“นาโต่โมเดล”สูตรสำเร็จ ปวช.เกษตรยอดดอย


ต้นแบบอาชีวศึกษาเกษตรบนยอดดอย
“นาโต่โมเดล” สูตรสำเร็จ ปวช.เกษตรยอดดอย

ข่าววันที่ 27 สิงหาคม 2551 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

 
 

           นาโต่โมเดลสูตรสำเร็จ ปวช.เกษตรยอดดอย

                ++   ++   ++   ++   ++

 

รายงานพิเศษ : วารินทร์ พรหมคุณ

 

 

    การจัดการเรียนการสอนทางด้านการเกษตร ควรทำให้ครบวงจร ศึกษาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ใหม่ๆ ผลิตแล้วต้องขายได้ ส่วนหนึ่งเก็บไว้บริโภค ต้องทำแผนธุรกิจโดยใช้รูปแบบสหกรณ์ก็ได้ ทำบัญชีครัวเรือนเป็น ขณะเดียวกันต้องเข้าใจ ดิน น้ำ ต้องตรวจสอบดินได้ว่าจะต้องใช้ปุ๋ยอย่างไร และต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย และควรให้เรียนรู้การแก้เครื่องยนต์ที่ต้องใช้ประจำวัน เช่น เครื่องยนต์การเกษตร ให้รู้จักการเป็นช่างในบ้านเป็นความรู้ประจำตัวที่นักเรียนทุกคนควรทำได้

    พระราชกระแสในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษา ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย สาขาบ้านนาโต่ 

 

    หนึ่งในต้นแบบการจัดการอาชีวศึกษา ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาวิชาชีพแก่เยาวชนบนพื้นที่สูง ได้มีวิชาชีพติดตัวไว้ทำมาหากินอยู่ในท้องถิ่นแบบพอเพียง  

นายสมเดช วงศ์ชัยพาณิชย์ หัวหน้าโครงการจัดการอาชีวศึกษาเกษตร ในโรงเรียนตชด.เล่าว่า ท่ามกลางความขาดแคลนบนพื้นที่สูง เด็กชายขอบส่วนใหญ่ก็ยังอยากเรียนหนังสือ แต่ไม่มีสถานศึกษารองรับ ตนจึงร่วมกับชาวบ้าน และ ตชด.จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้นาโต่ หรือวิทยาลัยเกษตรและเทคโลยีเชียงราย สาขาบ้านนาโต่ ในปัจจุบัน

    ที่นี่จะใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเกษตรที่ราบสูง โดยเชื่อมโยงกับสังคม ชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อพัฒนาไปสู่อาชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นหลักสูตรใช้เรียนกันนี้ ก็ต้องผ่านการวิพากย์หลักสูตรนานถึง 6 ครั้ง เน้นเกษตรเพื่อชีวิตและทำกินเห็นผลเร็ว

    ++    ++    ++    ++    ++  

 

    นักศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรที่บ้านนาโต่ นี้มีทั้งแบบกินนอนประจำ และไป-กลับ กลุ่มที่อยู่ประจำจะมีบ้านพักแยกเป็นหลังๆ แต่ละหลังจะต้องทำโครงการเกษตร ซึ่งแยกเป็น 2 ลักษณะ คือ ระดับ ปวช.ปี 1 เน้นโครงการเกษตรเพื่อยังชีพ เช่น การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก เลี้ยงไก่พันธุ์ เลี้ยงหมู ปลูกพืชผัก และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำ EM จุลินทรีย์ที่ช่วยบำบัดกลิ่น ทำปุ๋ย ยาไล่แมลง ลดการพึ่งพาสารเคมี เป็นต้น     

                ส่วนในระดับ ปวช.ปี 2 เน้นการเกษตรเพื่อพัฒนาอาชีพ ซึ่งหลังจากเรียนรู้พื้นฐานมาแล้วทางศูนย์จะให้นักศึกษาที่มีความพร้อม กลับไปทำโครงการเกษตรกับครอบครัว รอบสัปดาห์หนึ่งนักศึกษาจะมาเรียนทฤษฎีเกษตรเพียง 2 วัน อีก 5 วันที่เหลือคือการปฏิบัติจริง และจะมีอาจารย์ลงติดตามนิเทศก์และประเมินผล สำหรับผลผลิตที่ได้ก็เก็บกินเก็บขายเป็นรายได้ให้ครอบครับอีกทาง

    พร้อมกันนี้ทางวิทยาลัยฯ ยังแผนจะทำสหกรณ์การเกษตร เพื่อช่วยจัดการผลผลิต หรือเป็นแหล่งเงินทุน ซึ่งเริ่มต้นด้วยความร่วมมือกับองค์การแพลนประเทศไทย ผู้เรียนทุกคนสามารถกู้ยืมเงินเพื่อทำโครงการเกษตรได้สูง ถึงรายละ 2 หมื่นบาท

     นี่คือความต่างของ นาโต่โมเดลต้นแบบอาชีวศึกษาเกษตรบนยอดดอย

    นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองเลขาธิการสำนักงานการอาชีวศึกษา ถึงกับกล่าวชื่นชมว่า นาโต่โมเดล เป็นแบบอย่างของจัดอาชีวศึกษาที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รู้ว่าเด็กต้องการเรียนเพื่อประกอบอาชีพ มีรายได้ อีกทั้งผลพลอยอีกทางคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้นตามไปด้วย

    ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิของการอาชีวะ ซึ่งสนองพระราชดำริฯ ที่ไม่ต้องการให้ชาวเขาจากบ้าน อย่างไร้ความรู้ ไร้อาชีพติดตัวลงมาเผชิญสังคมเมือง จึงต้องสอนอาชีพให้พวกเขาอยู่ได้อย่างพอเพียง และมีความสุขตามวิถี

http://www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=39&nid=21347
หมายเลขบันทึก: 208512เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2008 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท