ฉบับที่ ๒ ระบบเศรษฐกิจ


ผมไม่ได้เขียนจดหมายรัก
ฉบับที่  

กานต์วลีที่คิดถึง

                                ชอง ชาค รุสโซ  (Jean Jacques Reusseau) กล่าวไว้ว่า จะเริ่มต้นเขียนจดหมายรัก เราต้องเริ่มที่ไม่รู้ว่า เราตั้งใจจะพูดว่าอะไร  และจบจดหมายโดยที่ไม่รู้ว่า  เราได้เขียนอะไรไป  

 

                กานต์วลี  ผมขอบอกกานต์ เป็นครั้งสุดท้ายว่า ผมไม่ได้เขียนจดหมายรัก  เพราะความรักของเราถึงเวลาที่จะสิ้นสุดแล้ว เมื่อกานต์ดึงเขาคนนั้นเข้ามาสู่ชีวิตของเรา

                ผมเข้าใจดีว่า  รูปแบบแห่งชีวิตของคนเรานั้นมีไม่เหมือนกัน   กานต์มีโลกอันสดใสของกานต์ ผมก็มีมุมที่เงียบสงบเรียบง่ายของผม ผมอยากจะอธิบายให้กานต์เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างเราสองคน รวมทั้งเขาคนนั้น  เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า  ทำไมผมจึงเดินจากมา 

                             “..ความร่าเริงแห่งความรักของเราสดใสไม่กี่ชั่วขณะ  แต่ความปวดร้าวของความรักยืนยาวชั่วชีวิต.

 

                ผมขอเปรียบเทียบเรื่องของเรา เข้ากับระบบเศรษฐกิจ  เพราะเศรษฐกิจก็มีหลายรูปแบบ  กล่าวกันว่ามวลประเทศในโลก มีความแตกต่างกันในด้านการปกครอง  สังคม  วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ จึงทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจ แตกต่างกันตามความเหมาะสม ซึ่งสามารถแบ่งระบบเศรษฐกิจ ออกเป็น  ๔ ระบบ เหมือนกันกับเรื่องของเรา มี ผม  กานต์  เขาคนนั้น และทางเลือกสุดท้าย

                                ผม เปรียบเหมือน เศรษฐกิจแบบแรก ที่เรียกว่า แบบทุนนิยม (Capitalism) หรือแบบเสรีนิยม เป็นแบบเศรษฐกิจที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุด ในการเลือกและตัดสินใจ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย  ประชาชนมีสิทธิในทรัพย์สินต่าง ๆ ที่แสวงหามา โดยรัฐไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซง เหมือนกับผม ผมให้อิสรเสรีทางความคิดแก่กานต์เสมอ  ผมไม่เคยบีบบังคับให้กานต์ทำอะไรตามใจที่ผมปรารถนา

 

กานต์วลี   คนที่ฉันรัก   ฉันอยากให้  เขามีอิสรเสรี

แม้กระทั่ง  อิสระ..จากตัวฉัน

                ย้อนกลับมาที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกันก่อน  กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปโดยผ่านกลไกของราคา คือราคาเป็นตัวกำหนดบทบาททางเศรษฐกิจ  ราคาสูง ผู้ผลิตก็ผลิตสินค้าออกมามาก  ขณะที่ราคาตกต่ำก็ลดการผลิตลง  ส่วน  กิจกรรมทางด้านความรักของผม ดำเนินผ่านหัวใจที่เสรีและซื่อสัตย์ ไม่มีเหตุและผล  ซึ่งสมควรแล้วที่ความรักของเราต้องจบลง  กานต์วลี เศรษฐกิจแบบนี้จะมีการแข่งขันกันมาก  ดังนั้นผู้ผลิตแต่ละรายก็จะพัฒนาคุณภาพและวิธีการผลิตของตนเองอยู่เสมอ ก็ให้เกิดผลดีและเกิดผลเสียตามมา คือ ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมีมากขึ้น  ผู้ผลิตรายใหญ่มักได้เปรียบผู้ผลิตรายย่อย  นายทุนมุ่งหากำไรเป็นสำคัญ

                                กานต์วลี ผมกำลังนึกถึงตัวผม  การให้อิสรเสรีแก่ความรักของผม  กำลังส่งผลที่เลวร้ายต่อผมในวันนี้  แต่ช่างเถอะ มันคงจะจบลงในไม่ช้า

                                นี่ คือ ผมผู้เสรี ดังระบบเศรษฐกิจทุนนิยม  ส่วนกานต์ล่ะ  กานต์วลี

               

กานต์นั้น เหมือนเศรษฐกิจระบบที่สอง ที่ผมกำลังจะกล่าวถึง คือ ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ ประชาชนไม่มีสิทธิหรือเสรีภาพในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินใด ๆ  รัฐบาลเป็นผู้วางแผนการผลิตการบริโภค รวมทั้งการตั้งราคา ไม่มีระบบกลไกของราคา ประชาชนถูกจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ ผลประโยชน์ต่าง ๆ รัฐจะแบ่งปันให้ประชาชน  ประชาชนไม่สามารถเลือกได้

กานต์ ระบบนี้  นี่ มันกานต์ ชัด ๆ กานต์รวบอำนาจแห่งความคิด  ความรัก และทุกสิ่งทุกอย่างไว้ที่กานต์ โดยไม่รับรู้ถึงความรู้สึก ความต้องการ ของคนที่รักกานต์  มีคนกล่าวว่า 

                                              “ ความรักของมนุษย์ มักเป็นการพบปะของความอ่อนแอ  ของคนสองคน

ความอ่อนแอ อาจจะใช่สำหรับผม  แต่คงไม่ใช่สำหรับ กานต์ !

                                กานต์รู้ไหม  ถึงแม้ว่าระบบคอมมิวนิสต์ จะมีส่วนดี  เช่น ความเสมอภาค ไม่มีการผูกขาดของผู้ผลิตหรือผู้บริโภค แต่ข้อเสียก็มี  เมื่อไม่มีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินใด ๆ ในผลิตผล ก็ขาดแรงจูงใจในการผลิต ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเลือกอาชีพและการบริโภค  ไม่มีระบบการแข่งขัน การดำเนินการทางเศรษฐกิจจึงไม่เจริญก้าวหน้า

                                กานต์เคยนึกถึงข้อเสียของการที่ทุกคนต้องยอมต่ออารมณ์การเปลี่ยนแปรของกานต์ได้หรือไม่ กานต์คงจะไม่เคยรับรู้    ผมจะค่อย ๆ อธิบายให้กานต์ฟัง

 

                                ระบบแบบที่สาม ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism)  ผมขอเปรียบเทียบกับเขาคนนั้น ของกานต์  เขาคนนั้น คนที่กานต์รักเขาด้วยสมอง ต่างกับผม ที่รักกานต์ด้วยหัวใจ  กานต์วลี กานต์ลองมาทำความเข้าใจกับระบบสังคมนิยมก่อนเถอะ  ระบบนี้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขช่องว่างระหว่างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางด้านรายได้ของคน ซึ่งเป็นผลเสียมาจากระบบทุนนิยมและให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นกว่าระบบคอมมิวนิสต์ เหมือนเขาคนนั้น ที่เข้ามาแทรกในช่องว่างระหว่างความรักของสองเรา

                ระบบสังคมนิยม รัฐบาลจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เป็นผู้วางแผนและควบคุมการผลิตในกิจการที่สำคัญและนำรายได้มาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้แก่ประชาชนในสังคม เช่น ด้านการแพทย์ การศึกษา เป็นต้น ข้อดีก็คือ การกระจายรายได้มีความเป็นธรรม  การแข่งขันเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดนั้นไม่มี  ข้อเสีย ผู้บริโภคมีอิสรภาพไม่เต็มที่ ดำเนินธุรกิจได้เฉพาะกิจการขนาดเล็กเท่านั้น…..หรือที่กานต์ทุ่มเทรักเขา ก็เพียงเพื่อสวัสดิการที่เขาหยิบยื่นให้

 

                ต่อไป เป็นทางเลือกที่ 4 ที่ผมเคยคิดอยากจะให้กานต์เลือก ในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economic )  เป็นเศรษฐกิจที่รัฐบาลและประชาชนจับมือกัน เป็นการนำเอาลักษณะสำคัญของระบบเสรีนิยมและแบบสังคมนิยม มาใช้ด้วยกัน คืออะไรที่เอกชนทำได้ ก็ให้เอกชนทำ  อะไรที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย  กระทบต่อส่วนรวม  รัฐบาลจะเข้ามาดำเนินการเอง ทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วมในการวางแผนประเทศ   ข้อดี คือ เอกชนมีบทบาททางเศรษฐกิจ  ข้อเสีย เช่น การดำเนินงานของรัฐมักขาดประสิทธิภาพ ซึ่งจะเห็นข้อดีข้อเสียได้จากประเทศไทยเรานี่เอง..

 

                อย่างไรก็ตามผมคงจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องราวความรักระหว่างเราอีกแล้ว พอกันที

กานต์วลี

                                “ คุณจะหัวเราะและไร้ความปรานี ในขณะเดียวกันไม่ได้ ”

                                                    You  cannot  laugh  and  be unkind  at the  same  time.

 

                                                                                                                                              ลืมอดีตเสียให้หมด

                                                                                                                                                                อภิษฐา

หมายเลขบันทึก: 208964เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2008 01:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณคะที่บรรยายแบบว่างงๆ

ขอโทษครับ ที่ทำให้คุณงง

เข้าใจว่าที่งง เพราะคุณวะลิต มาเริ่มอ่านเอาฉบับที่สอง

ความจริงแล้ว กานต์วลีเศรษฐศาสตร์ เขียนเพื่อใช้สอนจริงในวิชาเศรษฐศาสตร์พอเพียง

ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ของโรงเรียนสทิงพระวิทยา จังหวัดสงขลา ครับ

เขียนเป็นจดหมายรัก ระหว่างชายหญิง แล้วพยายามสอดแทรกความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์

และสาระการดำเนินชีวิต เข้าไป

นักเรียนชอบครับ และขอโทษครับที่ทำให้คุณงง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท