กลุ่มผลประโยชน์


กลุ่มผลประโยชน์

กลุ่มผลประโยชน์

ลักษณะทั่วไปของกลุ่มผลประโยชน์

 

ความคิดประชาธิปไตย (Democracy) เกิดขึ้นมานานนับพัน ๆ ปี ประชาธิปไตยสามารถที่จะศึกษาในฐานนะที่เป็นอุดมการณ์  ในฐานะรูปการปกครอง และในฐานะวิถีทางดำเนินชีวิต สำหรับประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ในโลกปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมก็ตาม ต่างก็ยึดถือตามคติพจน์ของอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา คือ ท่าน อับราฮัม ลินคอล์น (Abrahan Lincoln .. 1809-1865)ที่กล่าวไว้ว่า

           ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนหมายถึงประชาชนพลเมือง (Citizen) เป็นทั้งเจ้าของอำนาจปกครอง เป็นผู้ใช้อำนาจนั้นเอง และเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง นอกจากนี้แล้ว ประชาธิปไตยตามแนวความคิดของ จอห์น ล็อก (John Locke .. 1632-1704) ปราชญ์ชาวอังกฤษ ยังหมายถึง มนุษย์เกิดมาแล้วล้วนเท่าเทียมกันทั้งสิ้น

            อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ เพื่อให้ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ  จำเป็นที่จะต้องอาศัยปัจจัยประกอบหลาย ๆ อย่างด้วยกัน เช่น  การศึกษาดี เศรษฐกิจมั่นคง นอกจากนี้ยังมีหลักของระบอบประชาธิปไตยเท่าที่ยอมรับอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ 5 ประการ คือ1

1.      ภาวะการเป็นพลเมือง ที่ทุกคนควรพึงมี และใช้สิทธิในการเป็นสมาชิกสังคม

2.      พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิลงคะแนนเสียงเมื่ออายุพอสมควรที่จะรับผิดชอบ

3.      ให้มีระบบเลือกตั้งโดยเสรี คือ การลงคะแนนเสียงจะกระทำโดยเสรี

4.   พรรคการเมือง เป็นองค์การที่รวมความคิดเห็นที่เหมือนกันของประชาชนที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครอง การบริหารงานของรัฐ โดยการเสนอนโยบาย และส่งตัวแทนเข้าไปรับใช้ประชาชนในรัฐสภา

1.   อิทธิพลของกลุ่มชน  เพื่อที่จะให้ประชาชนพลเมืองสามารถติดต่อกับรัฐบาลของตนอย่างใกล้ชิดรวมทั้งการจูงใจรัฐบาลให้กำหนดนโยบาย และบริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของตน  เครื่องมือที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ  การจัดตั้งเป็นกลุ่มเอกชน  รวมเอาผู้ที่มีความคิดหรือมีผลประโยชน์อย่างเดียว หรือหลายอย่างในทางเดียวกัน  ต่างก็รวมกันเป็น หมู่ คณะ เช่นในวงการธุรกิจ กรรมกร เกษตรกร ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ หรือรวมโดยเชื้อชาติศาสนา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอำนาจ  และอิทธิพลมากต่อการเปลี่ยนแปลง แก้ไขนโยบายของรัฐบาล

ในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ทฤษฎีพหุนิยม เป็นทฤษฎีที่กำลังได้รับความสนใจมาก ทฤษฎีหนึ่งโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางมากกว่าแห่งใด โดยความเชื่อที่ว่า ถนนที่จะไปสู่ประชาธิปไตยจะต้องอาศัยทฤษฎีพหุนิยม นักรัฐศาสตร์อเมริกันชื่อ W.J.M. Mackenize ได้เริ่มการศึกษาเป็นครั้งแรกในเรื่อง กลุ่มผลักดัน (Presure Groups) เมื่อ ค.. 1920

พหุนิยม (Pluralism) หมายถึง สภาพหรือลักษณะของสังคมใด ๆ ที่ยอมรับการปรากฎอยู่หรือการมีอยู่ และเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจทางสังคม และทางศาสนา ตามที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นลักษณะของ ลัทธิเสรีนิยม (Liberalism)

เอกชนหรือปัจเจกชนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมและร่วมในผลประโยชน์โดยสมัครใจ ในอันที่จะสรรสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน หรือการบรรลุเป้าหมายบางประการที่ตั้งไว้

            - พหุนิยมทางการเมือง (Political pluralism) คือ แนวความคิดที่เสนอให้มีการจัดระเบียบของรัฐเสียใหม่ โดยให้มีสถาบัน หรือองค์การอิสระต่าง ๆ ทำหน้าที่ควบคุม และจำกัดอำนาจของรัฐ เช่น พรรคการเมือง สหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพ2

            - ทฤษฏีพหุนิยม หลักการของทฤษฏีนี้คือ ประชาธิปไตยจะมีขึ้นและมั่งคงอยู่ได้ด้วยการที่มีกลุ่ม สมาคม สันนิบาต องค์การ สหพันธ์ต่าง ๆ มากมายหลากหลายภายในรัฐ เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมา และมีวิธีการดำเนินการที่เป็นไปโดยเสรีและด้วยใจสมัคร รวมถึงกลุ่มที่เรียกว่า กลุ่มผลักดัน(Presure groups) กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) และกลุ่มอุดมการณ์ (Ideological Groups)3

ความหมาย

            คำว่ากลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) กับคำว่า กลุ่มอิทธิพล (Presure Groups) เป็นคำที่มักจะใช้ปะปนกัน เนื่องจากมีความหมายใกล้เคียงกัน การให้ความหมายที่แตกต่างกันเป็นผลมาจากนักวิชาการแต่ละท่านที่มอง คือตามทัศนะของการมองหรือการศึกษา (Approach)

กลุ่มผลประโยชน์นั้นพิจารณาตามหลักของความเป็นจริงจากพฤติกรรมแล้วเป็นการรวมตัวของกลุ่มชนที่มีผลประโยชน์ได้ยึดถือเอาแนวอาชีพเดียวกันเป็นหลัก  เมื่อการรวมตัวกันดำเนินไปได้ด้วยดี มีการจัดองค์การที่ดี มีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะสามารถสร้างพลังและเปลี่ยนแปลงกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล (Influence) และอำนาจ (Power) เหนือรัฐบาล เหนือผู้บริหารประเทศได้ พลังอำนาจที่ว่านี้รวมไปถึงจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมในกลุ่มด้วย

 

กลุ่มผลประโยชน์

            กลุ่มผลประโยชน์หรือ Interest  Groups  หมายถึงกลุ่มตัวแทนสาขา  อาชีพสาขาในสังคม  ซึ่งมีจำนวนมาก  และตามความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา  คำต่อไปนี้มีความหมายที่ใกล้เคียงกันและมักใช้ปะปนกันอยู่เสมอคือ

            - Interest  Groups         หมายถึง  กลุ่มผลประโยชน์

- Pressure  Groups       หมายถึง  กลุ่มผลักดัน  หรือ  กลุ่มอิทธิพล

- Organized   Groups  หมายถึง  การรวมกลุ่มของผู้มีผลประโยชน์  หรือผลประโยชน์ที่รวมกันในลักษณะขององค์การ

            - Group   interest        ผลประโยชน์ของกลุ่มไม่เหมือนกันกับ  Organized  Groups  เพราะเป็นการรวมกันเฉยๆ ไม่มีการจัดองค์การ

            - Ideological  Groups  หมายถึง  กลุ่มอุดมการณ์   ไม่มีการแบ่งเป็นชั้นอาชีพ  เพศและอาชีพ

            - Lobby  หมายถึง  กลุ่มแลกเปลี่ยนผลประโยชน์นอกสภาเปรียบเทียบเป็นสภาที่  3 ของสหรัฐอเมริกา

            - Political   Groups       หมายถึง  กลุ่มการเมืองหรือ  สโมสรการเมือง  Political Clubs

            - Powers   Groups        หมายถึง   กลุ่มพลังต่างๆ  ขบวนการต่างๆ   

            จุดหมายสำคัญของกลุ่มต่างๆ นี้คือ   การป้องกันผลประโยชน์ของกลุ่ม  วึ่งแบ่งแยกตามสาขาของสังคมผลประโยชน์นั้นอาจหมายถึง     ผลประโยชน์เฉพาะของกลุ่มหรือผลประโยชน์นอกกลุ่ม  คือผลประโยชน์ทั่วไปที่เป็นสาธารณะ  รวมถึงจุดหมายสุดท้ายคือ การมีอิทธิพลเหนือนโยบายสาธารณะ4

            นานานิยาม  ความหมายของกลุ่มผลประโยชน์มีมาก เช่น

            2.2.1 กลุ่มผลประโยชน์ในความหมายตามพจนานุกรม ศัพท์สังคมวิทยานั้นอธิบายว่า5 Groups interest คือ ผลประโยชน์ของกลุ่ม หมายถึงภาวะความรู้สึกตื่นตัวที่เกิดขึ้นในบุคคลที่ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม

                        Interest group คือ กลุ่มผลประโยชน์  หมายถึงกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อภารกิจหรือผลประโยชน์เฉพาะอย่าง เช่น กลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรี หรือกลุ่มพ่อค้า

            2.2.2 ศาสตราจารย์แกรแฮม วู๊ดตั้น (Graham Wootton) แห่งมหาวิทยาลัย Tuffts สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายความหมายของกลุ่มผลประโยชน์ไว้ว่า6

                        - กลุ่มผลประโยชน์คือ กลุ่มทุกกลุ่ม หรือองค์การทุกองค์การที่แสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ตามวิธีทางที่กำหนด  ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบโดยตรงที่จะปกครองประเทศ

                        - กลุ่มผลประโยชน์เป็นของผู้ร่วมทัศนะที่ได้ทำการเรียกร้องต่อกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม และเมื่อใดที่กลุ่มผลประโยชน์นี้กระทำการเรียกร้องข้อเสนอของตน โดยผ่านสถาบันใด ๆ ของรัฐบาลก็ตาม กลุ่มผลประโยชน์นี้จะกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง (Political Interest Groups) และเมื่อใดที่กลุ่มผลประโยชน์ปฏิบัติการในระดับการเมือง กลุ่มนี้จะถูกเรียกว่ากลุ่มผลักดัน (Presure Groups)


คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 207389เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2008 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท