ทางออก การลดปัญหาความขัดแย้ง ของกลุ่มผลประโยชน์ในไทย


ทางออก การลดปัญหาความขัดแย้ง ของกลุ่มผลประโยชน์ในไทย

                                                             โดย สุรชัย เทียนขาว มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี

 

 

 

สถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศ ได้แก่ พายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศพม่า และปรากฏการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนที่ส่งผลให้มีคนตายนับแสนคน รวมทั้งบาดเจ็บอีกจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนทั้ง 2 ประเทศในวงกว้าง

 

วิกฤตการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละประเทศในโลกนี้จะต้องทุ่มเท และดำเนินการป้องกัน และแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เป็นระบบ และเข้มข้น ภาวะโลกร้อนควรเป็นวาระแห่งชาติของทุกประเทศ เพราะผลกระทบมาเร็วเกินคาด

 

สำหรับประเทศไทยขึ้นเป็นประเทศหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคใกล้เคียงกับประเทศพม่า และประเทศจีน แม้ว่ายังไม่ได้รับผลทางตรงจากวิกฤตที่ใหญ่หลวงดังกล่าว หากยังไม่ตระหนักถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตทั้งพายุ และแผ่นดินไหว โอกาสที่ประเทศไทยจะเผชิญเหตุการณ์รุนแรงดังที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า และประเทศจีนมีความเป็นไปได้

 

ประกอบกับเหตุการณ์ในประเทศไทยบางพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพงขึ้น อาชญากรรมสูง รวมทั้งปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ

 

ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งด้านธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนมีความวิตกกังวล ไม่มีความสุข

 

ประเด็นดังกล่าวเหล่านี้น่าจะเป็นจุดที่นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลข้าราชการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น และรวมถึงสื่อมวลชนทุกสาขาควรให้ความสนใจ และกำหนดเป็นเป้าหมายที่จะต้องพัฒนา และขจัดให้เบาบางลง

 

แต่นักการเมืองและชนชั้นนำบางส่วนของไทยกลับไปให้ความสนใจในเรื่องการขจัดกลุ่มคนที่มีแนวคิด/ความเชื่อที่ตรงข้ามทั้งในวงการเมือง ราชการทุกระดับ และในวงธุรกิจ ทำให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ไม่มีจุดสิ้นสุด

 

แม้ว่ามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา มีรัฐสภา มีการให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากพอสมควร

 

แต่หากทุกภาคส่วนได้ปฏิบัติงาน / หน้าที่ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็น่าพอที่จะไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางด้านการเมืองหลังจากที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาสามารถควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันประชาชนโดยทั่วไปก็มีเสรีภาพในทางการเมืองสามารถทำงานการเมืองภาคประชาชนได้อยู่แล้ว

 

หากกลุ่มคนต่างๆ ได้ดำเนินการตามสิทธิ และหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามสิทธิที่ควรจะเป็น นักการเมืองก็สามารถตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป

 

พูดง่ายๆ ก็คือ สามารถตรวจสอบพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีได้ ประชาชนก็สามารถรวมกลุ่มหรือชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธได้

 

ลักษณะดังกล่าวนี้จะเป็นทางพฤติกรรมที่แสดงออกได้ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ควรที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง

 

เนื่องจากจะให้ทุกคนคิดเหมือนกันในทุกเรื่องคงจะเป็นไปไม่ได้

 

ส่วนประเด็นที่กลุ่มต่างๆ ไม่ว่าทั้งฝ่ายการเมือง กลุ่มที่มาจากภาคประชาชนบางส่วนรวมทั้งฝ่ายรัฐบาล ที่นำมาใช้เพื่อนำไปสู่การเข่นฆ่า ล้มล้าง และสร้างการแตกแยกความสามัคคีของคนในชาติ โดยมีบทเรียนในอดีตที่ต้องจดจำ ก็คือ นำสถาบันเบื้องสูงมากล่าวอ้างในการสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม ทั้งประเด็นที่ทุกกลุ่มจะต้องยุติ ดังที่ผู้ใหญ่บางท่านของบ้านเมืองได้ให้สติไว้

 

หากจะต่อสู้ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการเมืองในรัฐสภา หรือการเมืองภาคประชาชน ควรนำประเด็นทางด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การขาดคุณธรรม และจริยธรรม การบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ การมีผลประโยชน์ทับซ้อนการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คิดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ จะต้องไม่นำเอาสถาบันเบื้องสูงมากล่าวอ้างโดยเด็ดขาด

 

ขอให้มีการต่อสู้ทางความคิด / ความเชื่อที่เป็นไปตามธรรมชาติ ตามเหตุการณ์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยใช้ข้อมูลจริง และเหตุผล มาอธิบายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกกลุ่มควรสร้างความรู้รักสามัคคี เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน ควรมีการประเมินความเร่งด่วนว่าเรื่องใดวาระใดควรทำก่อนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ

 

เรามาร่วมกันสร้างความสุขให้กับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากเหตุการณ์วิกฤตทั้งภัยธรรมชาติ เงินเฟ้อ สินค้าอุปโภคราคาแพง ค่าแรงของกรรมกรที่เป็นธรรม การสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบบยั่งยืน ฯลฯ จะเหมาะสมกว่าการทะเลาะกันรายวันที่ยึดโยง / อ้างอิงสถาบันเบื้องสูง ดังที่เป็นอยู่หรือไม่

 

นอกจะทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจแล้วยังจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดเสถียรภาพของการเมืองอีกด้วย ลองถอยคนละก้าวเพื่อตั้งสติ และใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาของประเทศจะดีใหม่?

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 207390เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2008 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท