เล่าเรื่องเมืองหงสา ๒๗ ทานข้าวสาก ก๋วยสลาก เมืองลาว


วันนี้ก็รู้สึกปิติที่ได้ทำ

สวัสดีในวันพระครับ

วันนี้สิบห้าค่ำเดือนสิบลาว ตามฮีตสิบสองของพี่น้องเผ่าไทปั้นข้าวเหนียวแล้ว วันนี้เป็น บุญข้าวสาก ครับ ที่มาของคำว่าข้าวสาก กร่อนมาจากคำว่า ข้าวสลาก เนื่องจากพี่น้องจะทำบุญถึงญาติมิตรผู้ล่วงลับ ที่รู้จักชื่อเสียงเรียงนาม โดยเขียนชื่อพ่อแม่ปู่ตาญาติมิตรผู้วายชนม์ ใส่ในเครื่องสังฆทาน หรือ ก๋วยสลาก แล้วนำไปถวายพระรูปที่ท่านจับสลากได้ ให้พระท่านให้พรอุทิศบุญกุศลถึงผู้ล่วงลับตามรายชื่อในสลาก

อันนี้ต่างจาก บุญข้าวประดับดิน ที่จัดขึ้นเมื่อสิบห้าวันก่อน หรือในวันแรมสิบสี่ค่ำเดือนเก้า บุญข้าวประดับดินเป็นการทำบุญให้ดวงวิญญาณที่ได้รับการปลดปล่อยให้ขึ้นมาจาก โลกเบื้องล่างและเบื้องบน อาจเป็นญาติพี่น้องเราหรือดวงวิญญาณอื่นๆ จึงไม่ได้ระบุชื่อไว้ และมีความเชื่อว่าดวงวิญญาณเหล่านี้อาจไม่สามารถเข้าไปรับส่วนบุญในวัดได้ พี่น้องจึงตื่นแต่เช้านำข้าวปลาอาหาร ไปวางหรือแขวนไว้รอบๆรั้ววัด จึงเป็นที่มาของคำว่า ข้าวประดับดิน

บุญข้าวสากที่เมืองหงสา วันนี้ยังคงมีสาธุชนไปวัดกันอย่างหนาตา ภาคเช้ามีการนำข้าวปลาอาหารไปตักบาตรที่วัด สายๆหน่อยพี่น้องทยอยกันนำเครื่องสังฆทาน หรือ ก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด เท่าที่สังเกตดู ก๋วยหรือชลอมที่สานจากไม้ไผ่เหมือนสมัยก่อนถูกแทนที่ด้วยถุงพลาสติกเป็นส่วนมากแม้แต่ของตัวผมเอง แต่ก็ยังพอเห็นก๋วยสลากจริงๆอยู่บ้างเหมือนกัน มีผู้เฒ่าผู้แก่คอยรับใบสลากแยกใส่พานไว้ ส่วนเครื่องสังฆทานนำไปวางรวมกันไว้

ราวสิบโมงเช้า พระเณรเริ่มตีกลองเพล การตีกลองที่นี่ท่วงทำนองไม่เหมือนบ้านเรา มีการตีฆ้อง และฉาบประกอบด้วย หลังจากท่านฉันเพล(พอเป็นพิธีแล้ว) ก็เริ่มพิธีถวายก๋วยสลาก มีพระมารับเครื่องสังฆทานสิบกว่ารูปและอุบาสก อุบาสิกาที่นุ่งขาวห่มขาวมารับอีกเจ็ดแปดท่าน หลังจากกล่าวถวายรวมแล้ว เจ้าอาวาสท่านจัดแจงแบ่งใบสลากออกเป็นส่วนๆ ส่วนหนึ่งท่านว่าเอาเข้าวัดหรือ เอาเข้าถวายพระเจ้าพระธรรม ส่วนที่เหลือท่านจัดแบ่งตามจำนวนพระเณรอุบาสกอุบาสิกาที่มานั่งรับเครื่องสังฆทาน

แปลกใจที่ใบสลากกลับถูกส่งไปให้กลุ่มผู้ชายสูงวัยที่มานั่งอำนวยการอยู่ แล้วก็ถึงบางอ้อ เมื่อตัวผมเองก็ถูกท่านเจ้าอาวาสกวักมือเรียกเข้าไปรับใบสลากมาปึกหนึ่งเหมือนกัน ท่านบอกว่าให้ช่วยอ่านใบสลากปึกนี้ด้วย (ท่านจำได้ว่าผมอ่านภาษาลาวแตกดี ผมเคยแวะไปขออ่านตำรา บทสวดภาษาลาวโบราณจากท่าน) ท่านบอกว่าพระและอุบาสิกาบางรายแก่แล้วหูตาไม่ดีอ่านสลากยากลำบาก เลยคิดวิธีใหม่โดยจัดคนอ่านดังๆแล้วค่อยให้เจ้าของเครื่องสังฆทานยกไปถวาย ให้พระท่านให้พรอย่างเดียวก็พอ  

รู้สึกแปลกๆที่เวลาอ่านสลาก มีคุณตาคุณยายมานั่งพนมมือฟังอย่างตั้งใจ ฝ่ายเราคนอ่านก็เกรงว่าจะเอ่ยชื่อญาติๆท่านไม่ครบ แถมไปเจอสลากบางใบที่คุณตาท่านเขียนด้วยภาษาลาวแบบโบราณลากหางหวัดหางยาว เล่นเอาเหงื่อตกเลยทีเดียว ยกตัวอย่างใบสลากดังนี้ครับ สาธุ สาธุ สาธุ ผู้ข้า เชียงแพงพร้อมด้วยลูกเต้า ขอถวายมีก๋วยสลากหนึ่งอัน ทานหา แสนสุวรรณ สาวผิวผู้เป็นพ่อตู้ แม่ตู้ (หา.....อีกประมาณสิบชื่อ) ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอให้เป็นอาหารทิพย์ไปฮอดไปเถิง ตกไปเมื่อเช้าให้เป็นข้าวงาย ตกไปเมื่อขวายเป็นข้าวแลง... นิพานัง ปรมังสุขัง จะมาตกม้าตายก็ตรงคำบาลีลงท้ายนี่แหละครับ แต่ก็อาศัยว่ามีคนอ่านแข่งกันสิบกว่าคนเสียงคงกลบที่เราอาจอ่านผิดไปบ้าง

แต่วันนี้ก็รู้สึกปิติที่ได้ทำ   

ระหว่างที่นั่งรอพิธี ผมสังเกตเห็นมีผู้หญิงและเด็กๆกลุ่มหนึ่งราวสามสี่สิบคนที่ดูแปลกไปจากพี่น้องที่มาทำบุญ สังเกตได้จากการแต่งกายที่ดูขะมุกขะมอม ไม่สวยเหมือนพี่น้องที่ตั้งใจมาทำบุญ พยายามเงี่ยหูฟังที่เขาคุยกันก็เป็นภาษาลาวเทิง พวกเขานั่งจับกลุ่มอยู่ตามใต้ต้นไม้ แต่ละคนมีถุงย่ามใบโต เด็กบางคนถือถุงพลาสติกไว้ ออกไปพูดคุยด้วยจึงได้รู้ว่า เป็นพี่น้องชาวลาวเทิง ขะมุ มาจากบ้านน้ำตับ ห่างออกไปราวยิ่สิบห้ากิโลเมตร เดินทางด้วยเท้ามาจากบ้านตั้งแต่เมื่อวานนี้สายๆ พอตกเย็นจึงมาถึงและนอนรอที่ศาลาวัด     พี่น้องขะมุกลุ่มนี้ตั้งใจมารับ ทาน ข้าวปลาอาหารที่ทางพระท่านฉันเหลือ เห็นบอกว่ามีมาทุกปี และทุกบุญใหญ่ที่มีคนไปทำบุญกันจำนวนมาก  

 นึกถึงระยะทางที่แม่ๆและเด็กๆต้องแบกข้าว แบกแกงกลับบ้านกว่ายี่สิบกิโลเมตร แล้วก็เหนื่อยแทน แต่ในบริบททางปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแล้ว ผมว่านี่เป็นความเยี่ยมยอด ในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่ายกย่อง ผมเฝ้าสังเกตดูพี่น้องชาวบ้านศรีบุญเรือง ยกสำรับข้าวที่พระท่านฉันเสร็จออกไปให้พี่น้องชาวขะมุ ซึ่งกลุ่มหลังนี่ก็เก็บทุกอย่างจริงๆ ทั้งข้าวสุก แกง ขนม แต่ที่เห็นเหลือไว้ไม่มีใครเหลียวแล ได้แก่พวก กล้วย แตงร้าน แตงไทย เด็กๆบอกว่าที่บ้านมีปลูกไว้เยอะแยะแล้ว

บุญข้าวสากปีนี้ ได้พาดผ้าเบี่ยงเข้าวัด ได้ทานก๋วยสลากให้พ่อแม่ ได้ความรู้สึกปิติยามอ่านใบสลากให้พี่น้องอิ่มเอิบใจ ได้เห็นการเกื้อกูลกันระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างชาติพันธุ์ต่างศาสนา เป็นวันที่ดีอีกวันในหงสาครับ  

หมายเลขบันทึก: 208742เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2008 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

ได้รับความรู้แต่เช้าสดชื่นค่ะ 

วัฒนธรรมความเชื่อทางภาคอีสานก็คงเป็นลักษณะเดียวกันกับชาวเทิงหรือเปล่า     คือคนอีสานถ้าใครได้กินข้าวก้นบาตร   ก็จะ  "อยู่ดีมีแฮง"  ใครที่ป่วยก็จะหาย      ก็คงเป็นลักษณะเดี่ยวกับ   ไม่เช่นนั้นชาวลาวเลิงก็คงไม่เดินทางมาถึง  25  ก.ก. จริงหรือเปล่าค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ได้รู้อะไรอีกมากเลย ครับ ขอขอบใจ

อิ่มใจ๋แต่เจ้าเลย ท่านเปลี่ยน

อยากเห็นวรรณานุ่งชุดลาวลื้อ อิอิ

  • มาสาธุบุญด้วยครับ
  • พาดผ้าเบี่ยงเข้าวัด
  • แสดงว่า..เข้าสู่วัยใส..เอ้ย..สัยแล้วนะครับ
  • ใครบอกอะไร..หูไม่ดีก็เลย สัย สัย อยู่เรื่อย ฮิฮิ
  • สวัสดีครับอ้ายเป-ลี่-ยน
  • กิ๋นข้าวสลากเมืองลาวก็เหมือนๆ กับบ้านเราเลย
  • ทำบุญที่ไหนๆ ก็อิ่มใจเหมือนกันนะครับ
  • ขอบคุณมากเลยครับที่นำมาบันทึกแบ่งปัน

พาดผ้าเบี่ยงเบี้ยงซ้าย เพื่อนนั้นหันว่าดี

แมนอีหลีติอ้าย

  • สวัสดีค่ะ
  • อ่านแล้วทำให้รู้ว่า บ้านพี่เมืองน้องก็มีตานก๋วยสลากเหมือนกัน
  • ขอบคุณบันทึกดีๆสู่โลกกว้าง เจ้า

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท