใดก็ตาม ถ้าเราสามารถทำใจให้นิ่งได้แล้ว ก็จะสามารถรวมพลังความรู้ ประสบการณ์ที่มี ให้สามารถประมวล และสรุปประเด็นต่างๆ ที่เราได้คิด ได้นึกถึงได้ดีขึ้น รอบคอบ และรัดกุมขึ้น ... ตรงนี้ ดิฉันคิดว่า มือใหม่ทั้งหลายที่ทำเรื่องของการจัดการความรู้ อาจใช้เป็นหนทางนำ ที่จะทำให้เราแต่ละคน ได้มีโอกาสฝึกฝนในเรื่องการฟัง การจับใจความ การประมวล สรุปประเด็นต่างๆ และอื่นๆ ก็จะเป็นหนทางตั้งต้นที่ดีทีเดียว แต่ว่าต่างคนก็คงต่างวิถีการฝึกปฏิบัติ บางคนก็จะบอกว่า สบายมาก เพราะมีทักษะการฟังที่เป็นทุนอยู่แล้ว อันนั้นก็ยิ่งจะดีใหญ่ค่ะ

ตรงนี้ ดิฉันก็ขอนำเอาแนวคิดของพุทธธรรมมาฝาก จากแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านกล่าวไว้ว่า การดำเนินชีวิต 3 ด้าน เป็นปัจจัยเกื้อหนุนกันในการศึกษา คือ การนำความรู้ในธรรมชาติ และกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ สนองจุดหมายที่เราต้องการ คือ การพัฒนามนุษย์ ให้พ้นจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ... และทุกอย่างจะอยู่ในขอบเขตของปัญญา อย่างที่ว่า รู้เท่าใด ทำได้เท่านั้น แต่ว่า คนก็พัฒนาปัญญาไม่ได้ ถ้าไม่มีการสื่อสัมพันธ์ การทำพฤติกรรม และการทำงานของจิตใจมาเกื้อหนุน ... ก็คือ ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันละค่ะ สิ่งนี้ก็คือ

  1. ปัญญาอาศัยพฤติสัมพันธ์ (อินทรีย์สัมพันธ์ และพฤติกรรม) เช่น เราจะได้ความรู้ ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัส ตักตวง หยิบฉวยสิ่งต่างๆ รอบตัวเราเข้ามากระทบความคิดของเรา เพราะฉะนั้น เราก็ต้องรู้จักพัฒนาพฤติกรรม ให้รู้จักพูด รู้จักตั้งคำถามให้ชัดเจน รู้จักพูดให้น่าฟัง สร้างความสัมพันธ์อย่างมีไมตรี
  2. ปัญญาก็ต้องอาศัยจิตใจ เช่น จิตใจต้องเข้มแข็ง อดทน มีความเพียร แน่วแน่ มั่นคง มีสติ มีสมาธิ มีจุดยืน มีเป้าหมาย มีเจตนา ... เหล่านี้คงมาจากแรงจูงใจ และความตั้งใจที่ดีนะคะ ก็จะมีพฤติกรรมไปในทางที่ดี
  3. และสิ่งนี้ก็คือ ปัญญาก็จะเป็นเครื่องชี้นำพฤติกรรม และปัญญาก็จะบอกทางแก่จิตใจด้วย เพราะว่า ถ้าเรารู้ เราเข้าใจ มองเห็นกว้างไกล พฤติกรรมก็คงเดินหน้าได้ต่อไป จิตใจก็โปร่งโล่งสบาย ไม่ติดขัดคับข้องใจ แก้ปัญหาได้

เห็นด้วยไหมคะ ... สิ่งเหล่านี้ดิฉันคิดว่า เราไม่ต้องรีบจนลุกลน (... แต่คงไม่ต้องเชื่องช้านะคะ รออยู่นั่นแหล่ะ ... ตรงนี้ก็ต้องบอกว่า เวลาและวารี ไม่เคยรอใคร) เพียงแต่ว่า ให้มีสติที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง รับรู้ในสิ่งรอบตัว นำเข้ามาประมวลกับความคิดอย่างมีสติ ในที่สุดก็จะได้ปัญญา สนองต่อการทำงาน และชีวิตก็มีคุณภาพด้วยค่ะ

... ดิฉันเองนั้น ไม่ได้รู้เรื่องธรรมะมากมายนักหรอกค่ะ มีแต่เข้าใจพฤติกรรม ยังมองโลกนี้ในทางบวกอยู่มากหน่อย ก็เท่านั้นเอง ... ถ้ามีสิ่งไหนสื่อสารผิดไป โปรดให้อภัยนะคะ และช่วยแก้ไขให้ถูกต้องด้วย ก็จะขอบคุณค่ะ

ตอนนี้เป็นตอนจบ ของภาคเรียนรู้จากการอบรม นสส. กรมอนามัย ซึ่งยังไม่จบหลักสูตรนี้นะคะ ต้องต่อยอดอีกในช่วงปลายเดือน เมย. และตอนนี้คิดว่า ทีมงาน พร้อมแล้วค่ะที่จะเรียนรู้ที่จะมีประสบการณ์ที่ดีต่อไป

ขออภัยที่รู้สึกว่า รีบร้อนใส่ข้อมูลต่อเนื่องมาอย่างเร่งด่วน เพราะดิฉันมีภารกิจต่อไปภายหน้าเล็กน้อย อาจต้องอำลาหน้าจอไปประมาณ 2 อาทิตย์ แล้วจะกลับมาเล่าสู่กันฟังนะคะ ว่าไปได้อะไรดีๆ มาหรือเปล่า

 

หมายเลขบันทึก: 20900เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2006 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท