BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สาธุ


สาูธุ

๒-๓ วันก่อน มีผู้สอบถามคำนี้ จึงได้ขยายความให้ฟัง เค้าก็บอกว่า น่าจะนำมาเขียนเล่าไว้ เพราะผู้ไม่รู้ยังมีอีกเยอะ... คำนี้ในภาษาไทยนำมาใช้ทับศัพท์ โดยมากก็ใช้ในการคล้อยตามหรือรับรองการกระทำบางอย่างที่เราเห็นด้วยหรือยอมรับว่า ดี ซึ่งความหมายในภาษาบาลีก็ใช้ทำนองนี้เหมือนกัน...

สาธุ มาจากรากศัพท์ว่า สาธฺ (หรือ สธฺ) ในความหมายว่า สำเร็จ และประกอบด้วย รู ปัจจัย (สาธ + รู = สาธุ) โดยมีอรรถวิเคราะห์ว่า

  • สปรตฺถํ สาเธตีติ สาธุ
  • ผู้ใด ยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่น ย่อมให้สำเร็จ ดังนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า สาธุ (ยังประโยชน์ของตนและชองผู้อื่นให้สำเร็จ)

ตามนัยนี้ สาธุ แปลว่า ผู้ยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่นให้สำเร็จ ... ตามความหมายนี้บ่งชี้ว่า สาธุ ก็คือ คนดี นั่นเอง ซึ่งในความหมายนี้ ในภาษาไทยก็มีใช้อยู่บ้างดังเช่นโฆษกงานวัดพูดบ่อยๆ ว่า สาธุชนคนดีทั้งหลาย .... และในความหมายนี้ ยังนิยมใช้เรียกชื่อนักบวชด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาถิ่นเหนือ มักจะเรียกพระภิกษุว่า่่ ตุ๊ ซึ่งได้รับการบอกกล่าวว่าย่อมาจาก สาธุ นั่นเอง

 

นอกจากใช้เป็นชื่อคนแล้ว สาธุ ยังใช้เป็นชื่อของกิริยาหรือสาเหตุอันควรแก่การยินดีเป็นต้น ซึ่งตามนัยนี้ อาจตั้งวิเคราะห์ได้ว่า

  • สปรตฺถํ สาเธติ เตนาติ สาธุ
  • บุคคล ยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่น ย่อมให้สำเร็จ ด้วยการณ์นั้น ดังนั้น การณ์นั้น ชื่อว่า สาธุ (เป็นเหตุยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่นให้สำเร็จ)

 

ตามนัยนี้ สาธุ แปลว่า (การณ์) เป็นเหตุยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่นให้สำเร็จ นัยนี้นิยมใช้ในการรับรองความเห็นหรือการกระทำของผู้อื่น... ดังเช่น ทายกที่ไปทำบุญมา เมื่อเจอญาติมิตรเพื่อนฝูง หลังจากเล่าเรื่องราวให้ฟังแล้วมักจะตามด้วยการให้ส่วนบุญว่า รับส่วนบุญด้วยนะ และโดยมากมักจะรับกันว่า สาธุ นั่นคือ การยินดีตอบต่อเรื่องที่เค้าทำและสิ่งที่เค้าให้... อาจขยายความได้ว่า การกระทำบุญนั้น นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กระทำเองแล้ว ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย...

....

ส่วนในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ได้จำแนกการใช้คำว่า สาธุ ไว้ ๖ นัย กล่าวคือ

  • สุนทระ หมายถึง ดีงาม
  • ทัฬหิกัมมะ เป็นการย้ำอีกครั้ง เพื่อให้การกระทำนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น
  • อายาจนะ เป็นคำอ้อนวอนหรือเรียกร้อง เมื่อเริ่มต้นจะพูดอย่างอื่นต่อไป
  • สัมปฏิจฉนะ เป็นการรับคำหรือยอมรับคำพูดของผู้อื่น
  • สัชชนะ หมายถึง คนดี
  • สัมปหังสา เป็นคำแสดงความยินดีหรือพอใจ

 

และสำหรับนักเรียนแรกแปลบาลีนั้น เมื่อเจอคำว่า สาูธุ วางไว้ลอยๆ ตอนเริ่มประโยค ครูจะสอนให้แปลอยู่ ๒ นัย นัยแรกนั้น ให้แปลเท่าที่มีเพียงศัพท์เดียวดังนี้

  • อ. ดีละ (อ. ย่อมาจาก อันว่า)

 

นัยที่สองต้องเพิ่มเติมมาให้เป็นประโยคว่า ตยา วุตฺตวจนํ สาธุ โหติ แล้วก็แปลให้ครบดังนี้

  • อ. คำอันอันท่านกล่าวแล้ว เป็นคำยังประโยชน์ให้สำเร็จ ย่อมเป็น

 

ส่วนการตรวจนั้น แปลนัยใดก็ได้ ถ้าแปลตามนี้ก็ไม่ผิด แต่บางคนชอบอวดภูมิรู้ก็แปลตามนัยที่สอง แต่เขียนตกหล่นก็ถูกปรับคะแนนเหมือนกัน (5 5 5...)

สาธุ ที่วางไว้ลอยๆ และแปลตามนัยนี้ อาจสงเคราะห์ได้ว่าเป็น การย้ำอีกครั้ง ( ทัฬหิกัมมะ) การรับคำ (สัมปฏิจฉนะ) และ ความยินดี (สัมปหังสา).... แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่ สาธุ วางไว้ลอยๆ ไม่อาจแปลตามสองนัยข้างต้นได้ เนื่องจากเป็น คำอ้อนวอน (อายาจนะ) ซึ่งต้องแปลว่า

  • ดังข้าพเจ้าจะขอโอกาส

 

อนึ่ง สาธุ ในความหมายว่า ดีงาม (สุนทระ) และ คนดี (สัชชนะ) นั้น โดยมากมักจะไม่วางไว้ลอยๆ ต้นประโยค จึงไม่ยากในการแปล และโดยทั่วไปก็มักจะประกอบวิภัตติชัดเจน ดังเช่นพุทธศาสนสุภาษิตที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า

  • นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา
  • ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมาย ของคนดี 
คำสำคัญ (Tags): #สาูธุ
หมายเลขบันทึก: 208473เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2008 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท