พระไตรปิฎกปาฬิ "จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช"


พระไตรปิฎกสากล

การบรรยายพิเศษประกอบเทคโนโลยีสื่อผสม
เรื่อง
พระไตรปิฎกปาฬิ "จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช" : การจัดการความรู้และยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ

Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 Knowledge Management at Royal Military Academy 2008
Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 Knowledge Management at Royal Military Academy 2008

กล่าวเปิดโดย พลโท วรวิทย์ พันสมัย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

บรรยายโดย พันตรี สุรธัช บุนนาค อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ กองกฎหมายและสังคมศาสตร์
ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
และ
กล่าวปิดโดย พลตรี ประเสริฐ หวานฉ่ำ รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้ยอพระจุลจอมเกล้าวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Knowledge Management at Royal Military Academy 2008

นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าอัญเชิญพระไตรปิฎกปาฬิ "จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช"
ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล ชุด 40 เล่ม พ.ศ.2551
เมื่อจบการบรรยายเรื่อง “พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช : การจัดการความรู้และยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ”

 

โครงการพระไตรปิฎกสากล :
จากอักษรสยาม พ.ศ. 2436 สู่อักษรโรมัน พ.ศ. 2551

คำนำ

รัตนโกสินทรศก 112 (พ.ศ. 2436) เป็นปีที่กรุงสยามประสบวิกฤตการณ์ร้ายแรงด้านความมั่นคงแห่งชาติ แต่เป็นที่อัศจรรย์ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประสบความสำเร็จในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิอักษรสยาม ชุด 39 เล่ม เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นพระธัมมทานเนื่องในงานฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี ในปีดังกล่าว โดยได้พระราชทานพระไตรปิฎกชุดนี้แก่พระอารามต่างๆ ประมาณ 500 สำรับ ทั่วพระราชอาณาจักร และต่อมาได้พระราชทานแก่สถาบันต่างๆ อีกไม่น้อยกว่า 260 สถาบันในนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิเป็นชุดแรก ดังนั้นการพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามแก่ชาวโลกจึงเป็นการเผยแผ่พระพุทธพจน์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

พระไตรปิฎกอักษรสยามเป็นพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก และเป็นผลงานทางภูมิปัญญาระดับสูงของชาติไทย เพราะเป็นผลจากการบูรณาการคลังความรู้ต่างๆ ที่เป็นเลิศเพื่อสืบทอดพระไตรปิฎกปาฬิ การดำเนินการตรวจทานและจัดพิมพ์ฉบับอักษรสยามชุดนี้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6 ปี เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านเทคโนโลยีและวิธีการสืบทอดพระพุทธพจน์ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของโลก 5 ประการ

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการสืบทอดปาฬิมี 5 ประการ มีดังนี้คือ

1. การเปลี่ยนแปลงสื่อที่บันทึกพระไตรปิฎก

เป็นการเปลี่ยนแปลงสื่อที่บันทึกพระไตรปิฎกปาฬิ จาก “ใบลาน” เป็น “กระดาษ” (การเปลี่ยนแปลงในรอบ 2,000 ปี หลังบันทึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรในพุทธศตวรรษที่ 4)

Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)

 

2. การเปลี่ยนแปลงอักษรที่ใช้บันทึก

เป็นการเปลี่ยนแปลงอักษรที่บันทึก จาก “อักษรขอมโบราณ” เป็นการเรียงพิมพ์ด้วย “อักษรสยามที่ทันสมัย” (การเปลี่ยนแปลงในรอบ 1,000 ปี ของอารยธรรมอักษรขอมในสุวรรณภูมิ)

Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)

 

3. การเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึก

เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึก จาก “การใช้มือเขียน / จารลงใบลาน” เป็นการ “ตีพิมพ์ด้วยเครื่องจักร” (การเปลี่ยนแปลงใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัยแห่งยุค)

Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)

 

4. การเปลี่ยนแปลงระบบเอกสาร

เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบเอกสารสารสนเทศ จากพระไตรปิฎกใบลาน เป็นแผ่นๆ หรือ “ระบบเอกสารเดี่ยว” (document) เป็นการสร้าง “ระบบเอกสารรวมศูนย์” (document centric) ของหนังสือพระไตรปิฎก เช่น ระบบเลขหน้าและสารบัญ (แนวคิดที่ล้ำยุคสารสนเทศในสมัยนั้น)

Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)

 

5. การเปลี่ยนแปลงระบบการเก็บรักษาและเผยแผ่

เป็นการเปลี่ยนระบบการเก็บรักษาและเผยแผ่ จากการเก็บรักษาเฉพาะในสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศ หรือ “ระบบหอไตร” เป็นการเก็บรักษาในสถาบันชั้นนำต่างๆ ในนานาประเทศทั่วโลก (การสร้างระบบ “เครือข่ายบรรณารักษศาสตร์พระไตรปิฎกนานาชาติ”)

Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)Knowledge Management at Royal Military Academy 2008 (slide)

 

เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จทางภูมิปัญญาไทยสากลดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นวาระใกล้จะครบ 112 ปี แห่งการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ร.ศ. 112 อักษรสยาม กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงจัดปาฐกถาพิเศษหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง “จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. 112 พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก : 112 ปี เทคโนโลยีธัมมะสู่โลกโดยคนไทย” ซึ่งในงานดังกล่าว สมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทอดพระเนตรพระไตรปิฎกฉบับประวัติศาสตร์ชุดนี้เป็นพิเศษ การเสด็จเป็นประธานงานปาฐกถาพระไตรปิฎกจึงเป็นการประกาศมิติทางภูมิปัญญาไทยสากลที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การสืบทอดพระไตรปิฎกของโลก และเป็นการเกริ่นความสำเร็จของการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ในปีต่อมา ซึ่งเป็นฉบับที่กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ได้ทำการตรวจทานแก้ไขข้อบกพร่อง และจัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2548 นับเป็นพระไตรปิฎกอักษรโรมันฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย และเป็นฉบับอักษรโรมันชุดสมบูรณ์ของโลก ด้วย

ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2548 เนื่องในโอกาสครบรอบ 112 ปี “พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะที่ทรงเป็นกุลเชษฐ์พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์การพระราชทานและประดิษฐานพระไตรปิฎกในนานาประเทศ ได้เสด็จจาริกอัญเชิญพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ชุดปฐมฤกษ์ 40 เล่ม ไปกรุงโคลัมโบเพื่อพระราชทานแก่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ซึ่งทำให้เกิดความสนใจในพระไตรปิฎก ร.ศ. 112 อักษรสยาม มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะการพิมพ์พระไตรปิฎก ร.ศ. 112 อักษรสยามเป็นการวางรากฐานของการประชุมสังคายนาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน

กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ได้ทำการอนุรักษ์ต้นฉบับพระไตรปิฎก ร.ศ. 112 อักษรสยาม เป็นสื่อดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีทางภาพ แต่ละหน้าเก็บเป็นจดหมายเหตุอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างปี พ.ศ. 2546-47 และได้เผยแผ่เป็นข้อมูลเบื้องต้นในระบบอินเทอร์เน็ต www.dhammasociety.org ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์แพร่หลายยิ่งขึ้น กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ จึงได้จัดทำโครงการต่อเนื่องขึ้นในปี พ.ศ. 2550 และจัดพิมพ์ "ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล" ชุดนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งนอกจากได้พิมพ์ภาพถ่ายจดหมายเหตุดิจิทัลพระไตรปิฎกอักษรสยามรวมทั้งสิ้น 16,248 หน้าแล้ว ยังได้มีการนำข้อมูลพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน (World Tipiṭaka Data Centric) มาจัดพิมพ์ประกอบ รวม 7 รายการ คือ

1. การปริวรรตและถอดอักษร : อักษรสยาม อักษรโรมัน และสัททอักษรสากลปาฬิ (ดูเชิงอรรถหน้า (1) ) (Pāḷi Tipiṭaka Siam-script to Roman-script Transliteration & Roman-script to International Phonetic Alphabet for Pāḷi Transcription) แสดงการปริวรรตปาฬิเป็นอักษรสยาม อักษรโรมัน และการถอดเสียงเป็นสัททอักษรสากลปาฬิ มี สระ 8 เสียง และพยัญชนะ 33 เสียง รวม 41 เสียง โดยจัดพิมพ์ทุกหน้ารวม 16,284 หน้า ซึ่งพิมพ์เป็นแถวคู่กันระหว่างหน้าซ้ายและขวา

2. ข้อมูลโครงสร้างพระไตรปิฎกและชื่อตอน (The World Tipiṭaka Structures and Titles in Roman Script) แสดงภาพรวมที่มาของข้อมูลพระไตรปิฎกอักษรสยามเปรียบเทียบกับโครงสร้างพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน โดยจัดพิมพ์ใต้ภาพถ่ายพระไตรปิฎกอักษรสยามในด้านซ้ายทุกหน้า รวม 16,248 หน้า

3. ระบบรหัสอ้างอิงพระไตรปิฎกอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tipiṭaka Quotation Number for Reference) แสดงระบบการสืบค้นข้อมูลจากพระไตรปิฎกอักษรสยามสู่ฉบับสากลอักษรโรมันในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจาก www.tipitakaquotation.net โดยอ้างอิงข้อมูลในพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน รวม 118,280 ย่อหน้า ซึ่งสามาถนำไปจัดพิมพ์เผยแผ่ในสื่อผสมต่างๆ ได้

4. ตัวอย่างข้อมูลปาฬิ 2 ฉบับ และเทียบหน้าระหว่างอักษรโรมันกับอักษรสยาม (Example of Pāḷi Tipiṭaka Parallel Corpus in Siam-script and Roman-script) แสดงการพิมพ์เสียงปาฬิเปรียบเทียบกันระหว่างพระไตรปิฎกอักษรสยามกับพระไตรปิฎกสากลอักษรอักษรโรมัน ทุกหน้า 16,248 หน้า โดยพิมพ์ข้อมูลใต้ภาพถ่ายในด้านขวาของภาพถ่ายพระไตรปิฎกอักษรสยาม

5. จดหมายเหตุภาพดิจิตอลพระไตรปิฎกอักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์ (Digital Preservation Edition) แสดงความสามารถในการสืบค้นจดหมายเหตุภาพดิจิตอล “พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช อักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์” ด้วยเทคโนโลยีทางภาพ จำนวน 16,248 หน้า ซึ่งจัดเก็บเป็น จดมหายเหตุในเครือข่ายอินเตอร์เน็ทจาก www.tipitakahall.net

6. ข้อมูลท้ายอรรถ (Endnotes) แสดงรายละเอียดคำศัพท์และรูปคำที่พิมพ์ต่างกัน (Variant Readings) ระหว่างพระไตรปิฎกอักษรสยามกับอักษรโรมัน ทั้งหมดจำนวน 7,414 รายการ ซึ่งเดิมได้จัดพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งในเชิงอรรถพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน โดยได้จัดพิมพ์รวมกันใว้ในตอนท้ายของหนังสือ

7. ดัชนีศัพท์ปาฬิอักษรโรมัน (Index of Pāḷi Words in Roman script) แสดงจำนวนคำศัพท์ปาฬิอักษรโรมันในพระไตรปิฎกสากล และชี้ตำแหน่งของศัพท์เหล่านั้นในพระไตรปิฎกอักษรสยาม รวม 109,629 คำเพื่อสะดวกในการค้นหาศัพท์เทียบกับอักษรสยาม โดยจัดพิมพ์ไว้ในตอนท้ายของหนังสือ

ตัวอย่างการพิมพ์ฉบับอนุรักษ์ครั้งนี้ นอกจากเป็นการเปิดมิติใหม่ของสื่อผสมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการจัดพิมพ์ที่ทันสมัยแล้ว ยังได้บูรณาการวิธีนำเสนอข้อมูลของพระไตรปิฎกอักษรสยามและอักษรโรมันทั้งสองฉบับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงในวงการวิชาการ โดยเฉพาะในสถาบันนานาชาติจำนวนไม่น้อยกว่า 260 สถาบัน ใน 30 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามเมื่อศตวรรษที่แล้ว ซึ่งเป็นสถาบันที่จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกในการจัดพระราชทานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน ไปประดิษฐานเพื่อศึกษาค้นคว้าต่อไป

อนึ่ง การเตรียมงานจัดพิมพ์ครั้งนี้ทำให้ผู้ดำเนินงานหลายฝ่ายได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลอักษรสยามมากขึ้น ที่สำคัญคือทำให้คณะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่จัดทำฐานข้อมูลเกิดความเข้าใจชัดเจนในระบบการบันทึกเสียงปาฬิด้วยอักษรสยาม และในที่สุดก็ได้ข้อสรุปสำคัญยิ่ง คือ การจัดพิมพ์ปาฬิด้วยอักษรสยามสามารถบันทึกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกได้ครบถ้วนและด้วยวิธีการเรียงพิมพ์ของชาติไทยอันชาญฉลาด เช่น บางคำสามารถใช้เครื่องหมาย “ยามักการ” (แสดงเสียงคู่) ร่วมกับ “ไม้หันอากาศ” (แสดงตัวสะกด) เพื่อแสดงการพิมพ์พยัญชนะเสียงควบกล้ำที่ทำหน้าที่เป็นเสียงสะกดพร้อมกันไปด้วย ซึ่งยามักการสามารถแสดงเสียงสะกดที่ต่อเนื่องไปเป็นพยัญชนะควบกล้ำได้อย่างชัดเจน (ดูหน้า 30-33) ด้วยเหตุนี้ จึงต้องนำหลักการพิมพ์ไม้หันอากาศแสดงเสียงสระอะ ซึ่งตามด้วยเสียงพยัญชนะสะกดที่ตามมาในพระไตรปิฎกอักษรสยามไปพิจารณาปรับปรุงการถอดเสียงเป็น สัททอักษรสากลปาฬิในพระไตรปิฎกสากลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย ดังข้อเสนอหนึ่งในบทความนี้ให้มีเครื่องหมายเสริมสัททอักษรสากลแสดงเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ซึ่งทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้น แต่ถ้าพยัญชนะควบกล้ำอยู่ระหว่างสระให้อ่านออกเสียงพยัญชนะแรกเป็นเสียงสะกดที่เป็นพยัญชนะควบกล้ำต่อเนื่องกันไปคือ เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ได้ริเริ่มขึ้นใหม่ในด้านการถอดเสียงเป็นสัททอักษรสากลปาฬิ และยังมิได้มีผู้ใดได้จัดทำมาก่อนในการพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรโรมัน

เพื่ออธิบายลักษณะพิเศษของเสียงปาฬิในมิติของภาษาพระธัมม์ โดยเฉพาะการออกเสียง ปาฬิอักษรโรมัน ที่ยังมิได้มีการนำเสนอในทางสัททศาสตร์โดยประยุกต์และบูรณาการในด้านพระไตรปิฎกศึกษาอย่างจริงจัง กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ จึงได้เชิญศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ เป็นผู้เขียนคู่มือระบบการออกเสียงพระพุทธพจน์ปาฬิ ในพระไตรปิฎกสากลฉบับอักษรโรมัน เรื่อง “ปาฬิกับสัททอักษรสากล” ซึ่งเป็นตัวอย่างของความพยายามอย่างหนึ่ง ของการศึกษาพระไตรปิฎกระดับนานาชาติที่บูรณาการกับความรู้สหวิชาปัจจุบัน และเป็นแนวทางหนึ่งของพระไตรปิฎกศึกษาในยุคใหม่ คือ “พระไตรปิฎกศึกษาระดับนานาชาติ” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปรารถนาให้เกิดขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2547 ได้ทรงมีพระดำรัสสนับสนุนให้โครงการพระไตรปิฎกสากลหาทางเผยแผ่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป

บทความ “ปาฬิกับสัททอักษรสากล” เป็นการค้นคว้าและเรียบเรียงเพื่อสนองพระราชประสงค์ดังกล่าวและเป็นการพิมพ์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จกรมหลวงนรา ธิวาสราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากล ผู้ทรงพระปัญญาญาณ โดยได้จัดพิมพ์คู่มือนี้เป็นพิเศษในตอนท้ายของพระไตรปิฎกฉบับอนุรักษ์ชุดนี้ทุกเล่ม จึงขอขอบพระคุณศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้เขียนคู่มือ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

ขอขอบพระคุณอาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9 ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ที่ได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระไตรปิฎกปาฬิอักษรสยาม และท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ของโครงการที่ได้กรุณาตรวจสอบหลักการดำเนินงานต่างๆ

ขอขอบคุณคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ ที่ได้กรุณาให้คำปรึกษาและให้การสนับสนุนการพิมพ์พระไตรปิฎก “ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล” ดังมีรายนามดังต่อไปนี้ : ศาสตรจารย์กิตติคุณ ดร. กาญจนา เงารังษี มหาวิทยาลัยนเรศวร, ศาสตราจารย์ ดร. อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองศาสตราจารย์ ดร. นิตยา กาญจนะวรรณ ภาควิชามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้คำปรึกษาด้านภาษา; รองศาสตราจารย์พรทวี พึ่งรัศมี หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีการพิมพ์, อาจารย์ธีระ ปิยคุณากร, รองศาสตราจารย์ ดร. อรัญ หาญสืบสาย, อาจารย์จุฬพงษ์ พานิชเกรียงไกร ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการพิมพ์ และนิสิตอาสาสมัครภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลทางภาพ; รองศาสตราจารย์ ดร. มานพ วงศ์สายสุวรรณ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า พร้อมทั้งคณะอาสาสมัครทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้ร่วมงานในโครงการพระไตรปิฎกสากล ที่ได้สร้างฐานข้อมูลภาพพระไตรปิฎกอักษรสยามฉบับอนุรักษ์ การเขียนโปรแกรมเรียงพิมพ์ข้อมูลสื่อผสมต่างๆ และการจัดหน้าใหม่ทั้งหมด; ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาวิน อินทรังษี ภาควิชามัณฑศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร ที่ให้คำปรึกษาด้านศิลปกรรมพระไตรปิฎก พร้อมทั้งออกแบบปกและชุดเรียงพิมพ์อักษรสยาม

ท้ายที่สุดนี้ ขอขอบคุณกองกฏหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ที่สนับสนุนการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกปาฬิ “จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช” อักษรสยาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 - ปัจจุบัน ซึ่งได้จัดพิมพ์เป็นฉบับอนุรักษ์ ชุด 40 เล่ม ในปี พ.ศ. 2551 โดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ เป็นผู้จัดพิมพ์ด้วยความสนับสนุนของโครงการสมทบกองทุนเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลในสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งดำเนินการโดยคุณหญิงแสงเดือน ณ นคร ประธานโครงการฯ มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์

กุศลและประโยชน์ประการใดที่ประสบผลสำเร็จจากการพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์ชุดนี้ ขอน้อมเกล้าถวายเป็นพระพุทธบูชา และอุทิศถวายเป็นเครื่องสักการะสูงสุดแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์พุทธมามกะไทย สถาบันอันทรงพระคุณอันประเสริฐที่ได้อนุรักษ์พระไตรปิฎกปาฬิและสืบทอดมาตราบจนถึงทุกวันนี้

 

พันตรี สุรธัช บุนนาค
หัวหน้าคณะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. 112 อักษรสยาม
กองกฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

และ
นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้ญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ผู้ดำเนินการจัดพิมพ์

 

bluemarine_logo.gif
www.tipitakastudies.net

e-Tipitaka Hall 2008e-Tipitaka Hall 2008e-Tipitaka Hall 2008
www.tipitakahall.org

หมายเลขบันทึก: 207193เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2008 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท