การออกเสียงพุทธพจน์ปาฬิ


พระไตรปิฎกสากล

ปาฬิกับสัททอักษรสาล
คู่มือระบบการออกเสียงพุทธพจน์ปาฬิในพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน

และตัวอย่างพระไตรปิฎกปาฬิอักษรสยาม

โดย
ศาสตราจาร์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์

 

ปัจฉิมบท

ปาฬิ (Pāḷi) เป็นระบบเสียงที่ไม่มีอักษรหรือระบบการเขียนเป็นของตนเอง ดังนั้นการนำอักษรโรมัน (Roman alphabet) ซึ่งเป็นอักษรเก่าแก่ของมนุษย์และเป็นที่รู้จักแพร่หลายเป็นสากลในปัจจุบันมาใช้เขียนเป็นพระไตรปิฎกปาฬิอักษรโรมัน (Pāḷi Tipiṭaka in Roman script) ย่อมมีศักยภาพสามารถเผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างรวดเร็วและทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวางในนานาประเทศทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิเป็นครั้งแรกของโลกในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) อักษรสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้จัดพิมพ์ตารางอักษรโรมันแทนเสียงปาฬิเทียบกับอักษรสยามไว้ด้วย (Siam-script to Roman-script Transliteration Table) ซึ่งช่วยให้นักวิชาการในนานาประเทศสามารถอ่านออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกชุดนี้ได้ แม้จะอ่านจากพระไตรปิฎกอักษรสยามก็ตาม

ดังนั้นในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิฉบับสากลชุดสมบูรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งได้ดำเนินตามรอยในสมัยรัชกาลที่ 5 สู่ความเป็นสากลยิ่งขึ้น คือมีการใช้อักษรโรมันแทนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกทั้งหมด และที่สำคัญยังได้เพิ่มเติมให้เป็นมาตรฐานในระบบเสียงสากล คือ ได้เลือกใช้สัททอักษรสากล (International Phonetic Alphabet, IPA) ถอดเสียงปาฬิ เป็นสัททอักษรปาฬิ (IPA Pāḷi transcription) กำกับการออกเสียงพระไตรปิฎกปาฬิให้ถูกต้องด้วย

การปรับปรุงในการจัดพิมพ์อักษรโรมันครั้งนี้ย่อมส่งเสริมให้ผู้ศึกษาพระไตรปิฎกได้เห็นความสำคัญและคุณค่าของการออกเสียงพระพุทธพจน์ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะนอกจากอักษรโรมันจะเป็นสื่อสากลที่ทรงคุณประโยชน์นานัปการในโลกปัจจุบันแล้ว การนำสัททอักษรสากลมารองรับการอ่านออกเสียงพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกปาฬิทำให้มหาชนทั่วโลกสามารถออกเสียงพระพุทธพจน์ปาฬิได้ถูกต้องด้วย และย่อมเป็นปัจจัยให้สืบทอดพระไตรปิฎกในฐานะคลังอารยธรรมทางปัญญาสูงสุดของมนุษยชาติให้ยั่งยืนและแพร่หลายต่อไปในอนาคต

แม้ปาฬิจะไม่มีอักษรเป็นของตนเอง แต่เสียงปาฬิก็สามารถสืบทอดได้ด้วยอักษรของนานาประเทศที่บันทึกและสืบทอดพระพุทธพจน์เป็นระยะเวลายาวนานมาจนถึงปัจจุบันแล้ว บัดนี้เมื่อสามารถริเริ่มกำหนดชุดสัททอักษรสากล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เสียงกลางที่ใช้ได้กับทุกภาษาสำหรับถอดเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากลฉบับอักษรโรมัน และนำมาจัดพิมพ์กำกับเสียงการออกเสียงพระไตรปิฎกปาฬิ ย่อมทำให้พระพุทธพจน์ปาฬิเป็นเสียงกลางหรือเสียงสากลของนานาชาติอย่างสมบูรณ์

ปัจจุบันมิอาจล่วงรู้ถึงศักยภาพและพัฒนาการในอนาคตของสัททอักษรที่ถอดเสียงปาฬิใน พระไตรปิฎกได้ แต่ความเป็นสากลของสัททอักษรปาฬิย่อมเป็นไปตามพุทธประสงค์ของพระบรมศาสดาในการเผยแผ่พระสัทธัมม์แก่ชาวโลกทุกเชื้อชาติตลอดกาล เพราะพระสัทธัมม์ในพระไตรปิฎกย่อม ข้ามพ้นพรมแดนแห่งประเทศ ชนชั้นวรรณะ และภาษาของเชื้อชาติในถิ่นฐานต่างๆ ทั้งปวง

 

สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจาก

 

bluemarine_logo.gif
www.tipitakastudies.net

e-Tipitaka Hall 2008e-Tipitaka Hall 2008e-Tipitaka Hall 2008
www.tipitakahall.org

หมายเลขบันทึก: 207197เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2008 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท